Please wait...

<< Back

" ใต้เมฆที่เมฆใต้ วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2538 "

(น.2) วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2538
ใครๆ คงจะว่าข้าพเจ้าไปแต่เมืองจีนบ่อย 5-6 ครั้งยังไม่พอไปอีกทำไม ที่จริงแล้วไปครั้งหนึ่งๆ ก็มีประโยชน์ เพราะว่าได้ซ้อมพูดภาษาจีนในบรรยากาศเมืองจีน จะทำให้ความรู้ภาษาจีนก้าวหน้าขึ้นเสียอยู่อย่างเดียวคือช่วงนี้ข้าพเจ้ามีงานที่จะต้องเดินทางไปค้างแรมที่โน่นที่นี่ จึงไม่มีเวลาเตรียมการ อย่างไรก็ตามครั้งนี้คิดว่าจะไปนานนักจึงเลือกเอามณฑลยูนนาน ซึ่งใกล้และเคยไปมาแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน ครั้งแรกคิดจะเดินทางจากเชียงใหม่ ง่ายๆ ดี แต่ว่าเผอิญวันที่ 27 ไม่มีเครื่องบินจากเชียงใหม่ จึงกลับไปขึ้นที่กรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าจะไปเที่ยวอย่างลำลอง แต่เผอิญปีนี้เป็นปีฉลอง 20 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน จึงมีความรู้สึกว่าเดินทางครั้งนี้มีความสำคัญไม่น้อย


(น.2) รูป 1 ถึงสนามบินคุนหมิง


(น.3) รูป 2 ถึงสนามบินคุนหมิง
(น.3) เมื่อไปเมืองจีนครั้งก่อนมีผู้เล่าให้ฟังว่า ยูนนานเป็นมณฑลที่มีพรรณพืชมากกว่าทุกๆ มณฑลของจีน จึงชวนดร. ธวัชชัย สันติสุข นักพฤกษศาสตร์ซึ่งได้มาศึกษาพันธุ์ไม้จีนหลายครั้งแล้ว ที่เชียงใหม่ข้าพเจ้าเคยไปดูดาวที่หอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม เป็นผู้แนะนำอาจารย์บุญรักษาเล่าว่าที่ ยูนนานกล้องดูดาวเขาใหญ่กว่าของเรา คราวนี้ก็เลยชวนอาจารย์มาด้วย บันทึกการเดินทางครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกับบันทึกเล่มอื่นๆ ที่เคยเขียนมา คือเพื่อบันทึกประสบการณ์สิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้ประสบ รวมทั้งความรู้สึกขณะเดินทาง เสนอประเด็นที่น่าศึกษาต่อบางประการ มิได้มุ่งเป็นผลงานทางวิชาการ ฉะนั้นคงมีข้อผิดพลาดและขาดตกบกพร่องอยู่มาก เมื่อมีผู้อ่านท้วงติงหรือตนเองได้ไปศึกษาเพิ่มขึ้น ก็จะหาโอกาสแก้ไขไปเรื่อยๆ เมื่อไปถึงสนามบินนครคุนหมิง มีท่านทูต (คุณสวนิต คงสิริ) กับอธิบดีสำนักงานการต่างประเทศมณฑลยูนนานขึ้นมารับบนเครื่องบิน คนอื่นๆ ที่สนามบินมี นางเฉิ่นลี่ยิง รองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองมณฑลยูนนาน นางหลี่ซื่อฉุน อดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยและภรรยา นายหวังถิงเชิน นายกเทศมนตรีนคร


