<< Back
" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2545 "
(น.205) รูป
(น.206) อาคารซูกงฉือ เป็นศาลเจ้าของกวีซูตงปัว (ค.ศ. 1037-1100) และลูกชาย ใน ค.ศ. 1097 ซูตงปัวถูกเนรเทศมาอยู่ที่เกาะไหหลำ 3 ปี (ถึง ค.ศ. 1100) แล้วจักรพรรดิพระราชทานอภัยโทษจึงกลับไปบ้านเมือง และเสียชีวิตที่มณฑลเจียงซู
เมื่อมาอยู่ที่เกาะไหหลำ ได้ทำคุณประโยชน์ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ตอนที่เขาได้กลับภาคเหนือนั้น ที่ไหหลำมีคนสอบจิ้นซื่อได้ 12 คน เหตุที่ซูตงปัวถูกเนรเทศคือ ในขณะนั้นมีนักปฏิรูป 2 ฝ่าย คือ หวังอานสือ และซือหม่ากวง มีความคิดไม่เหมือนกัน ซูตงปัวไม่เข้าข้างใครและแถมตำหนิแนวคิดของทั้ง 2 คนด้วย
ขณะที่ถูกเนรเทศ อายุ 61 ปีแล้ว อยู่ที่เกาะไหหลำในสมัยนั้นลำบากแร้นแค้นมาก พื้นที่ทุรกันดาร ไม่มีอาหารหมูเห็ดเป็ดไก่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ
(น.206) รูป
(น.207) รูป
(น.207) ที่ป้ายสรรเสริญ นอกจากจะเขียนถึงซูตงปัวและบุตรชายแล้ว ยังมีศิษย์อีกคนหนึ่งชื่อเจียงถังสือ เป็นคนเรียนเก่งและขยันเรียน สอบเข้ารับราชการได้เป็นคนแรก
(น.208) สมัยนั้น คนส่วนใหญ่ของเกาะไหหลำเป็นคนพื้นเมืองเผ่าหลี มีชาวจีนฮั่นไม่มากนัก ซูตงปัวมาถึง ก็ได้มาสร้างความสามัคคีระหว่างชาวฮั่นและชาวหลี
โรงเรียนของซูตงปัวเป็นโรงเรียนแรก
หน้าศาลซูตงปัว ต้นท้อกำลังออกดอก มีหลายคนปรารภว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะปกติท้อจะออกดอกฤดูชุนเทียน (ฤดูใบไม้ผลิ) แต่คราวนี้มาออกดอกฤดูชิวเทียน (ฤดูใบไม้ร่วง) แต่ข้าพเจ้าว่าไม่แปลกเพราะขณะนี้อากาศจริงๆ ไม่ใช่อากาศฤดูชุนเทียนหรือชิวเทียน แต่เป็นฤดูเซี่ยเทียน คือ ฤดูร้อนแบบร้อนมากๆ ด้วย
ศาลเหลี่ยงฝูปอฉือ เป็นศาลรำลึกถึงทหารราชวงศ์ฮั่น 2 คน (สมัยฮั่นตะวันตก) รบกับคนกลุ่มน้อยทางภาคใต้ของจีนชื่อ ลู่ป๋อเต๋อ อีกคนหนึ่งอยู่สมัยฮั่นตะวันออกชื่อ หม่าหยวน ทั้ง 2 คน มาตั้งระบบราชการในไหหลำ ปัจจุบันศาลนี้ใช้เป็นที่เก็บลายมือของนักเขียนพู่กันจีนที่มีชื่อเสียง
ด้านนอกมีจารึกที่วางบนหลังเต่าเป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิฮุยจง สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ค.ศ. 1119 พระองค์ทรงนับถือลัทธิเต๋า ให้เขียนจารึกเผยแพร่ลัทธินี้ไปทั่วประเทศจีน
(น.208) รูป
(น.209) จักรพรรดิองค์นี้เป็นจิตรกรและเป็นนักเขียนตัวอักษรพู่กันจีน มีเทคนิคการเขียนพู่กันจีนแบบพิเศษที่เรียกว่า โซ่วจินถี่ และเขียนภาพกงปี่ฮั่ว คือเขียนรูปนก ไม้ อย่างละเอียด
