<< Back
" เจียงหนานแสนงาม วันอังคารที่ 6 เมษายน 2542 "
รูป 91 เครื่องเขิน
Lacquerwares.
(น. 112) รูป 92 เรือโบราณ
Ancient boat.
(น. 112) มีเครื่องเคลือบเตาเต๋อฮว่า สมัยราชวงศ์หมิง เป็นเครื่องเคลือบสีขาวงาช้างที่มีชื่อเสียงของมณฑลฮกเกี้ยน ที่ทำได้สวยเป็นที่รู้จักคือ รูปเจ้าแม่กวนอิม
เครื่องเคลือบสีต่างๆ เครื่องปั้นพบในเรือของเนเธอร์แลนด์ที่จม สีคราม แดง เหลือง เป็นพวกของทำส่งออกที่เรียกว่า Exportware มีเครื่องลายครามจากเรือที่จม มีผู้ซื้อบริจาคให้
พิมพ์ต่างๆ เป็นรูปหน้าตุ๊กตาสมัยราชวงศ์ถัง
เรือต่างๆ เรือขุดอายุ 2,000 กว่าปี มีลักษณะคล้ายเรือมาด แต่มีขนาดใหญ่กว่า ได้จากหังโจว ขาดไปเหลือเพียงครึ่งลำ
เรือมังกรจำลองทำด้วยไม้ และหุ่นจำลองเรือชนิดต่างๆ
นอกจากนั้นมีเครื่องเซรามิกจัดแสดงไว้ด้วย
(น. 113) สมัยราชวงศ์หมิง มีอู่ต่อเรือใหญ่อยู่ที่นานกิง เรือที่ต่อที่นานกิงนี้สามารถออกทะเลใหญ่ได้ เช่น เรือที่เจิ้งเหอ ขันทีผู้ใหญ่ในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (ค.ศ. 1402 – ค.ศ. 1424)
แห่งราชวงศ์หมิงใช้เดินทางสำรวจย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแสดงแสนยานุภาพของจีน ยังมีสมอเหล็กของเรือยุคนั้นเก็บเอาไว้ มีขนาดใหญ่มาก
พาหนะทางบก ได้แก่ รถ มีเครื่องประดับรถ ชิ้นส่วนต่างๆ ของรถทำด้วยสำริด ตั้งแต่ 770 ปีก่อนคริสตกาล มีหุ่นจำลองรถสมัยราชวงศ์ฮั่น และราชวงศ์ถัง รถกลอง รถลาก เกี้ยวเจ้าสาว
เครื่องทอผ้าชนิดต่างๆ เรื่องของผ้า แสดงตุ๊กตาแต่งกายสมัยต่างๆ แสดงให้ดูว่ากิโมโนของญี่ปุ่นก็ดัดแปลงมาจากเสื้อผ้าสมัยราชวงศ์ถัง
แสดงผ้าและการแต่งกายสมัยราชวงศ์ชิง
ลงไปชั้นล่าง เป็นห้องแสดงประวัติศาสตร์เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มาศึกษาประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนเปิดให้ชมฟรี
(น. 113) รูป 93 เครื่องทอผ้า
A loom.
(น. 114) รูป 94 โต๊ะลงนามเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ไกด์ว่าเป็นของจริง
Table used in the signing ceremony to mark the end of war between Japan and China after Japan's surrender. They are the actual tables according to the guide.
