<< Back
ราชวงศ์หมิง
จัดหมวดหมู่สารสนเทศ
หมิง
ราชวงศ์หมิง A.D. 1368-1644 [1]
ศิลปะ
เครื่องถ้วย
มีเครื่องเคลือบชนิดต่างๆ สีขาว ขาวลายน้ำเงิน เหลือง สีประสมม่วงออกแดง บางชิ้นมีตราเขียนไว้ที่ชามบอกปีรัชศกที่ทำ มีเครื่องลายครามจากเตาหลวงที่จิ่งเต๋อเจิ้น เตาราษฎร์ทำอ่างลายคราม สิ่งของสมัยจักรพรรดิเจียจิ้งแห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1522 – ค.ศ. 1566) [2]
มีเครื่องเคลือบเตาเต๋อฮว่า สมัยราชวงศ์หมิง เป็นเครื่องเคลือบสีขาวงาช้างที่มีชื่อเสียงของมณฑลฮกเกี้ยน ที่ทำได้สวยเป็นที่รู้จักคือ รูปเจ้าแม่กวนอิม เครื่องเคลือบสีต่างๆ เครื่องปั้นพบในเรือของเนเธอร์แลนด์ที่จม สีคราม แดง เหลือง เป็นพวกของทำส่งออกที่เรียกว่า Exportware มีเครื่องลายครามจากเรือที่จม มีผู้ซื้อบริจาคให้ [3]
สมัยราชวงศ์หมิงและชิง มีตู้กระจกบอกวิธีทำเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่เริ่มหมักดิน ขึ้นรูป เขียนลวดลาย จนถึงเคลือบและนำเข้าเตาเผา และยังมีแผนที่แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลที่จีนส่งเรือไปค้าขาย[4]
ภาพวาด
ภาพวาดจินซานอยู่กลางน้ำ สมัยราชวงศ์หมิง รัชกาลจักรพรรดิเจียจิ้ง (ค.ศ. 1522 – 1566) ฝีมือเหวินจื่อหมิง หลวงปู่แปลบทกวีที่เขียนเอาไว้ในภาพให้ฟังว่า ได้มาที่วัดจินซานอีกหนหนึ่งเมื่อตอนผมหงอก
สถานที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่สันทรายถูกน้ำท่วมถึง
มองเห็นใบเรือที่ใช้ใบในแม่น้ำฉังเจียง
เห็นอาทิตย์กำลังตกทางทิศตะวันตก
แม่น้ำไม่สามารถกล่าวอธิบายได้
เวลาผ่านไป ชีวิตก็ล่วงไป
คนคิดว่าความกังวลทำให้ผมหงอก
อยากปีนเมฆดูเมืองที่ไกลออกไป
ดูนครหลวงที่ไกลโพ้น
ยืนอยู่ท่ามกลางฤดูใบไม้ผลิ
ชื่นชมทิวทัศน์ ณ ที่นี้
สวรรค์อยู่บนฟ้าสูง ผืนน้ำสีน้ำเงิน
เป็นทิวทัศน์ที่งามสง่า
ประวัติศาสตร์ทางตะวันออกเห็นเป่ยกู้มีเหตุหลายหลากปรากฏ
เรื่องราชวงศ์ภาคใต้ที่โหดร้ายก็ยังเป็นที่กล่าวถึง
กล่าวกันว่ามีสุสานกษัตริย์ที่เจิ้นเจียงนี้ แต่ไม่น่าเชื่อ
มองจากที่นี่เห็นวิญญาณร่ายรำในสายน้ำ
หวังว่าในอนาคตจะได้เป่าขลุ่ยในแสงจันทร์
ระหว่างฤดูใบไม้ผลิจะได้ล่องเรือข้ามแม่น้ำกลับบ้านทาง
ทิศตะวันออก[5]
เขียนบทกวีนี้สมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง ให้เจ้าอาวาส ม้วนภาพ เป็นรูปนก ไม้ เขา หิน มีลักษณะเป็นสมุดแบบฝึกหัดเขียนรูปหรือภาพร่าง ภาพม้วนนี้ถือเป็นสมบัติของชาติ ม้วนภาพแบบนี้หาได้ยาก เป็นผลงานของจิตรกรปลายสมัยราชวงศ์หมิงต่อต้นราชวงศ์ชิงชื่อ ปาต้าซันเหริน เป็นเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์หมิง มีรูปฝูหรง กล้วยไม้ บัวเห็นแต่ใบ ดอกเหมย ก้อนหิน ทับทิม รูปกา ศิลปินมีความสามารถในการเขียนดวงตาของกา ผู้บรรยายบอกว่าอีกาตาโปนดูดุร้าย (ลูกตากลับขึ้นไปด้านบน) เพราะโกรธพวกราชวงศ์ชิงที่มายึดเมืองทางใต้ [6]
