<< Back
" ใต้เมฆที่เมฆใต้ วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2538 "
(น.192) รูป 207 ปีแพะ
(น.193) รูป 208 ชาวอี๋ไกวชิงช้า
รูป 209 เครื่องเล่นชาวอี๋
(น.193) มีเครื่องเล่นอีกแบบ มองดูไกลๆ ไม่ได้เข้าไปดูใกล้ๆ เลยเห็นไม่ชัดว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่
เท่าที่เห็นเป็นไม้ยาวๆ คนขึ้นไปอยู่ที่ปลาย 2 ข้าง หมุนได้รอบ 360° ไม่นึกอยากเล่น มันเหวี่ยงแบบของเล่นตามสวนสนุกหรือศูนย์การค้า
(น.194) รูป 210 บ้านเผ่าน่าซี
(น.194) ไปหมู่บ้านเผ่าน่าซีมีเครื่องหมายเป็นรูปปลาคู่ เผ่าน่าซีมีอยู่มากที่ลี่เจียง ประมาณ 320,000 คน มีภาษาและอักษรเป็นของตนเองหน้าหมู่บ้านมีรูปปั้นเทพเจ้าของเผ่า เป็นรูปเทพนักรบขี่ม้าชื่อซันตั่วเฉิน วันที่ 8 มีนาคมที่จะถึงนี้จะเป็นเทศกาลบวงสรวงเทพเจ้าองค์นี้
มีตำนานของเผ่าเรื่องหนึ่งว่าเกิดน้ำท่วมใหญ่ คนตายไปหมด มีคนฉลาดทำให้ชีวิตรอดอยู่ได้เพียงคนเดียวชื่อฉงเซินเนี่ยโล่ว เป็นผู้มีพลังแข็งแกร่งมาก
เมื่อคนทั้งหลายพากันตายไปหมดแล้ว เขาจึงต้องไปหาคู่ถึงบนฟ้าคือต้องไปสู่ขอธิดาเจ้าสวรรค์ เจ้าสวรรค์หวงธิดาจึงตั้งปัญหาให้เขาแก้ เขาก็แก้ปริศนาได้
เจ้าสวรรค์พึงพอใจยกธิดาให้ เมื่อกลับมาโลกมนุษย์แล้วฉงเซินเนี่ยโล่วกับธิดาสวรรค์มีบุตรด้วยกัน 3 คน คนโตเป็นต้นตระกูลชาวทิเบต คนที่สองเป็นต้นตระกูลเผ่าน่าซี คนเล็กเป็นต้นตระกูลของพวกไป๋เผ่าหนึ่ง
(น.195) รูป 211 ลานบ้านชาวน่าซี
(น.195) ข้าพเจ้าสงสัยว่าคนอื่นตายไปหมด ฉงเซินเนี่ยโล่วทำอย่างไรจึงไม่ตาย ไกด์ประจำหมู่บ้านตอบไม่ได้ ศาสตราจารย์หวงฮุ่ยคุนอธิบายว่ามีตำนานบอกไว้ว่าเข้าไปหลบอยู่ในผลน้ำเต้า
ข้อสังเกตคือหลายชาติหลายภาษาไม่ได้มีการติดต่อกัน ล้วนมีนิทานเรื่องน้ำท่วมใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น น่าจะเป็นไปได้ว่าเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นจริงในหลายส่วนของโลก
เดินผ่านเข้าประตูไม้ แต่เดิมพวกชนเผ่าน่าซีอยู่ถ้ำแบบมนุษย์ดึกดำบรรพ์ทั่วๆ ไป ต่อมาสร้างบ้านไม้แล้วจึงปลูกเป็นตึกอยู่ในสมัยราชวงศ์หมิง
ชาวน่าซีชอบตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ลำธารหรือคลอง บางทีปลูกคร่อมลำธารเสียด้วยซ้ำไป ที่หมู่บ้านนี้เขาสร้างลำคลองเอาไว้ข้างๆ บ้าน มีสะพานมีที่ขายของ ลานบ้านรูปสี่เหลี่ยมเป็นที่สังสรรค์แลกเปลี่ยน
