Please wait...

<< Back

สวนจัวเจิ้งหยวน

จากหนังสือ

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 248-257


(น. 248) รูป 175 สวนจัวเจิ้งหยวน
Zhuozhengyuan Garden.

(น. 249) เช้านี้ไปที่สวนจัวเจิ้งหยวน หนังสือนำเที่ยว Lonely Planet ถือว่าสวนนี้เป็นสวนซูโจวที่ดีที่ 2 ต่อจากสวนหวั่งซือ แต่ทางการจีนถือว่าเป็นหนึ่งใน 4 ของสวนสำคัญของประเทศ โดยประกาศใน ค.ศ. 1961 พร้อมๆ กับสวนอี้เหอหยวนในปักกิ่ง สถานตากอากาศเฉิงเต๋อ และสวนซูโจวหลิวหยวน หวังเซี่ยนเฉินสร้างสวนจัวเจิ้งหยวนขึ้นใน ค.ศ. 1513 สมัยราชวงศ์หมิง มีผู้เล่าประวัติของสวนนี้ต่างๆ กันไป ทางหนึ่งเล่าว่าหวังเซี่ยนเฉินถูกกลั่นแกล้งให้ออกจากราชการ จึงเหนื่อยหน่ายชีวิตการเป็นขุนนาง ขอมาอยู่อย่างสงบท่ามกลางธรรมชาติ คำว่า จัว ซึ่งเป็นคำหนึ่งในชื่อสวน แปลตามศัพท์ว่า โง่ เงอะงะ หรือหยาบ เนื่องจากผู้สร้างไม่ประสบความสำเร็จในงานราชการ จึงใช้คำนี้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อสวนเพื่อประชดสังคม ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ท่านผู้นี้โกงเงินราชการมาสร้างสวน และภายหลังก็ต้องเสียสวนนี้ไปเนื่องจากต้องหาเงินไปใช้หนี้ที่บุตรเสียการพนัน ในขณะที่มีนักวิชาการบางคนกล่าวว่า จัวเจิ้ง ใช้ในความหมายว่า การทำนาปลูกผักเป็นงานของขุนนางที่ไม่สันทัดงานราชการ ความหมายของคำว่า จัวเจิ้ง ในนัยนี้มาจากความเรียงของพานเย่ว์ (? – ค.ศ. 300) ขุนนางในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก


(น. 250) รูป 176 ภายในสวน
In the Garden.

(น. 250) เมื่อหวังเซี่ยนเฉินสิ้นชีวิตแล้ว ทายาทไม่สามารถรักษาบ้านและสวนนี้ไว้ได้ ตกเป็นของคนตระกูลอื่น ประมาณ ค.ศ. 1635 เจ้าของใหม่ได้ปรับปรุงสวนและอาคารจนดี และให้ชื่อใหม่ว่า กุยเถียนหยวนจวี เลียนแบบกวีเถายวนหมิง (ค.ศ. 365 – 427) ที่ออกจากราชการมาใช้ชีวิตเยี่ยงชาวไร่ชาวนา และใน ค.ศ. 406 ได้แต่งบทกวีชุด กุยหยวนเถียนจวี หรือ กลับสู่นาสวน ซึ่งมีอยู่ 5 บท หลังการปรับปรุงใน ค.ศ. 1635 แล้ว เจ้าของคนต่อๆ มาได้ปรับปรุงสร้างอาคารใหม่อีกหลายอาคาร
(น. 251) สมัยกบฏไท่ผิงหรือไต้เผ็ง (ค.ศ. 1850 – 1864) และช่วงที่ซูโจวตกอยู่ใต้การยึดครองของต่างประเทศ สวนนี้ถูกทิ้งโดยไม่มีการบำรุงรักษา สมัยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ. 1949 – ปัจจุบัน) ได้ปรับปรุงสวนนี้ขึ้นมาใหม่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนเมื่อ ค.ศ. 1952 มีผู้มาใช้เป็นสถานที่สำหรับถ่ายภาพยนตร์ด้วย และยังเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยี่ยมชม ประวัติจริงของสวนนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เรื่องก็เกิดขึ้นหลายร้อยปีมาแล้ว ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงสวนซูโจวตามที่ได้เห็นในปัจจุบันดีกว่า สวนของจีนมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาวัฒนธรรมประเพณีจีนโบราณ สวนจีนที่มีชื่อมากก็คือ สวนต่างๆ ในซูโจว จนเมืองนี้ได้ชื่อว่า เป็นเมืองแห่งสวนสวยแพรไหมงาม สิ่งที่ทำให้สวนซูโจวมีชื่อเสียงเลื่องลือคือ การรวมลักษณะของศิลปะต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืนลงตัว ตั้งแต่สถาปัตยกรรม เช่น เก๋ง ศาลา สะพาน สิ่งของตกแต่ง อาทิ ภาพเขียน ภาพปัก ศิลปะการเขียนอักษรด้วยพู่กัน การจัดภูมิทัศน์คือ การขุดทะเลสาบ ลำธาร ซึ่งจะสามารถสะท้อนแสงดวงจันทร์ สระน้ำในสวนไม่นิยมรูปร่างที่เป็นแบบเรขาคณิต (กลม เหลี่ยม) แต่จะทำให้กลมกลืนไปกับส่วนอื่นๆ มีหน้าที่ให้ความสงบ ความเงียบ (ต่างจากสวนตะวันตกที่นิยมใช้น้ำพุให้น้ำเคลื่อนไหวอย่างน่าสนุก และทำให้มองเห็นความระยิบระยับของน้ำ) ในด้านการเลือกไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ใบ หลากสี ก็มีนามเป็นมงคล รวมทั้งการเล่นไม้กระถาง ไม้ดัด


(น. 252) รูป 177 มีเก๋งต่างๆ Chinese pavilions.

