Please wait...

<< Back

" หวงเหออู่อารยธรรม วันพุธที่ 15 มีนาคม 2543 "

(น.173) จดหมายฉบับที่ 9
(น.174) โรงแรมโซฟิเตล นครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน
วันพุธที่ 15 มีนาคม 2543
ประพจน์
คอมพิวเตอร์ฉันเป็นอย่างไรไม่รู้ มาเมืองจีนนี้ดู websites ไม่ได้เลย set เป็นตัวอักษรไม่ได้ ต้องเป็นตัวเลข วันนี้ไปเมืองไคเฟิง เดินทางชั่วโมงเดียวก็ถึง เมืองไคเฟิงตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำ ทางตะวันออกของมณฑลเหอหนาน เป็นเมืองที่มีประวัติเก่าแก่ถึงประมาณ 2,700 ปี และเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ใหญ่-เล็กถึง 7 ราชวงศ์ เช่น ราชวงศ์ซ่งเหนือ แคว้นเว่ยสมัยจั้นกว๋อ สมัยห้าราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์เหลียงยุคหลัง ราชวงศ์ถังยุคหลัง ราชวงศ์จิ้นยุคหลัง ราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง และราชวงศ์โจวยุคหลัง สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือไคเฟิงมีชื่อว่า ตงจิง (แปลว่า เมืองหลวงทางตะวันออก เขียนและมีความหมายเหมือนคำว่า โตเกียว) เป็นนครที่โอ่อ่าและมั่งคั่ง ดังที่เราจะเห็นได้จากภาพเขียนที่มีชื่อว่า “ภาพริมแม่น้ำในเทศกาลเช็งเม้ง” หรือที่ภาษาจีนว่า “ชิงหมิงซั่งเหอถู” ของจิตรกรจังเจ๋อตวน สมัยราชวงศ์ซ่ง ปัจจุบันตั้งแต่ประเทศมีนโยบายเปิดสู่โลกภายนอก ไคเฟิงพัฒนาไปในด้านอุตสาหกรรม การพาณิชย์ วัฒนธรรม การศึกษา การคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม การท่องเที่ยว ไคเฟิงเป็นเขตผลิตธัญพืชและฝ้าย นอกจากนั้นยังมีการเลี้ยงสัตว์ การประมง การปลูกผักและผลไม้ เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมการเกษตร และยังมีอุตสาหกรรมสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม

(น.175)


รูป 134 รูปจิตรกรที่เขียนภาพ “ริมแม่น้ำในเทศกาลเช็งเม้ง”
Statue of the painter who painted the picture "Along the river bank in Qingming season".


รูป 135 การต้อนรับหน้าเมืองจำลองสมัยราชวงศ์ซ่ง
Welcoming ceremony at the entrance of the reconstructed Song city.

(น.176)


รูป 136 แม่น้ำเปี้ยนเหอ เส้นเลือดของเมือง
Bian he. the artery of the city.

(น.177) จุดแรกที่ไปเป็นเมืองจำลองสมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่สร้างขึ้นจากภาพชิงหมิงซั่งเหอถู หน้าเมืองจำลองมีรูปปั้นของจิตรกรจังเจ๋อตวน ตกแต่งดอกไม้สวยงาม เมื่อลงจากรถ มีท่านเปาบุ้นจิ้นนำลูกน้องออกมากล่าวต้อนรับ มีทหารม้านำเข้าเมือง (มีคนตามกวาดขี้ม้า) ไกด์อวดว่าในสมัยราชวงศ์ซ่ง เมืองไคเฟิงมีพลเมืองถึง 1,560,000 คน ในขณะที่เมืองอิสตันบุลซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางตะวันตกในสมัยก่อนมีพลเมืองเพียง 400,000 คน ในสวนมีการเชิดสิงโต ในแม่น้ำเปี้ยนเหอมีเรือโบราณจอดอยู่ แม่น้ำเปี้ยนเหอนี้ที่จริงก็คือ คลองขุดใหญ่ถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดของเมือง เป็นเส้นทางส่งเสบียงอาหารไปทั่วประเทศ

(น.178)


รูป 137 ช่างปั้นแป้ง
This man is performing his art in turning flour to various shapes.


รูป 138 ช่างเป่าน้ำตาล
Blowing sugar into different figures.

(น.179)


รูป 139 เชิดสิงโต
Lion dance.