ด้านนอกมีต้นบ๊วย ซึ่งแถวนี้มีน้อย
อาคารจ่งจั๋วถิง เป็นศาลาซึ่งซูตงปัวเป็นคนตั้งชื่อ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขุดบ่อน้ำที่ได้น้ำดี ชงชาอร่อย แต่ไม่มีที่นั่งดื่มน้ำชา นายอำเภอจึงสร้างศาลาและขอให้ซูตงปัวตั้งชื่อให้ อาคารนั้นพังไปแล้วที่เห็นเป็นของสมัยราชวงศ์ชิง และซ่อมสมัยสาธารณรัฐ เป็นที่แสดงนิทรรศการเลียนแบบลายมือซูตงปัว
(น.209) รูป
(น.210) รูป
(น.210) ข้างนอกมีบ่อน้ำ 2 บ่อ บ่อหนึ่งน้ำใส อีกบ่อหนึ่งน้ำขุ่น ขณะนี้เหลือแต่บ่อที่มีน้ำใส ผู้ว่าราชการจังหวัดเขียนป้ายไว้ว่า น้ำไม่เคยแห้ง
อีกอาคารหนึ่งเป็นสมาคมเขียนลายมือพู่กันจีน มีลายมือของประธาน รองประธาน ลายมือของบุคคลสำคัญ เช่น จูเต๋อ เฉินอี้ เขียนข้อความที่ดีๆ ประดับไว้ในอาคาร
(น.211) ที่มาดูบริเวณนี้เห็นได้ว่า สมัยก่อนเกาะไหหลำเป็นส่วนที่เรียกได้ว่าอยู่ใต้สุดของจีน ยังไม่พัฒนานัก แต่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อจีนในเชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจกล่าวคือ เป็นแหล่งวัตถุดิบ
และอีกประการหนึ่งเป็นเส้นทางที่จะต่อไปถึงดินแดนอื่นๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ดังนั้นเมื่อมีเหตุปั่นป่วนขัดแย้งกันในบริเวณเมืองหลวง บุคคลที่จักรพรรดิไม่พอพระทัย ซึ่งมักจะเป็นคนเข้มแข็งมีความรู้ความสามารถ จึงถูกส่งไปอยู่ที่ทุรกันดารเพื่อพัฒนาสร้างความเจริญ ซึ่งจะช่วยดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางด้วย เพราะได้เผยแพร่วัฒนธรรมภาคกลางแก่ดินแดนเหล่านั้น
ไม่มีการพูดถึงส่งคนที่ไม่ดี ขี้โกงไปที่ไกลๆ เหมือนที่บ้านเราใช้คำว่า “ย้าย”
พิพิธภัณฑ์ใหม่สร้างใน ค.ศ. 1995 เป็นของเทศบาล แต่สร้างตามที่ปักกิ่งออกแบบ ที่ห้องโถงกลางมีลายมือคนมีชื่อเสียง เช่น เจ้าผู่ชู มีเรื่องประวัติผู้อาวุโสทั้ง 5 คน คนมีชื่อเสียงของไหหลำทั้งที่เป็นคนถูกเนรเทศและคนท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการที่ช่วยผู้คนในภาวะน้ำท่วมแทนที่จะส่งส่วยข้าวให้จักรพรรดิกลับเอาข้าวนั้นไปแจกราษฎรเสียก่อน เมื่อสอบสวนแล้ว จักรพรรดิไม่ได้ลงโทษกลับให้รางวัล
ชั้นบนไม่เปิดไฟ ไม่เปิดแอร์ ไม่เปิดหน้าต่าง เป็นที่เก็บโบราณวัตถุ มีทั้งของที่มีผู้บริจาค หน่วยงานอื่นให้ขอยืม และของที่พิพิธภัณฑ์จัดแสดงเอง มีของไม่มากนัก มีสมัยราชวงศ์ฮั่น ถัง ซ่ง อยู่บ้าง ของสมัยราชวงศ์หมิงที่พบในไหโข่ว ของที่สำคัญที่สุดมีชามลายมังกรของจักรพรรดิ สมัยราชวงศ์หมิงพระราชทานชิวจวิ่น ข้าราชการที่นี่
