<< Back
เจียงหนานแสนงาม คำนำ
เจียงหนานแสนงาม
ทิวทัศน์เก่าที่คุ้นเคย
แดดออก บุปผาริมนทีแดงกว่าเพลิง
ชุนเทียนย่างมา น้ำนทีเขียวดุจคราม
ไม่คิดถึงเจียงหนานได้อย่างไร
ไป๋จวีอี้ (ค.ศ. 772 - ค.ศ. 846) กวีเอกและขุนนางในสมัยราชวงศ์ถังเป็นผู้แต่งร้อยกรองบทนี้ นักวรรณดคีกล่าวว่า บทกวีนี้ใช้ภาษาเรียบง่าย ไพเราะ ฟังสบาย ใช้อักษรเพียง 27 ตัวก็บรรยายภาพฤดูใบไม้ผลิที่เจียงหนานได้อย่างดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างภาพตัดกันในบาทที่ 3 และ 4 นั้นทำได้ดีมาก ใน ค.ศ. 822 ไป๋จวีอี้มารับราชการอยู่ที่เจียงหนาน 3 ปี
ไป๋จวีอี้ประทับใจธรรมชาติที่งดงามและวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองของเจียงหนาน สิ่งเหล่านี้อยู่ในความทรงจำจึงได้แต่งบทกวีเกี่ยวกับเจียงหนานไว้หลายบท
คำว่า เจียงหนาน หมายถึงพื้นที่ใดในประเทศจีน คงตอบให้แน่นอนได้ยาก ขึ้นอยู่กับความรับรู้ในแต่ละสมัยที่มีความต่างกันไปบ้าง ถามเจ้าหน้าที่ชาวจีนที่มาต้อนรับครั้งนี้
เขาบอกว่าหมายถึง ภาคใต้ของมณฑลเจียงซูและภาคเหนือของมณฑลเจ้อเจียง พื้นที่แถวนี้มีธรรมชาติงดงาม มีทะเลสาบ มีคลื่นทะเลอันเลื่องชื่อ (คลื่นทะเลเฉียนถัง)
มีแน่น้ำฉังเจียง (แยงซีเกียง) ที่แต้มสีสันแก่ชีวิตรวมทั้งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองกลับมาเปิดพจนานุกรมขนดใหญ่ดูหลายเล่ม ก็ให้นิยามคำว่า เจียงหนาน ต่างกันบ้างเป็น 3 กลุ่มดังนี้
1. หมายถึง มณฑลเจ้อเจียง และภาคใต้ของมณฑลเจียงซู
2. หมายถึง ภาคใต้ของมณฑลอานฮุย ภาคใต้ของมณฑลเจียงซู และภาคเหนือของมณฑลเจ้อเจียง
3. หมายถึง ภาคใต้ของมณฑลอานฮุย ภาคใต้ของมณฑลเจียงซู และมณฑลเจ้อเจียง
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 กลุ่มกล่าวตรงกันว่า หมายถึง ภาคใต้ของมณฑลเจียงซู ส่วนมณฑลเจ้อเจียงนั้นมีทั้งที่จำกัดเขตเฉพาะภาคเหนือ และที่คลุมพื้นที่ไปทั่ว และมีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รวมพื้นที่ภาคใต้ของมณฑลอานฮุยไว้ในเจียงหนาน
คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า เจียงหนาน หรือที่ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า กังนั้ม และภาษาไทยออกเสียงเคลื่อนไปว่า กังหนำ เพราะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับจักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จประพาสเจียงหนานมาฉายหลายเรื่อง
ภายยนตร์จีนกำลังภายในที่ฉายกันทางโทรทัศน์ก็มีอยู่หลายเรื่องที่กล่าวถึงเจียงหนาน เรื่อง มังกรหยก ของกิมย้งก็เอาเจียงหนานมาเป็นฉากส่วนหนึ่งของเรื่อง มีผู้กล้าหาญทั้งเจ็ดแห่งกังหนำ
