Please wait...

<< Back

" เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก วันพุธที่ 7 มีนาคม 2544 "


(น.183) รูป 200 ดูห้อง lab
Looking at the laboratory.

(น.183) ทั้งหมีแพนด้าและลิงเป็นสัตว์หายากใกล้จะสูญพันธุ์ (endangered species) โครงการอนุรักษ์ภูมิประเทศชื้นแฉะ (Wetland) อยู่ตอนกลางของลุ่มแม่น้ำฉังเจียงแถบมณฑลหูหนานและมณฑลหูเป่ย บริเวณนั้นเป็นถิ่นกำเนิดของสัตว์ต่างๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนก ภาควิชามีโครงการออกไปเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนในที่ต่างๆ การขยายการทำงานของภาควิชา มีการสร้างอาคารใหม่ๆ เดือนสิงหาคมจะเปิดอีกอาคารหนึ่ง


(น.184) รูป 201 การเพาะเนื้อเยื่อ
Tissue culture.

(น.184) การศึกษาเรื่องโรคข้าว การตัดยีนที่เป็นโรคออก สร้างพันธุ์ดี มีพันธุ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้ปล่อยออกสู่ท้องตลาดเผยแพร่ให้ประชาชน เพราะต้องระมัดระวังมาก ขณะนี้ทดลองในแปลงเล็กๆ ที่มณฑลยูนนาน ทำงานด้านการถอดรหัสพันธุกรรมพืช ทำ DNA sequencing ศึกษาส่วนที่เป็นปัญหาในแต่ละพันธุ์ การทดลองด้านนี้ใช้พืชขนาดเล็กชนิดหนึ่งเรียกว่า Arabidopsis thaliana โตเร็ว เป็นพืชล้มลุก วงจรชีวิตสั้น ทำให้ประหยัดเวลา พืชชนิดนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่มีราคา ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ การปลูกถ่าย tissue การศึกษาพืชด้วยการใช้รังสีช่วงคลื่นแสงที่ต่างกัน พืชแต่ละชนิดมี light signal ต่างกัน

(น.185) การศึกษาเรื่องยาสมุนไพรจีน เช่น เทียนฮวาเฝิ่น เป็นรากของต้นกัวโหลว เอามาหั่นเป็นแว่นๆ แล้วเอามาทำยา เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้กันมาแต่โบราณ ใช้รักษาเชื้อ HIV ได้ ขณะนี้ยังมีผลข้างเคียงคือ ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง กำลังแก้ปัญหา ต้นเทียนหมา (Gastrodia elata) เป็นยาระงับประสาท (Tranquilizer) มีมากที่มณฑลยูนนานและมณฑลเสฉวน มีสรรพคุณบำรุงสมอง แก้ปวดศีรษะ ลงไปชั้นล่างของอาคาร มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องทำห้องใต้ดินเพราะว่าบริเวณนี้เป็นเขตอนุรักษ์ไม่อนุญาตให้สร้างอาคารสูง มีเครื่องมือวิจัย เช่น เครื่องแยก DNA อัตโนมัติ (Biomek 2000) ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ มีห้อง lab ที่ให้นักศึกษามาใช้ศึกษา DNA ยีน ห้อง lab ที่ทำเรื่อง gene transformation ศึกษาพืช Arabidopsis thaliana ซึ่งมียีนที่มีลักษณะซ้ำกัน ใช้ในการศึกษาเรื่องการกลายพันธุ์ได้ เขาศึกษาหน้าที่ของยีนต่างๆ มีการเลี้ยงพืชชนิดนี้ไว้มากมาย ทำ lab ด้าน DNA sequencing lab การเพาะเนื้อเยื่อ ศึกษาเรื่องจีโนมของข้าว ผลิตข้าวพันธุ์ที่มีคุณสมบัติต้านทานโรค เมื่อพืชออกจากห้อง lab แล้วเอาไปปลูกใน greenhouse และนำลงไปแปลงทางภาคใต้ของจีนในภายหลัง ห้อง lab เหล่านี้ควบคุมอุณหภูมิ (22◦c) ควบคุมแสงและควบคุมความชื้น


(น.185) รูป 202 โครงการวิจัยต่างๆ ของภาควิชา
Various Research projects.

(น.186) ยังมีอยู่อีกโครงการคือ การปลูกถ่ายคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจนของพืชตระกูลถั่วไปให้พืชชนิดอื่น จากภาควิชานั่งรถออกไปนอกมหาวิทยาลัย ผ่านมหาวิทยาลัยชิงหัวออกนอกเมือง เห็นรถม้าเยอะแยะ ได้ความว่ารถม้าแล่นได้เฉพาะในชนบทห้ามเข้าปักกิ่ง บางทีมีกฎกำหนดเวลาว่ารถม้าแล่นได้เวลาไหน ไปที่บริษัท China PKU Weiming Biotechgroup มีคุณหลี่ผิงฟาง รองประธานมาต้อนรับ เนื่องจากทศวรรษ 1990 มีการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีทั่วโลก ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีชีวภาพก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของจีน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต้องอาศัยนวัตกรรม ในยุคใหม่นี้ต้องสร้างอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเพื่อเผชิญหน้ากับ “เศรษฐกิจที่อาศัยความรู้” ในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ.1992 ดร.เฉินจังเหลียง และ ดร.จังไอ้หัว จากภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (PKU) ร่วมกันก่อตั้ง PKU


(น.186) รูป 203 ไปบริษัท China PKU Weiming Biotechgroup
Visiting the China PKU Weiming Biotechgroup.

