Please wait...

<< Back

มหาวิทยาลัยฮ่องกง

จากหนังสือ

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 294,295,296,297,298,299,300,301


(น.294) รูป 233 ไปมหาวิทยาลัยฮ่องกง

(น.294) วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2540
ตื่นขึ้นมานึกว่าเช้าแล้วรีบใหญ่ ที่จริงยังไม่สว่าง เลยนั่งอ่านหนังสือ Newsweek ที่อยู่ในห้อง เปิดทีวี มีประกาศว่า วันนี้โรงเรียนทุกโรงในฮ่องกงปิด ทีวีมีเรื่องโน้นเรื่องนี้หลายอย่างรวมทั้งวิเคราะห์เรื่องค่าเงินบาทลอยตัว 09.00 น. ออกไปมหาวิทยาลัยฮ่องกงเพื่อเปิดโครงการไทยศึกษา วันนี้แทนที่จะไปตามทางที่เคยไป ก็ต้องอ้อมเพราะว่าทางตรงมีต้นไม้ล้มขวางทาง
(น.295) ที่มหาวิทยาลัย ผู้ต้อนรับมี Prof. C.Y. Chung รองอธิการบดี (Vice Chancellor) Prof. Wong Siu-Lun ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษา Dr. Michael Martin รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยฮ่องกง มหาวิทยาลัยฮ่องกงก่อตั้งใน ค.ศ. 1811 เป็นสถาบันการศึกษาที่ดีเด่นในเอเชีย ดร. ซุนยัดเซ็น และMrs. Anson Chan, Chief Secretary ของรัฐบาลฮ่องกงในปัจจุบันก็เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยนี้ ศูนย์เอเชียศึกษา ตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1967 เพื่อเป็นศูนย์รวมวิชาการทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับจีน ฮ่องกง เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เป็นโครงการหนึ่งของศูนย์เอเชียศึกษา มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา ติดตาม และวิเคราะห์พัฒนาการของภูมิภาคนี้ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา การอพยพย้ายถิ่น และการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ขณะนี้แบ่งเป็นโครงการย่อยคือ China-ASEAN Project ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโลกจีน (จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) กับประเทศในกลุ่มอาเซียน กับโครงการศึกษาประเทศในภูมิภาคเป็นรายประเทศ เริ่มจากไทยศึกษาและเวียดนามศึกษา โดยคิดจะเริ่มจากเปิดสอนภาษาไทยและภาษาเวียดนาม แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยและผู้สนใจทั่วไป ทางไทยคิดจะสนับสนุนในด้านการทำห้องสมุดภาษาไทย และจัดหาครูสอนภาษาไทยให้


(น.296) รูป 234 ห้องปฏิบัติการทางภาษา

(น.296) ขึ้นไปที่ห้องปฏิบัติการทางภาษา อยู่ชั้นที่ 6 ตึก เค เค เหลียง แผนกภาษานี้เขาว่ามีคนเรียนประมาณ 1,200 คน เรียนภาษาต่างๆ หลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน อิตาเลียน จีน สวีดิช ญี่ปุ่น เป็นต้น วางแผนจะเปิดภาษาไทยเดือนกันยายน ตอนนี้มีครูที่สอนภาษาไทยได้คนหนึ่ง ในห้องปฏิบัติการ มีเทป คอมพิวเตอร์ เล่นมัลติมีเดีย ผลิตโปรแกรมที่สอนทั้งไวยากรณ์ (เขาว่ายังทำไม่ได้ดีเพราะนักศึกษายังประเมินว่าน่าเบื่อ) ความเข้าใจภาษา และศัพท์ เครื่องถ่ายวิดีโอ ทำเหมือนกับเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้นักศึกษาดูตัวเอง
(น.297) ขณะนี้มีคนนิยมเรียนภาษาจีนเพิ่มมากขึ้น เดินไปที่อาคารใหญ่ ข้างหน้าติดตราของมหาวิทยาลัย มีคำขวัญภาษาละตินเขียนว่า Sapientia et Virtus แปลเป็นไทยว่าความรู้คู่คุณธรรม แวะส่งโพสการ์ดใส่ตู้ไปรษณีย์หน้าตึก เข้าในห้องประชุม มีคนเยอะแยะที่คุ้นเคยหรือคุ้นหน้าก็หลายคน ข้าพเจ้าก็ตรงเข้าไปจะทักทาย รองอธิการบดีบอกว่าประเดี๋ยวก่อน ขอเขากล่าว ทำพิธีอะไรสักเล็กน้อย แล้วเขาก็กล่าวถึงช่วงเวลาที่ฮ่องกงกลับคืนเป็นของจีน ทางมหาวิทยาลัยจึงทำโครงการศึกษาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระยะต้นนี้จะจัดหลักสูตรภาษาไทย หาครูจากเมืองไทยมา ปีการศึกษา 1997-1998 จะรับนักศึกษาได้ประมาณ 40 คน ทางรัฐบาลไทยช่วยในปีแรกคือ


