Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2539 "

(น.99) ที่สะพานพบกับวิศวกรที่ออกแบบและคุมการก่อสร้างสะพานกล่าวว่างบประมาณสร้างสะพานนี้ประมาณ 250 ล้านหยวน เสา 13 ต้น เหล็กกล้า 21,600 กว่าต้น คอนกรีต 3 หมื่นตัน เหล็กกล้า 360 แผ่น หนักแผ่นละ 60 ตัน ทำที่โรงงานที่ฝูหลิง (ใกล้ ๆ กับที่ทำเกลือ) ใช้ปั้นจั่นยกมาประกอบ แล้วเทคอนกรีตผสม กะว่าจะให้เสร็จปลายปีนี้ เลือกบริเวณนี้สร้างสะพานเพราะเป็นที่หินแข็ง นอกจากเหตุผลทางวิศวกรรมแล้ว การสร้างสะพานรูปโค้ง (ก่งเฉียว) เพื่อให้เข้ากับภูมิประเทศเมืองว่านเซี่ยน ภูเขา สะพานสูงโค้ง ๆ สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ ออกรถเพื่อกลับไปที่เรือ ข้าพเจ้าถามถึงสวนส้มว่าจะทำอย่างไรนายกเทศมนตรีบอกว่า ได้ปลูกส้มในที่ใหม่แล้ว จากที่ว่านเซี่ยนเรือของข้าพเจ้าจะต้องไปเฟิ่งเจี๋ย หยุนหยาง โตรกเขาอูซาน ซึ่งเป็นอำเภอขึ้นกับว่านเซี่ยน มีภูมิประเทศสวยงาม ซานเสีย เสี่ยวซานเสีย เสียวเสี่ยวซานเสีย สำหรับเสียวเสี่ยวซานเสียนั้น เป็นโตรกที่เล็กที่สุดแต่สวยที่สุด คิดว่ายังมีลิงอยู่ตามที่บทกวีของหลี่ไป๋ได้พรรณนาไว้โตรกใหญ่ไม่มีลิงแล้ว ใกล้ ๆ กับท่าเรือนายกเทศมนตรีอธิบายว่า เป็นเขตสินค้าแปรรูปส่งออก เช่น หนังสัตว์ มีหนังหมู และหนังแพะ หนังแพะมีชื่อเสียงที่สุด เมืองนี้มีชื่อเสียงอีกอย่างด้านการเลี้ยงหมู มี 15 ล้านตัว แพะจำนวน 2 ล้านตัว เป็ดไก่ราว 30 ล้านตัว น้ำในแม่น้ำตอนนี้ขุ่นเพราะมีดินทราย แต้ถ้าถึงหน้าหนาวจะใสกว่านี้

(น.100) โรงงานตงฟางเป็นโรงงานผลิตยาจีนแปรรูป มียาแก้หวัด ยาบำรุงสมองสำหรับคนแก่ และยานอนหลับ โรงพยาบาลว่านเซี่ยนมีประมาณ 1,000 เตียง ผ่านสถานีโทรทัศน์ของว่านเซี่ยน เมืองนี้มีมหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยม โรงเรียนประถม แต่ละปีมีผู้จบชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัยประมาณ 300,000 คน การศึกษาบังคับ 9 ปี พอขึ้นเรือนึกได้ว่าลืมส่งโพสต์การ์ด รีบไปเขียน แต่จะฝากเขาส่งก็ไม่ทัน เพราะเรือออกแล้ว ข้าพเจ้าเลยไปนั่งเขียนหนังสือและชมทิวทัศน์อยู่หัวเรือ เพราะมีเวลาอีกนาน ตอนเที่ยงรับประทานอาหารกลางวัน มองสองฝั่งเห็นกองถ่านหิน และมีเรือขนถ่านหินอยู่มาก เรือแล่นไปผ่านเมืองหยุนหยาง บนภูเขามีคำขวัญเขียนไว้ว่า เป็นเขตปลูกป่า อนุรักษ์ป่าไม้ สักครู่หนึ่งฝ่ายการท่องเที่ยวมาตามไปดูศาลเจ้าเตียวหุยที่ฝั่งทางขวา ที่ศาลเจ้าเตียวหุยหรือที่ภาษาจีนกลางเรียกว่า จางเฟยเมี่ยว มีแผ่นศิลาจารึกบันทึกระดับน้ำไว้แต่โบราณ ค.ศ. 1870 ศาลเจ้าน้ำท่วมหมด อ้างว่ามีแผ่นสลักไม้ที่งักฮุยหรือเยว่เฟยเขียนไว้ว่า หม่านเจียงหง สมัยปฏิวัติวัฒนธรรมแผ่นนี้ไม่ถูกทำลายเพราะคนเฝ้าศาลเจ้าหันแผ่นไปอีกทาง และเขียนคำขวัญท่านประธานเหมาไว้ พวกเรดการ์ดเลยไม่ทำอะไร ศาลาของศาลเจ้านี้มีคำจารึกว่า เจียงซ่างเฟิงชิง เราแปลกันว่า เย็นสบายชายน้ำ ศาลเจ้านี้ใน ค.ศ. 2003 จะต้องย้ายหนีน้ำ อีกด้านหนึ่งเป็นเมืองหยุนหยาง


