<< Back
" เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2544 "
(น.205) วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2544
ที่เขียนเรียงความไว้เมื่อคืนนี้ เช้านี้เปิดมาอ่านไม่เป็นภาษาเลย (เขียนตอนง่วงนอน) อึ่งมาจัดการเรื่องคอมพิวเตอร์ใช้ได้แล้ว เขียนเรียงความใหม่ไม่เสร็จ
(น.205) รูป 219 ทดลองใส่เสื้อที่ครูดนตรีให้เมื่อวานนี้
Trying on the dress given yesterday by my music teacher.
(น.206) รูป 220 รำมวยจีน
Practising Taiji.
(น.206) มวยจีนวันนี้เพิ่มท่ากางพัด ครูบอกว่าวันจันทร์ก็เสร็จแล้ว
ขึ้นมาอาบน้ำพยายามแต่งเรียงความให้จบก็ไม่สำเร็จ
ครูจังอิงมา ข้าพเจ้าบอกว่าการบ้านยังไม่เสร็จ บ่ายๆ จึงจะเสร็จครูบอกว่าไม่เป็นไร เพราะครูหวังบอกว่าไม่ต้องเขียนเรียงความตามบทเรียนแล้ว
ควรจะเขียนอะไรๆ ที่จะใช้พูด (เอาจริงแล้ว) ข้าพเจ้าว่าเรียงความก็เขียนเกือบเสร็จแล้วเขียนทุกอย่างก็ได้ ให้ครูดูหนังสือบทกวีที่ครูดนตรีให้
ครูว่า เถาสิงจือ ผู้แต่งเป็นนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงในทศวรรษที่ 1930 ข้างหน้าหนังสือมีประธานเหมา ซ่งชิ่งหลิง ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน
หลี่เผิง หลี่หลานชิง เขียนพู่กันจีนให้ ชื่อหนังสือเล่มนี้ 爱满天下 ไอ้หม่านเทียนเซี่ย แปลว่า ความรักเต็มใต้ฟ้า (แปลว่ารักทุกคนในโลก)
(น.207) แก้การบ้าน แล้วเรียนคำพังเพยก่อน จึงจะอ่านหนังสือ วันนี้เรียนเฉพาะศัพท์ต่างๆ
อาจารย์จังซิ่วหวนมาตกลงเรื่องโปรแกรมต่างๆ อีก
ครูหวังเอาคำถามที่นักศึกษาจะถามบ่ายนี้มาให้ดูว่าตอบได้หรือเปล่า ก็ไม่มีปัญหาอะไร
รับประทานอาหารกลางวัน วันนี้รับประทานข้าวหมดถ้วย ป้าจันทำไก่ผัดตั้งฉ่ายเอาไว้ตามเคย แต่กระทงทองหมดแล้ว ก็เลยรับประทานกับข้าวตัง
ห้องอาหารส่งปลาเปรี้ยวหวานกับแกง (รับประทานไม่หมด) ของหวานมีสตรอเบอรี่ป้าจัน แถมดื่มนม ล้างถ้วยล้างชาม เก็บของ เข้าห้องน้ำใช้เวลานิดเดียว
จะเสียเวลาก็ตอนหาของ ปากกาอยู่ไหน กระดาษวางไว้ไหนลืมไปแล้ว
พอหาของเจอครบถ้วนทำการบ้านต่อจนเสร็จ อ้อยมาเลยใช้ให้ช่วยจัดขนมรับแขกตอนบ่าย
ช่วงบ่ายสองโมงครึ่งอาจารย์จังซิ่วหวน อาจารย์หวัง อาจารย์ฟู่พานักศึกษามา 4 คน ทุกคนรู้ภาษาไทย
1. นายจินหย่ง นักศึกษาปีที่ 3 ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย คณะภาษาตะวันออก
2. นายหวังฮุย นักศึกษาปีที่ 3 ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย คณะภาษาตะวันออก
3. นางสาวหวังเอี้ยน นักศึกษาปีที่ 3 ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย คณะภาษาตะวันออก
4. นางอู๋ชุนเหมย นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ สนใจเรื่องเมืองไทย
(น.208) รูป 221 นักศึกษามาสัมภาษณ์เรื่องวัฒนธรรมไทย
Giving an interview on Thai culture to the students.
