Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2539 "


(น.2) รูป 1 ถึงสนามบินคุนหมิง

(น.3) วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2539 เราเดินทางออกจากกรุงเทพฯ โดยสายการบินไทย เที่ยวบิน TG 612 ไปยังนครคุนหมิง ใช้เวลาบินประมาณ 2 ชั่วโมง 5 นาที รับประทานอาหารกลางวันในเครื่องบิน ประมาณ 14.10 น. (เวลาของคุนหมิง ซึ่งเร็วกว่าเวลาในประเทศไทย 1 ชั่วโมง) ถึงท่าอากาศยานคุนหมิง ผู้ที่มาต้อนรับฝ่ายจีนมีนายหลิวจิง รองผู้ว่าราชการมณฑลยูนนาน นางจางซ่งเซียน อธิบดีประจำกระทรวงการต่างประเทศ (ติดตามตลอดทาง) นายจางเอี๋ยน อธิบดีกรมวิเทศสัมพันธ์มณฑลยูนนาน นายเอี้ยนถิงอ้าย รองอธิบดีกรมเอเชีย ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศอื่น ๆ อีก 10 ประเทศ พูดไทยได้ และคนอื่น ๆ ฝ่ายไทยมีเอกอัครราชทูตสวนิต คงสิริ ท่านกงสุลใหญ่พจน์ อินทุวงศ์ ผู้ช่วยทูตทหารสามเหล่าทัพ ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตจากปักกิ่งและสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง


(น.4) รูป 2 ที่เรือนรับรองเจิ้นจวงที่เคยมาพักเมื่อมาคุนหมิงครั้งแรก ทางซ้ายของข้าพเจ้าคือคุณอู๋ (ล่าม) มาดามจางซ่งเจียนและรองผู้ว่าฯ หลิวจิง

(น.4) จากสนามบินขึ้นรถไปเรือนรับรองเจิ้นจวง ข้าพเจ้าขอเขาไปดูเรือนรับรองนี้เพื่อเป็นการรำลึกความหลัง ข้าพเจ้าเคยพักอยู่เรือนรับรองนี้เมื่อมาอยู่ที่ยูนนานครั้งแรกในพ.ศ. 2524 (ดู [[ย่ำแดนมังกร]]) ท่านรองหลิวจิงขึ้นมานั่งรถด้วย คนขับรถก็คือคนเดิมที่ขับให้ข้าพเจ้าทั้งเมื่อพ.ศ. 2524 และ พ.ศ. 2538 (ดู [[ใต้เมฆที่เมฆใต้]]) ตำรวจที่มาประจำก็เป็นคนเดียวกับที่มาเมื่อปีก่อน คือ หลี่หงเอี้ยน ล่ามคือคุณอู๋จุ้น เคยอยู่สถานทูตจีนประจำไทย ท่านรองฯ เล่าว่าท่านเป็นคนปักกิ่ง เคยทำงานกับท่านเติ้งผู่ฟาง ลูกชายท่านเติ้งเสี่ยวผิงถึง 7 ปี ท่านทำงานกระทรวงการค้า มาอยู่ยูนนานได้ 5 ปี มาที่นี่ได้ทำงานด้านการค้าและการติดต่อกับต่างประเทศมาก ได้ไปเมืองไทยถึง 5 ครั้ง ได้เรียนรู้ประสบการณ์มาก เพราะถือว่าไทยสามารถสร้างความเจริญในด้านเศรษฐกิจได้ดี

