Please wait...

<< Back

หอสมุดแห่งชาติ

(น.29) ในระยะปีครึ่งจากที่ข้าพเจ้ามาครั้งก่อน หอสมุดพัฒนาได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะได้งบประมาณน้อย ราคาหนังสือก็สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้พยายามพัฒนากิจการงานไปเรื่อยๆ การเก็บหนังสืออ้างอิง (เช่นพวก Almanac) แต่ก่อนเก็บได้ 200 กว่าชนิด จำนวนที่ออกมาทั้งประเทศ 600 กว่าชนิด ปัจจุบันเก็บได้เพิ่มเป็น 500 กว่าชนิดแล้ว เพื่อให้สะดวกแก่ผู้อ่านเขาจัดเป็นนิทรรศการเล็กๆ นอกนั้นเก็บหนังสือจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่างจังหวัด ระดับอำเภอขึ้นไป ที่นี่เป็นศูนย์กลางเก็บได้ 5,000 กว่าชนิด หนังสือพวกนี้เป็นข้อมูลพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย นอกจากนั้นยังพัฒนาในด้านการใช้เครื่องมือ มีห้องเก็บบัตรรายการหนังสือ มีการแลกเปลี่ยนหนังสือกับประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หอสมุดได้ส่งคณะผู้แทนไปดูงานที่กัวลาลัมเปอร์ ก่อนหน้านี้ผู้อำนวยการหอสมุดสิงคโปร์ก็มาดูงานที่นี่ ต่อไปจะส่งเจ้าหน้าที่หญิงของหอสมุดอีก 2 คน ไปดูงานหอ สมุดที่มาเก๊า เจ้าหน้าที่ทางหอสมุดที่นี่เคยพบกับเจ้าหน้าที่หอสมุดไทย และคิดว่าควรจะมีความสัมพันธ์กันมากกว่านี้ อยากให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยมาชมหอสมุดจีน และเร็วๆนี้หอสมุดได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการศึกษาแห่ง ชาติ ให้คัดเลือกเจ้าหน้าที่ไปศึกษาภาษาไทยในประเทศไทย เขาเลือกคุณหยูซูเจี๋ย หัวหน้าแผนกหนังสือพิมพ์ ซึ่งเคยเรียนภาษาเวียดนามมาแล้วไปประเทศ


(น.30) รูป 19 Rubbing ศิลาจารึกจีน


รูป 20 Rubbing ศิลาจารึกจีน

(น.30) แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเดินทางแน่นอน หวังว่าจะปฏิบัติงานด้านการเก็บและบริการหนังสือภาษาไทยได้ดีขึ้น ความก้าวหน้าอีกด้านหนึ่งคือด้านการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลหนังสือ หลังปี 1988 หอสมุดบันทึกรายชื่อหนังสือด้วยคอมพิวเตอร์แทนการใช้บัตรรายการ ทำได้ประมาณ 200,000 เล่ม เดือนนี้จะเปิดบริการเครื่องคอมพิวเตอร์เอาไว้หน้าห้อง เพื่อ