(น. 114) เริ่มต้นแสดงตารางประวัติศาสตร์ มีรูปจักรพรรดิองค์สำคัญเรียงลำดับเวลาในประวัติศาสตร์ มีแผนที่ให้ดู มีตารางเทียบเหตุการณ์สำคัญและศิลปวัตถุ สิ่งประดิษฐ์ที่ปรากฏในสมัยต่างๆ จนถึงสมัยประธานาธิบดีซุนยัดเซ็น
แสดงพระราชบัลลังก์ (ของจริง) ตั้งบนยกพื้น (ของใหม่) สิ่งของนอกจากนั้น ได้แก่ เสามังกร เตากำยาน เชิงเทียน เป็นของจริงทั้งหมด
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ โต๊ะลงนามเมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนยอมแพ้สงคราม มีโต๊ะลงนามฝ่ายจีน ฝ่ายญี่ปุ่น ผู้บรรยายกล่าวว่า ของที่เก็บในพิพิธภัณฑ์นี้เป็นของจริง ที่พิพิธภัณฑ์ต่อต้านญี่ปุ่นในกรุงปักกิ่งเป็นของจำลอง
ห้องแสดงชาติพันธุ์ในจีน ทำเป็นตาราง มีรูปชนชาติต่างๆ 56 เชื้อชาติ พร้อมทั้งแสดงวัฒนธรรม สังคม ของชนชาติเหล่านั้น มีแผนภูมิการกระจายของชนชาติ การอพยพ การแผ่ขยายอารยธรรมของพวกฮั่น พิพิธภัณฑสถานไปเก็บข้าวของของชนเผ่าต่างๆ เมื่อ
(น. 115) ทศวรรษ 1940 ขณะนี้กลายเป็นของล้ำค่า เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว มณฑลกุ้ยโจวและมณฑลยูนนานมีชนเผ่าต่างๆ อยู่มาก เรื่องของชนเผ่าสมัยโบราณที่ปัจจุบันไม่มีแล้วก็เก็บรวบรวมข้อมูลไว้
ตึกด้านข้าง เป็นห้องที่แสดงการขุดค้นทางโบราณคดีของพิพิธภัณฑ์นานกิงในมณฑลเจียงซูและพื้นที่ใกล้เคียง มีตู้กระจกแสดงแหล่งขุดค้นต่างๆ เช่น
1. การขุดค้นแหล่งโบราณคดียุคหินเก่า
2. พื้นที่ที่มีหลุมฝังเสา มีเตา ขุดอยู่ตรงกลาง ด้านหลังเป็นฉากแสดงลักษณะของบ้านยุคนี้ที่น่าจะเป็น
3. วัฒนธรรมต้าเหวินโข่ว ฝังนายไว้กับคนใช้ มีเครื่องปั้นดินเผาวางรอบๆ
4. สุสานในวัฒนธรรมชิงเหลียนกัง
5. การฝังคนกับเครื่องหยกในวัฒนธรรมเหลียงจู่ ที่แหล่งขุดค้นโบราณคดีชื่อ ซื่อตุน
6. หีบศพไม้ ขุดพบในแคว้นอู๋ สมัยจั้นกั๋ว
7. สุสานสมัยราชวงศ์ซัง (ก่อน ค.ศ. 1766 – ก่อน ค.ศ. 1122) เด็กวัยรุ่นตาย ใกล้ศพเด็กมีศพสุนัข
8. เนินก่อด้วยหินที่ลุ่มน้ำไท่หู มีเครื่องปั้นดินเผาวางไว้รอบๆ
9. สวนที่ใช้ทำพิธีบูชายัญสมัยราชวงศ์ซัง ทุกศพหันไปทางหินก้อนกลาง พบศพ 20 ศพ กะโหลก 2 กะโหลก สุนัข 12 ตัว ทุกศพถูกมัดมือไพล่หลัง
10. หลุมศพของขุนนางแคว้นอู๋
มีจารึกต่างๆ ฝังไว้ตามกำแพง
(น. 116) ห้องแสดงวัฒนธรรมการดื่มน้ำชา มีกาน้ำชาแบบต่างๆ และถ้ำชานานาชนิด
ศาสนา แสดงของในลัทธิเต๋าและพุทธศาสนา มีพระพุทธรูป รูปงูมีหัวเป็นคน 2 ด้าน เป็นของสมัยห้าราชวงศ์ (ค.ศ. 907 – ค.ศ. 960)
มีสิ่งของในพุทธศาสนามหายานนิกายต่างๆ รวมทั้งนิกายตันตระแบบทิเบต เครื่องทำพิธี คัมภีร์พระสูตรต่างๆ เช่น วัชรเฉทิกา สุขาวดีวยูหะ
มีห้องขายของห้องใหญ่ ขายทั้งของโบราณและของสมัยใหม่ ของที่ทำเลียนแบบของเก่า หนังสือและหัตถกรรมของที่ระลึก
