<< Back
" เย็นสบายชายน้ำ วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2539 "
(น.57) รูป 57 ทิวทัศน์มองจากบ้านเห็นสวนดอกไม้สวยงาม
รูป 58 ทิวทัศน์ริมแม่น้ำ มีคนมาทำสวนผัก
(น.58) รูป 59 ศาลาเหลี่ยงเจียงในสวนเอ๋อหลิ่งหยวน
(น.58) จากหมู่บ้านจิตรกรเดินทางต่อไปที่ สวนเอ๋อหลิ่งหยวน (สวนภูเขาห่าน) ที่เรียกอย่างนั้น เนื่องจากภูเขาบริเวณนั้นมีลักษณะเหมือนหัวห่าน ในรถข้าพเจ้าถามมาดามหลู่ว่าการดูแลฉงชิ่งที่เป็นเมืองขนาดใหญ่เช่นนี้
มีปัญหาเรื่องทิ้งขยะและเก็บขยะบ้างไหม มาดามบอกว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ ผู้บริหารเมืองพยายามหาวิธีแก้ไขหลาย ๆ วิธี เช่น แจกถุงพลาสติกดำให้ทุกครอบครัวทิ้งขยะ แล้วให้เจ้าหน้าที่เทศบาลคอยเก็บรวมเอาไปฝังใต้ดิน
แต่ไม่ได้ผลเต็มที่เพราะว่ายังไม่สามารถแจกถุงดำไปได้ทั่วถึง จะต้องหาวิธีแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเวลานี้เปิดฉงชิ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว ความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ
รถขึ้นเขาเอ๋อหลิ่ง สองข้างทางเป็นบ้านเรือน เรือนหลังหนึ่งเจียงไคเช็กเคยมาอยู่ ไปถึงเดินไปที่ศาลาเหลี่ยงเจียง คือ ศาลาแม่น้ำสองสาย ที่จริงมันไม่ใช่ศาลาเลย มันเป็นหอสูง ที่ต้องตั้งหน้าตั้งตาเดินออกกำลังกายขึ้นไป
ผู้ดูแลสวนที่นี่คือ กองสวนสาธารณะของเทศบาล เมื่อขึ้นไปถึงยอดศาลาที่ควรจะเรียกว่ายอดหอ มองเห็นชัดว่าเมืองฉงชิ่งเป็นแหลมยื่นไประหว่างแม่น้ำสองสายคือ เจียหลิงเจียงและฉางเจียง แบ่งเป็นเขตเจียงเป่ย (เหนือแม่น้ำ) ซื่อจง (ใจกลางเมือง) และเจียงหนาน (ใต้แม่น้ำ)
(น.59) รูป 60 ทิวทัศน์บนยอดหอคอย
รูป 61 เมืองฉงชิ่งเป็นแหลมที่ยื่นในแม่น้ำสองสาย มองจากหอคอย
(น.60) รูป 62 ในบริเวณสวน เขาทำหุ่นจำลองรูปเขื่อนซานเสีย
(น.60) ในบริเวณสวนเขาทำรูปหุ่นจำลองเขื่อนซานเสีย มีผู้มาอธิบายให้ จากนั้นเดินดูรูป 2 ฝั่งแม่น้ำฉางเจียง ฟังการอธิบายรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เมืองเฟิงตูเมืองปีศาจ ที่หอสูงสือเป่าไจ้
น้ำจะท่วมขึ้นถึงชั้นล่าง จะต้องล้อมเอาไว้ไม่ให้พังเพราะโครงสร้างของอาคารไม่แข็งแรง ส่วนศาลเจ้าเตียวหุย หรือจางเฟยเมี่ยว ตัดสินใจกันว่ายกให้สูงขึ้น
คณะกรรมการมอบหมายให้มหาวิทยาลัยชิงหัวเป็นผู้ศึกษาแนวทางปฏิบัติว่าสามารถทำได้หรือไม่ ที่ไป๋ตี้เฉิงมีป้ายเขียนระดับน้ำ 175 เมตร บริเวณขุยเหมินเป็นปากทางเข้าฉูถังเสีย
มีทางเดินโบราณและโลงศพโบราณอยู่ตามถ้ำ เป็นวัฒนธรรมต้าซี ที่อูซานเซี่ยน (อำเภออูซาน) มีแม่น้ำต้าหนิง เข้าบริเวณซานเสียเล็กมียอดเขาต่าง ๆ ที่สวยงาม แล้วจะเข้าเขตมณฑลหูเป่ย มีศาลเจ้าชูหยวน ซึ่งเป็นต้นเรื่องของการฉลองเทศกาลขนมจ้าง แถวนั้นมีประวัติว่าเป็นบ้านเกิดของสาวงามหวังเจาจวิน ผู้ซึ่งถูกส่งไปแต่งงานกับชนเผ่าฉยุงหนู
(น. 61) รูป 63 เขียนรูป 2 ฝั่งแม่น้ำฉางเจียง อธิบายรายละเอียด
(น. 61) ทางตะวันตก บริเวณที่เรียกว่า เกาะจงเป่า เป็นเกาะกลางแม่น้ำ ตรงนี้จะเป็นสถานที่ก่อสร้างเขื่อนซานเสีย ขณะที่สร้างเขื่อนมีทางชั่วคราวให้น้ำในแม่น้ำไหล
ก่อนอื่นจะมีขั้นตอนขุดลอกทางน้ำให้ลึกเข้าไป ขุดดินออกให้หมดจนถึงหินลึกราว 20-30 เมตร (แต่ละที่ลึกไม่เท่ากัน) เครื่องจักรที่ใช้มาจากต่างประเทศก็มี ผลิตในประเทศก็มี ใช้เรือขุดตักครั้งหนึ่งได้ดินประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตร
