<< Back
" เจียงหนานแสนงาม วันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2542 "
(น. 89) เมื่อไปพบ รองประธานาธิบดี กล่าวว่ารู้สึกยินดีที่มีโอกาสได้รู้จัก ในนามประธานาธิบดี รัฐบาลจีน และประชาชนจีน ขอต้อนรับในการเยือนจีนครั้งที่ 9 แม้จะพบกันเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่รู้สึกแปลกหน้า
เพราะข้าพเจ้าเป็นมิตรที่ประชาชนจีนรู้สึกคุ้นเคยและเคารพ เพราะมีความผูกพันกับจีน สนใจเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน ขยันหมั่นเพียรศึกษาภาษาจีน และได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางเยือนจีนทุกครั้ง
เป็นคุณูปการแก่การพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้งนี้นอกจากปักกิ่งยังจะได้ไปมณฑลและเจ้อเจียง ทั้งสองมณฑลมีเศรษฐกิจรุ่งเรือง วัฒนธรรมรุ่งโรจน์ที่สุดในจีน เจียงซูเป็นบ้านเกิดของท่านประธานาธิบดีเจียงและเป็นบ้านเกิดของท่านหูเองด้วย
ในฤดูกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อนที่มีแสงแดด ในฤดูวสันต์อันอบอุ่น ภูมิทัศน์ก็งดงาม นอกจากจะได้เห็นทัศนียภาพตามธรรมชาติ โบราณสถานมากมายแล้ว ยังจะได้สัมผัสความเจริญทางเศรษฐกิจของมณฑลแถบนั้นด้วย จะได้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำฉังเจียงตอนล่าง เป็นการส่งเสริมความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประเทศเราทั้งสอง
ข้าพเจ้าว่า ถึงจะมาที่เมืองจีนหลายครั้ง แต่ดูไปไม่ถึงครึ่งต้องค่อยๆ ศึกษาไป คราวนี้จะได้ศึกษาทั้งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี เพราะว่าเป็นดินแดนที่สวยงาม มีกวีโบราณเขียนบรรยายเอาไว้มาก
ในปัจจุบันเป็นช่วงที่จะก้าวสู่ยุคใหม่ ศตวรรษใหม่ จึงอยากไปดูความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ วิชาการ อุตสาหกรรม ไม่เฉพาะแต่อุตสาหกรรมในประเทศ แต่อุตสาหกรรมที่มีการร่วมมือกับต่างประเทศด้วย ต้องศึกษาการพัฒนาและดูเป็น
(น. 90) ตัวอย่าง เดี๋ยวนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศต่างๆ จะต้องร่วมมือช่วยกัน ได้ยินว่าท่านหูไปร่วมประชุมสุดยอด ASEAN ที่เมืองฮานอยด้วย
ท่านหูว่า ได้ไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ได้พบกับนายกรัฐมนตรีไทย ได้พูดกันเรื่องความสัมพันธ์ตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ความร่วมมือกันให้สอดคล้องกับผลประโยชน์พื้นฐานของประเทศทั้งสอง
ข้าพเจ้าว่า ปีนี้จะฉลองโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 72 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการเกษตรและการชลประทานมาก หลายปีมาแล้วไทยประสบภาวะแห้งแล้งจึงทรงวางแผนสร้างเขื่อน
สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง มีแห่งหนึ่งกำลังจะเสร็จ ได้ไปดูแล้วอยู่ทางใต้ของประเทศไทย บริษัทของจีนประมูลการก่อสร้างได้ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ประตูน้ำได้ไปจากจีน คิดว่าปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าคงจะเปิดใช้ได้ ส่วนที่นครนายกได้เห็นสถานที่ก่อสร้างมาแต่ต้น คงจะเป็นบริษัทจีนประมูลได้อีก
ท่านหูว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองที่พัฒนาไปได้ดี เพราะความสนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งจีนและไทยเป็นประเทศที่มีเกษตรกรรมเป็นพื้นฐาน ปัญหาคล้ายๆ กัน
น้ำมากก็ท่วม น้ำน้อยก็แล้ง เมื่อปีที่แล้วลุ่มแม่น้ำฉังเจียง หลี่เจียง ซงฮวาเจียง น้ำท่วมภัยร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ แต่ในฤดูใบไม้ร่วงจนถึงเดือนมีนาคมปีนี้ทางเหนือฝนและหิมะไม่ตกเลยติดต่อกันถึง 180 วัน ไม่ว่าน้ำมากน้ำน้อยต้องเน้นเรื่องชลประทาน เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปีที่แล้ว
(น. 91) รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายการชลประทานเป็นเรื่องอันดับ 1 ในการสร้างสาธารณูปโภค ดีใจที่ได้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยพัฒนาการเกษตร เห็นว่าประเทศเราทั้งสองจะร่วมมือกันได้ในด้านนี้ ถ้าบริษัทจีนประมูลได้ ก็จะทำดีที่สุด
ท่านหูเล่าว่าท่านเพิ่งกลับจากมณฑลเหอหนาน ไปตรวจงานการจัดการลุ่มแม่น้ำหวงเหอ ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่นั่นแต่ละปีช่วงปลายกรกฎาคม – สิงหาคม น้ำในแม่น้ำจะมาก เกิดอุทกภัย ยังเหลือเวลาอีก 3 เดือน ต้องเร่งบูรณะเขื่อน 2 ฟากแม่น้ำต้านน้ำท่วม และต้องทำความสะอาดขุดลอกคลองด้วย
การไปเยือนเจียงซูและเจ้อเจียง ข้าพเจ้าจะได้ไปเยือนหนานจิง (นานกิง) และหังโจว ซึ่งรวมอยู่ในเมืองหลวงโบราณ 7 แห่งของจีน ทราบว่าข้าพเจ้าเคยไปปักกิ่งและซีอานแล้ว คราวนี้ได้ไปอีก 2 เมือง เป็น 4 เมือง ยังมีลั่วหยัง ไคเฟิง และอานหยัง อีก 3 เมืองคราวนี้คงไปไม่ได้ แต่ว่าคราวหน้ายินดีต้อนรับ จะได้เห็นนครหลวงครบทั้ง 7 เมือง
ข้าพเจ้าว่า มีอีกหลายที่ที่เตรียมไว้ เมื่อวานนี้ได้พบศาสตราจารย์ชาวจีน ท่านนำหนังสือมาให้หลายเล่ม ใช้ข้อมูลดาวเทียมรวบรวมระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ศึกษาน้ำท่วมในจีนเมื่อปีก่อน การใช้ที่ดินการเกษตร ข้าพเจ้าถามว่าจะไปที่ไหนดี ท่านศาสตราจารย์แนะนำมณฑลหนิงเซี่ยและมณฑลชิงไห่
ท่านหูว่า ชิงไห่เป็นต้นแม่น้ำหวงเหอและฉังเจียง มีคนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่หลายกลุ่ม เช่น พวกหุย มองโกล อยู่ที่นั่นไม่
(น. 92) เพียงแต่จะได้ชมทิวทัศน์ แต่ยังได้ศึกษาศาสนาพุทธแบบทิเบต ถ้าได้ไปทิเบตหรือชิงไห่ ควรจะไปเดือนมิถุนายน – สิงหาคม อากาศดีที่สุด ทิเบตก็น่าไป ท่านหูเคยทำงานอยู่ที่นั่น 3 ปี ถ้าไปฤดูหนาวลมแรงอุณหภูมิต่ำๆ
คราวนี้ข้าพเจ้าจะได้ไปเมืองหยังโจว อยู่ห่างเมืองไท่จงที่ท่านหูเกิดและเติบโตเพียง 50 กิโลเมตร ตั้งแต่เด็กเคยไปหยังโจวหลายครั้ง ยังประทับใจชีวิตสมัยที่เป็นวัยรุ่น ที่ชอบมากคือ ทะเลสาบโซ่วซีหู มีทิวทัศน์สวยที่สุดในมณฑลเจียงซู