(น.5) ไปถึงเรือนรับรอง มีอาคารหลายหลัง รถผ่านอาคารหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ ท่านรองฯ บอกว่า ถ้ามาอีกคราวหน้าจะเชิญมาอยู่เรือนรับรองหลังนี้ รถไปจอดหน้าอาคารที่ข้าพเจ้าเคยอยู่ ชื่อว่า เฉียนโหลว แปลว่า หอสวรรค์ อาคารนี้ก็ดูเหมือนเดิม เพียงแต่ตกแต่งให้สวยงามและสะดวกสบายขึ้น ข้าพเจ้าจำประตูเข้าอาคารและห้องรับแขกได้ดี ขึ้นไปดูห้องนอน จากนั้นไปดูห้องจัดเลี้ยงอาหาร ซึ่งเป็นอาคารเก่าตั้งแต่สร้างเรือนรับรอง มีประวัติว่านายหลงหยุน เจ้าเมืองคุนหมิง สร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1936 เครื่องไม้มีลวดลายสลักปิดทอง เรารำลึกความหลังกันว่าเราเคยรับประทานซุปตุ๊กแกในห้องนี้และขอตุ๊กแกเป็น ๆ มาดูแล้วปล่อย ถือว่าเป็นการทำบุญวันวิสาขบูชา ท่านรองฯ บอกว่า เดี๋ยวนี้เขาห้ามกินตุ๊กแกเพราะเป็นสัตว์อนุรักษ์ ข้าพเจ้าว่าไม่น่าเชื่อ เมืองไทยมีออกเยอะแยะและยังมีคนกิน อาคารในเรือนรับรองนี้เป็นแบบฝรั่ง แต่ตกแต่งภายในเป็นแบบจีน สวนก็สวยดี เขาบอกว่าจะตกแต่งสวนให้ดีขึ้น ข้าพเจ้าคิดว่าดูดีอยู่แล้ว เพียงแต่ตัดหญ้าก็จะดีขึ้น จากนั้นไปที่ China Kunming Export Commodities Fair’96 ที่ศูนย์แสดงสินค้านานาชาตินครคุนหมิง เมื่อมาปีก่อนข้าพเจ้านั่งรถผ่านไปผ่านมาหลายครั้ง แต่ไม่ได้เข้าไป เมื่อไปถึงมีคณะกรรมการจัดงานมาต้อนรับ


(น.6) รูป 3 ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ คุนหมิง

(น.6) งานนี้ (เรียกย่อ ๆ ว่า Kunming Fair) เป็นงานแสดงสินค้าท้องถิ่นซึ่งจัดโดยรัฐบาลมณฑลเสฉวน มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว ภูมิภาคปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี ภูมิภาคปกครองตนเองทิเบต นครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง (ซึ่งเป็นนครอยู่ในมณฑลเสฉวน) กระทรวงการค้าต่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางให้ความเห็นชอบ การจัดงานมีหลักการคือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้เป็นภาคหนึ่งของจีนที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีพื้นที่ 2,570,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรถึง 200 ล้านคน มีพรมแดนติดต่อกับเวียดนาม ลาว พม่า และสามารถต่อไปถึงประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูฏาน เนปาล และอินเดีย ฉะนั้นถือได้ว่าเป็นประตูสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(น.7) ในงานมีการแสดงสินค้าและเปิดโอกาสให้นักธุรกิจเจรจาทำข้อตกลงในด้านการค้าส่งออก การรับเทคโนโลยี การลงทุน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระหว่างประเทศ การพัฒนาการค้าชายแดน การท่องเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ ตั้งแต่ค.ศ. 1993 จัดงานแบบนี้มาแล้ว 3 ครั้ง แต่ละครั้งดึงดูดนักธุรกิจมากกว่า 6,000 คนจากประเทศต่าง ๆ เกือบ 60 ประเทศ มีบริษัทภายในประเทศกว่า 1,200 บริษัท จากมณฑลต่าง ๆ 20 กว่ามณฑล นครต่าง ๆ อีกหลายนคร มูลค่าทางธุรกิจของงาน 3 ครั้ง ทั้งด้านการนำเข้าส่งออก การลงทุนต่างประเทศ การทำสัญญาโครงการต่าง ๆ การร่วมมือด้านแรงงานมากกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เขาบอกว่าครั้งนี้ยังไม่ทันปิดงานได้มากกว่า 1,000 ล้านแล้ว) นักอุตสาหกรรมและนักธุรกิจมาจากหลายประเทศ ต่างก็พอใจตลาดนี้และสนใจเข้างานนี้ มีชาวต่างประเทศจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ พม่า ลาว ไทย เวียดนาม มาเลเซีย ฯลฯ (นับไม่ค่อยถ้วน) การจัดงานครั้งนี้มีห้องแสดงสินค้าเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทย มาเลเซีย พม่า และเวียดนาม ห้องฮ่องกงก็มีคนสนใจมาก มา 2 ครั้งแล้ว มี booth จากต่างประเทศมาร่วมงานนี้กว่า 180 ร้าน