(น.208) นักศึกษาทุกคนรู้ภาษาไทย แต่วันนี้เขามาช่วยเป็นครูสอนภาษาจีนให้ข้าพเจ้า วันนี้ที่เขาพูดมาข้าพเจ้าตอบได้หมด ข้าพเจ้าเอาขนมไทยมาเลี้ยงด้วย
พวกเด็กๆ ไม่ค่อยได้รับประทาน แต่ช่างภาพกระทรวงศึกษาที่มาถ่ายรูปข้าพเจ้า วางกล้องแล้วมาชิมขนม พอหมดชั่วโมง (เวลา 4 โมง) ข้าพเจ้าถ่ายรูปกับอาจารย์และนักเรียน แล้วแถมขนมกับหนังสือให้ด้วย
ไปกันหมดแล้ว ข้าพเจ้ารับประทานอาหารเย็น จันทำราดหน้า ยำหอย มะปราง และสตรอเบอรี่
(น.209) รูป 222 นักศึกษาที่มาสัมภาษณ์และอาจารย์
The interviewers and the professors.
(น.210) รูป 223 เดินเล่นหลังอาหารเย็น
Taking a stroll after dinner.
(น.210) อากาศดีเลยไปเดินเล่นข้างล่าง คนออกไปเดินเล่นกันเยอะ บางคนเล่นดนตรี เดินขึ้นไปบนเกาะอีก อนุสาวรีย์ที่เห็นนั้นเป็นอนุสาวรีย์ที่ระลึกมหาวิทยาลัยปักกิ่งครบรอบ 100 ปี
เรือนเล็กๆ เป็นเรือนของรองอธิการบดี สมัยทศวรรษที่ 1920 (สมัยนั้นเรียก เยี่ยนจิง) ชื่อ Henry Luce มูลนิธิ Luce มาซ่อมให้ มีคนเดินไปเดินมา อ่านภาษาอังกฤษดังๆ บางคนก็นั่งกอดกัน ป้าจันบอกว่าเขาหนาว
(น.211) รูป 224 ต้นไม้เก่าๆ ในเขตมหาวิทยาลัย
An old tree in the compound of the University.
(น.212) กลับขึ้นมาอัครราชทูตสุรพิทย์พาคุณชายดิศนัดดากับท่านผู้หญิงบุตรีมา คุยกันไปพักหนึ่ง อึ่ง อารยา แถม พี่ไก่ (พาสินี) อ้วน (วัลลิยา) ซุป ประพจน์ ครูฟั่นมากันหมด ประพจน์กับครูฟั่นไปซื้อหนังสือ
ประมาณทุ่มหนึ่งเดินไปโรงละครปักกิ่ง มีศาสตราจารย์เจ้าฉุนเชิง รองนายกสภามหาวิทยาลัยปักกิ่งมารับ วันนี้มีการแสดงการร้องเพลงจากภาคตะวันตกของจีน ส่วนมากเป็นเพลงซินเจียง
เสริมด้วยเพลงชิงไห่ เป็นเพลงที่หวังลั่วปิน (ค.ศ.1913-1996) นักแต่งเพลงมีชื่อเสียง เป็นผู้คัดเพลงมาปรับปรุง ซุปบอกว่าอ่านข้อมูลจากอินเตอร์เนต ได้ความว่า หวังลั่วปินอยู่ในวงดุริยางค์ทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์
(กองทัพปาลู่จวิน) ไปปฏิบัติงานทางภาคตะวันตกแถบมณฑลกานซู่ ซินเจียง ชิงไห่ จึงมีความรู้และประทับใจเพลงพื้นบ้านของภาคตะวันตก เป็นนักดนตรีที่เก่ง ประพันธ์เพลงไว้ 100 กว่าเพลง
ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในเพลงพื้นบ้านชิงไห่และซินเจียง เพลงของเขาเป็นที่นิยมของชาวจีนโพ้นทะเลในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก พวกชาวจีนในแผ่นดินใหญ่ก็ชอบเหมือนกัน
วันนี้นักร้องเพลงประสานเสียงและนักร้องเพลงเดี่ยวร้องได้ไพเราะมาก แถมร้องเพลงฝรั่งที่แปลเนื้อร้องเป็นภาษาจีน
พบอาจารย์จัง สอนเขียนตัวหนังสือในโรงละคร ข้าพเจ้าบอกครูว่า มีคนมาขอให้เขียนตัวอักษรมาก
ครูหวังรั่วเจียงว่าจะเตรียมคำถามที่นักข่าวจะสัมภาษณ์