(น. 252) การหาก้อนหินลักษณะต่างๆ มาวาง การมีเทคนิคนานา เช่น การเจาะหน้าต่างเห็นภาพด้านในอาคารมาช่วยทิวทัศน์ด้านนอก หรือ การอยู่ในอาคารและมองทิวทัศน์ด้านนอก การจัดวางของต่างๆ การจัดต้นไม้ จะต้องวางเป็นจังหวะตามองค์ประกอบ ดูแล้วลงตัว มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า สวนซูโจวเน้นเรื่องหินกับน้ำเพื่อทำจิตให้เป็นสมาธิเหมือนสวนเซ็นของญี่ปุ่น มากกว่าจะมีพันธุ์ไม้หลากสีนานา
(น. 253) นอกจากนั้น การดื่มน้ำชา การเล่นดนตรี และการท่องบทกวีในสวนก็เป็นศิลปะอันสุนทรีย์ประกอบสวนเช่นกัน เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตและแนวคิดของนักวิชาการเจียงหนาน สามารถสร้างความรื่นรมย์แก่เจ้าของสวนแต่ผู้เดียว หรือเจ้าของสวนร่วมกับมิตรสหาย เมื่อดูวิธีจัดสวนแล้ว ชวนให้คิดถึงตึกสมัยใหม่ที่ต้องทำสวนบนดาดฟ้า ตามมุมตึก หรือเฉลียง ถ้าศึกษาการจัดสวนแบบซูโจวก็อาจจะทำได้สวยขึ้น เข้าไปที่ห้องโถงหลานเสวี่ย (ดอกกล้วยไม้และหิมะ) ตั้งชื่อตามคำในบทกวีของหลี่ไป๋ เจ้าของเดิมใช้เป็นที่นั่งดื่มเหล้าและแต่งบทกวีกับเพื่อนฝูง ที่เสาใหญ่กลางห้องโถงเขียนบทกวีกล่าวถึงความงดงาม ความรุ่งเรือง และความซบเซาของสวนนี้


(น. 253) รูป 178 อาคารภายในสวนเป็นที่รวมศิลปะต่างๆ ของจีน
Collection of art objects in the Garden's pavilions.


(น. 254) รูป 179 สวนนี้มีทั้งไม้ดอกและก้อนหิน
This Garden is ornamented with flowering plants and rocks.

(น. 254) จากนั้นไปชมศาลาลมโชยชมดอกบัวสี่ด้าน (เหอเฟิงซื่อเมี่ยนถิง) อยู่ริมสระน้ำ มีสะพานเลี้ยวไปเลี้ยวมา เพื่อให้คนมีเวลาชมความงามของอาคารและทิวทัศน์ มีอาคารอีกเป็นจำนวนมากในสวนนี้ ไม่สามารถบรรยายได้ครบถ้วน ตัวอย่างเช่น ศาลาฟังน้ำพุ เป็นที่นั่งทำงานของเจ้าของเดิม ศาลาอยู่ฟัง สำหรับนั่งพักผ่อน หอรำลึกถึงเหวินจื่อหมิงและเสิ่นโจว ตึกเงาสะท้อน หอฟังเสียงฝน เขาทำคำบรรยายติดไว้ทุกอาคารเป็นภาษาจีนและอังกฤษ ยกบทกวีต่างๆ มาประกอบ แต่ไม่มีเวลาอ่าน
(น. 255) ในด้านไม้ดอกไม้ประดับในสวนนี้เป็นไม้ที่นิยมกันในประเทศจีน เช่น ตู้จวน ฉาฮวา (camellia) บัว สนชนิดต่างๆ กุหลาบ ไห่ถัง มะละกอ (แต่ไม่มีอะไรที่เหมือนมะละกอบ้านเราเลย) แม็กโนเลีย ไม้ดัดต่างๆ แบบซูโจว ผู้บรรยายบอกว่าของซูโจวนิยมย่อส่วนต้นไม้เป็นต้นเล็กๆ แต่หยังโจวนิยมจัดเป็นทิวทัศน์น้ำ ภูเขา ไม่ทราบว่าจริงหรือเปล่า เท่าที่สังเกตมาก็ไม่เห็นเป็นไปตามหลักนี้ตายตัวแต่อย่างไร ต่อไปที่ห้องโถงอวี้หลาน ผู้บรรยายกล่าวว่าสวนแห่งนี้เป็นสวนเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในจีน จะดูจริงๆ เร็วที่สุดก็ต้องใช้เวลาถึงครึ่งวัน ดูอย่างนี้เขาเรียกว่า ขี่ม้าชมดอกไม้ มีคนร้องเพลงดีดพิณให้ฟัง เพลงชาวประมงกลับบ้าน และร้องเพลงเรียกว่า ผิงถาน คือร้องบ้างพูดบ้าง ชายหญิงโต้ตอบกันประกอบพิณ ใช้ภาษาซูโจว (คนปักกิ่งฟังไม่ออก) เล่าเรื่องบัณฑิตไปสอบจอหงวน พบลูกสาวเสนาบดี สาวใช้ชักนำให้รักกัน