อาจารย์ของก๊วยเจ๋งเป็นตัวละครในเรื่องด้วย เพลงในภาพยนตร์เรื่อง จอมใจจักรพรรดิ หรือ เจียงซานเหม่ยเหริน ก็ร้องบรรยายถึงเจียงหนานเช่นกัน จนคำว่า เจียงหนานเห่า หรือ เจียงหนานแสนงาม เป็นวลีที่ชาวจีนพูดกันติดปาก
เจียงหนาน ที่กล่าวถึงในบทกวีของไป๋จวีอี้และที่ข้าพเจ้าไปท่องมานั้นอยู่ในพื้นที่ของมณฑลเจียงซูและมณฑลเจ้อเจียง ข้าพเจ้าไปเยือนจีนครั้งนี้ 13 วัน อยู่ที่ปักกิ่ง 4 วัน (2-5 เมษายน 2542) เจียงหนาน 7 วัน
(6-12 เมษายน) และคุนหมิง 2 วัน (13-14 เมษายน) เมื่อกลับมาแล้ว ได้เขียนเรื่องที่ได้พบเห็น ได้ยินมา รวมทั้งที่ได้ตรวจสอบข้อมูลและค้นคว้าเพิ่มเติมเท่าที่จะหาได้มาเล่าให้ผู้อ่านฟัง
จะได้ไปท่องโลกกว้างแสวงหาปัญญาร่วมกัน ไปท่องแดนเจียงหนานแสนงามว่า งามอะไร งามอย่างไร จนมีบทกวีมากมายของกวีหลายคนเขียนพรรณนาถึงเจียงหนาน
เช่นเดียวกับครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา การถ่ายถอดเสียงภาษาจีนเป็นภาษาไทยนั้น เสียงที่ไม่มีในภาษาไทยดูจะถ่ายถอดได้ยากและที่ถ่ายถอดกันก็ยังลักลั่นกันอยู่มาก นอกจากนั้นชาวจีนที่มาต้อนรับก็พูดภาษาจีนกลางตามสำเนียงท้องถิ่นของแต่ละคน
ทำให้มีปัญหาในการเขียนเสียงอ่านเป็นภาษาไทยอยู่บ้าง ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบและเขียนตามเสียงอ่านของภาษาจีนกลางที่ทางการจีนได้จัดทำไว้ ครั้งนี้ข้าพเจ้าได้ใช้เกณฑ์การถ่ายถอดเสียงภาษาจีนกลางที่คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารจีน
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำไว้เป็นหลัก แต่ก็มิได้ใช้ทั้งหมด เพราะบางเสียงนั้นข้าพเจ้าเห็นว่า หากถอดเสียงโดยอิงกับการเทียบเสียงทางภาษาศาสตร์ จะยิ่งทำให้อ่านกันไม่รู้เรื่อง ส่วนชื่อสถานที่ เมือง และบุคคล
ที่คนไทยคุ้นเคยดีกับเสียงเดิม ข้าพเจ้าก็จะเขียนตามที่ได้ใช้กันมาแพร่หลาย มีบางเสียงได้เขียนเสียงที่ถูกต้องกำกับไว้ให้เมื่อกล่าวถึงในครั้งแรก ๆ
เรื่องการถ่ายถอดเสียงภาษาจีนเป็นภาษาไทยนั้น นักวิชาการด้านจีนคดีศึกษาในประเทศไทยน่าจะได้ช่วยกันพิจารณาว่าหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารภาษาจีน จัดทำขึ้น มีความเหมาะสมหรือไม่
ควรแก้ไขเสียงใด แล้วจัดทำเป็นเกณฑ์กลาง เพื่อให้การถ่ายถอดเสียงมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ลักลั่น สื่อความได้แจ่มชัด อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าด้านจีนคดีศึกษาในประเทศไทย