ภาพวาดสมัยราชวงศ์หมิง เป็นภาพเหมือนของนักปราชญ์ต่างๆ ในสมัยราชวงศ์ซ่งมาพบปะกัน แล้วร่วมกันเขียนตัวอักษร ที่ซีหยวน ในเมืองลั่วหยัง นักปราชญ์คนหนึ่งที่เห็นในภาพก็คือ ซูตงปัวหรือซูซื่อนั่นเอง [7]
ภาพวาดไม้ไผ่สมัยราชวงศ์หมิง ฝีมือหวังเหมิง ไม้ไผ่นี้ข้างนอกแข็งข้างในกลวงว่างเปล่า[8]
vสวน
สมัยราชวงศ์หมิง เหวินจื่อหมิง ออกแบบสวนจัวเจิ้งและหมิงจี้เฉิง เขียนหนังสือเกี่ยวกับการจัดสวนชื่อว่า หยวนเอี่ย [9]
สวนหวั่งซือ แต่ทางการจีนถือว่าเป็นหนึ่งใน 4 ของสวนสำคัญของประเทศ โดยประกาศใน ค.ศ. 1961 พร้อมๆ กับสวนอี้เหอหยวนในปักกิ่ง สถานตากอากาศเฉิงเต๋อ และสวนซูโจวหลิวหยวน หวังเซี่ยนเฉินสร้างสวนจัวเจิ้งหยวนขึ้นใน ค.ศ. 1513 สมัยราชวงศ์หมิง มีผู้เล่าประวัติของสวนนี้ต่างๆ กันไป ทางหนึ่งเล่าว่าหวังเซี่ยนเฉินถูกกลั่นแกล้งให้ออกจากราชการ จึงเหนื่อยหน่ายชีวิตการเป็นขุนนาง ขอมาอยู่อย่างสงบท่ามกลางธรรมชาติ คำว่า จัว ซึ่งเป็นคำหนึ่งในชื่อสวน แปลตามศัพท์ว่า โง่ เงอะงะ หรือหยาบ เนื่องจากผู้สร้างไม่ประสบความสำเร็จในงานราชการ จึงใช้คำนี้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อสวนเพื่อประชดสังคม ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ท่านผู้นี้โกงเงินราชการมาสร้างสวน และภายหลังก็ต้องเสียสวนนี้ไปเนื่องจากต้องหาเงินไปใช้หนี้ที่บุตรเสียการพนัน ในขณะที่มีนักวิชาการบางคนกล่าวว่า จัวเจิ้ง ใช้ในความหมายว่า การทำนาปลูกผักเป็นงานของขุนนางที่ไม่สันทัดงานราชการ ความหมายของคำว่า จัวเจิ้ง ในนัยนี้มาจากความเรียงของพานเย่ว์ (? – ค.ศ. 300) ขุนนางในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก [10]
การทอผ้า
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แสดงผ้าไหมปักต่างๆ ไว้ในตู้ ส่วนมากเป็นของสมัยราชวงศ์หมิงและชิง เป็นของที่ใช้ในพระราชสำนัก เช่น ฉลองพระองค์ (จำลอง) ของจักรพรรดิเฉียนหลง ผู้ปักใช้เวลาปักปีหนึ่ง มังกรที่ฉลองพระองค์นี้ปักด้วยเส้นทอง (เส้นทองใช้ทองแท้ทำเป็นเส้น ซื้อที่นานกิง) ฉลองพระองค์ (จำลอง) ของจักรพรรดิว่านลี่ (ค.ศ. 1573 – 1620) แห่งราชวงศ์หมิง ของจริงเสียไปแล้ว ฉลองพระองค์นี้ใช้ขนนกยูงปัก เป็นรูปพระอาทิตย์ พระจันทร์ ลายมงคลต่างๆ ซึ่งมีหลายลาย เช่น ลายที่หมายถึง พระบารมี ที่หมายถึง การบูชาบรรพบุรุษ ใบไม้ แปลว่า ความสะอาด ไฟ แปลว่า ความสว่าง ข้าวสาร แปลว่า การมีพอกิน ขวาน แปลว่า การตัดสินใจถูกต้อง และยังมีลายอื่นๆ ด้วย นอกจากนั้นมีเสื้อของขุนนางผู้ใหญ่ เสื้อผ้าที่ใช้ในงานแต่งงาน มีชุดที่มารดาของมาดามซ่งชิ่งหลิงให้ลูกสาวในวันสมรส เครื่องแต่งกายที่ใช้ในพิธีศาสนา ของใช้ต่างๆ อาทิ ปลอกใส่คันฉ่อง กระเป๋าเล็กๆ สำหรับแขวนเอว ลายที่ปักมีรูป 12 นักษัตร รูปหมู กระต่าย เสือ มังกร [11]
ของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น ผ้าปักสมัยราชวงศ์หมิงเป็นรูปผู้หญิง มีไข่มุกปักไว้ด้วย รูปกวางสมัยราชวงศ์หมิง ผู้ปักเป็นช่างสำนักอาจารย์แซ่กู้ มาจากเซี่ยงไฮ้ (ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเป็นญาติกับอาจารย์กู้หยาจ่งที่เคยสอนภาษาจีนข้าพเจ้าหรือเปล่า อาจารย์กู้มาจากเซี่ยงไฮ้เหมือนกัน) รูปปักเครื่องหมายทางราชการ ถ้าเป็นภาพสัตว์ต่างๆ เช่น สิงโต กิเลน หมายถึงข้าราชการทหาร นกชนิดต่างๆ หมายถึงข้าราชการพลเรือน [12]
วรรณกรรม/กวี/ปูชนียบุคคล
จูถาน (ค.ศ. 1370-1389) เจ้าแห่งรัฐหลู่ พระองค์เป็นโอรสองค์ที่ 10 ของจูหยวนจัง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ได้รับแต่งตั้งให้ไปปกครองเมืองเหยียนโจวฝู่ พระองค์สนพระทัยเรื่องศิลปวัฒนธรรม กลอน และเพลง อยากเป็นอมตะจึงเสวยยาอายุวัฒนะขนานต่างๆ จนตาย ได้รับการขานพระนามว่า เป็นอ๋องไร้สาระ พระศพฝังไว้ที่อำเภอโจวในมณฑลซานตงปัจจุบัน[13]
9. เปิ้นถง สมัยราชวงศ์หมิง เป็นกวี
10. หลี่ไคเซียน (ค.ศ. 1502-1568) สมัยราชวงศ์หมิง แต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว
11. หลี่พานหลง สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1514-1570) กวีเอกและนักปกครอง
12. อวี๋เซิ่นสิง สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1559-1608) นักวิชาการ และเป็นเสนาบดี ปัจจุบัน[14]
หนังสือชุดหย่งเล่อต้าเตี่ยน ซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง รวบรวมเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1408 เป็นประมวลหนังสือที่แยกหมวดหมู่ตามเนื้อเรื่อง[15]
ศาสนา/ความเชื่อ
วันพืชมงคล
จักรพรรดิตั้งแต่ราชวงศ์เหม็ง (หรือ หมิง) มากระทำพิธีพืชมงคลแบบจีนเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่รัฐ[16]
การบูชากวนอูเป็นเทพเจ้า
จักรพรรดิสมัยราชวงศ์หมิงตั้งกวนอูเป็นจักรพรรดิ สองข้างรูปกวนอูเป็นรูปบริวารที่ติดตาม ด้านหนึ่งมีโจวชังและเสี่ยวอั่ว อีกด้านเป็นหวังฝู่และกวนผิง[17] รูปกวนอู สร้างสมัยราชวงศ์หมิง นอกจากกวนอู มีรูปโจวชังและกวนผิง (กวนผิงเป็นลูกชายกวนอู) กวนอูเป็นคนไฮ่โจว (อักษรตัวนี้เขียนแล้วทั่วไปเขาอ่านกันว่า เจี่ย แต่คนเมืองนี้อ่าน ไฮ่ และเชื่อ กันว่ากวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งเงินตรา) [18]
นวัตกรรม/เทคโนโลยี
การต่อเรือ