(น.4) รูป 3 พบเปียนเหมย

(น.4) คุนหมิง ศาสตราจารย์หวงฮุ่ยคุน รองอธิการบดีสถาบันชนชาติมณฑลยูนนาน ฝ่ายไทยมีคณะสถานทูต สถานกงสุล และเจ้าหน้าที่การบินไทย ครั้งนี้เปลี่ยนล่ามใหม่ชื่อ คุณหลิวหลานเจิน เป็นเพื่อนเรียนหนังสือชั้นเดียวกับพี่อู๋หุ้ยชิง และทำงานอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศเหมือนกัน ส่วนตำรวจประจำตัวคราวนี้เป็นคนใหม่ชื่อคุณหลี่หงเยี่ยน (พูดภาษาอังกฤษเก่ง) คุณหลี่เจียถิง รองผู้ว่ามณฑลนั่งรถจากสนามบินไปโรงแรมจินหลง (มังกรทอง) ด้วยกัน ท่านรองฯ บอกว่าเพิ่งกลับมาจากการประชุมที่ BOI จัดที่แหลมฉบัง ถนนเข้านครคุนหมิงมีรถหลายชนิด รถยนต์ รถจักรยาน รถเทียมม้า และรถอีแต๋น เป็นต้น ท่านรองฯ หลี่ชี้ให้ดูศูนย์การค้ายูนนานที่ใหญ่ที่สุด สร้าง 10 เดือน ใช้เงิน 400 ล้านหยวน ท่านเล่าว่าท่านเป็นคนมณฑลยูนนาน ไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และออกไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดหลายปีอยู่ฮาร์บิน 30 กว่าปี จึงกลับมณฑลยูนนานเมื่อ 10 กว่าปีมานี้เอง ไปถึงโรงแรมที่แปลกใจที่สุดคือเจอเปียนเหมย เขารู้ข่าวว่าข้าพเจ้ามาเมืองจีน แต่ไม่ได้เข้าปักกิ่ง จึงตัดสินใจนั่งเครื่องบินมาหาที่นี้ ตอนนี้ยังไม่มีเวลาคุยกันมาก คืนนี้หลังอาหารให้ข้าพเจ้าโทรฯ บอก เขาจะได้ขึ้นมาคุยด้วย เจอเพื่อนเก่าอีกคนคือคุณเจียง เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ


(น.5) รูป 4 พิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนาน เก็บสิ่งของที่เกี่ยวกับชนชาติส่วนน้อยในยูนนาน

(น.5) ชานตงต้าฮั่นเจ้าเก่าตั้งแต่ท่องเที่ยวเส้นทางแพรไหมเมื่อ พศ. 2533
ห้องในโรงแรมนี้สบายดี หน้าห้องมีเฉลียง มีกุหลาบพันปีสีแดงและชมพู แต่อีกด้านหนึ่งโผล่หน้าต่างออกมาเห็นแต่ตึกและการก่อสร้างใหม่ๆ เขาให้ทหารยืนยามหน้าห้องคนหนึ่ง เวลาบ่ายสามโมงครึ่ง ออกไปพิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนาน มาดามเฉินลี่ยิงนั่งรถไปด้วย มาดามเคยเป็นวิศวกรโรงงานทอผ้า ต่อมาเป็นผู้ว่าราชการมณฑล ปัจจุบันนอกจากเป็นรองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมือง มณฑลยูนนานแล้ว ยังเป็นประธานสภากาชาดมณฑล และกรรมการบริหารสภากาชาดจีนด้วย รวมทั้งเป็นประธานมูลนิธิสวัสดิการข้าราชการครูดีเด่นของโรงเรียนระดับอนุบาล ประถม และมัธยมของยูนนาน ตอนที่คณะของท่านผู้หญิงนวลผ่อง เสนาณรงค์ จากสภากาชาดไทยมาคุนหมิง มาดามก็เป็นคนต้อนรับ ไปถึงพิพิธภัณฑ์ มาดามว่าสร้างมานานแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 กว่าๆ เล็กและคับแคบไปแล้ว อยากจะสร้างใหม่ มีหัวหน้าพิพิธภัณฑ์กับอธิบดีวัฒนธรรมของมณฑลมาต้อนรับ ห้องแรก ที่ดู แสดงชีวิตชนชาติส่วนน้อยในมณฑลยูนนาน 25 ชนชาติ มีแผนที่มณฑลแสดงว่าเผ่าต่างๆ อยู่ที่ไหน มีชนกลุ่มน้อยรวมกันประมาณ 13.7 ล้านคน เป็นจำนวนหนึ่งในสามของประชากรในมณฑลเขาจัดพิพิธภัณฑ์ได้ดีทีเดียว มีสิ่งของต่างๆ ของชนชาติต่างๆ แบ่ง