(น.196) รูป 212 ภาษาตงปา
(น.196) ทางเศรษฐกิจ ถือเป็นสถานที่สำคัญอย่างยิ่ง ทางการจีนยังพยายามรักษาวัฒนธรรมนี้เอาไว้จนถึงปัจจุบัน ลานนี้ปูด้วยหินที่เรียงกันเป็นรูปสัญลักษณ์ฟ้าดิน หมายถึงระหว่างฟ้ากับดินมีคนมากมายสิบเผ่าพันธุ์ต่อๆ กันมา
บ้านของน่าซีเป็น 3 ห้อง เหมือนบ้านพวกไป๋ที่เราเคยไปดูมาแล้ว หน้าบ้านมีตุ้ยเหลียน (บทกวีที่เป็นคำขวัญสั้นๆ ) ติดไว้ การติดตุ้ยเหลียนเป็นประเพณีจีน แต่ตุ้ยเหลียนนี้เขียนเป็นภาษาน่าซี ด้านหนึ่งกล่าวถึงภูเขายู่หลงซาน มีหิมะปกคลุมอยู่เสมอไม่มีวันแก่เฒ่า อีกด้านกล่าวถึงแม่น้ำจินซาเจียงไหลไปนิรันดร มีแม่น้ำน้อยใหญ่ไหลลงสู่แม่น้ำใหญ่สายนี้
ตุ้ยเหลียนอีกบทกล่าวถึงจิตใจที่แก่กล้า ต่างคนมีความปรารถนาดีร่วมกัน ให้ชนชาติทั้งหลายสามัคคีกันเพื่อเป็นคุณูปการแก่การพัฒนา
อักษรพวกน่าซีเป็นอักษรรูปภาพที่เรียกว่าอักษรตงปา
ภาษาตงปาเป็นภาพวาด นอกจากที่เห็นเป็นสมุดหนังสือแล้ว ยังมีแกะสลักในหินและไม้ เขาว่าตงแปลว่าตะวันออก ปา หมายถึงดินแดนที่ห่างไกล
มีอักษรเกอปาเป็นสาขาหนึ่งของตงปา เขาทำบอร์ดวิเคราะห์วิวัฒนาการของตัวอักษรและเปรียบเทียบกับอักษรที่จารึกบนกระดองเต่า ปรากฏว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก อาจจะเป็นอักษรรุ่นเดียวกัน แต่ตงปามักจารึกบนไม้ ส่วนอักษรที่จารึกบนกระดองเต่ามีลักษณะเฉพาะตัว
(น.197) รูป 213 ภาษาตงปา
(น.197) ของอื่นๆ ที่เก็บไว้เป็นหมวกของหมอผี เป็นรูปแหลมๆ 5 ยอด หมายถึง 4 ทิศและทิศกลาง เครื่องใช้ในการทำพิธี คัมภีร์ศาสนา
ศาสนาตงปานี้แท้ที่จริงก็ประกอบด้วยลัทธิความเชื่อแบบเต๋าปนกับพุทธนิกายลามะ มีความเชื่อเรื่องนรก มนุษย์ วิญญาณ คนที่เป็นตงปาหรือหมอผีเป็นคนที่มีบารมี ชาวบ้านนับถือ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย
ห้องในบ้าน มีที่นอนเจ้าของบ้านฝ่ายหญิงอยู่ข้างหนึ่ง เตียงเจ้าสาวอยู่ด้านหนึ่ง ฝ่ายผู้ชายมักอยู่ห้องกลางซึ่งมีแท่นบูชา
(น.198) แม้แต่เสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่เขาก็ว่ามีความหมาย หมวกเป็นสีสันของฟ้า กระโปรงขาวคือหิมะ เข็มขัดเป็นแม่น้ำ หญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน สวมหมวกมียอดแหลมๆ ขึ้นมา
