<< Back
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล ความนำ
คนไทยคุ้นเคยดีกับวัฒนธรรมที่มาจากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหลายเมืองในมณฑลกวางตุ้ง
ฮกเกี้ยน และไหหลำ เพราะเมืองหลายเมืองในมณฑลเหล่านี้เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของชาวจีนอพยพที่กระจายไปอยู่ดินแดนโพ้นทะเลหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นต่อเนื่องกันมาจนถึงช่วงที่เพิ่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง มีชาวจีนจำนวนมากอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทย กระแสธารการอพยพในแต่ละช่วงมากน้อยต่างกัน ตามปัจจัยแวดล้อมในแต่ละสมัย
ชาวจีนเหล่านี้และลูกหลานมีบทบาทในสังคมไทยหลากหลายด้าน จนมีผู้กล่าวว่า การศึกษาประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์จะละเลยไม่ศึกษาเรื่องราวของชาวจีนอพยพและเชื้้อสายไม่ได้
ระหว่างวันที่ 14-23 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ข้าพเจ้าได้ไปเยือนเมืองหลายเมืองในมณฑลฮกเกี้ยน และมณฑลไหหลำ อันเป็นบ้านเกิดของชาวจีนโพ้นทะเล
หรือที่เรียกขานกันในภาษาจีนว่า หัวเฉียว ได้เห็นสภาพภูมิศาสตร์ธรรมชาติอันงดงาม ศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น โบราณสถาน ศาสนสถาน พิพิธภัณฑ์ การศึกษา สภาพเศรษฐกิจ และอื่น ๆ จึงได้เรียบเรียงเรื่องราวเหล่านี้เป็นหนังสือชื่อ เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
หวังว่าบันทึกประสบการณ์การเยี่ยมเยือนครั้งนี้จะยังประโยชน์แก่ผู้อ่านตามควร