<< Back
" หวงเหออู่อารยธรรม วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2543 "
(น.55) จดหมายฉบับที่ 4
(น.56) เรือนรับรองหนานเจียว จี่หนาน มณฑลซานตง
วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2543
ถึงประพจน์
เช้านี้ไปมหาวิทยาลัยซานตง คุณอู่นั่งรถไปด้วย เขาเล่าว่าเรือนรับรองอยู่ทางใต้ของนครจี่หนาน เลยได้ชื่อว่าหนานเจียว พูดกันถึงสมัยก่อนที่มีการวิจารณ์ขงจื่อ คุณอู่เองเห็นว่าขงจื่อมีทั้งส่วนดีมีประโยชน์และส่วนที่ไม่ดี
ส่วนดีคือ ส่วนปรัชญาการปกครองที่ผู้ปกครองต้องเมตตาประชาชน ทำให้คนมีจริยธรรม ส่วนไม่ดีคือ เรื่องดูถูกผู้หญิง ดูถูกการค้าขาย อย่างไรก็ตามคนที่วิจารณ์ขงจื่อส่วนมากจะวิจารณ์ไปโดยไม่ได้ศึกษาและไม่เข้าใจจริง
ฉะนั้นจึงต้องศึกษาอย่างเป็นธรรมเสียก่อน (ฉันเองก็ไม่ได้ศึกษา ได้แต่ฟังๆ เขาพูด ดูเหมือนว่าแต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีการวิเคราะห์ตีความขงจื่อไปต่างๆ นานา ที่ว่าดูถูกผู้หญิงและการค้าจะเป็นเรื่องมาทีหลังกระมัง)
(น.56)
รูป 39 โมเดลอาคารในมหาวิทยาลัย
Model of Shandong University.
(น.57) เมื่อไปถึงมหาวิทยาลัยซานตง ผู้ที่ต้อนรับเป็นรองอธิการบดีชื่อ ศาสตราจารย์จั้นเทา (Zhan Tao) เพราะอธิการบดีติดประชุมสมัชชาอยู่ที่ปักกิ่ง รองอธิการบดีกล่าวต้อนรับและบรรยายกิจการของมหาวิทยาลัย
บอกว่าฉันเป็นแขกสำคัญคนแรกใน ค.ศ. 2000 ถือว่าเป็นการเสริมไมตรีด้านการศึกษาเพราะได้นำนักวิชาการมาหลายท่าน หวังว่าจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
การศึกษาวัฒนธรรมโบราณของจีนเป็นวิชาหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยซานตง มหาวิทยาลัยนี้ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1901 เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของจีน เป็นสถานศึกษาแห่งเมืองที่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลกลาง
เหตุที่การวิจัยภาษาจีน ประวัติศาสตร์จีน ปรัชญาโบราณโดดเด่น สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะมณฑลซานตงเป็นแหล่งวิชาการจีน ที่จริงแล้วลักษณะพิเศษของมหาวิทยาลัยนี้คือ วิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการบริหาร
ได้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว กลายเป็นวิชาเด่นของมหาวิทยาลัย รัฐบาลกลางให้งบประมาณมามาก โดยเฉพาะด้านวิจัย มหาวิทยาลัยพยายามเปิดสู่โลกภายนอก ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ แลกเปลี่ยนนักศึกษา มหาวิทยาลัยมีสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์เอง
รองอธิการบดีให้ของขวัญเป็นซีดีรอมเกี่ยวกับขงจื่อ
รองอธิการบดีเป็นนักคณิตศาสตร์ ศึกษาจากมหาวิทยาลัยซานตงและมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนี คณาจารย์ที่มานั่งอยู่ในห้องมีทั้งอาจารย์ที่ศึกษาขงจื่อ ศึกษาคัมภีร์และพงศาวดารจีนโบราณ
วิจัยกวีนิพนธ์จีนโดยเฉพาะสมัยราชวงศ์ซ่ง (อาจารย์หลิวหน่ายฉังท่านนี้มีผลงานเขียนเล่มใหม่คือ วิเคราะห์บทกวีของหลี่ชิงเจ้า) ปรัชญาต่างประเทศเปรียบเทียบกับปรัชญาจีน ศึกษาอักษรโบราณจีน และการเขียนตัวหนังสือ (shufa-calligraphy) วรรณคดี
(น.58) โบราณจีน วิจัยประวัติท้องถิ่นมณฑลซานตง วิจัยสุนทรียศาสตร์ตะวันตก วิจัยลัทธิเต๋า อาจารย์เหล่านี้ไม่มีโอกาสอธิบายอะไรเลยทั้งๆ ที่ในกำหนดการเขียนไว้ว่าฟังบรรยายเกี่ยวกับขงจื่อและเมิ่งจื่อ