(น.8) จัดงานระหว่างวันที่ 8 -15 สิงหาคม ผู้ที่มีความประสงค์ตั้งร้านต้องเสียเงิน 1,500, 2,000, 2,500 เหรียญสหรัฐ (ถามไม่ได้ความว่าราคาต่างกันจะได้อะไรต่างกัน) แต่ละร้านมีขนาดประมาณ 9 ตารางเมตร มีฝากั้น 3 ฝา โต๊ะ เก้าอี้ 3 ตัว พรม ไฟฟลูออเรสเซนต์ 2 ดวง ป้ายสำหรับเขียนชื่อบริษัท ไฟฟ้า และถังผง ถ้าจะจัดภายนอกต้องเสียเงิน 25 เหรียญสหรัฐต่อตารางเมตร ของใช้อื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้วเช่าเอาได้ (เช่น ชั้น โต๊ะ ตู้ไฟ ดอกไม้ ฯลฯ) ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติแห่งนี้มีทั้งห้องแสดงสินค้า ห้องประชุม ศูนย์ข้อมูล มีพื้นที่ 914,000 ตารางเมตร มีห้องแสดงสินค้า 27 ห้อง ตั้งร้านได้ 1,500 ร้าน (3ม. X 3ม.) วันนี้มีคนมายุ่บไปหมด เขาบอกว่ามาต้อนรับข้าพเจ้าซึ่งคงไม่ใช่ เห็นจะเป็นเพราะพรุ่งนี้งานก็เลิกแล้ว เราสงสัยกันว่า วันนี้ไม่ใช่วันหยุดทำไมคนมากแบบนี้ มีผู้อธิบายว่าที่นี่เขาผลัดกันหยุด คนที่ยืนกันเยอะแยะนั้นส่วนใหญ่ถือขวดน้ำดื่มเป็นน้ำเปล่า ไม่เห็นใครถือขวดหรือกระป๋องน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ เนื่องจากคนเยอะเวลาก็น้อยเลยไม่ได้ดูอะไรมาก เดินผ่านร้านยูนนาน ดูยาสูบยูนนานซึ่งมีชื่อเสียงมาก ปีที่แล้วส่งภาษียาสูบให้รัฐบาลกลางได้ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีหลายยี่ห้อ บุหรี่มีชื่อของจีน 12 ยี่ห้อ เป็นของยูนนาน 9 ยี่ห้อ บุหรี่เมืองอี้ซีในยูนนานราคาแพงกว่าบุหรี่ต่างประเทศ (ถ้าไม่นับภาษี)