บุรุษใดสัมผัสยอดแหลมนี้หมายถึงขอแต่งงาน ข้าพเจ้าถามคุณขลุ่ยว่าลองไหม คุณขลุ่ยสั่นหัวดิกไม่ยอมเป็นเจ้าบ่าวน่าซีโดยเด็ดขาด คนที่เป็นไกด์เขาหากระดาษเขียนคำกลอนภาษาตงปาจากตุ้ยเหลียนให้ แต่แรกจะเขียนใส่แผ่นใหญ่ แล้วคงนึกออกว่าเขียนเล็กๆ สะดวกกับข้าพเจ้ามากกว่า จึงหยิบแผ่นเล็กมา
คนน่าซีนี้เขาว่าเป็นคนมีความรู้และสนใจการศึกษา สมัยโบราณก็สอบรับราชการได้จำนวนไม่น้อย มีคนได้จอหงวน ตามธรรมเนียมเมื่อบัณฑิตประสบความสำเร็จ ทางหมู่บ้านจะสร้างประตูเหมือนกับว่าเป็นประตูชัย คนน่าซีแซ่เหอกันหลายคนรวมทั้งท่านผู้ว่าราชการมณฑลด้วย
ต่อไปไปดูหมู่บ้านเผ่าโม่ซัว เราเรียกกันเองว่าเผ่ามัวซัวเพื่อให้จำง่ายชาวโม่ซัวนั้น บางคนว่าเป็นสาขาของชาวน่าซี มีคำขวัญว่า
ใครพูดได้ ต้องร้องเพลงได้
เดินได้ ต้องเต้นรำได้
ใครมาจากไหน มาถึงก็เป็นเพื่อนเรา
ชาวโม่ซัวเป็นเผ่าที่สืบตระกูลตามสายผู้หญิง ปลูกบ้าน 4 ด้านมีลานตรงกลาง บ้านชาวโม่ซัวสร้างด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่ คนที่ใหญ่ที่สุดในบ้านคือคุณยาย
ต้องมีที่เฉพาะ มีทั้งที่พัก ครัว และห้องรับแขก หอจิงก่าเป็นหอสวดมนต์ ชาวโม่ซัวนับถือศาสนาพุทธนิกายลามะ ห้องหญิงสาวมีทั้งห้องคนที่แต่งงานแล้วและยังไม่แต่งงาน หญิงที่อายุ 13 ปีขึ้นไปจะมาอยู่ห้องด้านนี้ ถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว
(น.199) รูป 214 ห้องคุณยาย
(น.199) สำหรับผู้ชายก็ต้องอยู่อีกทางและถือแม่ ยาย และน้าเป็นใหญ่ ผู้ชายที่มาอยู่กับผู้หญิง เวลาทำงานก็ต้องกลับไปทำงานให้แม่ตนเอง
ลูกๆ บางคนไม่รู้จักพ่อเสียด้วยซ้ำไป เขาบอกว่าวิถีชีวิตแบบนี้ทำให้ครอบครัวสงบสุขและเป็นอิสระ ในหมู่ชาวโม่ซัวไม่ปรากฏว่ามีเรื่องวิวาทบาดทะเลาะ
กรณีแม่ผัวลูกสะใภ้ในละครน้ำเน่าก็ไม่มี ผัวเมียตีกันซ้อมกันก็ไม่มี มีแต่ความเป็นมิตรไมตรีอันดี แต่ก็ไม่มีพันธะผูกพันจนเกินไป
เข้าไปดูห้องที่อยู่ ห้องคุณยายมีเตียงอยู่ติดกับห้องครัว (ไม่น่าจะสบาย) รับแขกก็รับกันตรงนั้น มีเนื้อรมควัน หมูรมควันวางไว้ เป็นการถนอมอาหารเพื่อประกอบเลี้ยงได้ทุกเมื่อ
เขาเอาหมูทั้งตัวมาแล่ควักไส้พุงออก ใส่เกลือและยี่หร่า เก็บไว้ได้ 20 ปี ยิ่งเก็บเอาไว้นานยิ่งอร่อย ถ้าอยู่บนเขาแบบประเพณีดั้งเดิมเก็บไว้ได้นาน แต่ลงมาอยู่แถวๆ คุนหมิงไม่นานก็เน่า
มีแท่นบูชาบรรพบุรุษเซ่นด้วยหัวหมู ส่วนที่เป็นห้องรับแขกตรงกลางเป็นกองไฟ ไฟนี้ต้องจุดให้คุอยู่ตลอด เพราะ
Next >>