Please wait...

<< Back

" เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2544 "

(น.21) วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2544
เช้านี้วิ่งตอนหกโมงครึ่งเช่นเคย 8:30 น. ไปที่ซีซาน ดู “สวนสาธารณะ” สถานที่สำคัญ (หรือวัด) 8 แห่ง (ปาต้าชู่) ติดกับเซียงซาน อาจารย์จังอิง (สอนภาษาจีน) และอาจารย์ฟู่ (สอนภาษาไทย) ไปด้วย อาจารย์นิออนกับครูฟั่นไม่กล้าไปกลัวเดินไม่ไหว วัดแรกคือ วัดหลิงกวง ข้าพเจ้าเคยไปแล้วเมื่อ ค.ศ.1994 ผู้ดูแลคนปัจจุบันมารับหน้าที่ ค.ศ.1997 เลยไม่เคยพบข้าพเจ้า ไปที่วิหารที่สมเด็จพระสังฆราช (ไทย) ประทานพระพุทธรูป คนจีนนับถือมาก เดินขึ้นบันไดไปลงนอนกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ทุกชั้น ส่วนมากเป็นคนแก่ หรือคนแก่ที่มีเด็กเล็กๆ มาเป็นเพื่อน กราบแบบนี้เมืองไทยไม่มี จากนั้นไปดูเจดีย์แปดเหลี่ยมที่ถูกทหารยิงพังเหลือแต่ฐาน


(น.21) รูป 20 ไปอุทยานปาต้าชู่
Visiting Badachu Park.


(น.22) รูป 21 วัดหลิงกวง
At Lingguang Temple.


(น.23) รูป 22 พระพุทธรูปไทย
Thai Buddha image.


รูป 23 เจดีย์ 8 เหลี่ยม ที่ถูกยิงจนพังเหลือแต่ฐาน
Octagonal stupa shot and destroyed down to the base.


(น.24) รูป 24 พระพุทธรูป 3 องค์ คือพระอมิตาภะ พระศากยมุนี และพระไภษัชยคุรุ
Three Buddha images: Amitaba, Sakyamuni and Bhaisajyaguru.

(น.24) วัดนี้เรียกกันว่าเป็นวัดหมายเลข 2
เดินต่อไปวัดหมายเลข 3 เป็นสำนักชีชื่อ ซันซานอาน (สำนักชีภูเขา 3 ลูก) ในวิหารมีพระ 3 องค์ คือ พระอมิตาภะ พระศากยมุนี และพระไภษัชยคุรุ (ในพระหัตถ์มีเจดีย์ หมายถึงยา)
วัดหมายเลข 4 ชื่อ วัดต้าเปยซื่อ (วัดมหาเมตตา) หรือ เปยย่วน (แหล่งความเมตตา) สิ่งที่เป็นที่สังเกตของวัดนี้คือ ต้นแป๊ะก๊วย 2 ต้น เป็นต้นตัวผู้ต้นตัวเมียคู่กัน ผู้ที่มาจะเขียนความปรารถนาไว้ที่ต้นไม้นี้ ในวิหารมีเจ้าแม่กวนอิม ว่ากันว่าผู้หญิงนับถือกวนอิมมากกว่าผู้ชาย


(น.25) รูป 25 เขียนคำอธิษฐานที่วัดต้าเปยซื่อ
Writing down my wish at Debeisi Temple.


(น.26) รูป 26 แขวนคำอธิษฐานไว้ที่ต้นไม้
and hanging it on the tree.

