<< Back
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฮ่องกง
จากหนังสือ
คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 140,141,142,143,144,145,146,147,148,149
(น.140) รูป 127 พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฮ่องกง ภาพการตั้งถิ่นฐานครั้งแรก
(น.140) ลงจากเฮลิคอปเตอร์นั่งรถไปอีก 45 นาที (ไปทางเกาลูน) ไปพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฮ่องกง ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ Urban Council ของฮ่องกง ตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1975 ย้ายมาจากที่เดิมมาที่นี่เมื่อ ค.ศ. 1983 เป็นสถานที่รวบรวม ศึกษา รวมทั้งแสดงวัสดุโบราณและวัตถุที่แสดงถึงวัฒนธรรม โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยาของเกาะฮ่องกงและบริเวณจีนใต้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าน่าสนใจดีที่ได้เห็นการเสนอประวัติศาสตร์ในแง่ของจีนมาแล้ว คราวนี้จะได้เห็นและได้ฟังแง่ของอังกฤษบ้าง
(น.141) เมื่อไปถึงผู้ที่มาต้อนรับคือ Dr. Joseph Ting เป็นภัณฑารักษ์ใหญ่แต่ตัวเล็ก และเสียงเล็ก บรรยายให้ฟังว่า นิทรรศการ “เรื่องของฮ่องกง” (The Story of Hong Kong) นี้เปิดให้คนเข้าชมครั้งแรกใน ค.ศ. 1991 เป็นเรื่องของฮ่องกงเล่าตั้งแต่สภาพทางธรรมชาติของเกาะฮ่องกง ทั้งข้อมูลทางธรณีวิทยา ความสูงต่ำของพื้นที่ พรรณพืชและสัตว์ (แมลงและปะการัง) และภูมิอากาศ เพื่อแสดงพัฒนาการของฮ่องกงตั้งแต่เป็นหมู่บ้านประมงจนถึงเป็นมหานครใหญ่ โดยใช้สื่อต่างๆ ทั้งรูป เอกสาร เครื่องมืออุปกรณ์ของจริง สื่ออิเล็กทรอนิกส์
นักโบราณคดีศึกษาการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกของมนุษย์ประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว ได้พบเตาเผาเครื่องปั้น และการแกะสลักบนหิน มนุษย์พวกแรกที่มาอาศัยอยู่บนเกาะฮ่องกงในสมัยหินใหม่ เข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกับที่อยู่ในเวียดนามที่เรียกว่าเยว่ มาถึงยุคสำริด 2,000 กว่าปีมาแล้ว เขาทำเป็นชั้นดินแสดงว่าแต่ละชั้นมีร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์หรือไม่อย่างไร ตั้งแต่ชั้นล่างสุดไม่มีร่องรอยอะไร เหนือขึ้นมาเป็นสมัยหินใหม่ สมัยประวัติศาสตร์ ชั้นบนสุดเป็นวัฒนธรรมปัจจุบันของเรา มีกระป๋อง coke เป็นต้น
ฮ่องกงสมัยราชวงศ์ฉินและฮั่น (Qin-Han) ทางตะวันออกเฉียงใต้ (มณฑลกวางตุ้ง) มีเมืองชื่อ เมืองพานหยู
สมัยราชวงศ์ถัง เป็นสมัยที่การค้าทางทะเลรุ่งเรือง ท่าเรือสำคัญคือท่าเรือกวางโจว ในฮ่องกงโบราณสถานสำคัญ ได้แก่ สุสาน Lei Chen Uk Han มีแหล่งเตาเผา เริ่มมีการโยกย้ายถิ่นฐานจากจีนตอนเหนือลงมาบริเวณที่เป็น New Territories
(น.142) สมัยราชวงศ์ซ่งมี ซ่งหวังไถ หรือวังโบราณ เชื่อว่าเป็นที่ประทับของจักรพรรดิที่ซึ่งลี้ภัยมา สมัยราชวงศ์ซ่งนี้มีการค้าขายเครื่องเซรามิกและเกลือ คนที่มาจากทางเหนือนี้มาตั้งเป็นหมู่บ้านในสมัยซ่งและหมิง
สมัยราชวงศ์หมิง เริ่มมีชาวตะวันตกพวกแรกมาคือ พวกโปรตุเกส ซึ่งพบเส้นทางเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป เชื่อว่าสมัยนั้นฮ่องกงคงจะต้องเป็นท่าเรือเนื่องจากขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีพบเครื่องเซรามิกต่างๆ ของไทย พวกเครื่องสังคโลกก็ยังมี เขาบอกชื่อนักสำรวจโปรตุเกสในคริสต์ศตวรรษที่ 16
