Please wait...

<< Back

วัดหย่งฉวน

จากหนังสือ

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 74-89

(น.74) รูป
(น.75) รูป
(น.75) จากตรงนั้นเป็นทางเดิน ทำเป็นทางยาว มีกำแพงสองด้านไม่สูงนัก ทางเดินเป็นหิน มองไม่เห็นวัด จนเข้าไปถึงลานใหญ่ หน้าวิหารพระเมตไตรย ตามทางสลักลายเขียนพู่กันบนหินหลายจุด มีประตูหลายประตู ที่ซุ้มประตูเขียนพู่กันจีน ล้วนเป็นคำที่มีคติ พระที่พาเดินขึ้นไปห่มจีวรสีเหลือง โกนศีรษะแต่มีหนวดยาว บอกว่าเป็นพระนิกายฉานจง (นิกายฌาน) ตามทางเดินถ้าถนนหักมุมมักจัดสวนไว้เป็นระยะๆ ตามสวนมีหินสลักลายพู่กัน เช่น ลายมือจูเต๋อ เขียนว่า หลานฮัวผู่ (สวนกล้วยไม้) เขียนเมื่อ ค.ศ. 1961 ต่อจากนั้นเป็นทางเดินยาว มีเจดีย์พระอรหันต์ 18 องค์เรียงริมทางเดินซ้ายขวา ด้านละ 9 องค์ ตรงองค์ระฆังของเจดีย์ของเจดีย์สลักรูป ตรงด้านเหลี่ยมสลักชื่อพระอรหันต์และชื่อผู้บริจาค เช่น เศรษฐีสิงคโปร์ แซ่ลิ้ม สมาคมพุทธศาสนาแห่งสิงคโปร์
(น.76) ประตูแห่งหนึ่ง ด้านหน้าเขียนข้อความแปลว่า ผู้มีวาสนา (ฮก) มากมายมาที่วัด อีกด้านเขียนว่า หันหัวกลับไปคือฝั่งน้ำ แปลว่า กลับตัวกลับใจก็จะถึงพระโพธิญาณ ประตูก่อนถึงลานใหญ่เขียนว่า เสาหลักทะเลและฟ้า ที่ลานหน้าวัด หน้าผาตรงข้ามกับวิหารแรกเขียนว่า จือเอิน เป้าเอิน แปลว่า กตัญญู กตเวที เขียนคำ “เอิน” ตัวแรกเล็กๆ ตัวหลังเขียนโต พระอธิบายว่า เวลาคนอื่นทำบุญคุณแก่เรา เราต้องตอบแทนคุณให้มาก วัดนี้มีประวัติย้อนไปถึงสมัยปลายราชวงศ์ถัง ค.ศ. 906 มีชื่อเสียงมากในประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(น.76) รูป
(น.77) รูป
(น.77) ที่หน้าวิหารริมบันไดทางขึ้นมีเจดีย์ดินเผาสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ค.ศ. 1082 (รัชศกหยวนเฟิง) ทำเป็นเจดีย์หลายชั้นแบบจีน มีพระพุทธรูปอยู่ในซุ้ม หน้าวิหารมีป้ายชื่อวัดลายพระหัตถ์จักรพรรดิคังซี มีพระราชลัญจกรสลักอยู่บนอักษร วิหารหน้า มีพระเมตไตรยอยู่กลางจตุโลกบาล 2 ข้าง ข้างละ 2 องค์ ด้านหลังพระเมตไตรยหันหน้าไปหาลานใหญ่ของวิหารกลาง มีรูปเหวยถัว (พระสกันทะ หรือพระขันทกุมาร) ประนมมือ เป็นผู้รักษาพระไตรปิฎก สองด้านเป็นหอกลองและหอระฆัง ด้านซ้ายของวิหารกลางเป็นหอกลอง ตีกลองตอนเย็น ด้านขวาเป็นหอระฆัง ตีตอนเช้า เรียกพระมาสวดมนต์ตอนเช้าตอนเย็น
(น.78) รูป