(น.297) รูป 235 สื่อการสอนต่างๆ


(น.298) รูป 236 สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย


รูป 237 แวะส่งไปรษณีย์ในมหาวิทยาลัย

(น.299) ช่วยด้านทุนจัดหาหนังสือ และช่วยหาครู (โครงการ 3 ปี) นอกจากภาษาไทยแล้ว จะสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมและด้านสังคมวิทยาด้วย ทั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความหมายมาก เพราะว่าการที่ฮ่องกงกลับเป็นส่วนหนึ่งของจีนนั้น เพื่อนบ้านและมิตรประเทศของจีนมีบทบาทต่อฮ่องกงมากขึ้น การศึกษาเช่นนี้จะช่วยเป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจกันระหว่างประเทศในเอเชีย ส่วน ดร. มาร์ติน กล่าวเสริมว่าที่ต้องเปิดสอนภาษาไทยก่อนมีอีกเหตุผลหนึ่งคือ ในโครงการสถาบันภาษาของเขายังไม่มีการสอนภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย ในประเทศจีนก็มีไม่กี่มหาวิทยาลัยที่สอนภาษาไทย คือมีที่ปักกิ่ง กวางโจว และยูนนานเท่านั้น กล่าวเสร็จแล้วเขาให้ข้าพเจ้าตัดริบบิ้น บริจาคหนังสือ ต่อไปคิดว่าจะบริจาคเพิ่มขึ้น


(น.299) รูป 238 ตัดริบบิ้นบริจาคหนังสือ

(น.300) มีนักเรียนไทยมาเรียนสถาปัตยกรรมคนหนึ่ง เขาทำโครงการส่งอาจารย์เรื่องการออกแบบการเก็บเรือหลวง หลังจากนั้นเป็นการสังสรรค์ Dr. Kan Lai-bing บรรณารักษ์ของห้องสมุดให้รูปที่เขาถ่ายไว้ตอนที่ข้าพเจ้าไปดูห้องสมุดที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงเมื่อ 3 ปีมาแล้ว ข้าพเจ้าขอบรรณานุกรมหนังสือที่เกี่ยวกับไทยในห้องสมุด เพื่อต่อไปจะได้หาหนังสือที่เขายังไม่มีส่งไปให้ ท่านรองอธิการบดีบอกว่า ถ้ามีนักศึกษาที่อยากส่งมาให้เรียนต่อขั้นปริญญาโทก็ส่งมาได้สัก 2 คน สาขาอะไรก็ได้ แต่ควรจะได้ TOEFL ประมาณ 550 เป็นอย่างน้อย ให้ข้าพเจ้าศึกษาเรื่องมหาวิทยาลัยของเขาใน homepage http://www.hku.hk ท่านรองอธิการท่านนี้ (Dr. Cheng Yiu Chung) เป็นศาสตราจารย์ทางวิศวกรรมไฟฟ้า ผู้อำนวย


(น.300) รูป 239 สังสรรค์ (น.301) การศูนย์เอเชียศึกษา (Prof. Wong Siu-Lun) เป็นนักสังคมวิทยาศึกษาเกี่ยวกับการลงทุน โครงข่ายทางธุรกิจ เครื่องชี้ทางสังคม เรื่องเกี่ยวกีบจีน Dr. Michael Martin ซึ่งเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ภาษา เป็นรองศาสตรจารย์ในภาควิชาปรัชญา สนใจปรัชญาจีนทั้งโบราณและสมัยใหม่ เป็นคนที่ไปมาเมืองไทยตลอดเวลา และเป็นสมาชิกตลอดชีพของสยามสมาคมด้วย มีอาจารย์ท่านหนึ่งศึกษาเรื่องศาสนาอิสลามในตอนกลางของประเทศจีน เป็นอิสลามนิกายหนึ่ง มีลักษณะพิเศษคือ ยกย่องสตรี สตรีมีมัสยิดเอง เป็นอิหม่ามเอง ข้าพเจ้าคิดว่าจะเป็นนิกายที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์ แต่อาจารย์บอกว่าเป็นแบบนี้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 และรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ส่งเสริมดี พบอาจารย์ Wade ที่ศึกษาพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์หมิง อาจารย์อีกท่าน (Dr. Alexei VOLKOV) อยู่ภาควิชาคณิตศาสตร์ คุยให้ฟังเรื่องวิวัฒนาการของคณิตศาสตร์จีน ข้าพเจ้าพูดว่าสนใจ เขาจึงส่งเอกสารมาให้ นอกจากนั้นมีอาจารย์ที่ศึกษาเรื่องลัทธิเต๋า เรื่องศาสนาต่างๆ เรื่องชาวจีนโพ้นทะเล เรื่องเอเชียโดยทั่วไป มีอาจารย์อื่นๆ ที่ไปคุยด้วยไม่ทัน และนักธุรกิจอีกหลายคน ถ้ามีเวลามากกว่านี้คงจะดี