Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2539 "

(น.203) มาก ในวรรณคดีจีนนั้น บทกวีสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่งเป็นคำสั้น ๆ ที่สรุปสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจีนได้ดีที่สุด เกี่ยวกับซานเสียนั้น หลี่ไป๋แต่งบทกวีมีชื่อเสียง เคยท่องได้เมื่ออายุ 10 ปี ก็ไม่ค่อยเข้าใจ เมื่อเวลาผ่านไปจึงเข้าใจลึกซึ้งขึ้น (ท่านท่องบทกวีเดินทางจากเมืองไป๋ตี้แต่เช้าให้ฟัง) หลี่ไป๋ยังได้ไปที่หอนกกระเรียนเหลือง ท่านท่องบทกวี ที่หอนกกระเรียนเหลืองส่งเมิ่งฮ่าวหรานไปกว่างหลิง ของหลี่ไป๋ให้ฟัง
ลาเพื่อนเก่าเดินทางไปหอนกกระเรียนเหลือง
ทางทิศตะวันตก
เดือน 3 ฤดูดอกไม้และสายหมอก (ฤดูใบไม้ผลิ) ล่วงไปถึงหยางโจว
เห็นใบเรือโดดเดี่ยวไกลลิบสุดขอบฟ้าสีคราม
เห็นแต่แม่น้ำฉางเจียงที่ไหลสู่สวรรค์
ท่านท่องซ้ำบทที่ 2 และกล่าวว่าท่านเป็นชาวหยางโจว และยังวิจารณ์อะไรอีก เสียดายฟังไม่ออก
หลายพันปีผ่านไป สภาพตามสายน้ำก็เปลี่ยน ที่หลี่ไป๋กล่าวว่า 2 ฝั่งได้ยินเสียงลิงร้อง ปีที่แล้วท่านไปไม่เห็นลิงสักตัว
เส้นทางแพรไหม หวางเหวยแต่งบทกวีไว้มีชื่อเสียงมากว่า
ฝนตอนเช้าเมืองเว่ยทำให้ฝุ่นบนพื้นดินชุ่มชื้น
กิ่งอ่อนของต้นหลิวที่โรงเตี๊ยมเป็นสีเขียวอ่อน
ขอเชิญท่านดื่มสุราให้หมดอีกสักแก้ว
เพราะเมื่อออกจากด่านหยางกวนไปทาง
ตะวันตก ท่านจะปราศจากเพื่อนเก่า

(น.204) บทกวีตรงนี้ทำให้รู้สึกถึงความชุ่มชื้น แต่เมื่อไปถึงดินแดนแถบตะวันตกจริง ๆ ในเวลานี้แห้งแล้งเป็นทะเลทราย ฝ่ายจีนกำลังพยายามป้องกันไม่ให้ทะเลทรายขยายตัว ข้าพเจ้ากล่าวว่าเมื่อตอนไปตามเส้นทางแพรไหม ได้ยินว่ามีสถาบันศึกษาทะเลทราย ไม่ได้ไปที่สถาบัน ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยด้วย ท่านประธานาธิบดีกล่าวว่าท่านเคยไปดูงานที่สถาบันนั้นและฟังการบรรยายเรื่องการหยุดยั้งการเติบโตของทะเลทราย ดูเป็นภาระที่หนัก กลับไปพูดถึงการที่ข้าพเจ้ามาจีน 7 ครั้ง เป็นนิมิตหมายอันดีของความสัมพันธ์ที่มีมาถึง 21 ปี ความสัมพันธ์เป็นไปด้วยดีมาก ตอนที่เป็นผู้ว่า ฯ มหานครเซี่ยงไฮ้ เคยรับเสด็จสมเด็จพระบรม-โอรสาธิราช คราวนี้ก็ถือว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้ามา เพราะทรงเล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ไทย – จีน จึงขอฝากกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลที่ทรงทำให้ความสัมพันธ์เจริญขึ้น ท่านประธานาธิบดีทราบว่าข้าพเจ้าเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนหลายเล่ม มีผู้อ่านเป็นจำนวนมาก หวังว่าคราวนี้จะเขียนอีก ข้าพเจ้าว่าโครงการซานเสียนี้น่าสนใจเป็นพิเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สนพระราชหฤทัย เมื่อมีการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็มีพระราชกระแสกับผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับความสำคัญของโครงการ เมื่อมีผู้นำจีนไปก็จะพูดกันเรื่องนี้อีก