(น.78) วิหารกลาง (ต้าสยงเป่าเตี้ยน) ด้านในมีพระประธานสามองค์เรียงกัน พระที่เป็นผู้อธิบายบอกว่า เป็นพระศากยมุนี 3 ยุค คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่พวกเราคิดว่าน่าจะเป็นพระอมิตาภะ พระศากยมุนี และพระเมตไตรยหรือพระทีปังกรมากกว่า หน้าพระศากยมุนีมีพระกัสสปะ พระอานนท์ รอบพระประธานมีพระอรหันต์ 18 องค์ ด้านหลังพระประธานมีพระรูปพระอมิตาภะ ด้านขวาของพระอมิตาภะ คือ พระผู่เสียน (พระสมันตภัทร) ด้านซ้ายคือ พระอวโลกิเตศวร หน้าพระอวโลกิเตศวร (กวนอิม) มีโต๊ะเครื่องบูชาแบบจีน ทำด้วยไม้ของจีนชนิดหนึ่งเรียกว่า ไม้จีซือ (ไก่เส้น) เขาว่าปัจจุบันหาไม้ชนิดนี้ไม่ได้แล้ว โต๊ะบูชานี้จึงเป็นของล้ำค่าสิ่งหนึ่งในของล้ำค่า 3 สิ่งของวัดนี้
(น.79) รูป
(น.80) ไปที่กุฏิของเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสเชิญนั่ง ในห้องรับแขกฝาผนังห้องติดลายพู่กันจีนเอาไว้เต็ม ทั้งที่เป็นป้ายไม้และกระดาษ เจ้าอาวาสอธิบายลักษณะการก่อสร้างวัดทางภาคใต้ ท่านว่าวัดมี 3 แบบ แบบภาคเหนือมีซุ้มประตูใหญ่ อาคารใหญ่ๆ ไม่ค่อยมีรายละเอียด แบบภาคใต้แถบกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน มีลวดลายละเอียดคล้ายๆ กับศิลปะไทย แบบมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง อานฮุย ใช้สีดำ-สีขาวมาก ท่านเล่าว่าเป็นเจ้าอาวาสมา 10 ปีแล้ว ห้องรับแขกที่เรานั่งอยู่นี้ชื่อซานไหลถัง (三来堂) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นรำลึกถึงเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง สมัยก่อนมีกฎว่าเลือกเจ้าอาวาสใหม่ทุก 3 ปี เจ้าอาวาสรูปนั้นอาวุโสสูง ได้รับเลือกถึง 3 ครั้ง ห้องรับแขกจึงมีชื่อว่า ซานไหลถัง แปลว่า อาคารมา 3 หน ชื่อเดิมเขียนบนป้ายเก่าว่า เสิ้งเจี้ยนถัง เอาไปติดไว้ด้านใน (เสิ้งเจี้ยนถัง แปลว่า อาคารธนูศักดิ์สิทธิ์)
(น.80) รูป
(น.81) รูป
(น.81) สถานที่นี้ขณะที่ยังไม่เป็นวัดเป็นสวนดอกไม้ และมีผู้มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมะ เมื่อเกิดอาณาจักรหมิ่นเยว่ กษัตริย์หมิ่นเยว่มาสร้างวัด เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในไต้หวัน 60% สืบสายจากวัดนี้ ที่มาเลเซียก็มี ในหนังสือประวัติวัดที่มาเลเซียเล่าไว้ว่าวัดเคยมีที่ดินในประเทศไทยด้วย เป็นสวนยาง เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนญี่ปุ่นขึ้น สิทธิในที่ดินหายไป ที่จริงวัดนี้มีที่น่าดูน่าชมอีกมาก เช่น สวนศิลาจารึกลายมือผู้มีชื่อเสียง แต่ต้องเดินไปไกลเวลาไม่พอ หน้ากุฏิเจ้าอาวาสมีต้นปรง 3 ต้น คนจีนเรียกว่า ต้นไม้เหล็ก (เถี่ยซู่) ว่าเป็นต้นตัวผู้หนึ่ง ตัวเมียสอง ต้นตัวผู้เอนตามต้นตัวเมียที่เล็กกว่า จึงว่ากันว่า ต้นนั้นเป็นเมียน้อย ส่วนเมียหลวงพยายามเอนตามต้นตัวผู้ เป็นต้นที่เก่าแก่โบราณมีอายุกว่าพันปี ต้องสร้างเสาซีเมนต์ค้ำไว้ ตามประวัติเล่าว่า ต้นตัวเมียเจ้าอาวาสชื่อ อาจารย์เสินเยี่ยนปลูกไว้ ต่อมาหมิ่นหวัง (กษัตริย์หมิ่น) ปลูกอีกต้น ส่วนต้นตัวผู้ย้ายมาจากที่อื่นเมื่อ ค.ศ. 1972 นี่เอง