การล่องเรือที่นี่ก็ไม่เหมือนที่อื่นเพราะทะเลสาบไม่กว้าง คดเคี้ยวไปมา เห็นทิวทัศน์ทีละแห่ง พอเลี้ยวไปก็จะเห็นอีกแห่ง ไม่ใช่เห็นทิวทัศน์กว้างๆ พร้อมๆ กันทั้งหมด แต่ก่อนกล่าวกันว่ามีทิวทัศน์เช่นนี้ถึง 30 แห่ง เดี๋ยวนี้เห็นได้ 10 กว่าแห่ง
ในทะเลสาบยังมีภูเขาเล็กๆ บนเนินเขามีศาลเจ้าจินซาน มีตุ้ยเหลียน (คำขวัญคู่) ของกวีสมัยราชวงศ์ชิงกล่าวไว้ว่า เมื่อแสงจันทร์ส่องก็เห็นทั้งทะเลสาบ หากหมอกมากก็เห็นแต่ศาลเจ้าที่บนเนินเท่านั้น คราวนี้คงไม่ได้เห็นภาพเช่นนั้น เพราะไม่ได้ไปกลางคืน นอกจากนั้นยังมีสะพาน 5 ศาลา
เมืองหยังโจวนั้นสถานที่ที่มีชื่อเสียงคือ วัดต้าหมิงซึ่งชาวญี่ปุ่นชอบไปมาก เป็นวัดที่สร้างเมื่อประมาณศตวรรษที่ 5 ในรัชศกต้าหมิงของจักรพรรดิเซี่ยวอู่ตี้ (ค.ศ. 454 – ค.ศ. 464) แห่งราชวงศ์หลิวซ่ง (ค.ศ. 420 – ค.ศ. 479) ในสมัยราชวงศ์เหนือใต้
วัดเดิมถูกทำลายไปในสงคราม ที่เราเห็นอยู่สร้างใหม่ในสมัยจักรพรรดิถงจื่อ (ค.ศ. 1862 – ค.ศ. 1874) ราชวงศ์ชิง ที่มีชื่อเสียงเพราะในราชวงศ์ถังเป็นที่จำพรรษาของพระเจี้ยนเจิน ตอนหลังไป
(น. 93) ญี่ปุ่นนำพระธรรมและวิทยาการต่างๆ ไปสู่ญี่ปุ่น พยายามไปถึง 6 หน จึงไปถึง ไปเผยแพร่พุทธธรรม 10 ปี และมรณภาพที่นั่น ญี่ปุ่นระลึกถึงบุญคุณทำรูปไว้บูชา ค.ศ. 1963 ครบรอบ 1,200 ปีของการมรณภาพ
รัฐบาลสร้างหอที่ระลึกเอาไว้ที่วัดต้าหมิงนี้ ยังมีโบราณสถานอีกมากในสี่เมืองนี้ (หนานจิง หยังโจว ซูโจว หังโจว) มีนิทานประกอบด้วย แต่ร้อยคำไม่สู้ไปดูหนเดียว จะกล่าวไปก็ยาวเปล่าๆ สู้ไปดูเองไม่ได้
ข้าพเจ้าว่า เมื่อสามปีก่อนไปล่องแม่น้ำฉังเจียง ลงเรือที่นครฉงชิ่งไปขึ้นบกที่นครอู่ฮั่น ต่อทางบกไปหวงซาน เซี่ยงไฮ้ คราวนี้เหมือนได้ดูต่อลงมา คราวก่อนดูโครงการเขื่อนซานเสีย เมื่อโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้วจะไปอีกเพื่อดูว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ท่านหูว่า โครงการนี้ถ้าสร้างเสร็จก็จะเหมือนที่ท่านประธานเหมาประพันธ์ไว้ว่า จะมีทะเลสาบราบเรียบอยู่ในช่องเขาสูง จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ใน ค.ศ. 2003 หวังว่าจะได้ต้อนรับ เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบนั้น
ประธานาธิบดีเจียงก็ได้รับเชิญเป็นพระราชอาคันตุกะในต้นเดือนกันยายนนี้ ช่วงที่ศตวรรษหนึ่งกำลังจะผ่านไปและศตวรรษใหม่จะมาถึงนั้น การเยือนนี้มีความหมายยิ่งทางประวัติศาสตร์ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเจริญขึ้นอีก
ข้าพเจ้าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยจีน เวลามีผู้นำจีนเข้าเฝ้าก็จะทรงสนทนาอยู่ด้วยนาน คราวนี้คงได้สนทนากันอย่างน่าสนใจ
(น. 94) รูป 73 ออกจากมหาศาลาประชาชน
Leaving the Great Hall of the People.