(น.101) รูป 89 ถ่ายรูปกับรูปปั้นกวี ตู้ฝู่ กวีเอกสมัยราชวงศ์ถัง

(น.101) เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วออกมาเขียนรูปที่หน้าเรือ ผ่านอำเภอเฟิ่งเจี๋ย กลับเรือและบีบแตร สักพักเจ้าหน้าที่มาบอกว่าลงจากเรือได้แล้ว มีเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ของนครว่านเซี่ยนลงมาด้วย ลงเรือเล็ก ฝั่งซ้ายมือเป็นขุยเหมิน มีคนอธิบายว่าแปลว่า ภูเขาที่มีต้นไม้ขึ้น เรือเล็กเข้าแม่น้ำเฉ่าถังเหอไปไป๋ตี้เฉิง อยู่บนยอดเขาสูงกว่า 750 เมตร มีบันได 2 ด้าน ด้านหน้ามี 857 ขั้น ส่วนอีกด้าน (ด้านที่เราขึ้น) มีแค่ 300 กว่าขั้น ที่จริงมีคนรับจ้างแบกเกี้ยวขึ้นไป แต่รู้สึกว่าทุกคนจะหวาดเสียว ไม่กล้าขึ้น กลัวถูกเทกระจาดลงมา อีกอย่างหนึ่งค่าจ้าง 100 หยวนไม่อยากจ่าย คิดว่าถ้ามาตอนแก่ ๆ เห็นจะต้องยอมถ้ายังมีอารมณ์อยากเที่ยว ขึ้นบันไดไป มีรูปสลักตู้ฝู่ เป็นกวีมีชื่อในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 712 – 770) แต่งบทกวีไว้ 400 กว่าบท ไป๋ตี้เฉิงสร้างในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกเมื่อกงซุนซู่ยึดได้แคว้นสู่ (มณฑลเสฉวน) แล้วได้สร้างเมืองบนภูเขา เมืองนั้นมีไอน้ำสีขาวกระจายออกมาจากบ่อน้ำและไอน้ำนั้นมีลักษณะเหมือนมังกร จึงเรียกว่าไป๋ตี้ (เข้าใจว่า มังกร หมายถึง กษัตริย์ คือ มีประวัติว่าขุนนางกงซุนซู่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก) ไป๋ตี้เฉิง มีภูเขา 3 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นแม่น้ำ มองลงไปเห็นขุยเหมิน


(น.102) รูป 90 ป้ายบอกระดับน้ำ เมื่อสร้างเขื่อนซานเสียที่ทางขึ้นไป๋ตี้เฉิง


(น.103) รูป 91 ด้านหลังเป็นทิวทัศน์ขุยเหมิน มีพิพิธภัณฑ์ (อาคารสีเหลือง) Fossil ช้าง

(น.103) เราเดินขึ้นเขาไป มองเห็นแม่น้ำมีคนอธิบายว่า แม่น้ำตรงนี้แต่ก่อนกลางแม่น้ำมีก้อนหินสวยงาม ค.ศ.1958 รัฐบาลระเบิดเพื่อให้เดินเรือได้ง่ายไม่เป็นอันตราย เดินขึ้นไปอีกหน่อย ถึงถ้ำกวนอิม ชาวบ้านสมัยราชวงศ์หมิง-ราชวงศ์ชิงร่วมกันบริจาคเงินสร้างเอาไว้ มีแผ่นศิลา จารึกรายนามผู้บริจาค จากจุดนี้มองลงไปเห็นแม่น้ำฉางเจียง มองเห็นผาชื่อเจี๋ย หรือ ผาแดง สูง 1,370 เมตร เดินขึ้นไปอีกถึงแผ่นป้ายแสดงระดับน้ำเมื่อสร้างเขื่อนซานเสียเสร็จ มองเห็นวิวขุยเหมิน มีลวดสลิงข้ามหุบเขา มีคนแคนาดาเคยเดินข้ามลวดสลิงนี้ ไกด์อธิบายว่าแถวนี้มีผู้ขุดพบ Fossil ของช้าง มีอายุ 2 ล้านปี จึงทำพิพิธภัณฑ์ Fossil ช้างไว้