(น. 255) รูป 180 สวนไม้ดัด
Bonsai garden.

(น. 256) มีเรื่องหนึ่งที่ผู้บรรยายเล่าให้ฟังไม่ทราบว่าจริงหรือเปล่า เขากล่าวว่ารูปสัตว์ประดับหลังคา ถ้าเห็นอ้าปากอยู่แสดงว่าเจ้าของอาคารนี้ยังอยู่ในราชการ ยังมีสิทธิที่จะพูดอะไรได้ แต่ถ้าสัตว์ปิดปากแปลว่า เจ้าของออกนอกราชการแล้ว ไม่มีสิทธิพูดอะไร ต้องปิดปาก เป็นคำอธิบายที่ประหลาดมาก ใน ค.ศ. 1992 จัดพิพิธภัณฑ์อธิบายเรื่องสวนซูโจวไว้ในสวนจัวเจิ้งหยวน แบ่งเป็นหัวข้อดังนี้
1. การเกิดสวน
2. ประวัติของสวน
3. สนุกกับสวน
4. การจัดสวน
มีภาพสวนต่างๆ ในซูโจว ที่สำคัญคือ ภาพวาดเนินเสือ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในซูโจว หน้าภาพนี้มีอักษรจีน 7 ตัว ที่มีความหมายว่า สวนทั้งหมด ภาพเรื่องราวของผู้มีชื่อเสียงในด้านการจัดสวนทุกยุคทุกสมัย ได้รวบรวมงานเขียน จดหมาย และเอกสารต่างๆ เช่น ไป๋จวีอี้ สร้างซีหลี่ซานถาน ในสมัยราชวงศ์ถัง ซูซุ่นชินสร้างศาลาชังลั่งถิงในสวนส่วนตัวของตน ในสมัยราชวงศ์ซ่ง เหวินจื่อหมิง สมัยราชวงศ์หมิง ออกแบบสวนจัวเจิ้ง หมิงจี้เฉิง สมัยราชวงศ์หมิง เขียนหนังสือเกี่ยวกับการจัดสวนชื่อว่า หยวนเอี่ย สวนในซูโจวพัฒนามาตั้งแต่สมัยชุนชิวคือ สวนเจ้าเมืองซูโจว สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ. 265 – 317) และสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 317 – 589) ผู้คนนิยมสร้างสวนทั้งในบ้าน

(น. 257) ส่วนตัวและวัดวาอาราม สมัยราชวงศ์ซ่งและหยวนนิยมศิลปะการจัดต้นไม้และหิน สมัยราชวงศ์ชิงนิยมสวนและศาลา กล่าวโดยสรุปเขาถือว่า “บนแผ่นดินนี้สวนในเจียงหนานเป็นเลิศในความงาม สวนซูโจวงามเป็นเลิศในเจียงหนาน” ศิลปะในการจัดสวนซูโจวมีวิวัฒนาการมาร่วมพันปี ถึงราชวงศ์หมิงและชิงควรนับได้ว่า เป็นศิลปะที่เป็นแบบฉบับ ทั้งยังได้ผสมผสานเข้ากับศิลปะสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบ ศิลปะการสลักลวดลาย โคลงกลอน ภาพวาด การเขียนตุ้ยเหลียน นับเป็นศิลปะอันงดงามสมบูรณ์ยิ่ง สวนของจีนแบ่งเป็นสวนหลวงและสวนราษฎร์หรือสวนของเอกชน สวนหลวง เป็นที่ประทับและที่พักผ่อนหย่อนพระทัยของจักรพรรดิ มักมีขนาดใหญ่ มีการตกแต่งหลากหลายรูปแบบ นอกจากเป็นของจีนแท้ๆ แล้ว ยังนิยมเอาของแปลกๆ มาสะสมไว้ หรือมีรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างประเทศมาผสมอยู่ด้วย รวมทั้งเป็นที่รวบรวมพืชสัตว์หายาก ส่วนสวนราษฎร์มีขึ้นภายหลังสวนหลวง (ซูโจวมีชื่อที่สุด) ผู้สร้างส่วนใหญ่เป็นขุนนาง (มักเป็นขุนนางนอกราชการ) หรือพ่อค้าที่มีฐานะดี รักธรรมชาติ และชมชอบศิลปะแขนงต่างๆ หรือพวกนักปราชญ์ นักคิด มีขนาดเล็กกว่าสวนหลวง