(น.205) พูดถึงว่าราชวงศ์ถังมีบทกวีมีชื่อ แต่ที่เห็นที่ฝาผนังเป็นบทกวีสมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นฉือไม่ใช่ซือ เรื่องที่กวีพูดเปรียบเสมือนกรณีของประเทศกำลังพัฒนา เรื่องการพัฒนาและสันติภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด บทนี้ซูตงโพเป็นคนแต่ง ยืนดูพระจันทร์แล้วคิดถึงน้องชาย บทกวีไม่ว่าของชาติไหน ๆ มักมีความหมายลึกซึ้ง ตอนสุดท้ายกล่าวว่าคนเราแม้จะอยู่ที่ไหนก็อยู่ใต้แสงจันทร์เดียวกัน จึงรู้สึกยินดีที่ได้พบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเองก็ยินดีเช่นกัน เพิ่งเคยพบท่านเป็นครั้งแรก ท่านประธานาธิบดีบอกว่า ท่านเป็นวิศวกร ไม่ได้เรียนมาทางวรรณคดี อาจจะพูดไม่ถูกก็ได้ แต่แม้นักศึกษาวรรณคดีก็ไม่ใช่ว่าจะอ่านวรรณคดีทุกประเภทได้ คิดว่าเรื่องการท่องบทกวีเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่เด็กต้องเรียนมาก ราวอายุ 12 – 13 ปี ต้องได้เรียนทั้งหมด ได้ยินว่าจะไปหวงซาน ท่านว่าท่านยังไม่เคยไป และอวยพรให้ข้าพเจ้าสุขสบายตลอดเวลาที่อยู่ในจีน บทกวีที่ท่านท่องมาข้าพเจ้าท่องได้ทุกบทเว้นฉือของซูตงโพ ที่จริงก็เคยจำได้ เพราะเมื่อท่านประธานาธิบดีท่อง ข้าพเจ้าก็นึกเนื้อความออก แต่จำศัพท์จีนไม่ได้ เรื่องที่ท่านกล่าวถึงการท่องจำนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ นักการศึกษาหลายท่านพยายามให้ยกเลิกการท่องจำ โดยกล่าวว่าเป็นการปิดกั้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แต่ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยว่าถ้าไม่มีข้อมูล แล้วจะเอาอะไรเป็นพื้นฐานความคิด การท่องบทกวีทำให้ได้ศัพท์มาแต่งของตนเอง ของบางอย่างติดอยู่ในสมองแล้วก็ทำให้คิดได้ลึกซึ้งขึ้น เพราะไม่ต้องการข้อมูลอีก นอกจากนั้นยังเป็นการฝึกความจำฝึกสมาธิไม่ให้ฟุ้งซ่าน


(น.206) รูป 187 รองนายกรัฐมนตรีเฉียนฉีเฉินเลี้ยงอาหารค่ำ

(น.206) กลับเตี้ยวหยูว์ไถ ตอนค่ำท่านเฉียนฉีเฉิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกรัฐมนตรีเลี้ยงที่ฟางเฟยหยวน ในบริเวณบ้านรับรองเตี้ยวหยูว์ไถ ท่านกล่าวต้อนรับว่า คราวนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มาดูเขื่อนซานเสียซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก รายละเอียดต่าง ๆ คงมีผู้บรรยายให้ฟังแล้ว การสร้างเขื่อนตามโครงการนี้ได้วิเคราะห์วิจัยศึกษากันมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งทำปีสองปี แต่ทำมาแล้วกว่า 20 - 30 ปี ถึงท้ายที่สุดผ่านมติสภาประชาชนซึ่งมีสมาชิกมาก สมาชิกกว่า 3,000 คน ยกมือลงมติสนับสนุนโครงการนี้ มีส่วนที่แย้งบ้าง แสดงว่าโครงการนี้มีการศึกษาวิจัยอย่างเต็มที่และมีการลงมติอย่างประชาธิปไตย ประเทศต่าง ๆ สนใจโครงการนี้มาก มีการซักถามเรื่องนี้อยู่เป็นประจำ มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เรื่องที่ยกขึ้นแย้งไม่เห็นด้วยมากคือ

(น.207)