นอกจากนั้นยังมีเรื่องเกี่ยวกับคนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในฮ่องกง แสดงอยู่ที่ชั้นลอย พวกชาวประมงที่อยู่ในเรือซึ่งยังมีมากในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเปิดเพลง ชาวประมง (Tan Ge, Tanshui Ge) ในเรือมีข้าวของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ชามข้าวที่ใช้เป็นชามตราไก่แบบที่ข้าพเจ้าใช้เมื่อตอนเล็กๆ กินก๋วยเตี๋ยวคู่กับช้อนสังกะสีสีเขียว ปัจจุบันนี้หายากขายแพง มีเรื่องการบูชาเจ้าแห่งทะเล เครื่องแต่งตัวชาวเรือ มีหมวกกุ้ยเล้ย เสื้อฝนที่ทำจากใบจากแห้ง
มีเรือนไม้เสาสูงในน้ำพบมากที่เกาะหลานเต้า (ลันเตา)
รูปจำลองหมู่บ้านสมัยราชวงศ์ถัง เป็นห้องแถว มีกำแพงล้อม
(น.142) รูป 128 นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์
(น.143) แซ่ใหญ่ 5 แซ่ที่มาตั้งถิ่นฐานในฮ่องกงก่อนแซ่อื่น คือ พาน เหอ เผิง เหวิน และเลี่ยว
บ้านของชาวฮักกา มีเรือนและยุ้งข้าว ชาวฮักกาพวกนี้มาจากทางเหนือของชานตุงและเหอหนาน บางคนเรียกว่าแคะ คือฮักกาผสมแคะ ทำโต๊ะอาหารแบบโต๊ะร้านก๋วยเตี๋ยวบ้านเราแสดงเอาไว้ มีขนมโก๋ ติดปฏิทินชาวนา มีของใช้ เช่น เครื่องมือทำนา เครื่องโม่แป้ง เครื่องสีข้าว
เศรษฐกิจอุตสาหกรรมรุ่นแรก
เสื้อผ้าของคนเผ่าต่างๆ พวกแคะส่วนมากมาจากฝูเจี้ยน เจียงซี ราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นพวกที่ทำงานมากขยันขันแข็ง เสื้อเป็นสีน้ำเงินแก่
ตั้นเจีย หรือพวกชาวเรือ (เขาว่าสืบเชื้อสายจากพวก เยว่)
พวกฮกโล เป็นพวกชาวจีนแต้จิ๋วที่มาจากมณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน ชาวจีนกลุ่มภาษาพูดอื่นๆ เรียกชาวจีนแต้จิ๋วพวกนี้ว่า ฮกเหลา หรือฮกโล ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า ฝูเหล่า
พวกเปิ่นตี้ หมายถึงคนดั้งเดิม เขาว่ามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง
(น.143) รูป 129 นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์
(น.144) เมืองฮ่องกง อังกฤษยึดฮ่องกงและพัฒนาการในช่วงแรก (ค.ศ. 1841-1851)
เรื่องปัญหาฝิ่น เขาว่าเป็นเพราะหลินเจ๋อสูทำลายฝิ่นของอังกฤษ อังกฤษจึงยกทัพเรือมาปราบ (ในส่วนนี้เขาแสดงเรื่องเกี่ยวกับสงคราม แสดงอาวุธต่างๆ คล้ายๆ กับที่ดูเมื่อเช้านี้ที่พิพิธภัณฑ์สงครามฝิ่น เช่น กล้องส่องทางไกลของอังกฤษ รูปเรือ Nemesis ทำลายเรือรบจีน รูปปืนใหญ่ รูปเครื่องมือสูบฝิ่น) สุดท้ายมีผู้แทนจีนจากราชสำนักชิงมาหาอังกฤษ (Sir Henry Pottinger) และลงนามในสนธิสัญญานานกิงในเรือคอนวอลลิส ซึ่งจอดในแม่น้ำฉางเจียง เมืองนานกิง (ให้สัตยาบันใน ค.ศ. 1843)
เกาะฮ่องกงเป็นของอังกฤษใน ค.ศ. 1842 อังกฤษประกาศให้เป็นเมืองท่าเสรี ในนิทรรศการส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าชาวตะวันตกเริ่มรู้จักฮ่องกงเป็นที่เติมน้ำจืด ฮ่องกงตอนนั้นมีน้ำอุดมสมบูรณ์ (มีรูปน้ำตกที่เมืองอเบอร์ดีน) และแสดงการพัฒนาของเมืองวิกตอเรีย ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือภาพเขียนประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ภาพเขียนฝีมือศิลปินที่มีชื่อเสียง แต่ก็สวยงามและให้ความรู้เรื่องเมืองฮ่องกงสมัยก่อน (ค.ศ. 1814-1901) เช่น มีรูปสวนสมัยนั้น มีรูปโกดังสินค้า (ฝรั่งเขียนว่า godowns ทำให้เรารู้สึกว่าคำนี้เดิมเป็นคำภาษาอังกฤษ)