(น.179) สองข้างทางเดินมีร้านขายของ ส่วนใหญ่ขายภาพเขียน ศิลปวัตถุ เครื่องเขียน เครื่องหยก กาน้ำชา ของที่ระลึก มีชื่อร้านเก่าแก่ตามภาพเขียน มีพนักงานขายของแต่งกายตามแบบสมัยราชวงศ์ซ่ง ตามทางมีพ่อค้าหาบเร่ หมอดู (ไม่มีเวลาดู) มีคนปั้นแป้งเป็นตุ๊กตา เขาปั้นให้ฉันหลายตัว ก็เลยสั่งใหญ่ เสียดายแป้งพวกนี้เก็บไว้นานไม่ได้ เขาปั้นรูปพระถังซำจั๋ง เห้งเจีย ตือโป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง และยังมีนินจาเต่า อีกคนหนึ่งเป่าน้ำตาลแบบที่เราเคยเห็นในเมืองไทยก็มี สองคนนี้เขาตั้งชื่อว่า นายปั้นและนายเป่า ใช้แซ่หม่าทั้งคู่ มีร้านแสดงภาพปักรูปภาพเขียนและภาพอื่นๆ ไม่ทราบว่าฉันอุปาทานหรือเปล่าว่าที่ดูเมื่อปีที่แล้วปักละเอียดกว่า ภาพที่เหมือนรูปวาดยาว 5.25 เมตร ราคา 60,000 หยวน ในรูปมีคน 648 คน

(น.180) ตามถนนนอกจากจะมีการเชิดสิงโต แล้วมีการเล่นชนไก่ และเล่นโยนลูกกลมๆ แล้วรับอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า juggler มีอูฐ 2 โหนกยืนคอยรับผู้โดยสาร มีการแสดงเรื่องมาลัยเสี่ยงรัก มีคนติดป้ายรับสมัครลูกเขย โฆษณาลูกสาวว่า ไม่ใช่แต่ว่าสวยเฉยๆ สาวคนนี้อ่านหนังสือได้และมีความสามารถรอบด้าน ในที่สุดก็โยนพวงมาลัยลงมาจากระเบียงบ้าน ครื้นเครงดี หนุ่มโสดทั้งหลายของเราไม่ไปแย่งพวงมาลัยกับเขา แถมหนีอ้าว มีคนเดินแห่หนุ่มชาวเมืองที่สอบจอหงวนได้ สักประเดี๋ยวมีคนเอาเครื่องชั่งมาถามว่าจะชั่งน้ำหนักไหม เล่นเอาฉันเดินหนีเหมือนกัน (ยังกับเครื่องชั่งโรงเรียน จ.ป.ร. ที่ใช้ชั่งน้ำหนักสำหรับทำบัตรประจำตัวข้าราชการทหาร) ที่ร้านขายผ้ามีคนแก่ทอผ้าอยู่ ของที่ขายดีมากและราคาไม่แพง ฉันได้กาน้ำชามาเข้า collection อีกสองสามใบ (คุณประยูร สามีอ้อยซื้อมาให้อีกสองสามใบ เที่ยวนี้ได้กาน้ำชามาก)

(น.180)


รูป 140 การเล่นมาลัยเสี่ยงรัก
Throwing a garland to choose bridegroom.

(น.181)


รูป 141 ป่าจารึก
Forest of inscription.

(น.181) จุดที่ 2 คือ เปยหลิน หรือป่าจารึก เป็นที่รวบรวมแบบการเขียนหนังสือทุกๆ แบบที่มีใช้ในจีนทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน วันนี้ไม่มีเวลา เขาเลยจะให้ดูแต่สมัยโบราณ ที่นี่เปิดเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1996 เพื่อเป็นการรวบรวมวัฒนธรรมจีนด้านตัวอักษร เริ่มตั้งแต่สมัยจารึกบนกระดองเต่า จารึกบนทองสำริด สมัยราชวงศ์ฉิน ซึ่งเป็นสมัยที่ตั้งมาตรฐานการเขียนให้เหมือนกันทั้งประเทศ ตัวหนังสือมาตรฐานสมัยราชวงศ์ฮั่นมี 7 แบบ เริ่มเขียนลายมือ (ซูฝ่าหรือ calligraphy) บนป้ายประกอบพิธี ป้ายภูเขาหัวซาน ป้ายที่จังเชียนเขียน ป้ายเฉาฉวน (เขาว่างามที่สุด) สมัยสามก๊ก เขียนบทกวี หวังซีจือเป็นผู้เขียน หลังจากดื่มสุราจนมึนเมาแล้ว เขียนบทกวีได้จบรวดเดียว มีวิธีเขียนแปลกๆ ตัว จื่อ ตัวเดียวเขียนได้ 22

(น.182)


รูป 142 เจดีย์เหล็กที่จริงเป็นกระเบื้องดินเผาสีเหล็ก
Iron stupa. In fact it was built with iron-coloured tiles.