ไปรับประทานที่โรงแรมเป่าฮัว สมาคมไหหลำไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นพวกคนไทยเชื้อสายไหหลำ หลายคนมาเป็นครั้งแรกและไม่รู้ภาษาจีน เป็นคนที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจและหน้าที่การงานอื่นๆ ในประเทศไทย
(น.212) รูป
(น.212) ช่วงบ่ายไปสุสานไห่รุ่ย ขุนนางซื่อตรง สุสานนี้ถูกทำลายไปเกือบหมดในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ว่าได้ซ่อมสร้างขึ้นใหม่ใน
ค.ศ. 1982 ไห่รุ่ยอยู่ในสมัยปลายราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1514-1587) เป็นคนเมืองฉงโจว ในไหหลำเป็นข้าราชการที่มีเมตตาสุจริตยุติธรรมเหมือนกับเปาบุ้นจิ้นที่เรารู้จักกันดี
(น.213) รูป
(น.213) ค.ศ. 1558 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภอฉุนอาน ในมณฑลเจ้อเจียง ก่อนไปรับราชการพวกขุนนางที่นั่นกินสินบน ไม่เคารพกฎหมาย ตัดสินคดีอย่างไม่ระมัดระวัง พอไห่รุ่ยไปถึง เขาทำงานอย่างตั้งใจ แก้ไขคดีความต่างๆ จนเรียบร้อย ชาวบ้านจึงเคารพเขามาก
ค.ศ. 1564 ไห่รุ่ยย้ายเข้าไปรับราชการในเมืองหลวงสมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง (หมิงซื่อจง) จักรพรรดิอยากอายุยืน ไม่แก่ ไม่เฒ่า ศึกษาวิธีการกับนักพรตเต๋า อยู่ในวังทั้งวันเป็นเวลา 20 ปี ไม่ว่าราชการ พวกขุนนางใหญ่ ไม่กล้าทูลเตือน ตำแหน่งของไห่รุ่ยไม่ใหญ่ การไปทูลเตือนจักรพรรดิจึงไม่ใช่เรื่องเล็ก
ค.ศ. 1565 ไห่รุ่ยเขียนฎีกาตำหนิจักรพรรดิ เขาคิดว่าจักรพรรดิทอดพระเนตรแล้วจะตัดคอเขา เขาจึงซื้อหีบศพมาใบหนึ่ง สั่งเสียภรรยาให้จัดการเรื่องครอบครัวให้เรียบร้อย หลังจากที่เขาตายไป เมื่อจักรพรรดิทอดพระเนตรฎีกากริ้วมากจริงๆ แต่ไม่สั่งประหาร ให้จับไห่รุ่ยขังคุก ภายหลังได้กลับคืนสู่ตำแหน่งราชการ
ค.ศ. 1569 ไห่รุ่ยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนจักรพรรดิไปเจียงหนาน เป็นผู้ตรวจราชการเขตอิ้งเทียน (ได้แก่ ซูโจว ซงเจียง ฉังโจว เจิ้นเจียง ฮุยโจว ฯลฯ)
อิ้งเทียนสมัยราชวงศ์หมิงเป็นเขตเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมที่ก้าวหน้าที่สุด ประชากรหนาแน่น ปกครองยาก พวกขุนนางที่นั่นกระทำการไม่สุจริต เช่น ยึดที่ดินของชาวบ้าน ไห่รุ่ยเห็นว่าถ้าเอาของชาวบ้านควรจ่ายเงิน พวกขุนนางไม่พอใจ ไปเพ็ดทูลจักรพรรดิ ให้จักรพรรดิไล่ไห่รุ่ยออกจากตำแหน่ง
Next >>