1) เรื่องสภาพแวดล้อม เกรงว่าธรรมชาติจะเสียสมดุล
2) การอพยพผู้คนที่จะถูกน้ำท่วมบ้านเรือนเป็นเรื่องใหญ่น่าเป็นห่วง
ท่านก็ว่าข้าพเจ้าคงจะแต่งหนังสือเรื่องนี้ ข้าพเจ้ากล่าวว่าคราวนี้แต่งยาก เรื่องเขื่อนเป็นเรื่องใหญ่โตซับซ้อน ตอนนี้เขียนเสร็จไปแล้วเป็นบางส่วน จะต้องแก้ไข ข้าพเจ้าพบคนมาก บางทีก็พูดไม่ตรงกันต้องมาปรับว่าควรจะเป็นอย่างไร แต่เท่ากับได้มองจากหลายแง่ ผ่านจุดต่าง ๆ หลายจุด ทั้งจุดที่จะสร้างเมืองใหม่ ที่ก่อสร้างเขื่อน อยากเรียนถามท่านรองนายกรัฐมนตรีว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วยในสภาจะวิเคราะห์ได้ไหมว่า เป็นคนจากเขตไหน มีข้ออะไรที่ไม่เห็นด้วย รวมมีกี่เรื่อง หมายถึงผู้ที่ไม่เห็นด้วยภายในประเทศ ท่านรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วงที่วิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกเป็น 2 ส่วน พวกแรกเรียกร้องให้สร้าง จะได้พลังงานจากแม่น้ำฉางเจียงได้เต็มที่ ป้องกันน้ำท่วม ใช้ทำไฟฟ้า ใช้น้ำชลประทาน การขนส่งทางน้ำจะดีขึ้น เรือลำใหญ่ ๆ แล่นได้ถึงฉงชิ่ง พวกที่สองไม่เห็นด้วย เพราะเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินมาก ต้องย้ายคนมาก อาจกระทบสิ่งแวดล้อม ปลา สัตว์ต่าง ๆ

(น.208) ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองฝ่ายมีสถิติข้อมูลเป็นหลักฐาน หลังจากพิจารณาร่วมกันแล้วก็เห็นพ้องกันว่าดำเนินการได้ ที่มีผู้ไม่เห็นด้วยอีกเรื่องคือ ทิวทัศน์งาม ๆ จะหายไป ข้อโต้แย้งไม่ถูกต้องทั้งหมด หมู่บ้านที่จะถูกย้ายไปนั้นคนยอมย้าย เพราะส่วนมากจะย้ายไปอยู่ที่ดีกว่าเดิม ทางการก็พยายามย้ายให้อยู่ใกล้ที่เดิมมากที่สุด ทิวทัศน์งามนี้จะหายไปบ้าง แต่ส่วนมากยังอยู่ ข้าพเจ้ากล่าวว่าได้ไปเห็นน้ำท่วมที่อู่ฮั่น ท่านรองนายกรัฐมนตรีว่าแถบนั้นเป็นเขตน้ำมาก การทำเขื่อนบริเวณนั้นจึงเป็นการป้องกันน้ำท่วมอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้ามอบเงินจำนวน 80,000 เหรียญสหรัฐของรัฐบาลไทยที่ให้นำมาแก่ท่าน เมื่อมอบเงินแล้วไปที่ห้องอาหาร ไปที่หน้าห้องพูดคุยสังสรรค์กับแขกที่มาร่วมงาน มีท่านทูตที่มาประจำที่ไทย 2 ท่าน คือท่านทูตจางเต๋อเหวย และท่านทูตหลี่ซื่อฉุน อาจารย์ที่เคยสอนภาษาจีนข้าพเจ้ามา 2 คน คือ อาจารย์หวางเย่ กับอาจารย์กู้หย่าจง รวมทั้งอาจารย์หวางที่สอนอยู่ปัจจุบันด้วย ที่แย่คือไม่มีเวลาจะคุยกันเท่าไร มีพวกคณะที่สร้างเขื่อนซานเสียมาร่วมในงานเลี้ยงรับรองนี้ด้วย ไปคุยกับท่านรองนายกรัฐมนตรีต่อที่โต๊ะอาหาร ข้าพเจ้าถามถึงการประชุม ASEM ท่านรองนายกฯ เห็นว่าเป็นเพียงการเริ่มต้น น่าจะเริ่มต้นในเรื่องเศรษฐกิจเสียก่อน ไม่เห็นควรที่จะมาพูดเรื่องการเมือง สมัยก่อนประเทศยุโรปเป็นประเทศเจ้าอาณานิคม ถ้าเราพูดปัญหาโดยตรงอาจทำให้เข้าใจไม่ตรงกันได้ ท่านรองนายกฯ รับผิดชอบ เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องฮ่องกง ไต้หวัน ข้าพเจ้ากล่าวถึงการเดินทางไปยูนนานทางแม่น้ำโขง ท่านบอกว่าเส้นทางล่องแม่น้ำโขงต่อไปก็จะสะดวก แต่ในปัจจุบันนี้กลางแม่น้ำมีหินใหญ่ทำให้เป็นอันตราย ข้าพเจ้าพูดถึง