(น.182) แบบไม่ซ้ำกันเลย เขาเขียนหวัดแบบ เฉ่าซู ได้เก่งมาก หวังเซี่ยนจือลูกหวังซีจือก็เขียนหนังสือเก่งเหมือนกัน คัดบทลั่วเสินจากป้ายไท่ซานและคัมภีร์จินกัง สมัยราชวงศ์เว่ยมีป้ายหน้าฮวงซุ้ย มีอักษรฝีมือพระจื้อหย่ง ที่สวยที่สุดคือ สมัยราชวงศ์ถัง เป็นการขัดเกลาวิธีการมาจนกระทั่งถึงจุดสูงสุด ตอนนี้หมดเวลาอีกแล้ว คนที่เป็นคนรวบรวมอักษรนี้คือ คุณหลี่กงเทาเป็นนักเขียนพู่กันจีน ฉันไม่มีโอกาสถามเขาว่าถ้ารวบรวมแบบอักษรจีนทั้งหมด แล้วในสมัยใหม่นี้รวบรวมแบบ font คอมพิวเตอร์เอาไว้ด้วยหรือเปล่า ฉันเคยเรียนเรื่องลายมือแบบต่างๆ ตามหลักวิชา แต่ลืมไปแล้ว จุดที่ 3 คือ เจดีย์เหล็ก ที่จริงเจดีย์เหล็กนี้ไม่ได้ทำด้วยเหล็ก แต่เป็นกระเบื้องดินเผาสีเหมือนเหล็กเป็นสนิม เขาก็เลยเรียกกันว่าเจดีย์เหล็ก สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1049 สมัยราชวงศ์ซ่ง วัดที่มีเจดีย์เหล็กนี้เป็นวัดประจำราชสำนักเรียกว่า วัดไคเป่า มีพระธาตุเจดีย์นี้เขาว่าไม่ได้ใหญ่หรือเก่าที่สุด แต่ว่างามที่สุด เขาเปรียบว่าต้าเยี่ยนถ่า หรือเจดีย์ห่านฟ้าที่ซีอานนั้นมองไกลๆ โอ่อ่า แต่มองใกล้แล้วก็รู้สึกว่าลายไม่ละเอียด สมัยก่อนเจดีย์สูงกว่านี้ แต่ตะกอนแม่น้ำทับถมจนเหลือเท่าที่เห็นนี้ (ก็ยังสูง 55.8 เมตร) ปกติการสร้างเจดีย์สูงอย่างนี้ฐานต้องกว้าง แต่ที่นี่จากยอดมาถึงฐานสัดส่วนกำลังพอดีโดยธรรมชาติ อิฐที่เห็นก็ไม่ใช่แต่เพียงประดับประดา แต่ว่าช่วยให้ยึดกันอยู่ได้ อิฐหรือกระเบื้องเหล่านี้มีลวดลาย สลักเป็นรูปพระ มังกร สัตว์ต่างๆ เมื่อสลักแล้วจึงเผาฐานเป็นแปดเหลี่ยม เจดีย์นี้ทนทานน้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุพัดเจดีย์อื่นๆ ล้มไปแยะแล้ว เจดีย์เหล็กยังอยู่ (แต่ก็ดูเอียงไปหน่อย) เจดีย์นี้สูงโปร่งเหมือนหญิงสาวรูปร่างดี จึงมีฉายาว่า ธิดาไคเฟิง

(น.183) วัดไคเป่านี้ก็เป็นวัดโบราณมากว่า 1,000 ปี นอกจากเจดีย์ ยังเหลือพระพุทธรูปทองแดงอีกองค์ เป็นพระอมิตาภพุทธเจ้า หล่อสมัยราชวงศ์ซ่งสูง 5.8 เมตร หนัก 12 ตัน เขาว่าหล่อทั้งองค์ทีเดียวไม่ได้ต่อ ยกพระหัตถ์ซ้าย นำเราขึ้นสวรรค์ (ไกด์บอกอย่างนี้) จุดที่ 4 เปากงฉือ หรือศาลเจ้าเปาบุ้นจิ้น ท่านเปาเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ตัดสินตามกฎหมาย จนมีฉายาอีกอย่างหนึ่งว่า เปาชิงเทียน หรือ เปาฟ้าโปร่งใส เคยเป็นผู้ว่าราชการไคเฟิง ข้างๆ ศาลเป็นทะเลสาบ ไกด์บอกว่าสมัยก่อนตรงที่เป็นทะเลสาบนี้เป็นศาลไคเฟิง มีสำเนาจารึกภาพท่านเปาที่สลักจากบ้านเกิด หน้าตาคล้ายท่านเปามากที่สุด (ทราบได้อย่างไร) คนทั่วไปคิดว่าท่านเปาหน้าแดงออกดำ หนวดยาวไปตามงิ้ว ที่จริงหน้าตาไม่ใช่แบบนั้น

Next >>