ก็ไม่รู้จะขอฟังได้อย่างไร เพราะเวลาก็หมดแล้ว ถึงเวลาดูพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย ตอนแรกให้ดูโมเดลของมหาวิทยาลัย และประวัติมหาวิทยาลัย มีรูปอธิการบดีเก่าๆ คนแรกชื่อ กานเช่าอวี้ เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายพลยวนซีไข
ประกาศนียบัตรของผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรก ในใบประกาศนียบัตรนี้นอกจากเขียนชื่อนักศึกษาแล้ว ยังมีชื่อพ่อ ปู่ทวด
(แสดงว่าการเป็นลูกเต้าเหล่าใครเป็นเรื่องสำคัญมากของสังคมสมัยนั้น) ภูมิลำเนาของนักศึกษาผู้นั้น ขุนนางผู้ใหญ่ผู้ได้รับมอบหมายจากจักรพรรดิให้ออกประกาศนียบัตร รอบๆ มีลายมังกร
มหาวิทยาลัยซานตงแต่เดิมเป็นวิทยาลัย ตั้งเมื่อ ค.ศ. 1901 เป็นสถาบันสำหรับคนชั้นสูงเรียน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยชิงเต่าเมื่อ ค.ศ. 1924 เอกชนสนับสนุนทุนทรัพย์
และค.ศ. 1926 ตั้งเป็นมหาวิทยาลัยของมณฑล ค.ศ. 1930 มหาวิทยาลัยซานตงมาขึ้นกับรัฐบาลกลาง อธิการบดีหวังโซ่วถง เคยเป็นจอหงวนสมัยราชวงศ์ชิง
อาจารย์ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยมีหลายท่าน เช่น เหล่าเซ่อ (Lao She) (ค.ศ. 1899-1966) เป็นนักประพันธ์ มีผลงานวิจารณ์การปฏิวัติและความอยุติธรรมของสังคมจีน ในทศวรรษ 1920 และทศวรรษ 1930
แต่ถูกพวกเรดการ์ดบีบให้ฆ่าตัวตายในระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม (คนนี้ฉันรู้จักก็เลยอธิบายยาวหน่อย) เสิ่นฉงเหวิน (นักประพันธ์) ถงตี้โจว (นักชีววิทยา) หวังก้านเชา (นักฟิสิกส์) ค.ศ. 1951 มีวิทยาเขตที่ชิงเต่า ค.ศ. 1958 ออกจากชิงเต่ามาอยู่ที่จี่หนาน (ประวัติมหาวิทาลัยที่เขาเล่าดูย้อนไปย้อนมา ฉันฟังไม่รู้เรื่อง)
(น.59)
รูป 40 ห้องเก็บศิลปวัตถุของมหาวิทยาลัย
The University Art Treasure Room.
(น.59) มหาวิทยาลัยออกหนังสือวรรณคดี ประวัติศาสตร์ อธิการบดี คนที่มีชื่อเสียงชื่อ เฉินฝั่งอู๋ เป็นนักวรรณคดีและนักปฏิวัติ เคยเข้าร่วมในการเดินทัพทางไกล 25,000 ลี้ เป็นนักวิชาการระดับศาสตราจารย์เพียงคนเดียวที่อยู่ในกองทัพแดงและร่วมเดินทางไกล
อาจารย์ที่ดูแลศิลปวัตถุให้ฉันดูภาพเขียนมีค่าที่ศาสตราจารย์จานเว่ยหวังบริจาค มีมากมายจนดูไม่ทั่ว มีตุ้ยเหลียนที่นายพลจั่วจงถัง ราชวงศ์ชิงเป็นผู้เขียน
ภาพม้าของสวีเปยหง ลายมืออู๋ชางซั่ว หวังอี้หรง สมัยราชวงศ์ชิง เคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยและเป็นคนที่พบหนังสือที่เขียนบนกระดองเต่า ภาพเขียนของฉีไป๋สือ
เป็นภาพนกสวยงามมาก ฉันเคยเรียนประวัติของฉีไป๋สือ จึงชอบภาพเขียนของเขามากเป็นพิเศษ หวังจิ้งหมิงสมัยราชวงศ์ชิงชอบเขียนภาพต้นไม้และหิน มีตราประทับของจักรพรรดิเฉียนหลง
เรื่องที่มีตราจักรพรรดิประทับบนภาพนั้นแสดงว่าเป็นภาพที่จักรพรรดิโปรดปรานถือว่าเป็นเกียรติ แต่นักวิชาการบางคนว่าทำให้ภาพมีตราประทับเลอะเทอะ
(น.60)
รูป 41 สิ่งของในพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย ได้จากการขุดค้นของภาควิชาโบราณคดี มีระฆังและภาชนะ “ติ่ง”
Art objects belonging to the University excavated by the Department of Archaeology.Bells and tripod contains "ting" are on display.
