Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันจันทร์ที่ 12 เมษายน 2542 "


(น. 329) รูป 222 รองผู้ว่าฯ เลี้ยงอำลา
Farewall dinner hosted by Deputy Governor of Shaoxing.

(น. 329) ค่ำนี้รองผู้ว่าฯ เย่ว์เลี้ยงส่งที่เรือนรับรองซีหู มาดามเย่ว์ “สอบ” ทุกคนว่ามีความคิดเห็นเรื่องหังโจวอย่างไร และเล่าว่าที่นี่มีความสำคัญหลายอย่าง เกาะดอกท้อในเรื่องมังกรหยกก็ไม่ไกลจากที่นี่นัก คิสซินเจอร์กับนิกสันก็มาที่นี่ ตอนนี้มีผู้มาลงทุนมาก มาดามไปที่เมืองไทยเห็นมีนิคมอุตสาหกรรม กลับมาก็เลยผลักดันให้ที่นี่มีบ้าง แสดงว่าการออกไปศึกษาจากต่างประเทศมีประโยชน์ ตอนนี้พยายามปรับปรุงการตลาด ผลิตของให้มีคุณภาพ บริการส่งให้ถึงลูกค้า สร้างความสัมพันธ์กับมณฑลอื่น เช่น นำถ่านหินจากมณฑลส่านซี ใบยาสูบจากมณฑลยูนนาน มณฑลเจ้อเจียงผลิตชิ้นส่วนของรถยนต์ป้อนโรงงานผลิตรถยนต์ในมณฑลหูเป่ย จี๋หลินและมหานครเซี่ยงไฮ้ การติดต่อเช่นนี้กับต่างประเทศก็ทำได้เหมือนกัน เช่น สัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในการผลิตโทรศัพท์มือถือโมโตโรลา มณฑลนี้ทรัพยากรมีไม่มากนัก ต้องรับจากมณฑลอื่น ต้องวางแผนการลงทุนในที่อื่น เช่น เมื่อที่เซี่ยงไฮ้เปิดเขตอุตสาหกรรมผู่ตง บริษัทในมณฑลเจ้อเจียงก็ไปลงทุนทำกิจการที่นั่นด้วย

(น. 330) วันนี้พวกที่นั่งรับประทานอาหารด้วยกันก็เป็นพวกหน้าเดิม ท่านรองผู้ว่าฯ สอนภาษาจีนข้าพเจ้าอีกคือสำนวนที่ว่า เหล่าซานเพียน แปลว่า 3 บทเก่า หรือ 3 หน้าเดิม หรือ อย่างเก่าซ้ำๆ ซากๆ เป็นศัพท์สมัยปฏิวัติวัฒนธรรมที่ทุกคนต้องท่องสรรนิพนธ์ท่านประธานเหมาเจ๋อตงให้ได้สามบท ท่องซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น จากโรงแรมไปที่ร้านมิตรภาพ มีของขายหลายอย่าง แต่ว่าแพงกว่าข้างนอก หรือเขาจะบวกค่าล่วงเวลาก็ไม่ทราบ มีของตั้งแต่หมูแฮม ชา เก๊กฮวย ลูกเกดซินเกียง ว่าว หนังสือ ยาจีน ผ้า เครื่องเขียน และอื่นๆ ข้าพเจ้ามาเยือนเจียงหนานเพียง 7 วัน ได้ไปชมเมืองหนานจิง หยังโจว เจิ้นเจียง ซูโจว หังโจว และเซ่าซิง ในช่วงสั้นๆนี้ไปเยือนถึง 6 เมือง จึงมิได้ชมถ้วนทั่ว จักรพรรดิเฉียนหลงยังต้องเยือนถึง 6 ครั้งเพื่อชมเจียงหนาน แม้ข้าพเจ้าจะมาเพียงช่วงสั้นๆ แต่ก็พอจะเข้าใจแล้วว่า เจียงหนานแสนงาม งามอะไร อารยธรรมจีนมีจุดกำเนิดที่ลุ่มแม่น้ำหวงเหอหรือฮวงโห พื้นที่ของอารยธรรมเมื่อแรกเริ่มอยู่แถบมณฑลซานซี (ภาษาไทย-ชานสี) ซานตง (ชานตุง) และเหอหนาน (โฮนาน) ในสมัยชุนชิว-จั้นกั๋ว แคว้นต่างๆ ที่อยู่ในเจียงหนาน เช่น แคว้นอู๋ แคว้นเย่ว์ ยังมีความเจริญน้อยกว่าแคว้นต่างๆ ที่อยู่ในจุดเกิดอารยธรรม อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในเจียงหนาน 2 ช่วง คือสมัยราชวงศ์เหนือใต้ และสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ใน ค.ศ. 317 ราชวงศ์จิ้นได้หนีการรุกรานของพวกอนารยชนมาตั้งมั่นทางภาคใต้ ตั้งเมืองหลวงที่หนานจิง เรียกกันว่า