(น.82) รูป
(น.82) ต้นปรง (Cycas) ที่นี่เล่ากันว่า เคยออกดอกทุก 60 ปี ปัจจุบันออกทุกปีไม่มีเว้น ถือว่าต้นปรงเป็นของดีมหัศจรรย์สิ่งที่ 2 ของวัด เดินลงมาฝ่าถัง เป็นหอธรรมะ เป็นที่เทศน์ และพระใหม่มารับศีล (บวช?) ภายในมีป้าย 3 ป้าย มีป้ายที่กล่าวถึงพี่น้อง 2 คน ที่มาบริจาคเงินบำรุงวัด คือ ชิงหลง เป็นผู้บัญชาการทหารที่ฝูโจว และชิงเป่า เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดไต้หวัน ซึ่งขึ้นกับมณฑลฝูเจี้ยนในสมัยราชวงศ์ชิง
(น.83) พระพุทธรูปในหอธรรมะ เป็นพระกวนอิมพันมือหยกขาวพม่า ทางเดินไปหอพระไตรปิฎกมีห้องเล็กๆ เป็นหอหมิ่นหวัง มีอุปกรณ์ประกอบการสวดมนต์ เช่น มู่อวี๋ ซึ่งเป็นเครื่องเคาะจังหวะทำด้วยไม้ และกังสดาล ของเก่าที่อาจจะหาดูได้ยากอย่างหนึ่ง คือ ตะเกียงน้ำมันแขวน หอไตรเป็นที่เก็บคัมภีร์สมัยราชวงศ์หมิงและชิงราว 20,000 ฉบับ มีคัมภีร์ที่เขียนด้วยเลือดทั้งหมด 657 ฉบับ เขียนสมัยราชวงศ์ชิง มีบางฉบับใช้เลือดผสมสีแดง บางฉบับเขียนด้วยเลือดล้วนๆ ผู้เขียนเป็นพระภิกษุวัดนี้หลายรูป การใช้เลือดเขียนคัมภีร์ผู้เขียนจะต้องไม่กินเกลือ เลือดจึงจะเป็นสีสดแดง ฉะนั้นเมื่อเขียนไปได้ระยะหนึ่ง ผู้เขียนก็จะตายไป เพราะขาดเกลือเท่ากับเป็นการเขียนด้วยชีวิต แสดงความศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธศาสนา คัมภีร์เหล่านี้จึงถือว่าเป็นของพิเศษอย่างหนึ่งของวัด
(น.83) รูป
(น.84) ที่จริงข้าพเจ้าเคยเห็นคัมภีร์เขียนด้วยเลือดที่วัดอื่นในเมืองจีน แต่มีเพียงฉบับสองฉบับไม่ได้เห็นมีมากมายเหมือนที่นี่ ที่เคยไปดูไกด์อธิบายว่าเป็นการประท้วงการถูกกีดกันทางศาสนา หรือด้วยความไม่พอใจอื่นๆ แต่ที่นี่เป็นด้วยจิตศรัทธา ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือเปล่า ที่เราเรียนพุทธประวัติท่านเล่าว่า พระพุทธองค์ทรงสอนว่าทางไปสู่ความสำเร็จมรรคผลเป็นทางสายกลาง ไม่ใช่การบำรุงบำเรอคนอย่างฟุ้งเฟ้อ หรือการทรมานตนอย่างอุกฤษฏ์ อย่างไรก็ตามยังปรากฏว่า มีผู้ที่นับถือพุทธศาสนาเผาตัวตายหรือใช้เลือดเขียนคัมภีร์ด้วยความศรัทธาหรือเพื่อประท้วง
(น.84) รูป
(น.85) รูป
(น.85) แต่ละคัมภีร์เขียนได้ช้ามาก แต่ละวันเขียนได้ไม่ถึงหน้า ที่เราได้เห็นเป็นคัมภีร์ซึ่งมี 42 บท เป็นคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาจีนคัมภีร์แรก วัดนี้ถึงจะเป็นวัดนิกายฉานจงหรือนิกายฌาน แต่ก็มีสิ่งของและป้ายต่างๆ แสดงว่ามีการนับถือนิกายอื่นด้วยแบบปนๆ กัน