(น.26) อาจารย์ฟู่พูดเรื่องพระว่า พระจีนต้องฉันเจ แต่พระไทยไม่ต้องฉันเจ เห็นจะเป็นเพราะวัดจีนมักอยู่ตามภูเขาที่ไกลคมนาคม ต้องทำกับข้าวเอง ทำเจก็ได้ ส่วนพระไทยธรรมเนียมต้องให้ชาวบ้านเลี้ยง ฉะนั้นชาวบ้านทำอะไรถวายก็ต้องฉันอย่างนั้น
วัดที่ 5 เป็นสำนักชีเช่นเดียวกันชื่อ วัดหลงเฉวียน (น้ำพุมังกร) มีป้ายอธิบายว่าสถานที่นี้งามที่สุดในฤดู ชิวเทียน คือ ฤดูใบไม้ร่วง ผู้คนจะพากันมาชมใบไม้สีแดง ฟังเสียงน้ำพุ จิบน้ำชา น้ำชาที่นี่ใช้น้ำพุชง ถือว่ารสดีมาก คนทางปักกิ่งนิยมชามะลิ ก่อนกลับผู้ดูแลให้พวกเราดื่มน้ำชาและเชิญให้เขียนตัวอักษร พูดกันว่าเช้านี้ได้ประโยชน์หลายอย่าง คือ ได้เดินออกกำลังกาย ได้ศึกษาเรื่องวัดต่างๆ ได้ศึกษาภาษาจีนทั้งฟังคำอธิบายและป้ายอธิบาย ถ้าไม่เข้าใจก็ถามเป็นการหัดพูด ได้ฝึกเขียนอักษรจีน และได้ดื่มน้ำชา


(น.27) รูป 27 เจ้าแม่กวนอิมในวิหาร
Guanyin image in the shrine.

(น.27) กลับมาที่หอพัก ร้านอาหารเอาอาหารมาส่งเลยรับประทานกับจี้ และแถมด้วยอาหารทำเองคือ ไก่ทอดกระเทียมพริกไทย (กว่าจะกลับคงเป็นแม่ครัวหัวป่าก์ไปแล้ว) ของหวานมีไอศกรีม BUDS ภาษาจีนเรียกว่า ปาสี่ คือมงคล 8 เป็นการเขียนตามเสียง แต่ความหมายดี เขาว่าจีนไม่มีมงคล 8 มีแต่มงคลคู่เรียกว่า ซวงสี่ แต่ของไทยมีมงคล 8 นอกจากนั้นรับประทานผลไม้ด้วย ตอนบ่ายทำแบบฝึกหัดจนเสร็จบ่ายสามโมงกว่า บ่ายสี่โมง มาดามเฉียนมากับลูกสาว คุณหวัง ผู้รักษาความปลอดภัยมาด้วย แต่อยู่นอกห้อง ลูกสาวอ่อนกว่าข้าพเจ้า 5 ปี เป็นรองผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาล มาดามดูว่าข้าพเจ้าอยู่อย่างไร สบายดีหรือเปล่า คุยกัน 2 ชั่วโมง พูดแต่ภาษาจีน ไม่พูดภาษาไทยเลย


(น.28) รูป 28 มาดามเฉียนเจิ้งอิงกับลูกสาวมาเยี่ยมที่หอพัก
Visited by Madam Qian Zhengying and her daughter at the dormitory.

(น.28) ตอนค่ำไปรับประทานกับ คุณดอน พี่หนูเล็ก (ภรรยาท่านทูต) เหล่าเติ้ง หงเอี้ยน คุณขลุ่ย อาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง 3-4 ท่าน ได้พูดภาษาจีนอีก ร้านที่ไปเป็นร้านอาหารท่านประธานเหมา อาหารหูหนาน ห้องที่รับประทานชื่อ หวงเสาซาน ตามชื่อบ้านเกิดท่านประธานเหมา ประธานของร้านเคยเป็นเลขานุการของประธานเหมา มีพ่อครัวของประธานเหมาอายุ 92 แล้วยังมีชีวิตอยู่ ร่างกายแข็งแรง มาที่ภัตตาคารนี้ทุกคืน อาหารถูกปากข้าพเจ้ามาก มีรสเผ็ดบ้าง เหล่าเติ้ง หัวหน้าตำรวจซึ่งเป็นคนเสฉวน บอกว่าทางใต้อากาศร้อน ไม่มีตู้เย็นเก็บอาหาร ต้องใส่เครื่องเทศเผ็ดๆ เพื่อรักษาคุณภาพอาหาร อาจารย์ฟู่เล่าเรื่องคำยืมจีนในภาษาไทยว่ามี 800 กว่าคำ เท่าที่วิจัยมาส่วนใหญ่เป็นชื่ออาหาร ส่วนคำพ้องมี 20 กว่าคำ