<< Back
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2537
(น.1) รูป
(น.2) รูป
(น.3) รูป
(น.3) วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2537
เมื่อวันก่อนอาจารย์ธิดาและท่านทูตเล่าถึงเมืองฮาร์บินว่ามีในเรื่อง “ปักกิ่งนครแห่งความหลัง” ของสด กูรมะโรหิต ตอนที่นางเอกซึ่งเป็นรัสเซียขาวหนีเข้ามา
ผู้หญิงรัสเซียจำนวนมากที่หนีเข้ามาในจีนต้องประกอบอาชีพเป็นโสเภณีหาเลี้ยงชีพ เพราะไม่มีทางทำมาหากินต่อไป
ส่วนบิดานางเอกไม่ต้องการให้ลูกสาวเป็นเช่นนั้นจึงฆ่าตัวตาย ลูกสาวไปบวชชี ท่านทูตว่าหนังสือหลายเล่มที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในระยะเดียวกันก็จะกล่าวถึงความลำบากเช่นนี้
(น.4) รูป 1 พิพิธภัณฑ์เฮยหลงเจียง
(น.4) วันนี้ตื่นเช้าเป็นพิเศษไม่ทราบว่าทำไมเป็นอย่างนั้น รับประทานอาหารเช้า 7.00 น. ตามเคย คุยกันเรื่องเมืองฮาร์บิน ในหนังสือที่ข้าพเจ้าอ่านบอกว่าคำว่า “ฮาร์บิน” เป็นภาษาแมนจู แปลว่าตากแห ส่วนอาจารย์สารสินอ่านมาว่าภาษามองโกลแปลว่าบ่อปลา ใครผิดใครถูกรอคำตอบคืนนี้
ปี ค.ศ. 1896 รัสเซียได้สัมปทานทำทางรถไฟไปวลาดิวอสต๊อก ค.ศ.1905 หลังจากรัสเซียแพ้สงครามญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเข้าควบคุมเส้นทางรถไฟ ถึงปี ค.ศ.1932 ญี่ปุ่นขึ้นอยู่ 13 ปี สิ้นสงครามโลก ปี ค.ศ.1945 รัสเซียกลับคืนมา จีนมาเอาคืน ค.ศ.1946
(น.5) รูป 2 พิพิธภัณฑ์เฮยหลงเจียง
(น.5) รายการแรกของวันนี้คือพิพิธภัณฑ์เฮยหลงเจียง พิพิธภัณฑ์นี้มีห้องเกี่ยวกับวัฒนธรรม 8 ห้อง แต่เขาพาชมแบบสายฟ้าแลบ คุณขลุ่ยก็พอกัน
แปลสายฟ้าแลบเราก็เลยแยกห้องไม่ถูก เอาเป็นว่าเริ่มเหมือนที่อื่น คือร่องรอยมนุษย์ดึกดำบรรพ์ มีพวกเครื่องมือหิน วัฒนธรรมสวยเถียน ของที่ร่วมสมัยมีกรามสุนัขป่า
กรามช้างแมมมอธ ตัวหลิงหยาง (ฝรั่งว่า antelope) สมัยหินใหม่ขุดพบหลายที่ ที่ลุ่มแม่น้ำซงฮัวเจียงและเนิ่นเจียงมีวัฒนธรรมอั๋งอั๋งซี อาวุธทำเป็นรูปใบกุ้ย เครื่องมือไถนา เครื่องปั้นดินเผา เครื่องปั้นเป็นภาชนะ 3 ขา เครื่องปั้นเลียนแบบหนังสัตว์ แท่นบูชาดินเผา
(น.6) รูป 3 เครื่องปั้นดินเผา
(น.6) อาณาจักรโป๋ไห่ พบที่ปาเป่าหลิว เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองทางตะวันออก มีหีบเหล็กสำหรับใส่กระดูก พบที่อำเภอหนิงอัน สมัยนั้นตรงกับราชวงศ์ถังซึ่งกำลังรุ่งเรือง
โอรสของกษัตริย์แห่งอาณาจักรโป๋ไห่ก็ได้ไปศึกษาที่ฉางอาน มีบทกวีบทหนึ่งกล่าวถึงการส่งโอรสอาณาจักรโป๋ไห่กลับประเทศ มีอิทธิพลทางพุทธศาสนาอยู่มาก เช่น ที่อำเภอหนิงอัน พบพระพุทธรูปกาไหล่ทอง
