Please wait...

<< Back

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 5 ภาคผนวก ง


(น.38) รูป

(น.38) บัญชาการรบในยามสงครามแล้ว ในยามปกติจะทำหน้าที่คุมทะเบียนบัญชีกำลังพล ดูแลการผลิต ฝึกหัดทหาร และอบรมให้การศึกษา แต่ในระยะหลังบทบาทด้านการทหารของระบบปาฉีจะเด่นเหนือบทบาทอื่น ๆ และกองทัพปาฉีเป็นกำลังสำคัญในการก่อร่างสร้างชาติและแผ่ขยายอำนาจของชาวหนี่เจินในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ใน ค.ศ. 1616 พระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อได้อาศัยกองทัพปาฉีรวบรวมชาวหนี่เจินกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ก่อตั้งอาณาจักรโฮ่วจินขึ้น ทรงดำรงตำแหน่งข่านคนแรกของอาณาจักร รัชทายาทของพระองค์ได้พัฒนาอาณาจักรและขยายอิทธิพลสืบต่อมาจนถึง ค.ศ. 1635 พระเจ้าหวงไท่จี๋ (ราชบุตรองค์ที่ 8 ของพระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อ) ได้เปลี่ยนชื่อเผ่าของตน จากชนชาติ “หนี่เจิน” มาเป็น “หม่านโจว” หรือ “แมนจู” ในปีถัดมา (ค.ศ. 1636) ได้เปลี่ยนชื่ออาณาจักรจาก “อาณาจักรโฮ่วจิน” มาเป็น “อาณาจักรชิง” และพระเจ้าหวงไท่จี๋ได้สถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้ มีพระนามว่า พระเจ้าชิงไท่จง


(น.39) รูป

(น.39) พระเจ้าหวงไท่จี๋สวรรคตใน ค.ศ. 1643 ราชบุตรองค์ที่ 9 ได้ครองราชย์สืบต่อมา ทรงพระนามว่า พระเจ้าชิงซื่อจู่ แต่เนื่องจากทรงมีพระชนม์เพียง 6 พรรษา ตัวเอ๋อกุ่น ผู้ทรงเป็นพระปิตุลาจึงได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ใน ค.ศ. 1644 ตัวเอ๋อกุ่นได้อาศัยกองทัพปาฉีทะลวงด่านซานไห่กวานเข้าดินแดนจีน ยึดนครปักกิ่งไว้ได้ และย้ายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตงเป่ย) ถิ่นฐานเดิม มาตั้งมั่นในดินแดนจีนสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้น และเริ่มรัชศกพระเจ้าชิงซื่อจู่ว่า “ซุ่นจื้อ” พระองค์จึงเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “พระเจ้าซุ่นจื้อ” ราชวงศ์ชิงเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน ได้ปกครองจีนระหว่าง ค.ศ. 1644 – 1911

(น.40) หลังจากชาวแมนจูได้ปกครองประเทศจีนแล้ว ระบบปาฉีได้เน้นหนักในด้านการทหาร รักษาความมั่นคงความสงบเรียบร้อย ราชวงศ์ชิงได้อาศัยระบบปาฉีในการเสริมอำนาจควบคุมปกครองชาวจีน โดยได้รับการเสริมกำลังจากกองทหารลวี่หยิงปิงหรือกองทหารชาวจีนด้วย ส่วนบทบาทในด้านการผลิตนั้นนับวันมีแต่จะลดน้อยลง ในด้านการเป็นองค์กรการปกครองนั้น ระบบปาฉีอยู่ร่วมกับระบบการปกครองโจวเสี้ยว*ของจีนมาจนถึงปลายสมัยราชวงศ์ชิง และได้ก่อให้เกิดคำศัพท์ว่า “ฉีเหริน” คำว่า “ฉีเหริน” เป็นภาษาจีน “ฉี” แปลว่า “ธง” ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ส่วนคำว่า “เหริน” แปลว่า “คน” รวมความแล้วแปลว่า “ชาวธง” เนื่องจากชาวแมนจูถูกควบคุมจัดตั้งภายใต้ระบบกองธงทั้งแปด จึงเรียกชาวแมนจูว่า “ฉีเหริน” หรือ “ชาวธง” เพื่อให้ต่างจากชาวฮั่นหรือชาวจีนที่เรียกกันว่า “หมินเหริน” แปลว่า “ชาวบ้าน” ระบบโจวเสี้ยนเป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคของจีน คำว่า “โจว” พอจะเทียบกับคำภาษาไทยได้ว่า “เมือง” ส่วนคำว่า “เสี้ยน” เทียบได้กับคำว่า “อำเภอ”


(น.41) รูป

(น.41) นอกจากคำว่า “ฉีเหริน” ยังมีคำศัพท์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากระบบปาฉีอีกคำหนึ่งคือ คำว่า “ฉีผาว” “ผาว” แปลว่า “เสื้อคลุมยาว” รวมความแล้ว “ฉีผาว” แ ปลว่า “เสื้อคลุมยาวของชาวแมนจู” ฉีผาวเดิมเป็นเครื่องแต่งกายของชาวแมนจู ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงที่ว่า “กี่เพ้า” ปัจจุบันฉีผาว หรือกี่เพ้าเป็นชุดประจำชาติของสตรีจีนที่ผู้คนทั่วไปรู้จักกันดี เป็นที่น่าสังเกตว่า กองทหารชาวฮั่นที่ประจำอยู่ในเมืองหลวงและตามมณฑลต่าง ๆ แม้จะมิได้ถูกจัดตั้งอยู่ในระบบปาฉี แต่ก็ถูกกำหนดให้ใช้ธงเป็นสัญลักษณ์เช่นกัน กล่าวคือให้ใช้ธงสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ เรียกว่า “ลวี่ฉีปิง” “ลวี่” แปลว่า “สีเขียว” “ปิง” แปลว่า “ทหาร” รวมความแล้ว “ลวี่ฉีปิง” แปลว่า “ทหารธงเขียว” หรือบางครั้งก็เรียกกันว่า “ลวี่หยิงปิง”