กลับหอพัก เขาไปกันหมดแล้วข้าพเจ้าอาบน้ำ เขียนบันทึก ดูทีวี เห็นวิธีเด็กสมัยนี้เรียนเปียโน (ไฟฟ้า) ต่อคอมพิวเตอร์ เรียนในจอ ครูคนหนึ่งนั่งหน้าจอสอนนักเรียนทั้งชั้น
ทำอะไรไม่ไหวแล้วนอนดีกว่า
(น.213)
รายชื่อผู้ร่วมสัมมนา “วัฒนธรรมและการศึกษาไทย”
9 มีนาคม 2544
1. รองศาสตราจารย์ ฟู่เจิงโหย่ว อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
รองผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
หัวหน้าภาควิชาวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ คณะภาษาตะวันออก
2. นายจินหย่ง นักศึกษาภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย คณะภาษาตะวันออก (ปริญญาตรี)
3. นายหวังฮุย นักศึกษาภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย คณะภาษาตะวันออก (ปริญญาตรี)
4. นางสาวหวังเอี้ยน นักศึกษาภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย คณะภาษาตะวันออก (ปริญญาตรี)
5. นางอู๋ชุนเหมย นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์
(น.214)
การสัมมนา “วัฒนธรรมและการศึกษาไทย”
9 มีนาคม 2544
1. ประเพณีมารยาท
(1) มารยาทในการรับแขก
(2) มารยาท (สิ่งที่ต้องถือต้องระวัง) ในการสังคมกับคนอื่น
2. เทศกาล
(1) เทศกาลประจำชาติไทยมีเทศกาลอะไรบ้าง
(2) กิจการที่สำคัญในวันเทศกาลสงกรานต์มีอะไรบ้าง ชาวไทยฉลองกันอย่างไรบ้าง
(3) ในวันสงกรานต์ทำไมต้องปล่อยนก กองทรายที่วัด และสาดน้ำรดน้ำเพื่ออะไร
3. ศิลปะ
(1) การฟ้อนรำซึ่งเป็นศิลปะประจำชาติมีอะไรบ้าง
(2) รำวงเป็นศิลปะประจำชาติไทยใช่ไหม เหตุใดชาวไทยจึงชอบรำ
(3) เครื่องดนตรีซออู้ไทยกับซอสองสายของจีน พระองค์ท่านชอบอันไหนมากกว่า เหตุใดจึงชอบ
4. อาหาร
(1) ลักษณะของอาหารไทยมีอะไรบ้าง ชาวไทยชอบรสชาติอะไรบ้าง
(2) เหตุใดคนบางท่านไม่ทานเนื้อวัว
5. ศาสนาพุทธ
(1) พระมีฐานะอย่างไรในสังคมไทย
(2) พุทธศาสนามีบทบาทต่อชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของชาวไทยอะไรบ้าง
(3) หนุ่มสาวไทยนับถือพุทธศาสนาโดยทั่วไทยไหม และมีทัศนะต่อศาสนาพุทธอย่างไรบ้าง
(น.215)
6. การศึกษา
(1) วัดมีบทบาทอย่างไรต่อการศึกษาสมัยใหม่
(2) การศึกษาบังคับของไทยกี่ปี ทำทั่วถึงหรือไม่
(3) การเรียนภาษาจีนในไทยเป็นอย่างไรบ้าง คนเรียนมากไหม
(4) พระองค์ท่านเลือกเรียน (ศึกษา) ภาษาจีนด้วยเหตุใด ภาษาจีนเรียนยากไหม ยากตรงไหนบ้าง
(5) ไทยกำลังปฏิรูปอุดมศึกษาอยู่ จะปฏิรูปอย่างไรบ้างทำอย่างไรจะทำให้อุดมศึกษาถึงได้สอดคล้องความต้องการการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ
7. การรักษาวัฒนธรรมประจำชาติ
(1) วัฒนธรรมตะวันตกส่งผลต่อวัฒนธรรมไทยอะไรบ้าง คนไทยมีความเห็นอย่างไรต่อปัญหานี้
(2) เยาวชนไทยนิยมวัฒนธรรมฝรั่งไหม และไทยจะรักษาวัฒนธรรมประจำชาติอย่างไร