(น.9) รูป 4 ประเทศไทยก็มาแสดงสินค้า

(น.9) ผ่านร้านอุตสาหกรรมเคมี และร้านขายอะไรทั่ว ๆ ไป (ไม่ค่อยเข้าใจ) มีตัวอย่างดีบุกและสังกะสีว่าเป็นแร่ที่มีมากในหงเหอโจว มณฑลยูนนาน เข้าไปดูกล้องส่องทางไกลที่ผลิตในนครคุนหมิงนี่เอง เขาอวดว่าส่งไปขายสหรัฐฯ มากที่สุด ครองตลาดในสหรัฐฯ ถึง 40 % คุนหมิงเป็นอู่ต่อเรือที่ต่อเรือที่ใช้ในแม่น้ำส่งไปขายต่างประเทศ ส่วนร้านขายของป่า มีพรม เสื้อขนสัตว์ ขนไก่ป่า รองเท้าหนังมีหลายชนิด มีรองเท้าหุ้มข้อ เขาอธิบายว่าสำหรับคนงานโรงงานที่พื้นร้อน เช่น โรงงานเหล็กกล้า ดูของจีนแล้วไปดูสินค้าไทย เจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์มาต้อนรับ สำนักงานนี้เพิ่งเปิดมาได้ 10 เดือน มีข้าราชการประจำอยู่ 2 คน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นคนจีนอีก 4 คน ลูกสาวเจ้าเมืองสิบสองปันนามาฝึกงานตอนปิดเทอม คนจีนที่สำนักงานพูดภาษาจีนและ

(น.10) ภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นพวกสิบสองปันนาจึงพอจะพูดภาษาไทยได้ ได้ดูสินค้าหลายอย่าง ได้ทราบว่าสินค้าประเภทอาหารเป็นที่สนใจมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเล เพราะที่ยูนนานไม่มีพื้นที่ติดทะเล มีน้ำยาล้างคอมพิวเตอร์และน้ำยาล้างอัญมณี ได้ทราบว่าเดี๋ยวนี้คนแถวนี้มีกำลังซื้อมากขึ้น จึงขายของพวกนี้ได้ ยาหม่องน้ำซึ่งคนจีนนิยมมาก มาตรวัดน้ำ ของพลาสติกซึ่งแม่บ้านสนใจ เป็นของส่งออกไม่ขายในประเทศ เครื่องหนัง ข้าวหอมมะลิ การเพาะเนื้อเยื่อ ปลาทูน่ากระป๋อง ของขบเคี้ยว อาหารกระป๋อง กะทิ การขายของพวกนี้ส่งทางเรือไปตามแม่น้ำโขง เขาบอกว่าเมืองต่าง ๆ และมณฑลสนใจกันมาก มีที่ไม่มาคือ ซินเกียง ชิงไห่ กานซู และหนิงเซี่ย ทิเบตก็ยังมา เขามีเหมืองแร่ ผ้าทอ อาหาร ยาสมุนไพร ออกไปนั่งรอพักผ่อนครู่หนึ่ง ข้าพเจ้าถามถึงความสนใจของรัฐบาลกลางต่อมณฑลนี้ ได้ความว่าตั้งแต่ต้นปีนี้ เริ่มใช้แผนพัฒนาฉบับที่ 9 ดูจะสนใจมากขึ้น การเดินทางทางแม่น้ำโขงจากไทยมีปัญหาว่ายังลงนามในข้อตกลงไม่ครบ 4 ชาติ แต่ปลายปีนี้น่าจะเรียบร้อย เดินทางช่วงนี้ดีไม่มีปัญหาด้านน้ำน้อย เดินทางไปสนามบิน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ศูนย์แสดงสินค้านี้ ท่านรองฯ ว่าจะขยายสนามบินเจียงเป่ย ออกไปอีก เราขึ้นเครื่องบิน MD - 90 ของบริษัท China Northern มีคนขับคนหนึ่งเป็นชาวอเมริกัน เขาอวดว่าเคยขับเครื่องบินถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ ตอนเสด็จสหรัฐอเมริกา


