พระราชประวัติ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสนพระทัยวิชาการด้านจีนศึกษาอย่างลึกซึ้ง นอกเหนือจากการทรงพระอักษรภาษาจีนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2523 ถึงปัจจุบันแล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารียังได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างสม่ำเสมอ
นับแต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2524 จวบจนปัจจุบันก็ได้เสด็จพระราชดำเนินจนครบทั่วทุกมณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งผู้นำจีนได้กล่าวชื่นชมว่า
ยากที่จะหาอาคันตุกะใดที่จะได้เยี่ยมเยือนจีนอย่างถ้วนทั่วทั้งในเมืองและในชนบทที่ห่างไกลดังเช่นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ดร. พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (พระราชอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9) เป็นผู้ถวายพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์"
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา
กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี"
นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรกที่ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ที่ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
พระองค์มีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทยซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์
ส่งเสริมและให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า
“เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ
“วิศิษฏศิลปิน”
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ
ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้นมุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดารและพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฎร