<< Back
" เย็นสบายชายน้ำ วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2539 "
(น.211) วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2539
วันนี้ไปหอดูดาวโบราณปักกิ่ง ซึ่งเป็นหอดูดาวที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง สร้างมาตั้งแต่ ค.ศ. 1442 สมัยราชวงศ์หมิง มิชชันนารีชาวเบลเยียมชื่อ Ferdinando Verbius
คนจีนเรียกว่า หนานหวยเหยิน เป็นคนเริ่มสั่งทำอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับวัดดาว เกือบทุกอย่างทำในประเทศจีน เพราะฉะนั้นเป็นลายมังกรดั้นเมฆแบบจีน มีแต่เครื่อง Azimuth Theodolite
ที่เป็นลายองุ่นแบบฝรั่ง เขาอธิบายว่ากษัตริย์ฝรั่งเศสถวายจักรพรรดิคังซีเมื่อ ค.ศ. 1715 แต่เป็นเครื่องสร้างในเยอรมนี มีเครื่อง Equitoral Armilla, Ecliptic Armilla, Sextant
(เครื่องวัดดาว) เครื่องที่ใหม่ที่สุดเรียกว่า New Armilla สมัยพระเจ้าเฉียนหลง ค.ศ. 1744 เครื่องนี้ใช้เวลาติดตั้งถึง 10 ปี มีลูกโลกดาวขนาดใหญ่ ที่จริงศึกษาละเอียดคงจะดีเหมือนกันจะได้ทราบว่าสมัยนั้นนักดาราศาสตร์เขามองเห็นดาวดวงไหนบ้าง
ไกด์บอกว่าหอนี้เป็นหอดั้งเดิมตอนที่บูรณะยังพบอิฐที่มีตราจารึกสมัยราชวงศ์หมิง
(น.212) รูป 189 ไปหอดูดาวโบราณปักกิ่ง
รูป 190 เครื่องมือดูดาวโบราณสมัยราชวงศ์ชิง
รูป 191 เครื่องมือดูดาวโบราณสมัยราชวงศ์ชิง
(น.213) รูป 192 เครื่องมือดูดาวโบราณสมัยราชวงศ์ชิง
รูป 193 เครื่องมือดูดาวโบราณสมัยราชวงศ์ชิง
(น.214) รูป 194 ในพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์มีเรื่องราวเกี่ยวกับวิชาดาราศาสตร์โบราณที่สลักไว้ในหินหรืออยู่ตามเครื่องปั้น
(น.214) ไปที่พิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ มีเวลาน้อยจึงดูได้คร่าว ๆ มีหินสลักแผนที่ดาวตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ทำให้คิดว่าสัตว์ประจำทิศทั้ง 4 น่าจะเป็นกลุ่มดาว คงจะต้องไปค้นเรื่องนี้ต่อ
มีเรื่องดาว Altair ที่หนุ่มเลี้ยงวัว (หนิวหลาง) กับสาวทอผ้า (จื๋อหนู่ว์) ปีหนึ่งสองหนุ่มสาวจะได้พบกันบนทางช้างเผือกหนหนึ่ง
ในตู้มีเครื่องปั้นศิลปะหยางเชา จากมณฑลเหอหนาน อายุประมาณ 5,000 กว่าปี ลายสีเขียนเป็นเรื่องดาราศาสตร์ ที่ซานตงก็พบเครื่องปั้นที่เขียนเรื่องดาราศาสตร์ อายุ 4,500 ปี
แผนที่ดาวพบในสุสานที่อำเภอผู่หยาง มณฑลเหอหนาน เรื่องของจุดดับในดวงอาทิตย์ (sun spot) คนจีนโบราณสังเกตเห็นและบันทึกเอาไว้ว่า มีนกอยู่ในดวงอาทิตย์ อยู่ในหนังสือหวายหนานจื่อ
(น.215) รูป 195 ในพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์มีเรื่องราวเกี่ยวกับวิชาดาราศาสตร์โบราณที่สลักไว้ในหินหรืออยู่ตามเครื่องปั้น
(น.215) เรื่องสุริยุปราคา จันทรุปราคา มีบันทึกอยู่ในหนังสือโบราณของจีน ตั้งแต่สมัยชุนชิวไปจนถึงราชวงศ์ชิง ดาวหางแบ่งเป็น 29 ประเภท สะเก็ดดาวและอุกกาบาต Nova and Supernova
ดาวเหนือบอกฤดู กลุ่มดาว 28 กลุ่ม โครงสร้างจักรวาล (cosmic structure) โหราศาสตร์ แผนที่ดาวสมัยราชวงศ์ถัง (ถ่ายรูปมา ของจริงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในลอนดอน) แผนที่ดาวสมัยราชวงศ์ซ่ง (ของจริงอยู่ที่ซูโจว) ที่จริงยังมีเรื่องดาราศาสตร์อีกมากในพิพิธภัณฑ์ แต่เราไม่มีเวลาดูเพราะต้องเดินทางไปสภากาชาดจีน
(น.216) รูป 196 พบมาดามเฉียนเจิ้งอิง ประธานสภากาชาดจีน
(น.216) เมื่อไปถึงนายแพทย์กู้อิงฉี รองประธานบริหารของสภากาชาดจีน นายหลี่ฉางหมิง เลขาธิการสภากาชาดจีน พาขึ้นลิฟต์ไปห้องรับแขกชั้นบน
ประธานสภากาชาดจีนชื่อนางเฉียนเจิ้งอิง ที่จริงข้าพเจ้าเคยพบท่านมานานแล้วตอนที่ท่านเป็นรัฐมนตรีกระทรวงชลประทาน แต่ท่านจำข้าพเจ้าไม่ได้
ท่านผู้นี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างโครงการใหญ่ ๆ หลายโครงการ เช่น โครงการเขื่อนเก่อโจวป้า โครงการแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง คนจีนเรียกแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำล้านช้างว่า หลานชางเจียง)
ตอนนั้นได้ลองนั่งเรือ ไปอีกนิดเดียวก็ถึงประเทศไทย ตอนเริ่มโครงการซานเสียก็ไม่ได้ทำงานแล้ว ตอนนี้อายุมาก ไปซานเสียก็ยังมีผู้ร่วมงานมาอธิบายความคืบหน้าให้ฟัง
(น.217) สำหรับเรื่องของสภากาชาดจีนให้ท่านรองประธานฯ อธิบายว่า
มีการช่วยเหลือคนยากจน ผู้ประสบภัยต่าง ๆ
การบริจาคโลหิต ยังมีปัญหาเรื่องไม่สามารถจัดการรับบริจาคได้ และเรื่องการสาธารณสุข
กิจการเยาวชน
เรื่องความสัมพันธ์กับไต้หวัน เป็นงานพิเศษของกาชาดฝั่งแผ่นดินใหญ่และฝั่งเกาะไต้หวัน เป็นญาติกัน แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ กาชาดก็ต้องช่วยให้ญาติพบกัน
ตอนนี้ไต้หวันมีการห้าม 3 อย่าง หนึ่งห้ามติดต่อ สองห้ามเดินทาง สามห้ามส่งไปรษณีย์ จึงไม่ได้ติดต่อกันมานานแล้ว งานช่วยเหลือแบบนี้เป็นงานที่รัฐบาลทำไม่ได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีคณะจากสภากาชาดจีนไปดูงานสภากาชาดไทย ข้าพเจ้าได้พบพวกเขาและคุยกันในเรื่องรายละเอียดแล้ว
งานที่สำคัญอีกอย่างคือ การประสานงานกับต่างประเทศ ติดต่อกับกาชาดระหว่างประเทศ และสมาพันธ์กาชาด
ที่ผนังมีภาพประธานสภากาชาดจีนตั้งแต่ ค.ศ. 1904 จนถึงปัจจุบัน ส่วนมากทุกท่านก็เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการทำงานเพื่อประเทศ เช่น เป็นรัฐมนตรีสมัยที่มีการต่อสู้กับญี่ปุ่น
เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขหลายท่าน เช่นรัฐมนตรีสาธารณสุขท่านปัจจุบันคือ นายแพทย์เฉินหมิ่นจางเคยได้รับรางวัลมหิดล มาดามเฉียนเพิ่งมารับตำแหน่งได้เพียงปีกว่า ๆ ต่อจากนายแพทย์เฉินหมิ่นจาง
Next >>