รูป 42 เคาะเครื่องดนตรีหิน
Beating the stone musical instrument.
(น.61) ในห้องพิพิธภัณฑ์ ผู้อำนวยการหลู่เหวินเซิงเป็นคนพาชม เล่าประวัติว่าภาควิชาโบราณคดีของคณะประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยซานตง
ตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1972 ยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาภาควิชาโบราณคดีเน้นความสำคัญของการทำงานภาคสนาม ของที่แสดงในพิพิธภัณฑ์นี้เลือกมาจากสิ่งของต่างๆ
มากมายที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญด้านศิลปะและเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดีอิ่นเจียเฉิงซึ่งขุดค้นตั้งแต่ ค.ศ. 1973-1986 ในอำเภอซื่อสุ่ย
ทำให้สามารถค้นคว้าเรื่องวัฒนธรรมหลงซานและเยี่ยสือ ทางตอนใต้ของแม่น้ำหวงเหอและแม่น้ำไหวเหอ รายงานของการขุดค้นครั้งนี้มีชื่อว่า “แหล่งโบราณคดีอิ่นเจียเฉิงที่ซื่อสุ่ย”
ได้รางวัลที่ 2 ในด้านการวิจัยดีเด่นสาขาสังคมศาสตร์ซึ่งมณฑลซานตงเป็นผู้ให้ และวิจัยดีเด่นทางด้านมนุษยศาสตร์ ผู้ที่ให้คือคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
แหล่งติงกงในอำเภอโจวผิง เป็นสถานที่ฝึกงานของภาควิชาโบราณคดี มีการขุดบริเวณนั้น 6 ครั้ง ใน ค.ศ. 1991 เมืองวัฒนธรรมหลงซานได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 ของการค้นพบทางโบราณคดียอดเยี่ยม
ตัวอักษรบนแผ่นหินประมาณ 4,200 ปีมาแล้ว ทำให้เราได้ข้อมูลว่าการเขียนหนังสือมีมาก่อนที่เราเชื่อกัน การศึกษาสิ่งของเหล่านี้ให้อิทธิพลที่ดีต่อการศึกษาจุดกำเนิดอารยธรรมจีน
(น.62) ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1995 เมื่อมีการค้นพบเครื่องสำริดหยกและหิน ยังมีกระดูกที่ทำเป็นเครื่องมือและเครื่องเซรามิกในสุสานที่ขุดได้ ณ แหล่งเซียนเหรินไถในอำเภอฉังชิง
นครจี่หนาน ของบางอย่างหายากมาก เช่น ภาชนะสามขาที่เรียกว่า “ติ่ง” แจกันรูปสี่เหลี่ยมทั้งชุด มีลวดลายมังกรและหงส์ หินดนตรี เป็นหินแขวนกับราวตีเป็นเพลงได้
มีการขุดและศึกษาอยู่ 20 กว่าแห่ง เช่น ต้าซินจวง ในนครจี่หนาน แหล่งกว๋อเจียหลง ในอำเภอซินเวิ่น และแหล่งจงเฉินเหอ เมืองโซ่วกวง
ทั้งหมดนี้ดึงดูดความสนใจของวงวิชาการทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ เพราะคุณค่าทางวิชาการที่สูงส่ง
ขณะนี้มีศาสตราจารย์ 1 ท่าน รองศาสตราจารย์ 5 ท่าน อาจารย์ 3 ท่าน ในภาควิชาโบราณคดี 2 ท่านได้รับยกย่องเป็นนักวิชาการดีเด่นในมหาวิทยาลัย
ภาควิชานี้มีโครงการปริญญาโทและมีการทำงานภาคสนามเป็นกลุ่ม ฝึกหัวหน้ากลุ่มทำงานเป็นทีม มีวิชาพื้นฐานคือ “การปฏิบัติงานภาคสนาม” ได้รับรางวัลความสำเร็จยอดเยี่ยมในการสอนจากรัฐบาลกลางใน ค.ศ. 1989
ใน 10 ปีหลังมีการพิมพ์หนังสือของอาจารย์ในภาควิชาโบราณคดีถึง 10 กว่าเล่ม และยังมีบทความตีพิมพ์ในจีนและต่างประเทศอีกกว่า 300 เรื่อง ขณะนี้ภาควิชาเป็นศูนย์การศึกษาโบราณคดีชั้นนำของจีน
ในตู้มีสิ่งของที่มาจากการขุดค้นหลายอย่าง ฉันไม่มีเวลาดูทั้งหมด (ตามเคย) จะบรรยายเท่าที่จดมาทัน ถือว่าเป็นหนังตัวอย่างก็แล้วกัน
Next >>