(น. 331) ราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317 – 420) ส่วนทางเหนือนั้นพวกอนารยชน 5 เผ่า (สงหนู เจี๋ย เซียนเปย ตี และเชียง) ได้ตั้งแคว้นต่างๆ ขึ้นในช่วง ค.ศ. 304 – 439 มีอยู่ 16 แคว้น เรียกกันว่า 16 แคว้นของชน 5 เผ่า ใน 16 แคว้นนี้สันนิษฐานว่ามีอยู่ 3 แคว้นที่ชาวจีนเป็นผู้ก่อตั้ง นอกจากนี้ในช่วง ค.ศ. 386 – 581 ทางภาคเหนือยังมีราชวงศ์ต่างๆ อยู่ 5 ราชวงศ์ ดังนั้นในช่วง 260 กว่าปี (ค.ศ. 317 – 581) นับตั้งแต่ราชวงศ์จิ้นอพยพลงไปใต้ ประวัติศาสตร์ของภาคเหนือจึงเป็นเรื่องของ 5 ราชวงศ์ 16 แคว้น เรียกรวมๆ กันว่า ราชวงศ์เหนือ (เป่ยเฉา) ช่วงที่ราชวงศ์จิ้นมาอยู่ทางใต้นั้นได้นำวัฒนธรรมจีนในภาคเหนือลงมาด้วย ดินแดนเจียงหนานซึ่งได้สร้างความเจริญด้านวัฒนธรรมของตนเองมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ จึงได้รับวัฒนธรรมจาดจุดก่อเกิดพัฒนาให้งอกเงยยิ่งๆ ขึ้น ต่อจากราชวงศ์จิ้นตะวันออก มีราชวงศ์ต่างๆ สืบต่อมาจนถึง ค.ศ. 589 อีก 4 ราชวงศ์ เรียกรวมกันว่า ราชวงศ์ใต้ (หนานเฉา) ประวัติศาสตร์จีนในช่วง ค.ศ. 317 – 589 จึงเรียกกันว่า สมัยราชวงศ์เหนือใต้ (หนานเป่ยเฉา) เป็นช่วงแห่งการแตกแยกทางการเมือง มารวมประเทศได้อีกครั้งหนึ่งในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618) ต่อด้วยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) แม้การเมืองในสมัยนี้จะแตกแยกกันอยู่ 200 กว่าปี แต่วัฒนธรรมรุ่งเรือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนาและพุทธศิลป์ อีกช่วงหนึ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญในเจียงหนานคือ สมัยราชวงศ์ซ่งอพยพลงมาอยู่ทางใต้ มาตั้งเมืองหลวงที่หังโจว ผู้คนทั้งชาวบ้าน ปัญญาชน พ่อค้า ขุนนาง และวัฒนธรรม

(น. 332) ความเจริญในสมัยราชวงศ์สุย ถัง และซ่งเหนือได้เคลื่อนลงมาด้วย มาเพิ่มความเจริญยิ่งๆ ขึ้นแก่เจียงหนานซึ่งเจริญอยู่แล้วให้โดดเด่นทางวัฒนธรรม ณ ที่นี้ พวกปัญญาชนได้มาชุมนุมกัน และยังเป็นศูนย์รวมของห้องสมุดส่วนตัวที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า นับแต่สมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา เจียงหนานมีผู้สอบได้เป็นจิ้นซื่อมากกว่าภาคอื่นๆ ดินแดนเจียงหนานได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมของตนมาแต่โบราณ และได้พัฒนาให้งอกเงยสืบต่อมาไม่ขาดสาย และเมื่อประกอบกันเข้ากับสภาพภูมิศาสตร์ที่อุดม ทิวทัศน์ที่งดงาม จึงเป็น เจียงหนานเห่า หรือเจียงหนานแสนงาม งามตั้งแต่ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ ภูเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ วัด เจดีย์ แหล่งโบราณคดี สวนสวย แพรไหมงาม ศิลปะน่ายล หัตถกรรมงามล้ำ การแสดงหลากหลาย ดนตรีไพเราะ ชาดีหลายชนิด อาหารอร่อย เศรษฐกิจดี และอื่นๆ อีกหลายอย่าง เจียงหนานมีทิวทัศน์งดงาม อากาศดี ดนตรีไพเราะ กวีมาเยือนกันมาก จึงมีบทกวีหลากเรื่องหลายรสหลายอารมณ์ เพิ่มสีสันภูมิปัญญาและสุนทรีย์แก่เจียงหนาน เจียงหนานแสนงามจึงเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันทั่วไป