Please wait...

พระราชกรณียกิจ

1.ด้านการศึกษา

          เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ทรงเข้ารับราชการเป็นพระอาจารย์ประจำกองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของพลตรียุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในขณะนั้น ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา พระองค์จึงทรงเป็น "ทูลกระหม่อมอาจารย์" สำหรับนักเรียนนายร้อยตั้งแต่นั้น ต่อมาเมื่อมีการตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันและทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ส่วนการศึกษา ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2529 และเป็นศาสตราจารย์ ส่วนการศึกษา ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (อัตราจอมพล) เมื่อปี พ.ศ. 2543 นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงรับเชิญเป็นพระอาจารย์สอนในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนั้น พระองค์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาพัฒนาศึกษาศาสตร์ด้วย


          ในปี พ.ศ. 2525 ทรงพระราชดำริให้ก่อตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับบุตรหลานข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป เปิดทำการสอนครั้งแรกในปีการศึกษา พ.ศ.2525 โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ประธานกรรมการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบและทรงเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกครั้ง รวมถึงเสด็จพระราชดำเนินไปในงานปิดภาคเรียนของโรงเรียนทุกครั้ง เพื่อพระราชทานทุนพระราชทานส่งเสริมการเรียนดีและพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานจากสถานศึกษาต่าง ๆ คือ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ วิทยาลัยในวังชาย วิทยาลัยในวังหญิง โรงเรียนผู้ใหญ่พระดาบส ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก(วิทยาลัยในวัง) กาญจนาภิเษกวิทยาลัย(ช่างทองหลวง)

          ในปี พ.ศ. 2533 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวครั้งแรกระหว่างวันที่ 15-22 มีนาคม ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน 12 ล้านกีบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินไปก่อสร้างเรือนนอนให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางทิศเหนือประมาณ 67 กิโลเมตร พระราชทานชื่อว่า “อาคารสิรินธร” โดยมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในรูปแบบของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยนำแนวทางที่ดำเนินการในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้และสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริม

          พ.ศ. 2535 ทรงพระราชดำริพระราชทานความช่วยเหลือราชอาณาจักรกัมพูชาในการก่อตั้งวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ณ จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยพระราชทานเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ เสด็จฯ ไปทรงเปิดวิทยาลัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนแก่นักเรียนเพื่อให้มาศึกษาต่อในราชอาณาจักรไทยในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อนำความรู้กลับไปสอนและพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัยรวมทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาด้านนาฏศิลป์และดนตรี

          ในปี พ.ศ. 2549 พระองค์ทรงมีแนวความคิดจัดตั้งโครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ขึ้น โดยความร่วมมือของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างนักอักษรศาสตร์ที่มีมุมมองและแนวคิดใหม่เพื่อเป็นกำลังของชาติ มีพระวิสัยทัศน์ก้าวไกลทรงสนับสนุนการช่วยเหลือโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ให้เป็นโรงเรียนผลิตนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ สร้าง"องค์ความรู้"ให้แก่ราชอาณาจักรไทย

2.ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

          พระองค์ทรงสนพระทัยด้านศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยเฉพาะทางด้านดนตรีไทยซึ่งพระองค์ทรงสนับสนุนในการอนุรักษ์ สืบทอด เผยแพร่ความรู้ด้านดนตรีไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทรงเป็นแบบอย่างในการเสด็จทรงเครื่องดนตรีไทยร่วมกับประชาชนทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังทรงอนุรักษ์ดนตรีไทยโดยการชำระโน้ตเพลง บันทึกเพลงเก่าและเผยแพร่งานเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จัดการเผยแพร่งานทางด้านดนตรีไทย ซึ่งจากงานทางด้านการอนุรักษณ์ดนตรีไทย ครูเสรี หวังในธรรม ได้กล่าวไว้ว่า “ดนตรีไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะพระทูลกระหม่อมแก้วเอาใจใส่”

          นอกจากด้านดนตรีไทยแล้ว พระองค์ยังประกอบพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในด้านการช่างไทย นาฎศิลป์ไทย งานพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์และโบราณสถาน ภาษาและวรรณกรรมไทย พระองค์ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย ” เมื่อ พ.ศ. 2531 และ “วิศิษฏศิลปิน” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในศิลปะหลายสาขา รวมทั้งทรงมีคุณูปการต่อเหล่าศิลปินและศิลปวัฒนธรรมของชาติ นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีซึ่งมีฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติให้วันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์เป็น "วันอนุรักษ์มรดกของชาติ" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีอีกด้วย ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2523

ต่อไป >>