จัดหมวดหมู่สารสนเทศ



วัดหย่งฉวน

วัดนี้ถึงจะเป็นวัดนิกายฉานจงหรือนิกายฌาน แต่ก็มีสิ่งของและป้ายต่างๆ แสดงว่ามีการนับถือนิกายอื่นด้วยแบบปนๆ กัน [1]

ประวัติ

วัดนี้มีประวัติย้อนไปถึงสมัยปลายราชวงศ์ถัง ค.ศ. 906 มีชื่อเสียงมากในประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2] สถานที่นี้ขณะที่ยังไม่เป็นวัดเป็นสวนดอกไม้ และมีผู้มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมะ เมื่อเกิดอาณาจักรหมิ่นเยว่ กษัตริย์หมิ่นเยว่มาสร้างวัด เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในไต้หวัน 60% สืบสายจากวัดนี้ ที่มาเลเซียก็มี ในหนังสือประวัติวัดที่มาเลเซียเล่าไว้ว่าวัดเคยมีที่ดินในประเทศไทยด้วย เป็นสวนยาง เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนญี่ปุ่นขึ้น สิทธิในที่ดินหายไป ที่จริงวัดนี้มีที่น่าดูน่าชมอีกมาก เช่น สวนศิลาจารึกลายมือผู้มีชื่อเสียง แต่ต้องเดินไปไกลเวลาไม่พอ [3]

การเลือกเจ้าอาวาส

ท่านเล่าว่าเป็นเจ้าอาวาสมา 10 ปีแล้ว ห้องรับแขกที่เรานั่งอยู่นี้ชื่อซานไหลถัง (三来堂) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นรำลึกถึงเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง สมัยก่อนมีกฎว่าเลือกเจ้าอาวาสใหม่ทุก 3 ปี เจ้าอาวาสรูปนั้นอาวุโสสูง ได้รับเลือกถึง 3 ครั้ง ห้องรับแขกจึงมีชื่อว่า ซานไหลถัง แปลว่า อาคารมา 3 หน ชื่อเดิมเขียนบนป้ายเก่าว่า เสิ้งเจี้ยนถัง เอาไปติดไว้ด้านใน (เสิ้งเจี้ยนถัง แปลว่า อาคารธนูศักดิ์สิทธิ์)[4]

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด



วิหารหน้า

ที่หน้าวิหารริมบันไดทางขึ้นมีเจดีย์ดินเผาสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ค.ศ. 1082 (รัชศกหยวนเฟิง) ทำเป็นเจดีย์หลายชั้นแบบจีน มีพระพุทธรูปอยู่ในซุ้ม หน้าวิหารมีป้ายชื่อวัดลายพระหัตถ์จักรพรรดิคังซี มีพระราชลัญจกรสลักอยู่บนอักษร วิหารหน้า มีพระเมตไตรยอยู่กลางจตุโลกบาล 2 ข้าง ข้างละ 2 องค์ ด้านหลังพระเมตไตรยหันหน้าไปหาลานใหญ่ของวิหารกลาง มีรูปเหวยถัว (พระสกันทะ หรือพระขันทกุมาร) ประนมมือ เป็นผู้รักษาพระไตรปิฎก สองด้านเป็นหอกลองและหอระฆัง ด้านซ้ายของวิหารกลางเป็นหอกลอง ตีกลองตอนเย็น ด้านขวาเป็นหอระฆัง ตีตอนเช้า เรียกพระมาสวดมนต์ตอนเช้าตอนเย็น[5]

วิหารกลาง

วิหารกลาง (ต้าสยงเป่าเตี้ยน) ด้านในมีพระประธานสามองค์เรียงกัน พระที่เป็นผู้อธิบายบอกว่า เป็นพระศากยมุนี 3 ยุค คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่พวกเราคิดว่าน่าจะเป็นพระอมิตาภะ พระศากยมุนี และพระเมตไตรยหรือพระทีปังกรมากกว่า หน้าพระศากยมุนีมีพระกัสสปะ พระอานนท์ รอบพระประธานมีพระอรหันต์ 18 องค์ ด้านหลังพระประธานมีพระรูปพระอมิตาภะ ด้านขวาของพระอมิตาภะ คือ พระผู่เสียน (พระสมันตภัทร) ด้านซ้ายคือ พระอวโลกิเตศวร หน้าพระอวโลกิเตศวร (กวนอิม) มีโต๊ะเครื่องบูชาแบบจีน ทำด้วยไม้ของจีนชนิดหนึ่งเรียกว่า ไม้จีซือ (ไก่เส้น) เขาว่าปัจจุบันหาไม้ชนิดนี้ไม่ได้แล้ว โต๊ะบูชานี้จึงเป็นของล้ำค่าสิ่งหนึ่งในของล้ำค่า 3 สิ่งของวัดนี้[6]