(น.6) รูป 5 เครื่องดนตรีชนเผ่า มีภาพประกอบให้เห็นวิธีใช้

(น.6) เป็นประเภทและมีภาพถ่ายให้ดูว่าใช้ของนั้นทำอะไร เช่น กลองต่างๆ มีมโหระทึก กลองยาวของพม่า เผ่าจิ่งพอ เหมียว (ม้ง, แม้ว) น่าซี อี๋ ไต่ กลองรูปปลาของเผ่าจ้วง กลองหกเหลี่ยมของพวกไป๋ กลองพระอาทิตย์ของพวกเผ่าจีหนัว แตรยาวของชนชาติอี่ แตรชนิดนี้เป่าแล้วเสียงดังมาก ฟังได้ยินข้ามภูเขา เครื่องสาย (ดีด) ของเผ่าอี๋ ชนชาติน่าซี เป็นเผ่าที่ไม่มีในมณฑลอื่น อยู่เฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน มีวัฒนธรรมพิเศษคือมีคนกลุ่มหนึ่งเรียกว่าตงปา ดูเหมือนว่าจะเป็นพระหรือเป็นหมอผีประจำเผ่า เป็นผู้มีความรู้มากกว่าคนอื่น รู้จักการเขียนหนังสือด้วยอักษรภาพ พิพิธภัณฑ์จัดแสดงหนังสือที่ตงปาในสมัยราชวงศ์หมิงเขียน ตงปายังทำหน้าที่เป็นหมอรักษาโรคโดยการเต้นระบำไปรอบๆ (เรื่องเต้นรำรักษาโรคแบบนี้ข้าพเจ้าเคยเห็นหมอผีของชาวเขาในเมืองไทยทำ) ปัจจุบันได้ความว่ายังมีตงปาอยู่ แต่ว่าอายุมากๆ 70 กว่าไปแล้ว คนหนุ่มกว่านั้นไม่มีใครถ่ายทอดวิชาการเอาไว้


(น.7) รูป 6 หน้ากากของเผ่าใช้ป้องกันผีร้าย

(น.7) หน้ากากของเผ่าต่างๆ ส่วนใหญ่จะทำขึ้นเพื่อป้องกันภูตผีปีศาจที่ประสงค์ร้าย หรือกันภัยอันตรายต่างๆ มีทั้งชนิดที่ทำเพื่อสวมหน้าและชนิดแขวน มีขนาดต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็ก หน้ากากใหญ่ๆ ดูเหมือนหน้ากากผีตาโขนที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ของเรา อันเล็กๆ ดูเหมือนช้อน มีหน้ากากสำหรับสวมเล่นงิ้ว งิ้วชนิดนี้เล่นในพิธีการความเชื่อ ปีหนึ่งเล่นเพียง 15 วันเท่านั้น หน้ากากสลักไม้ของชนเผ่าเหมียว (ไทยเรียกว่าม้งหรือแม้ว) ไม่เคยเห็นคนม้งบ้านเราสลักไม้แบบนี้ กลับไปคงจะต้องศึกษา หน้ากากไม้นี้น่าสนใจมาก สลักด้วยฝีมือประณีตแต่ละหน้าไม่เหมือนกันเลย


(น.8) รูป 7 เรือของเผ่าไต่

(น.8) ภาพพิธีสงกรานต์ของชนชาติไต่ (ไท) มีการสาดน้ำและแข่งเรือในแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขง มีกระเป๋าใบเล็กๆ เป็นผ้าปักที่พวกผู้หญิงชาวไต่มักทำให้ชายคนรัก สมัยก่อนมักใส่เครื่องหอม ปัจจุบันกลายเป็นของสำหรับขายนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน ธรรมเนียมที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของเผ่าจิ่งพอซึ่งไม่มีภาษาเขียนคือ การใช้ใบไม้เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายต่างๆ เรียกว่า จดหมายใบไม้ มีหลายอย่างที่เขาอธิบายให้ฟัง แต่ข้าพเจ้าจดไม่ทัน จะขอยกตัวอย่างเฉพาะที่จดได้
รากไม้ชนิดหนึ่ง แปลว่า ฉันรักเธออย่างลึกซึ้ง
หญ้าคา แปลว่า คิดถึง
ราชาวดีป่า (Buddleja) แปลว่า ชวนคุณมา


(น.9) รูป 8 ตู้แสดงของ

(น.9)
ปอหมัน (Cordia) แปลว่า แน่นอน
เฉียงพร้านางแอ (Carallia) แปลว่า เห็นด้วยไหม
รูปและเรื่องพิธีแต่งงานของเผ่าต่างๆ สิ่งของที่ใช้ในงานแต่งงาน เช่น เครื่องเงิน
เทศกาลของเผ่าต่างๆ เช่น เผ่าอี๋ เผ่าไป๋ (มีหั่วป่า หรือบั้งไฟ คล้ายๆ ไต้ ข้าพเจ้าเคยเห็นมีทางภาคเหนือของไทย) เผ่าเย้า เผ่าตู๋หลง

Next >>