(น.187) Weiming Biotech Inc. ริมทะเลสาบเว่ยหมิงหูในบริเวณมหาวิทยาลัย มีแนวความคิดที่จะนำการวิจัยทางวิชาการมาสู่อุตสาหกรรมด้านไบโอเทค บริษัทเล็กๆ นี้พัฒนาไป 7 ปีกลายเป็นกลุ่มบริษัทพีเคยู เว่ยหมิงไบโอเทค ประกอบด้วยบริษัทไบโอเทคหลายบริษัท กลุ่มบริษัทเน้นการวิจัยพัฒนา นำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ในด้านเภสัชกรรมที่ใช้พันธุวิศวกรรม ยาโบราณ ยาที่ประกอบด้วยสารเคมี เภสัชกรรมที่ใช้วิธีการผลิตทางวิศวเคมี วัคซีน น้ำยาอุปกรณ์สำหรับวินิจฉัยโรค พันธุวิศวกรรมด้านการเกษตร และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เนื่องจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งมีศักยภาพสูงในด้านทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการจัดการและด้านวิทยาศาสตร์ อาจารย์ทั้งสองท่านที่ได้กล่าวมาแล้วได้เริ่มต้นก่อตั้งกลุ่มบริษัทด้วยทุน 400,000 หยวน ร่วมมือขยาย (หรือเป็นเจ้าของ) ตั้งบริษัทต่างๆ ที่ปักกิ่ง เซินเจิ้น เซี่ยเหมิน และในมณฑลซานตง บริษัทลูกที่สำคัญได้แก่ เค่อซิ่ง (Kexing) ที่เซินเจิ้น (ค.ศ.1989) ได้รับเลือกเป็นอุตสาหกรรมตัวอย่างในโครงการ 863 บริษัทเค่อซิ่ง ซานตง ผลิตยาเช่นเดียวกัน บริษัทไบโอเทคที่เซี่ยเหมิน ผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้แก่ พริกหวาน ยาสูบ ไม้ดอก และมะเขือเทศ และผลิตสินค้าอาหารเสริมสุขภาพ โครงการใหม่คือ การสร้าง PKU Biocity เป็นศูนย์กลางของบริษัททำงานด้านการวิจัย พัฒนา และนำผลสู่อุตสาหกรรม ในบริเวณที่มีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจปักกิ่ง (พัฒนาในเวลา ค.ศ.1996-2010) คือที่ที่เราไป คุณหลี่อวดว่าสภาพแวดล้อมดี มีทะเลสาบ มีสวนหย่อมอยู่ตรงกลางตึก (ที่ตั้งชื่ออย่างนี้เพราะปักกิ่งเป็นเมือง)

(น.188) PKU Biovalley อยู่ที่เซินเจิ้น (ที่ตั้งชื่ออย่างนี้เพราะบริษัทตั้งอยู่บริเวณหุบเขาของเซินเจิ้น ทำด้านเภสัชกรรม) Biopark อยู่ที่เซี่ยเหมิน อยู่ในบริเวณสวนพฤกษศาสตร์ ทำด้านพันธุวิศวกรรม ผลิตพวกผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพ และพืชที่ใช้เทคนิคการถ่ายทอดยีน คุณหลี่พาไปดูห้องทำงานของศาสตราจารย์ ดร.เฉินจังเหลียง วันนี้เสียดายที่ท่านติดประชุม เลยไม่ได้เจอกัน


(น.188) รูป 204 งานด้านผลิตยาของบริษัท
Production of medicines.


รูป 205 งานด้านการพัฒนาสินค้าเกษตร ปลูกถ่ายยีน
Development of agricultural products, transgenic projects.


(น.189) รูป 206 รองประธานบริษัทให้เอกสาร
Documents given by Vice Chairman of Weiming.

(น.189) เมื่อกลับหอพัก (รถติดบ้างเพราะเป็นเวลาเลิกงาน) ป้าจันเอาของที่ข้าพเจ้าเก็บไว้ตั้งแต่เมื่อกลางวันมาปรุง รับประทานแล้วนั่งเขียนบันทึกอยู่พี่หนูเล็กพา อึ่ง (ชวลี) อารยา ประพจน์ และซุป (ศุภรัตน์) มา พวกเขาเพิ่งมาจากกรุงเทพฯ อึ่งมาช่วยดูคอมพิวเตอร์บอกให้ใช้อีกเครื่องหนึ่ง ไม่ให้ใช้เครื่องเก่า เอารูปต่างๆ มาจากกรุงเทพฯ หลายอย่าง ให้ซุปดูหนังสือเรียนภาษาจีนจากมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรม แต่ยังไม่ได้ให้ดูบทความต่างๆ ที่เขาจะใช้ในการวิจัย ให้ประพจน์ดูพระไตรปิฎก ประพจน์บอกว่าหยิบมาเปิดก็เจอปรัชญาปารมิตาสูตรพอดี เมื่อโชว์สิ่งต่างๆ หมดแล้ว ทุกคนรวมทั้งป้าจันและจี้กลับสถานทูต พรุ่งนี้จึงจะมารำมวยจีน เขาไปกันแล้วข้าพเจ้าเขียนบันทึก เสร็จแล้วทำการบ้านภาษาจีน รู้สึกหิวเลยกินนม