ไม่ได้ซื้ออะไร ตรงไปที่ห้องรับรอง ผู้อำนวยการกล่าวว่าพิพิธภัณฑ์นานกิงนี้มีสิ่งของทุกยุคทุกสมัยรวม 400,000 กว่าชิ้น ของที่สำคัญที่สุดคือเครื่องเคลือบเตาหลวงสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง
มีอยู่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของของทั้งหมด ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของพิพิธภัณฑ์นี้คือ มีสถาบันวิจัย 14 แห่งขึ้นกับพิพิธภัณฑ์ เช่น สถาบันโบราณคดี สถาบันการอนุรักษ์
สถาบันวิจัยประเพณีพื้นบ้าน สถาบันวิจัยศิลปะโบราณ และสถาบันสถาปัตยกรรมโบราณ เป็นต้น เจ้าหน้าที่มี 200 กว่าคน 2 ใน 3 เป็นนักวิจัย มีนักวิจัยระดับสูงอยู่ประมาณ 1 ใน 3 การจัดแสดงสิ่งของเป็นผลงานของนักวิจัยเหล่านี้ที่ทำมา60กว่าปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีวารสารของพิพิธภัณฑ์อีกด้วย
ใน ค.ศ. 1948 – ค.ศ. 1949 รัฐบาลก๊กมินตั๋งย้ายของมีค่าที่สุดจำนวนหมื่นกว่าชิ้นไปไต้หวัน เดี๋ยวนี้อยู่ Palace Museum กรุง
(น. 117) ไทเป สิ่งของที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์นี้ 3 ใน 4 เป็นของที่ตกทอดมา 1 ใน 4 หามาใหม่หลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
พิพิธภัณฑ์นี้เริ่มสร้างเมื่อ ค.ศ. 1933 ใน ค.ศ. 1937 เกิดสงครามกับญี่ปุ่น ต้องย้ายของต่างๆ ไปเสฉวน อาคารนี้ถูกญี่ปุ่นยึดทำเป็นโรงพยาบาล ค.ศ. 1945 จึงย้ายของกลับมา
เดิมเป็นอาคารโถง มุขและหน้าต่างประตูเป็นของทำใหม่ ปัจจุบันถือว่าอุปกรณ์ต่างๆ ล้าสมัยแล้ว รัฐบาลมณฑลเจียงซูสนใจศึกษาเรื่องวัฒนธรรม จึงให้งบประมาณสร้างตึกใหม่
มีเนื้อที่จัดแสดง 1,600 ตารางเมตร จะมีอุปกรณ์ทันสมัย เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องปรับความชื้น ระบบป้องกันภัย จะพยายามจัดข้าวของต่างๆ ให้ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้ทันเปิดเดือนตุลาคม
ข้าพเจ้าถามว่าใช้เวลาจัดอีกเท่าไร ผู้อำนวยการบอกว่างานก่อสร้างกำลังจะเสร็จ ตอนนี้เริ่มตกแต่งภายในแล้ว จะมีห้องจัดแสดง 10 ห้อง ข้าพเจ้าถามว่า สิ่งของที่มีอยู่มากมายมีโกดังเก็บหรือไม่
ผู้อำนวยการบอกว่าอยู่ใต้ดินของอาคารที่เราไปดูเมื่อสักครู่นี้ มีโกดังขนาด 3,00 ตารางเมตรหลังหนึ่ง และอีกหลังหนึ่ง 5,000 ตารางเมตร โกดัง 2 หลังนี้มีระบบทันสมัย ที่แสดงอยู่นี้มีไม่ถึง 3,000 ชิ้น หลังจากสร้างตึกใหม่แล้วจะแสดงได้อีก 5,000 ชิ้น
จากนั้นผู้อำนวยการให้ดูของสำคัญของพิพิธภัณฑ์
1. แจกันสำริด สมัยจั้นกั๋ว สูงฟุตกว่า ตัวแจกันฝังลายทองตลอด ลายดอกเหมยถักตาข่าย ขุดพบเมื่อ ค.ศ. 1982 แสดงความรู้ทางเทคนิคการหล่อสำริดชั้นสูง
(น. 118) รูป 95 จักจั่นทองเกาะใบไม้หยก
Golden cicada on jade leaf.