(น.209) รูป 188 หลังอาหารพบกับศาสตราจารย์เฉินซู่เผิง

(น.209) เส้นทางบกจากทางเหนือของไทยเข้าเชียงตุงและต่อไปคุนหมิง ท่านรองนายกฯ บอกว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ฝ่ายสัมพันธมิตรลำเลียงอาวุธจากพม่าขึ้นยูนนาน ในเรื่องฮ่องกงท่านกล่าวว่าฮ่องกงเป็นเมืองอยู่ในการดูแลของอังกฤษมา 150 ปีแล้ว จีนเริ่มเจรจาเรื่องฮ่องกงกับอังกฤษตั้งแต่เมื่อ ค.ศ. 1982 ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเมื่อปลาย ค.ศ. 1984 เกี่ยวกับการปกครองฮ่องกงนับจาก ค.ศ. 1997 เป็นต้นมา

(น.210) เรื่องไต้หวัน ท่านรองนายกรัฐมนตรีเล่าว่า มีสองเรื่องในการติดต่อคือ เรื่องการเมืองและการขนส่ง แต่ก่อนการขนส่งไปไต้หวันจะต้องส่งผ่านทางฮ่องกง ส่งไปไต้หวันโดยตรงไม่ได้ ทางไต้หวันไม่ยอม ต่อไปจะเป็นอย่างไรต้องคอยดูเหตุการณ์หลังจากฮ่องกงกลับเป็นของจีน ตอนนี้ทางไต้หวันเองก็มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ หุ้นตกมาก หลังอาหารได้พบศาสตราจารย์ เฉินซู่เผิง ท่านให้หนังสือแผนที่จีน 2 เล่ม และชวนไปประชุมที่จีนในปีหน้า พูดกันถึงเรื่องมณฑลต่าง ๆ ในจีนที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้ไป เช่น หนิงเซี่ย ชิงไห่ มองโกเลียใน ศาสตราจารย์เฉินทำโครงการใหม่ ๆ หลายโครงการ เช่น การติดตามการเปลี่ยนแปลงในโลก (global change) การต่อต้านการเกิดทะเลทราย ทำโครงการนี้ร่วมกับประเทศในแอฟริกา การควบคุมมลภาวะในแม่น้ำหวงเหอ (ฮวงโห) ข้าพเจ้าบอกว่ายังไม่มีข้อมูลของโครงการซานเสียในด้านธรณีวิทยา ศาสตราจารย์เฉินรับว่าจะหาให้ และจะนำไปให้ข้าพเจ้าที่เชียงใหม่ตอนที่มีการประชุมเรื่อง “ภูมิศาสตร์กับการพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในเดือนตุลาคมนี้* วันนี้คุณถังเฟิงหยุนกับคุณเอี้ยนถิงอ้าย มาลา คุณเอี้ยนจะต้องอยู่รับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อใคร ๆไปกันแล้ว วิ่งออกกำลังกายรอบๆ บริเวณเตี้ยวหยูว์ไถครึ่งชั่วโมง

หมายเหตุ อาจารย์เฉินนำหนังสือ Atlas of Ecology and Environment in the Three Gorges Area of the Changjiang River พิมพ์ในค.ศ. 1990 มีเรื่องเกี่ยวกับแม่น้ำฉางเจียงทุกแง่ เรียกว่าสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยเห็น มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมงาน 30 กว่าหน่วยงาน กว่าจะอ่านจบต้องใช้เวลามาก