(น.31) รูป 21 ต้นฉบับหนังสือโบราณ

(น.31) ให้ผู้เข้าใช้บริการห้องสมุดได้ค้นหาหนังสือที่ต้องการได้ด้วยตนเอง เขาให้รายชื่อหนังสือภาษาจีนที่เกี่ยวกับประเทศไทยที่เป็น print out จากเครื่องคอมพิวเตอร์ ข้าพเจ้าถามว่า ถ้ามีงบประมาณมากกว่านี้เขาอยากปรับปรุงด้านไหนก่อน เขาบอกว่าประการแรกอยากเก็บหนังสือให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือภาษาจีน ปรับปรุงระบบเรียกหนังสือคืน (เข้าใจว่าเป็นการจัดระบบคอมพิวเตอร์ มีรายละเอียดของผู้ยืม ซึ่งจะทำให้ทวงหนังสือคืนได้ง่าย) ประการที่
(น.32) สองอยากจะให้มีระบบที่ทันสมัย เช่น เพิ่มงานด้านคอมพิวเตอร์ Laser disk เทป และวีดีโอ ข้าพเจ้าถามว่าได้ใช้ CD-ROM บ้างหรือเปล่า เขาว่างานด้านนี้กำลังอยู่ในขั้นวิจัย ยังไม่ได้ใช้จริง ส่วนใหญ่ใช้บันทึกหนังสือโบราณของจีน เขาจะพาข้าพเจ้าดูระบบการทำ microfilm, microfiche หนังสือโบราณ งานซ่อมแซมหนังสือโบราณซึ่งต้องใช้ฝีมือมาก การเรียกหนังสือ การเก็บหนังสือภาษาไทย หนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์จีน ไทย และอื่นๆ (นี่เป็นรายการที่กะจะให้ดูจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ดูทุกอย่าง) ก่อนไปดูงานถ่ายรูปร่วมกัน งานแรกคือดูหนังสือเก่าที่ไม่ให้ใครดู คุณหลี่จี้หนิง หัวหน้าแผนกหนังสือหายากเป็นผู้นำชม ข้าพเจ้าเคยเข้าในห้องนี้แล้ว แต่ไม่ได้ดูหนังสือที่เขาจัดมาวันนี้ มีหนังสือชุด 2 เล่ม เกี่ยวกับการเล่นงิ้วปักกิ่งของคณะงิ้วสมัยราชวงศ์ชิงที่ได้เล่นในพระราชวังเสมอๆ มีภาพเขียนตัวงิ้วหลายตัว เช่น รูปพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ที่แปลงกายเป็นหญิงชรา รูปโจโฉ สมัยก่อนมักทำเป็นรูปโจโฉหน้าขาว แต่ปัจจุบันหลายสี รูปหวังเทียนป้า ซึ่งเป็นพวกบู๊ลิ้มคนหนึ่ง รูปเทวดาดูแลดิน รูปทวารบาล แต่ละภาพเขียนลวดลายละเอียดมาก เส้นสีทองใช้ทองคำเปลว สวยงามจริงๆ เขาอธิบายว่าในปัจจุบันเมื่อจะสร้างเครื่องแต่งตัวงิ้วใหม่ก็ศึกษาได้จากสมุดภาพนี้


(น.33) รูป 22 วิธีการซ่อมหนังสือโบราณ


รูป 23 วิธีการซ่อมหนังสือโบราณ


(น.34) รูป 24 วิธีการซ่อมหนังสือโบราณ

(น.34) ภาพที่ได้จากถ้ำตุนหวงนำมาซ่อมแซม แต่ก่อนแตกเป็นชิ้นๆ วิธีการซ่อมแซมก็เป็นไปตามหลักคือ ส่วนไหนที่ซ่อมแซมขึ้นใหม่ก็ใช้กระดาษสีต่างจากของเดิมเพื่อให้รู้ว่าเป็นส่วนที่ซ่อมใหม่ ภาพที่ดูเป็นภาพพระเรียงเป็นแผง เอกสารจากตุนหวง ซึ่งขณะพบมีรอยเปื้อนน้ำมัน (ชนิดที่ใช้จุดตะเกียง เขาเข้าใจว่าคนมือเปื้อนน้ำมันนี้แล้วมาจับเอกสาร) ทางหอสมุดก็ซ่อมแซมโดยใช้กระดาษแปะเช่นเดียวกัน เนื้อหาของเอกสารนี้เป็นจดหมายเหตุเก่าแก่ของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว


(น.35) รูป 25 วิธีการซ่อมหนังสือโบราณ


รูป 26 วิธีการซ่อมหนังสือโบราณ

(น.35) เอกสารสมัยราชวงศ์ถัง แสดงให้เห็นถึงวิธีการซ่อมเอกสารเก่า จะต้องหากระดาษใหม่ที่มีความบางเท่ากระ ดาษเก่า เมื่อติดเข้าด้วยกันแล้วจะได้เป็นเนื้อเดียวกัน สะดวกต่อการดูแลรักษาต่อไป ถ้าไม่ทำเช่นนี้จะเสียหายได้ง่าย


(น.36) รูป 27 การทำกล่องใส่โบราณวัตถุ

(น.36) พระไตรปิฎกสมัยราชวงศ์ซ้อง เป็นพระไตรปิฎกจีนสำนวนแรกที่ตีพิมพ์ขึ้น ก่อนหน้านี้เป็นฉบับตัวเขียน เพิ่งมารวบรวมตีพิมพ์ในสมัยราชวงศ์ซ้อง เริ่มแกะแม่พิมพ์ไม้เมื่อ ค.ศ. 972 ที่เมืองเฉิงตู แคว้นเสฉวน การแกะแม่พิมพ์สำเร็จเมื่อ ค.ศ. 983 จำนวนแม่พิมพ์ไม้พระไตรปิฎก 130,000 เล่ม เทียบกับฉบับตัวเขียนประมาณ 5,000 ผูก (ม้วน) พระไตรปิฎกฉบับราชวงศ์ซ้องนี้มักเรียกชื่อว่า สำนวน Kai bao เป็นต้นฉบับของพระไตรปิฎกจีนที่ตรวจชำระและที่พิมพ์ในเกาหลีในคริสต์ศตวรรษที่ 13
(น.37) พระไตรปิฎกฉบับจีนที่พิมพ์ในเกาหลีนี้เป็นต้นฉบับพระไตรปิฎกจีนปัจจุบันฉบับต่างๆ ที่ตีพิมพ์ในญี่ปุ่น เช่น Tai Shi ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้เป็นมาตรฐานในวงวิชาการ (อ้างอิงจาก Encyclopedia of Religion เล่ม 2 หน้า 506 – 507) พระคัมภีร์พบที่พระธาตุเหลยเฟิงซึ่งอยู่ที่เมืองหังโจว พระธาตุนี้ถูกฟ้าผ่าล้มเมื่อ 20 กว่าปีมานี้ เป็นของ สมัยซ้องเหนือ (แต่หังโจวเป็นราชธานีของอาณาจักรซ้องใต้) แผนที่เก่าแก่ที่สุด เขียนขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1137 เป็นสำเนา (Rubbing) จากแผ่นหิน มีชื่อเมือง เช่น แต้จิ๋ว ไหหลำ เวียดนาม ค่อนข้างจะตรงกับแผนที่สมัยปัจจุบัน สังเกตดูผู้ที่มาใช้ห้องอ่านหนังสือนี้เป็นนักวิชาการค่อนข้างอาวุโส เห็นท่านหนึ่งกำลังอ่านหนังสือโบราณที่เรียกว่า เซี่ยนจวง เป็นหนังสือพิมพ์บนกระดาษบางๆเย็บด้วยด้าย นอกจากนั้นมีที่ตั้งสำหรับอ่านหนังสือเซี่ยนจวงด้วย มีเครื่องอ่านไมโครฟิล์ม นักวิชาการกำลังอ่านเรื่องตำราชงน้ำชา ออกจากห้องนี้ผ่านห้องเก็บหนังสือห้องใหญ่อยู่ทางซ้ายมือ ขวามือเป็นกระจกมองออกไปเป็นสวน หย่อม แต่ตอนนี้เป็นฤดูหนาวไม่มีต้นไม้ เข้าไปที่ห้องซ่อมหนังสือ หัวหน้าแผนกเป็นช่างชื่อคุณตู้เว่ยเซิง เป็นช่างเทคนิคที่เคยไปช่วยงานที่ British Library

Next >>