(น.104) รูป 92 ลายมือท่านโจวเอินไหล เขียนบทกวีเมืองไป๋ตี้ของหลี่ไป๋

(น.105) เดินไปถึงยอดเขานั่งพักกินน้ำ คุยกับนายอำเภอ เขาบอกว่าตรงนี้มีคน 900,000 คน ตอนนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ข้าพเจ้าถามว่าที่หลี่ไป๋เขียนบทกวีชื่อว่า เจ่าฟาไป๋ตี้เฉิง (เดินทางจากเมืองไป๋ตี้แต่เช้า) มีความว่า
“เช้าตรู่ อำลาเมืองไป๋ตี้ท่ามกลางเมฆหลากสี
เดินทางพันลี้ถึงเมืองเจียงหลิงในวันเดียว
สองฝากฝั่งเสียงลิงร้องไม่หยุด
เรือน้อยคล้อยผ่านหมื่นช่องผา”
ข้อมูลถูกต้องหรือเปล่าที่ว่าเดินทางถึงเจียงหลิง (เมืองจิงโจวอยู่มณฑลหูเป่ย) ใช้เวลาวันเดียวได้จริง ๆ หรือ นายอำเภอยืนยันว่าจริง


(น.105) รูป 93 ป้ายชื่อเมืองไป๋ตี้

(น.106) นั่งสักพักมีสาวสวยใส่กี่เพ้าแนะนำตัวว่าเป็นไกด์ พรรคพวกเรามีแต่สงสัยว่า ใส่กี่เพ้าแบบนี้อุตส่าห์เดินขึ้นเขามาได้ ที่จริงรู้สึกว่าเขาจะเดินขึ้นมาชุดธรรมดา แล้วมาเปลี่ยนข้างบน มีแผ่นหินเขียนกลอนไป๋ตี้เฉิงเป็นลายมือโจวเอินไหล ไปไป๋ตี้เมี่ยว มีศาลาสร้างขึ้น ค.ศ. 1984 ทำหุ่นเรื่องสามก๊กมีหลายตอน เช่น ตอน ค.ศ. 219 กวนอูไปเฝ้าพระเจ้าเล่าปี่ ตอนนั้นพระเจ้าเล่าปี่อยู่ในป่า ลู่ซุ่น (ลกซุ่น) ส่งทหารมาเผาป่า พระเจ้าเล่าปี่แพ้หนีเข้าไป๋ตี้ซึ่งสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกว่าเป๊กเต้ ค.ศ. 223 พระเจ้าเล่าปี่ประชวรหนักจึงส่งหนังสือไปเฉิงตู ขอให้ขงเบ้งมาหาแล้วฝากลูก 2 คน ให้ถือขงเบ้งเป็นพ่อ เมื่อมอบลูกให้แล้ว 2 เดือนเล่าปี่ก็ตาย สถานที่ตายจริง ๆ ขณะนี้เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูที่เฟิ่งเจี๋ย เรื่องนี้สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหนอยู่ตอนที่ 66


(น.106) รูป 94 หุ่นรูปสามก๊ก ตอนพระเจ้าเล่าปี่ประชวรหนัก


(น.107) รูป 95 ป่าจารึก

(น.107) ป่าจารึก รวบรวมศิลาจารึกที่เจอในอันฮุย เฟิ่งเจี๋ย ห้องที่เป็นศาลเจ้ามีรูปเคารพเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ขงเบ้ง สร้างในราชวงศ์หมิง ข้างนอกมีกวนซิงถิง (หอดูดาว) 6 เหลี่ยม เขาว่าเป็นหอที่ขงเบ้งดูดาว หอนี้ที่จริงสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงนี่เอง


(น.108) รูป 96 หอดูดาว

Next >>