วัดหวงหลิงเป็นวัดในลัทธิเต๋า มีประวัติเกี่ยวข้องกับเรื่องสามก๊ก หนานจิงกวนมีถ้ำมากมาย มีรูปเตียวหุยตีกลอง โครงการไปถึงจุดนี้ต่อจากนั้นมีเขื่อนเก่อโจวป้า อยู่ที่อี๋ชาง ถึงเมืองนี้ถือว่าหมดเขตแม่น้ำฉางเจียงตอนบน สรุปแล้วเขื่อนซานเสียที่จะสร้างจะสามารถเก็บกักน้ำได้ราว 10 % ของแม่น้ำแยงซีเกียง
ขากลับเดินผ่านต้นหวงเจี่ยวต้นใหญ่ อายุ 250 ปี ถือว่าเป็นต้นไม้ประจำเมืองฉงชิ่ง เป็นต้นไม้ที่ทนแล้งได้ดี
(น.62) รูป 64 ศาลาประชาชน
(น.62) ไปศาลาประชาชน มาดามหลู่เล่าถึงสภาพของเมืองฉงชิ่งในสมัยก่อนว่าอากาศร้อนมาก สมัยก่อนไม่มีเครื่องปรับอากาศ ชาวบ้านชอบยกเตียงออกมานอนข้างถนน ตอนหัวค่ำราดน้ำเอาไว้ สองสามทุ่มก็นอนได้ ตอนนี้สถานที่ทำงานและบ้านเรือนราษฎรก็ติดเครื่องปรับอากาศแล้ว
(น.63) เมื่อไปถึงศาลาประชาชนมีไกด์มาบรรยายโดยย่อว่า สถานที่นี้มาจากความคิดของจอมพลเฮ่อหลง (ผู้ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ท่านที่แต่งตั้งในช่วงการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่านรับผิดชอบด้านการกีฬา
เสียชีวิตระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมเนื่องจากไปคัดค้านแก๊งสี่คน) เริ่มสร้างในค.ศ. 1951 เสร็จเรียบร้อยในค.ศ.1954 สถาปัตยกรรมแบบหอเทียนถานในกรุงปักกิ่ง แบ่งเป็นตึกกลาง ตึกใต้ ตึกเหนือ ตึกตะวันออก จุคนได้ 4,206 คน
วัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อใช้ในการประชุมสภาผู้แทนประชาชน และใช้เป็นโรงละครให้ประชาชนได้เข้ามาดูการแสดงต่าง ๆ เช่น การแสดงนาฏศิลป์ในวันขึ้นปีใหม่ ลักษณะพิเศษของส่วนกลางนี้ คือโครงหลังคาเป็นเหล็กหนัก 286 ตัน
ความกว้าง (เส้นผ่าศูนย์กลาง) หลังคา 46.33 เมตร โครงหลังคาเหล็กที่สามารถจะยืดหดได้ 4.4 เซนติเมตรเพื่อความปลอดภัย เขาอวดว่าในหนังสือเกี่ยวกับประวัติของสถาปัตยกรรมในโลก ซึ่งบันทึกเรื่องอาคารสำคัญต่าง ๆ ในโลก 42 แห่ง
หอนี้เป็นอันดับที่ 2 แบบแปลนที่สร้างเก็บไว้ที่ปักกิ่ง ต่อมาชาวอินเดียมาขอไปประยุกต์ใช้ในประเทศอินเดีย ตึกทิศใต้ เหนือ ตะวันออก กลายเป็นโรงแรม
(น.64) ข้าพเจ้าถามมาดามว่าก่อนมาเป็นรองนายกเทศมนตรี มาดามหลู่เคยทำอะไร มาดามเล่าว่าเคยทำงานรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการค้าไปอยู่ต่างประเทศ 6 ปี ปฏิบัติงานด้านความร่วมมือทางเทคนิคระหว่างประเทศ
และเพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาเป็นรองนายกเทศมนตรีในค.ศ. 1993 ที่ต่างประเทศอยู่อิรัก 3 ปีครึ่ง ช่วงที่เกิดสงครามอิรัก-อิหร่าน มีหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือโดยส่งกรรมกรทอผ้าไปทำงานที่อิรัก เพราะกรรมกรของอิรักไม่พอ อยู่มอสโก 7 เดือน เคยอยู่ฮ่องกง นอกจากนั้นเคยไป 40 ประเทศ แต่ไม่ได้อยู่นาน ประสบการณ์อีกอย่างคือ สมัยปฏิวัติวัฒนธรรม ปัญญาชนต้องไปฝึกหัดใช้แรงงาน ไปทำนา 3 ปี และฝึกเป็นกรรมกรอีก 8 ปี
รถเข้าเขตซื่อจง มีอนุสาวรีย์การปลดแอก แต่ก่อนนี้ถือว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่สูงมาก แต่ปัจจุบันมีหอที่สูงกว่า อนุสาวรีย์ปลดแอกก็เลยเตี้ยไปเสียแล้ว มาดามหลู่ว่าการก่อสร้างในเมืองนี้ต้นทุนสูงกว่าที่อื่น จำนวนเงินเท่ากันเมืองอื่น ๆ ตัดถนนได้ 3 กิโลเมตร เมืองนี้ตัดได้กิโลเมตรเดียว
Next >>