(น.11) รูป 5 ทิวทัศน์เมืองฉงชิ่งมองจากเครื่องบิน

(น.11) พอเครื่องบินขึ้น มองเห็นทะเลสาบเทียนฉือที่เราเคยล่องเรือเมื่อปีก่อน คุยกับมาดามจาง (อธิบดี) ท่านบอกว่าเคยอยู่เมืองไทยระหว่าง ค.ศ. 1990-1993 ตอนนี้อยู่กระทรวงการต่างประเทศ ทำงานด้านบริหาร ในเครื่องบินได้ทักทายคุณหวังไห่เฟิง ซึ่งเคยไปกับขบวนของข้าพเจ้าตลอดทางเมื่อพ.ศ. 2524 หลังจากนั้นไม่เคยพบกับเขาเลย เขาไปประจำคณะอื่นและไปอยู่กรีซ 2 ปี ตอนเครื่องบินจะลงที่ฉงชิ่งเห็นภูเขาเต็มไปหมดและเห็นแม่น้ำ คำว่า ฉงชิ่ง หมายถึง การเฉลิมฉลองสิริมงคลสองครั้ง เรื่องมีอยู่ว่าพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ประสูติที่นี่ แล้วได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้ากงตี้ (ครองราชย์ ค.ศ. 1275 - 1276) ได้สืบราชสมบัติ ทรงถือว่าเป็นโชคสิริมงคลสองชั้น


(น.12) รูป 6 สนามบินฉงชิ่ง มาดามหลู่ซาน รองนายกรัฐมนตรีมารับ ที่ยืนต่อจากมาดามหลู่คือครูหวาง

(น.12) เครื่องบินลงที่สนามบินฉงชิ่ง มีนางหลู่ซ่านเจา รองนายกเทศมนตรีนครฉงชิ่งมารับ ครูหวางซึ่งสอนภาษาจีนข้าพเจ้าก็มารับที่นี่ด้วย มาดามหลู่พาขึ้นรถไปโรงแรม ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองราวครึ่งชั่วโมง ข้าพเจ้าถามมาดามหลู่ว่าได้ยินว่าฉงชิ่งกำลังจะแยกออกจากมณฑลเสฉวนเป็นความจริงหรือไม่ เขาบอกว่ายังไม่ได้แยกเป็นทางการ ต้องรออนุมัติจากรัฐบาลกลางก่อน ที่จริงมณฑลเสฉวน

(น.13) ก็ใหญ่มาก มีประชากรถึง 130 ล้านคน นครฉงชิ่งก็เป็นเมืองสำคัญคือเป็นเสมือนเมืองหลวงระหว่าง ค.ศ. 1949 - 1953 การเดินทางจากนครเฉิงตูมาที่นี่ระยะทาง 336 กิโลเมตร ถือว่าเป็นเมืองภูเขาและแม่น้ำ มีแม่น้ำสำคัญ 2 สายคือ ฉางเจียงและเจียหลิงเจียง ในนครฉงชิ่งมีประชากร 15 ล้านคน นับได้ว่ามากที่สุดในจีน แบ่งการปกครองเป็น 3 เมือง 11 เขต 7 อำเภอ เขาถือว่าฉงชิ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมเก่า ทั้งยังดีในทางการเกษตรด้วย มีเกษตรกรราว 10 ล้านคน อยู่ในเมือง 5 ล้านคน พืชหลักคือ ข้าวโพด อุตสาหกรรมของฉงชิ่งมีมาประมาณ 50 ปีตั้งแต่สมัยต่อต้านญี่ปุ่น ในสมัยปลดปล่อยรัฐบาลย้ายอุตสาหกรรมาฉงชิ่งอีกหลายอย่าง ฉะนั้นจึงเป็นพื้นฐานที่ดี ปัจจุบันอุตสาหกรรมประเภทเครื่องยนต์มีความสำคัญเป็นอันดับที่ 3 ในประเทศจีนรองจากเซี่ยงไฮ้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งผลิตจักรยานยนต์มากที่สุดในจีน ผลิตได้สองล้านสองแสนกว่าคันต่อปี เป็น 1/3 ของจักรยานยนต์ทั้งหมด รัฐบาลกลางของจีนตั้งเป้าไว้ว่าใน ค.ศ. 2000 จะผลิตจักรยานยนต์ให้ได้ 26 ล้านคันต่อปี โรงงานในฉงชิ่งต้องผลิตให้ได้ 10 ล้านคัน มีโรงงานร่วมทุนกับญี่ปุ่นหลายบริษัท เช่น อีซูซุผลิตรถยนต์ ยามาฮ่าและซูซูกิผลิตจักรยานยนต์ ใช้ยี่ห้อจีน เช่น ยี่ห้อเจียหลิง อุตสาหกรรมเหล็กกล้าก็เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ นอกจากนั้นมีอุตสาหกรรมยา อาหาร สิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านอาคารสูง มาดามหลู่อธิบายว่าเป็นหอพัก มีทั้งที่สิงคโปร์และฮ่องกงมาลงทุน มีอาคารส่งเสริมการค้าต่างประเทศ