(น.7) รูป 4 เสื้อผ้าหนังสัตว์
(น.7) การพัฒนาเศรษฐกิจสมัยราชวงศ์เหลียวและจิน ของที่ตั้งแสดงมีหัวเข็มขัด เครื่องปั้น หินฝนหมึก เครื่องถ้วยมีเคลือบทองแดงทำเป็นตราประทับสมัยราชวงศ์จิน
(เขียนเป็นภาษาฮั่น) ส่วนประกอบอาคารพบที่เมืองอาเฉิง เครื่องเหล็กเป็นรูปโกลนม้า หัวเข็มขัด แท่งเงินใช้ทับของ ในสมัยจินได้พบสุสาน มีศพชายหญิงอยู่คู่กัน
เขาถ่ายรูปติดไว้ให้ดูด้วย ศพตายแห้งเหมือนมัมมี่ เสื้อผ้ายังดีอยู่ อายุราว 800 ปี พบที่อำเภออาเฉิง
เครื่องเหล็กราชวงศ์จิน คันฉ่องทองแดง พบที่อำเภออู่ฉาง
(น.8) รูป 5 ธงของพวก 8 กองธง
(น.8) ของสมัยราชวงศ์หยวน หมิง และชิง พบแถวๆ อำเภออู่ฉางและเมืองฮาร์บิน ที่แสดงไว้สมัยหมิง มีตราคันฉ่องสำริดจารึกคำสิริมงคลต่างๆ เช่น ให้พ่อ-ลูกเป็นอัครเสนาบดี
(เป็นเจ้าเป็นนายทั้งพ่อทั้งลูก) ให้สอบได้เป็นจอหงวน พวกเครื่องลายคราม (Blue & White) ลายก็เป็นลายสิริมงคล เช่น มังกรคู่ ปลาคู่ พบที่อำเภออี้หลาน
(น.9) รูป 6 เครื่องแบบทหาร
(น.9) สมัยราชวงศ์ชิง พวกหนู่เจิน พวก 8 ธง มีแผนที่แบ่งเขตการปกครอง ของที่ขุนพลส่งไปจิ้มก้องจักรพรรดิ (คำว่า จิ้มก้อง ที่คนไทยชอบพูดมาจากคำว่า จิ้นก้ง ในภาษาจีน) คือ
ตัวเตียว ตัวเตียวชนิดนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sable ใบอาญาสิทธิ์ของพระเจ้าหวงไท่จี๋ หมากรุกมองโกล มีตัวหมากรุกเล็กๆ ทาสี เสื้อผ้าหนังมองโกล รองเท้ามองโกล
(ตอนที่ข้าพเจ้าไปมองโกเลียเขาให้รองเท้าแบบนี้) เสื้อคนเผ่าเอ้อหลุนชุน เป้หนังสัตว์ปักลาย ถุงมือชนิดไม่แยกนิ้ว ที่นี่อธิบายเอ้อหลุนชุนเป็นมองโกลเผ่าหนึ่ง
เปลเด็กซึ่งห้อยติดกับม้าได้ ปืนสมัยราชวงศ์ชิง มีชื่อแปลว่า ขุนศึกเก่งกล้า ไม่มีใครรู้ว่าทำไมชื่อเช่นนั้น พบที่เมืองฉีฉีฮาเอ่อร์ สร้างปี ค.ศ.1685 เขาว่าปืนกระบอกนี้เคยยิงรัสเซีย อีกปีกของตึกเป็น
(น.10) รูป 7 ปืนโบราณที่เคยยิงรัสเซีย
(น.10)พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มีสัตว์ต่างๆ ให้ดูมาก ไดโนเสาร์ (จีนเรียกข่งหลง) พันธุ์นี้ชื่อ Manchurosaurus amurensis เรียกว่าไดโนเสาร์ปากเป็ด พบในแม่น้ำเฮยหลงเจียง
ในมณฑลเฮยหลงเจียง แรดโบราณอายุราว 10,000 ปี สมัย Quaternary พบปี ค.ศ.1956 ช้างแมมมอธ สมัย Quaternary 21,200 บวก-ลบ 600 ปีมาแล้ว พบในปี ค.ศ. 1973 ชื่อวิทยาศาสตร์ Mammuthis sungari ดูสูงกว่าช้างธรรมดาที่เคยเห็น
(น.11) รูป 8 ปืนโบราณที่เคยยิงรัสเซีย
รูป 9 แผนกสัตว์
Next >>