(น.42) แปลว่า “ทหารค่ายเขียว” (หยิง แปลว่า ค่าย) ทหารปาฉีและทหารลวี่ฉีเป็นกำลังทหารที่สำคัญของประเทศจีนมาตลอดสมัยราชวงศ์ชิง เรื่องระบบปาฉียังมีเรื่องน่าสนใจที่ควรจะพูดถึงสักเล็กน้อยกล่าวคือในบรรดากองธงทั้ง 8 กองธงนั้น เมื่อมาถึงสมัยพระเจ้าซุ่นจื้อ ใน ค.ศ. 1650 พระองค์ได้กำหนดให้กองธงเหลือง ธงขาว และธงเหลืองขอบแดงขึ้นต่อพระองค์โดยตรง กองธงทั้งสามจึงมีฐานะเป็นทหารรักษาพระองค์และมีบทบาทสำคัญ จึงเรียกกองธงทั้งสามนี้ว่า “ส้างซานฉี” แปลว่า “ธงบนทั้งสาม” (ส้าง = บน, ซาน = สาม) หรือบางครั้งก็เรียกว่า “เน้ยฝู่ซานฉี” แปลว่า “ธงในวังทั้งสาม” (เน้ย = ใน, ฝู่ = วัง) ส่วนที่เหลืออีก 5 กองธงเรียกว่า “เซี่ยอู่ฉี” แปลว่า “ธงล่างทั้งห้า” (เซี่ย = ล่าง, อู่ = ห้า) ธงล่างทั้งห้าอันประกอบด้วยธงแดง ธงน้ำเงิน ธงขาวขอบแดง ธงแดงขอบขาว และธงน้ำเงินขอบแดงนั้น ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งระบบปาฉีในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็อยู่ในความควบคุมบัญชาการของเจ้านายเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่มาตลอด จนถึง ค.ศ. 1729 พระเจ้าหย่งเจิ้งได้ถอนอำนาจการควบคุมบัญชาการมาขึ้นกับพระองค์เองโดยตรง นับเป็นการรวมศูนย์อำนาจการควบคุมบัญชาการกองทหารปาฉีมาอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์โดยตรงทั้งหมด


(น.43) รูป


(น.44) รูป

(น.44) นอกจากนั้น เมื่อราชวงศ์ชิงมาปกครองประเทศจีน ได้รับและปรับเปลี่ยนตนเองเข้ากับวัฒนธรรมจีนแล้ว ก็ได้ปรับชื่อตำแหน่งผู้ควบคุมกำลังพลและเทียบเคียงให้เข้ากับระบบราชการจีน ดังจะเห็นได้ว่าในสมัยพระเจ้าหย่งเจิ้ง เมื่อ ค.ศ. 1723 ได้เปลี่ยนตำแหน่ง “กู้ซานเอ๋อเจิน” เป็น “กู้ซานอ๋างปาง” คำว่า “อ๋างปาง” เป็นภาษาแมนจูแปลว่า “เสนาบดี” คำว่า “หนิวลู่จางจิง” “เจี่ยลาจางจิง” และ “กู้ซานอ๋างปาง” ในสมัยนั้นได้แปลเทียบเป็นภาษาจีนไว้ดังนี้
หนิวลู่จางจิง เทียบเป็น จั๋วหลิ่ง ภาษาจีนแปลว่า “หัวหน้าช่วยนำ”
เจี่ยลาจางจิง เทียบเป็น ชานหลิ่ง ภาษาจีนแปลว่า “หัวหน้าร่วมนำ”


(น.45) รูป

(น.45) กู้ซานอ๋างปาง เทียบเป็น ตูถุ่ง ภาษาจีนแปลว่า “ผู้บัญชาการ” กู้ซานอ่างปางมีผู้ช่วย 2 คน คนแรกภาษาแมนจูเรียกว่า “จั่วเหมยเลอะจางจิง” เทียบเป็น “จั่วฟู่ตูถุ่ง” ภาษาจีนแปลว่า “รองผู้บัญชาการฝ่ายซ้าย” ส่วนคนที่สองภาษาแมนจูเรียกว่า “โย่วเหมยเลอะจางจิง” เทียบเป็น “โยว่ฟู่ตูถุ่ง” ภาษาจีนแปลว่า “รองผู้บัญชาการฝ่ายขวา” เมื่อจีนเผชิญกับการคุกคามของจักรวรรดินิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระบบปาฉีที่ชาวแมนจูนำมาจัดระเบียบสังคมและการปกครองในสังคมจารีตของจีนก็ค่อย ๆ เสื่อมสลายลงและถูกแทนที่ด้วยการปฏิรูปการทหารตามแบบตะวันตกพร้อม ๆ กับการจัดระเบียบสังคมเข้าสู่สมัยใหม่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20