สมัยราชวงศ์หมิง มีอู่ต่อเรือใหญ่อยู่ที่นานกิง เรือที่ต่อที่นานกิงนี้สามารถออกทะเลใหญ่ได้ เช่น เรือที่เจิ้งเหอขันทีผู้ใหญ่ในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (ค.ศ. 1402 – ค.ศ. 1424) แห่งราชวงศ์หมิงใช้เดินทางสำรวจย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแสดงแสนยานุภาพของจีน ยังมีสมอเหล็กของเรือยุคนั้นเก็บเอาไว้ มีขนาดใหญ่มาก [19]
เครื่องมือดูดาว
อุปกรณ์ที่เรียกว่า Armilla เริ่มใช้ต้นราชวงศ์หยวนในการศึกษาดาวในท้องฟ้า เครื่องมือที่ตั้งแสดงให้ดูนี้สร้างใน ค.ศ. 1437 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลจักรพรรดิเจิ้งถ่ง (ค.ศ. 1436 – ค.ศ. 1449) แห่งราชวงศ์หมิง เครื่องมือนี้เคยถูกทหารเยอรมันปล้นเอาไปขณะที่ทหารต่างชาติบุกเข้าปักกิ่งเมื่อ ค.ศ. 1900 ใน ค.ศ. 1918 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการประชุมสันติภาพและลงนามในสนธิสัญญา จีนจึงได้เครื่องมือคืนใน ค.ศ. 1920[20]
นาฬิกาแดด
เครื่องมืออีกชนิดเป็นนาฬิกาแดด ถือว่าเป็นอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในจีน ศึกษาฤดูกาลที่แบ่งเป็น 24 ระยะ เห็นได้จากเงาที่ทอดลงมาบนเสา เครื่องนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1439 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลจักรพรรดิเจิ้งถ่งแห่งราชวงศ์หมิง การใช้เครื่องสมัยใหม่กับเครื่องชนิดนี้ต่างกันแค่ 29 วินาที [21]
แท่นฝนหมึก
แท่นฝนหมึกแบบนี้ ทำในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ที่ทำในสมัยปัจจุบันเลียนแบบแท่นฝนหมึกสมัยราชวงศ์หมิง เป็นที่ชื่นชอบของจิตรกรและนักเขียนพู่กันจีนที่มีชื่อเสียง เมื่อฝนหมึกจะไม่มีเสียงดัง ฝนหมึกได้ง่าย หมึกไม่แห้งเร็วเกินไป หินไม่ดูดน้ำ ฉะนั้นไม่เปลืองหมึกและไม่ทำให้พู่กันเสีย [22]
อ้างอิง
1. ย่ำแดนมังกร หน้า 322
2. เจียงหนานแสนงาม หน้า 76
3. เจียงหนานแสนงาม หน้า 112
4. เจียงหนานแสนงาม หน้า 292
5. เจียงหนานแสนงาม หน้า 207-208
6. เจียงหนานแสนงาม หน้า 224
7. เจียงหนานแสนงาม หน้า 259
8. เจียงหนานแสนงาม หน้า 261
9. เจียงหนานแสนงาม หน้า 220
10. เจียงหนานแสนงาม หน้า 249
11. เจียงหนานแสนงาม หน้า 263
12. เจียงหนานแสนงาม หน้า 266
13. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 69
14. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า81
15. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า205
16. ย่ำแดนมังกร หน้า28
17. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า159
18. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า239
19. เจียงหนานแสนงาม หน้า113
20. เจียงหนานแสนงาม หน้า133
21. เจียงหนานแสนงาม หน้า135
22. เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า63