(น. 94) ท่านรองประธานาธิบดีฝากถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ข้าพเจ้าลาท่านหู ออกจากมหาศาลาประชาชนกลับไปที่เตี้ยวอวี๋ไถ รับประทานอาหารเย็นแล้วไปท่าอากาศยาน มีรองอธิบดีกรมเอเชียมาส่ง นั่งเครื่องบิน China Eastern Airline
เที่ยวบิน MU 5170 ไปสนามบินหลูโข่วที่นานกิง มีพวกเจ้าหน้าที่มณฑลเจียงซูมาต้อนรับ ฝ่ายไทยมีคุณศรศิลป์ พลเตชา กงสุลใหญ่ ณ เซี่ยงไฮ้ และภรรยา พวกเจ้าหน้าที่เจียงซูกับข้าราชการสถานกงสุลมารับหลายคน
ไปที่โรงแรมจินหลิง โรงแรมนี้สร้างขึ้นหลายปีแล้ว แต่ยังปรับปรุงอย่างดี เป็นโรงแรมที่เป็นของจีนแท้ๆ ไม่ได้เป็นสาขามาจากต่างประเทศ ทางสถานกงสุลและโรงแรมจัดอาหารค่ำเอาไว้ เลยฉลองศรัทธา
(น. 95) วันนี้เป็นวันชิงหมิงหรือเช็งเม้ง ทำให้นึกถึงบทกวีจีนชื่อ ชิงหมิง ของ ตู้มู่ (ค.ศ. 803 – ค.ศ. 852) กวีเอกสมัยราชวงศ์ถังซึ่งรับราชการเป็นขุนนางระดับสูงด้วย บทกวีมีความว่า
เทศกาลชิงหมิงฝนตกพรำๆ
ในหว่างวิถี คนเดินทางใจขาดรอน
ขอถามร้านเหล้าอยู่ที่ใด
เด็กเลี้ยงวัวชีไปหมู่บ้านซิ่งฮวาไกลโพ้น
ชิงหมิงหรือที่ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า เช็งเม้งนั้น เป็นหนึ่งใน 24 เทศกาลของจีน ในวันนี้ชาวจีนจะไปกราบไว้สุสานบรรพบุรุษ จะรวมกันไปทั้งครอบครัว
จะปัดกวาดหลุมฝังศพให้สะอาด ตัดหญ้าที่ขึ้นรก เช็ดฝุ่นที่จับอยู่บนตัวอักษรที่จารึกไว้ในแผ่นหิน หากตัวอักษรเลือนก็จะเขียนใหม่ให้ชัดๆ นอกจากนั้นจะไปเที่ยวป่าเขาด้วย
ให้สนุกสนานเบิกบานใจ เป็นวันที่รื่นรมย์ได้ไหว้บรรพบุรุษ ได้ชุมนุมพบปะญาติๆ แต่ในวันนี้ กวีกลับต้องเดินทางไปราชการ ไม่ได้ไปร่วมชิงหมิงจึงรู้สึกเป็นทุกข์ ใจขาดรอนๆ ระหว่างเดินทาง
(น. 96) รูป 74 ที่สนามบิน
At the airport.
(น. 96) ในด้านวรรณศิลป์ กวีใช้คำสั้นๆ กระชับ สื่อความได้ดี พรรณนาภาพฤดูใบไม้ผลิในดินแดนเจียงหนาน ตัดกับภาพความอ้างว้าง
โดดเดี่ยว ใจขาดรอนของกวี จนต้องถามหาร้านเหล้า ในช่วงชิงหมิงนั้นแถบเจียงหนานยังมีฝนตกอยู่บ้าง แต่ทางเหนือจะไม่มี
บทกวีสื่อให้เห็นฤดูใบไม้ผลิหรือชุนเทียนในเจียงหนาน ลมตะวันออกพัดมา ฝนพรำๆ ดอกซิ่ง หรือที่ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่าดอกเหง ออกดอกสีขาว สีชมพู พราวตา ส่วนผลนั้นเป็นลูกกลม สีแดงฉาน ถามเด็กเลี้ยงวัวว่าจะซื้อเหล้าดีๆ ได้ที่ไหน ชี้ไปที่หมู่บ้านซิ่งฮวา (ซิ่งฮวา = ดอกซิ่ง ฮวา = ดอกไม้) ไกลโพ้น
บทกวีสั้นๆ เพียง 4 บรรทัด แต่กวีสามารถสื่อให้เห็นภาพฝนพรำ ดอกซิ่งบาน ร้านเหล้าไกลโพ้น คนเดินทางใจขาดรอน
ข้าพเจ้าก็อยู่ในระหว่างการเดินทาง แต่ก็มีความสุขดีอยู่