Please wait...

พระปรีชาญาณด้านจีนศึกษา:

           สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสนพระทัยวิชาการด้านจีนอย่างลึกซึ้ง นอกเหนือจากการทรงพระอักษรภาษาจีนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่พ.ศ. 2523 ถึงปัจจุบันแล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารียังได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรกในพ.ศ. 2524 จวบจนปัจจุบันก็ได้เสด็จพระราชดำเนินจนครบทั่วทุกมณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งผู้นำจีนได้กล่าวชื่นชมว่า ยากที่จะหาอาคันตุกะใดที่จะได้เยื่ยมเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างถ้วนทั่วทั้งในเมืองและชนบทที่ห่างไกลดังเช่นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

พระราชนิพนธ์เสด็จฯ เยือนจีน:

           ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนแต่ละครั้ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระอักษรบันทึก
เรื่องราวต่างๆไว้โดยละเอียด และมีพระวิริยะทรงพระราชนิพนธ์สารคดีบันทึกการเดินทาง บางครั้งพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ความรู้และข้อสนเทศด้านต่างๆเกี่ยวกับจีน

เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี:

           ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ทรงรับสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไว้ในพระราชูปถัมภ์ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีผู้ทรงใฝ่พระทัยศึกษาและทรงส่งเสริมวิชาการด้านจีนศึกษาอย่าง
ต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการขอพระราชทานพระราชานุญาตตั้งชื่อศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาตามพระนามเพื่อเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สืบไป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “ศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2551

ความต้องการแหล่งสารสนเทศที่ทันสมัยเกี่ยวกับจีนศึกษา:

           ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาของไทยยังไม่มีหน่วยงานใดที่เป็นศูนย์การรวมแหล่งความรู้เกี่ยวกับจีนศึกษาอย่างกว้างขวางลึกซึ้งและทันสมัย สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ
จึงเห็นสมควรที่จะมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับจีนศึกษาในทุกๆด้าน โดยเริ่มต้นจากการจัดเก็บข้อมูลและข้อสนเทศจากพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่เกี่ยวเนื่องกับจีนศึกษาให้เป็นระบบง่ายแก่การศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้เป็นการนำร่องให้เกิดการค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับจีนในทุกด้านให้เพิ่มพูนขึ้นสืบไป ตลอดจนดำเนินการพัฒนาศูนย์แห่งนี้ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้การอบรมด้านการจีนศึกษาและเป็นคลังข้อมูลสารสนเทศที่ทันสมัยเกี่ยวกับจีนศึกษา