หอธรรมะ

เดินลงมาฝ่าถัง เป็นหอธรรมะ เป็นที่เทศน์ และพระใหม่มารับศีล (บวช?) ภายในมีป้าย 3 ป้าย มีป้ายที่กล่าวถึงพี่น้อง 2 คน ที่มาบริจาคเงินบำรุงวัด คือ ชิงหลง เป็นผู้บัญชาการทหารที่ฝูโจว และชิงเป่า เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดไต้หวัน ซึ่งขึ้นกับมณฑลฝูเจี้ยนในสมัยราชวงศ์ชิง [7] พระพุทธรูปในหอธรรมะ เป็นพระกวนอิมพันมือหยกขาวพม่า[8]

หอหมิ่นหวัง

ทางเดินไปหอพระไตรปิฎกมีห้องเล็กๆ เป็นหอหมิ่นหวัง มีอุปกรณ์ประกอบการสวดมนต์ เช่น มู่อวี๋ ซึ่งเป็นเครื่องเคาะจังหวะทำด้วยไม้ และกังสดาล ของเก่าที่อาจจะหาดูได้ยากอย่างหนึ่ง คือ ตะเกียงน้ำมันแขวน [9]

หอพระไตรปิฎก

หอไตรเป็นที่เก็บคัมภีร์สมัยราชวงศ์หมิงและชิงราว 20,000 ฉบับ มีคัมภีร์ที่เขียนด้วยเลือดทั้งหมด 657 ฉบับ เขียนสมัยราชวงศ์ชิง มีบางฉบับใช้เลือดผสมสีแดง บางฉบับเขียนด้วยเลือดล้วนๆ ผู้เขียนเป็นพระภิกษุวัดนี้หลายรูป การใช้เลือดเขียนคัมภีร์ผู้เขียนจะต้องไม่กินเกลือ เลือดจึงจะเป็นสีสดแดง ฉะนั้นเมื่อเขียนไปได้ระยะหนึ่ง ผู้เขียนก็จะตายไป เพราะขาดเกลือเท่ากับเป็นการเขียนด้วยชีวิต แสดงความศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธศาสนา คัมภีร์เหล่านี้จึงถือว่าเป็นของพิเศษอย่างหนึ่งของวัด[10]

คัมภีร์เลือด

ที่จริงข้าพเจ้าเคยเห็นคัมภีร์เขียนด้วยเลือดที่วัดอื่นในเมืองจีน แต่มีเพียงฉบับสองฉบับไม่ได้เห็นมีมากมายเหมือนที่นี่ ที่เคยไปดูไกด์อธิบายว่าเป็นการประท้วงการถูกกีดกันทางศาสนา หรือด้วยความไม่พอใจอื่นๆ แต่ที่นี่เป็นด้วยจิตศรัทธา ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือเปล่า ที่เราเรียนพุทธประวัติท่านเล่าว่า พระพุทธองค์ทรงสอนว่าทางไปสู่ความสำเร็จมรรคผลเป็นทางสายกลาง ไม่ใช่การบำรุงบำเรอคนอย่างฟุ้งเฟ้อ หรือการทรมานตนอย่างอุกฤษฏ์ อย่างไรก็ตามยังปรากฏว่า มีผู้ที่นับถือพุทธศาสนาเผาตัวตายหรือใช้เลือดเขียนคัมภีร์ด้วยความศรัทธาหรือเพื่อประท้วง แต่ละคัมภีร์เขียนได้ช้ามาก แต่ละวันเขียนได้ไม่ถึงหน้า ที่เราได้เห็นเป็นคัมภีร์ซึ่งมี 42 บท เป็นคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาจีนคัมภีร์แรก[11]


อ้างอิง

1. เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 74-85
2. เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 74-76
3. เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 81
4. เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 80
5. เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 77
6. เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 78
7. เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 82
8. เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 83
9. เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 83
10. เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 83
11. เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 84,85