(น.14) สะพานข้ามแม่น้ำเจียหลิงเจียงสร้างใน ค.ศ. 1960 มองไปบนเขาเห็นศาลาเรียกว่า เหลี่ยงเจียงถิง แปลว่า ศาลาแม่น้ำสองสาย ถนนต่อจากนี้ค่อนข้างแคบ ข้ามภูเขาเลี้ยวไปเลี้ยวมาเรียกว่า ผานซานต้า ไม่เหมือนที่เฉิงตูซึ่งมีถนนค่อนข้างกว้างและตรง ที่ฉงชิ่งมีคนขี่จักรยานน้อยกว่าที่อื่น เพราะพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ขี่ไม่ไหว สะพานข้ามแม่น้ำฉางเจียง เมื่ออยู่กลางสะพานนี้มองเห็น 3 เขตคือ กลางนคร เขตเหนือแม่น้ำ เขตใต้แม่น้ำ เข้าในเมือง ผู้คนคับคั่ง มาดามหลู่บอกว่า ที่นี่แก้ปัญหาโดยออกกฎไม่ให้รถวิ่งกลางเมืองในวันเสาร์วันอาทิตย์ให้คนเดินอย่างเดียว นอกจากชาวเมือง ยังมีนักท่องเที่ยวทั้งคนจีนและชาวต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เริ่มโครงการซานเสียนักท่องเที่ยวมากันมากขึ้น มาดามหลู่ได้ทราบว่าข้าพเจ้าเขียนเรื่องทุกครั้งที่เดินทางมาประเทศจีน จึงอยากให้เขียนเรื่องซานเสียด้วย มาถึงโรงแรมรื้อของ กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำก็คือ เขียนโพสต์การ์ด ที่ยูนนานมัวแต่ยุ่งก็เลยลืมเรื่องนี้ไปสนิท คิดว่าจะเขียนที่นี่แล้วฝากใครไปส่งที่คุนหมิง โพสต์การ์ดไปเมืองไทยติดแสตมป์ 2.6 หยวน อีกอย่างหนึ่งที่พยายามทำคือ ทดลองต่อคอมพิวเตอร์แต่ไม่สำเร็จ เวลาทุ่มกว่าลงไปชั้นล่าง รับประทานเลี้ยงอาหาร มีคนไทยที่มาจากบริษัทต่าง ๆ ที่มาทำธุรกิจที่นี่ ในด้านธนาคาร อาหารสัตว์ เครื่องจักรกลการเกษตร การผสมพันธุ์ข้าวโพด (นำพันธุ์ผสมพื้นเมืองของที่นี่มาผสมกับพันธุ์ผสมของเรา)