(น.145) เมืองฮ่องกง ความเจริญของสังคมและการขยายดินแดน (ค.ศ. 1852-1862)
เมืองเจริญขึ้นในเขตหวั่นจ๋าย (Wanchai) และ Sai Ying Poon
สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 จีนเสียเกาลูน และเกาะอื่นรอบๆ ตามอนุสัญญาปักกิ่งใน ค.ศ. 1860
สาเหตุของสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรือแอร์โรว์ และบาทหลวงฝรั่งเศสถูกสังหาร มีเรื่องดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วเมื่อเขียนถึงพิพิธภัณฑ์สงครามฝิ่น
ในช่วงเวลานี้การค้ากุลีเจริญเนื่องจากธุรกิจในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เจริญขึ้น ขาดแคลนแรงงานท้องถิ่นจึงต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมาก มีธุรกิจที่เรียกว่า หนำปักหอง (หนานเป่ยหัง) นำกุลีจากเมืองจีนไปในที่ต้องการ เข้าใจว่าธุรกิจเรือแดงของบริษัทหวั่งหลีก็เป็นธุรกิจประเภทนี้ ข้าพเจ้าดูนิทรรศการตอนนี้แล้วนึกถึงช่วงที่ไทยปฏิรูปบ้านเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เราต้องการแรงงานจำนวนมากใช้ในการสร้างทางรถไฟ ถนน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นช่วงที่กำลังเลิกไพร่และเลิกทาส มีการนำแรงงานจีนซึ่งมีจำนวนมาก กุลีจีนเหล่านี้ขยันขันแข็งและอดทน ส่วนทางใต้มีการทำเหมืองแร่ดีบุก และต่อมาทำสวนยาง กุลีจีนเหล่านี้บางครั้งรวมตัวกันเป็นกลุ่มอิทธิพล เรียกว่า พวกอั้งยี่ การเลิกทาสในสหรัฐอเมริกาก็เป็นเหตุให้มีการนำกุลีจีนไปใช้ในไร่อ้อยในสหรัฐอเมริกาและตามเกาะต่างๆ ในโลกใหม่
(น.146) การที่มีคนจีนเดินทางเรือออกนอกประเทศเป็นจำนวนวนมากเช่นนี้ทำให้ความเชื่อเรื่องเจ้าผู้พิทักษ์คุ้มครองทะเลแพร่ขยายเพิ่มขึ้น มีการสร้างศาลเทพเจ้าที่ดูแลท้องทะเล ได้แก่ เทียนโห้ว หรือหมาจู่ เกิดมีองค์กรที่บริหารวัดหรือศาลเจ้าเหล่านี้ (Temple Management) นอกจากนั้นมีการตั้งแสดงหลักกิโลเมตร (ของเขาใช้เป็นไมล์) จากอเบอร์ดีนไปวิกตอเรีย 5 ไมล์ (ไมล์หนึ่งเท่ากับ 3 ลี้)
เมืองฮ่องกง การพัฒนาการค้า อุตสาหกรรม และองค์กรทางสังคม (ค.ศ. 1863-1893)
การค้า การขนส่งทางเรือ (shipping) การคมนาคม ระบบธนาคาร ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เจริญขึ้นมาก คนจีนจากแผ่นดินใหญ่ย้ายเข้ามาในฮ่องกงเพิ่มมากขึ้น ชุมชนชาวจีนที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงนี้ มีองค์กรที่ช่วยเหลือสังคม เช่น Tung Wah (ตงหัว) Hospital และ Po Leung Kuk (เป่าเลี่ยงจู๋ เข้าใจว่าเป็นหน่วยงานดูแลอนามัยประชาชน) เป็นต้น
เขาทำเป็นถนนสายหนึ่ง มีห้องแถวแบ่งเป็นคูหา แต่ละคูหามีกิจกรรมต่างๆ กัน เช่น มีโรงน้ำชาแบบกวางตุ้ง บริษัทฝรั่ง A.S. Watson & Co. (ขายยาเดี๋ยวนี้ก็ยังมี) ร้านขายปลาเค็ม ตู้ไปรษณีย์ บริษัทเลหลัง Lambert Brothers Auctioneer บริษัท Peninsular and Oriental Steamship Company สำนักงานชุมชนกงสั่ว (Kung So = สมาคม ในที่นี้ถือเป็นสถานที่ราชการ) แสดงเอกสารการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำกันมากในสมัยนั้น
(น.147) รูป 130 นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์