(น. 118)
2. จักจั่นทองเกาะใบไม้หยก เป็นของสมัยราชวงศ์ชิง เข้าใจว่าเป็นเครื่องประดับศีรษะของผู้หญิง
3. เสือดาวทองคำสมัยราชวงศ์ฮั่น ขุดพบพร้อมกับแจกันสำริด วางอยู่บนแจกัน ที่รู้ว่าเป็นของสมัยราชวงศ์ฮั่นนั้น เพราะขุดพบในสนามรบบ้านเกิดของนายพลสมัยฮั่น ทองคำหนัก 9 กิโลกรัม เสือดาวนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของการมีทรัพย์
4. พระพุทธรูปทรงเครื่องทองคำขนาดเล็ก ฝังอัญมณี สมัยราชวงศ์ฮั่น
5. โคมไฟรูปกระทิง ขุดพบพร้อมกับพระพุทธรูป ตัวกระทิงมีที่ใส่น้ำเพื่อป้องกันควัน แสดงว่าคนเมื่อก่อนนี้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม
6. ดุ้นหยก (หรือหิน) สีขาวแข็งมาก (ระดับ 7) สลักลายหน้ากาลอย่างประณีต หินชนิดนี้หายากมาก ขุดพบที่ฉังโจว
7. เครื่องประกอบพิธีทางพุทธศาสนาทำด้วยทองคำ
8. มณฑลสามมิติ รูปเขาพระสุเมรุ มีพระจันทร์ พระอาทิตย์ จตุโลกบาล และทิศย่อย 8 เป็นทองคำฝังลายมีไข่มุกประดับ
9. พระพุทธรูปนั่งแบบทิเบต ทองคำหนัก 41 กิโลกรัม
(น. 119) รูป 96 ปากกาที่นายพลแมคอาเธอร์ลงนามรับการยอมแพ้ของญี่ปุ่น
General MacArthur's pen used in signing the acceptance of Japan's surrender.
รูป 97 นาฬิกาบันทึกเวลาลงนาม
The clock used in the surrender ceremony which stopped at 9.03 when the ceremony concluded.
(น. 119)
10. เครื่องเขียนที่ใช้ลงนามยอมแพ้ของญี่ปุ่น มีของจีนสำรับหนึ่ง ของญี่ปุ่นสำรับหนึ่ง ประกอบด้วยกล่องใส่เอกสาร พู่กัน แท่นฝนหมึก ตลับใส่น้ำ แท่งหมึก เป็นของฝีมือเดียวกัน แต่ลายต่างกัน
11. ปากกาปาร์คเกอร์ปลอกทองของนายพลแมคอาเธอร์ ใช้ลงนามในการยอมแพ้ของญี่ปุ่น
12. นาฬิกายี่ห้อ Diamondใช้จับเวลาลงนาม ซึ่งเป็นวันที่ 9 เดือน 9 เวลา 9.00 น. นาฬิกาหยุดเมื่อ 9.30 น. เมื่อสิ้นสุดพิธี
ผู้อำนวยการเล่าว่าที่เราเห็นที่ปักกิ่งทั้งโต๊ะ เครื่องเขียน และนาฬิกา เป็นของจำลองขึ้นทั้งนั้น ผู้อำนวยการเป็นคนทำให้
(น. 120) กลับมาที่โรงแรม รับประทานอาหารกลางวัน แล้วไปสุสานของประธานาธิบดีซุนยัดเซ็น หรือที่เรียกตามภาษาจีนกลางว่า
ซุนอี้เซียน ท่านมีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันเป็นทางการว่า ซุนจงซาน สุสานอยู่ที่เขาลูกหนึ่งในภูเขาจื่อจินซาน
ลักษณะของสุสานเป็นแบบเดียวกับสุสานของจักรพรรดิจีนโบราณ ตั้งอยู่บนเขาสูง มีประตูทางเข้าเป็นซุ้ม เขียนอักษรว่า ปั๋วไอ้ แปลว่า ภราดรภาพ
อันเป็นแนวคิดหนึ่งที่ประธานาธิบดีซุนยัดเซ็นยึดมั่น ลานหน้าสุสานเป็นรูปวงกลม เมื่อผ่านประตูขึ้นไปเป็นทางเดินลาดขึ้นเล็กน้อย ไปถึงอาคารที่ 1 มีคำว่า
เทียนเซี่ยเหวยกง ลายมือประธานาธิบดีซุนยัดเซ็นติดไว้ แปลตามศัพท์ว่า ใต้หล้าเป็นของทุกคน แต่ในที่นี้หมายความว่า แผ่นดินจีนเป็นของชาวจีนทุกคน
สะท้อนถึงแนวคิดประชาธิปไตย ทางเดินตรงไปอาคารที่ 2 เป็นหอป้ายลายมือเจียงไคเช็ก ต่อไปเป็นบันได 392 ขั้น พอดีตรงกับจำนวนประชากรจีน 392 ล้านคนในขณะนั้น
Next >>