(น.15) รับประทานอาหาร เป็นอาหารจีนอย่างธรรมดา ท่านกงสุลบอกว่าที่จริงเตรียมอาหารพื้นเมืองอย่างพิเศษเอาไว้เหมือนกัน แต่ทางเมืองนี้เขาขอเก็บไว้ให้เขาเป็นฝ่ายเลี้ยงให้อร่อยพิเศษสุดจริง ๆ อาหารพิเศษที่นี่อย่างหนึ่งเรียกว่า หมาล่าทั่ง มีผู้อธิบายว่ามันเป็นอาหาร 3 รส หมา หมายถึงรับประทานไปแล้วรู้สึกชาลิ้น ล่าคือ รสเผ็ด ทั่งคือ ร้อน สำหรับหมานั้นคล้ายยี่หร่า กินไปแล้วชาลิ้นจริง ได้ความว่าจะช่วยไล่ความชื้น (ไล่ทำไม ลืมถาม) ที่นี่เสิร์ฟไวน์ Dynasty ฝรั่งเศสมาลงทุนในจีน กับเหล้าขาวอู่เลี่ยงเย่ เขาว่าดีกรีพอ ๆ กับเหมาไถ แต่รสจะนิ่มกว่า ดื่มคำนับอวยพรกันไปมาได้ 3 จอก ก็ชักจะต้องเลิกรา เกรงคืนนี้จะทำงานไม่ได้เหมือนดื่มวอดก้าที่มองโกเลียแล้วเขียนหนังสือได้ตัวเดียว ที่มณฑลเสฉวนนี้ทุกปีจะมีนิทรรศการเหล้าทั่วจีน ใครไปเที่ยวงานนี้คงเมากันพิลึก พวกที่มาลงทุนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ตอนนี้นับว่าเป็นรุ่นบุกเบิก เพราะว่าประชาชนแถบนี้ไม่คุ้นเคยกับระบบการค้าเสรีที่มีการแข่งขันเท่ากับคนตามฝั่งทะเล ต้องค่อย ๆ ฝึกงานกันไป ฉะนั้นเรื่องที่ว่าค่าแรงต่ำ เมื่อคำนวณชั่วโมงทำงานจริง ๆ แล้วก็นับว่าไม่ต่ำ บางแห่งยังมีระบบ “ชามข้าวเหล็ก” หลงเหลืออยู่ การทำงานยังไม่ค่อยประสานกัน มีการแบ่งหน้าที่แยกกันชัดเจนเกินไป ต่างคนต่างทำโดยไม่ปรึกษาหรือช่วยเหลือกัน ข้าพเจ้าสงสัยว่าการมาทำธุรกิจบางอย่างที่ต้องใช้ที่ดินมาก ๆ นั้นจะซื้อที่อย่างไร ได้รับคำอธิบายว่าในเสฉวนนี้ ถ้าเป็นที่อยู่อาศัยซื้อ (เหมือนเช่า) ได้ 75 ปี อาคารพาณิชย์ได้ 60 ปี โรงงานได้ 50 ปี การซื้อที่เก็งกำไรทำไม่ได้

(น.16) ถ้ารัฐบาลเห็นว่าซื้อที่ไปแล้วไม่ทำอะไรเป็นประโยชน์ก็ยึดคืนได้ (ไม่ทราบประเภทปลูกกล้วยไว้ 3 ต้น แล้วอ้างว่าทำการเกษตรมีหรือเปล่า) ในภาคตะวันตกนี้การผลิตสินค้ายังมุ่งตลาดส่งออกไม่ได้เพราะการคมนาคมยังไม่สะดวก จึงมุ่งขายตลาดในพื้นที่ ปัจจุบันคนแถบนี้มีกำลังซื้อพอสมควร การผลิตสินค้าต้องเอาใจตลาด เช่น อุตสาหกรรมน้ำกระป๋องต้องทำชนิดดึงฝาออกเลยเพื่อความสะอาด คนจีนชอบรับประทานข้าวหอมมะลิของไทยมาก ราคาแพง กิโลกรัมละประมาณ 10 หยวน ภาษี 60 % บางครั้งเมื่อนำเข้าแล้วมีการปลอมปน ข้าวไทยอาจเสียชื่อได้ จีนพยายามวางมาตรการรักษาสภาพแวดล้อม เช่น ห้ามใช้กล่องข้าวที่ทำด้วยโฟม ให้ใช้กล่องกระดาษที่สลายได้ เมื่อขึ้นมาก็ชักดึกแล้ว เลยบอกพี่หวานกับตู่ว่าวันนี้ยังไม่รวบรวมข้อมูล เชิญไปเขียนกันเองก่อน ข้าพเจ้าจะทำกายบริหาร แล้วจะเขียนเรื่อง เขียนไปจนตีสองครึ่ง