(น.147) ปัญหาสังคมสมัยนั้นมีปัญหาการพนัน เล่นไพ่นกกระจอก มีโรงบ่อนเปิดมากขึ้น ปัญหาโสเภณี (เขาแสดงเอกสารขายลูกสาว ในสมัย ค.ศ. 1936) การสูบฝิ่น
หลังจากเวลาทำงานแล้ว ผู้คนมีงานอดิเรกในการเล่นดนตรี (แสดงเครื่องดนตรีต่างๆ) ไปชอปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้า Lane Crawford and Co. เดี๋ยวนี้ก็ยังมี ดูละคร ดูหมอดู
โรงรับจำนำ
สถานีรถรางขึ้น Victoria Peak
เมืองฮ่องกง การปฏิวัติทางความคิด วิถีชีวิต และมุมมองใหม่ๆ ในเมือง (ค.ศ. 1894-1941)
กล่าวถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น การเกิดโรคระบาด (กาฬโรค) การเช่า New Territories เป็นเวลา 99 ปี (มีการปักปันเขตแดนใน ค.ศ. 1898) การปฏิวัติใน ค.ศ. 1911 และผลของเหตุการณ์เหล่านี้ต่อการปฏิวัติทางความคิดและวิถีชีวิตในฮ่องกง และกล่าวถึงการพัฒนาด้านการขนส่ง การศึกษา และอุตสาหกรรมเบา ในช่วงการเปลี่ยนศตวรรษถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
(น.148) รูป 131 นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์
(น.148) แสดงระบบธนาคารของธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้
ธนาคารอื่นๆ มี Oriental Bank Corporation 1845, Chartered Mercantile Bank 1857, Standard Chartered Bank 1859
แสดงเหรียญเงินและธนบัตรต่างๆ บริษัทจาร์ดีนส์ และบริษัทเดนท์
ด้านชีวิตแบบดั้งเดิมของจีนก็ยังคงมีอยู่ เช่น ร้านขายยาจีน อายุ 100 ปี (ไปซื้อของจริงมาแสดง) ร้านไต้ฟ้าขายผ้า เสื้อยืดตราลูกไก่บนกล่องเขียนภาษาไทยด้วย ร่ม น้ำอบ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระติกน้ำ (ที่ข้าพเจ้าเคยเห็นตอนเด็กๆ ทำด้วยสังกะสี เป็นลายดอกไม้ สีตุ้งแช่) ตะเกียง ยาสีฟันก้อน เครื่องเงิน เครื่องหวาย
การยึดครองของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1941-1945)
ในค.ศ. 1941 ฮ่องกงถูกญี่ปุ่นยึดครอง เป็นเวลา 3 ปี 8 เดือน เป็นช่วงที่คนฮ่องกงยากลำบากมาก มีรูปการบุกของญี่ปุ่น ทิ้งระเบิด สนามบินไคตั๊ก สิ่งของทหารญี่ปุ่น ของต่างๆ ตอนสงครามโลก พอญี่ปุ่นวางอาวุธ เปิดเพลงชาติอังกฤษอีก แสดงประกาศของญี่ปุ่นสมัยโชวะปีที่ 16 (ค.ศ. 1941)
(น.149) รูป 132 คุยกับคนไทยหน้าพิพิธภัณฑ์
(น.149) ฮ่องกงสมัยใหม่
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮ่องกงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกนิทรรศการแสดงความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ที่ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นมหานครยุคใหม่ (มีเรื่องการบิน การปฏิรูปการเลือกตั้ง การปราบคอร์รัปชั่น มีรูปตำรวจโกงที่ถูกจับได้ ภัยธรรมชาติ อนาคตฮ่อกงกง ฯลฯ)
ตอนหลังๆ นี้ดูอย่างเร่งรีบมากจนไม่รู้เรื่องเลย เห็นแต่ตอนท้าย เขามีส่วน Acknowledgement ซึ่งดีมาก คือแม้แต่ว่าเป็นนิทรรศการไม่ได้เป็นหนังสือก็มีการอ้างอิงว่า เรื่องและภาพที่นำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้ได้มาจากใคร เป็นมารยาทสากลที่เรามักจะละเลย
เขาให้หนังสือมา 3 เล่ม เรื่อง The Maritime Silk Route (เหมือนที่ได้จากพิพิธภัณฑ์กวางโจว) เรื่อง Of Heart and Hands, Hong Kong’s Traditional Trades and Crafts, เรื่อง Gems of Liangzhu Culture