<< Back
ราชวงศ์ฉิน
จากหนังสือ
เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง หน้า 12-13,25-26
(น.12) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งมณฑลเหลียวหนิง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 เป็น 1 ใน 8 ของพิพิธภัณฑ์สำคัญของจีน
(น.13) เริ่มต้นไปที่ ห้องแผนที่ภูมิภาคตงเป่ย เพื่อให้เห็นสภาพทางภูมิศาสตร์โดยทั่วไป ส่วนที่เป็นที่ราบ แม่น้ำเหลียวเหอ อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันตกเป็นภูเขาซึ่งทอดยาวไปที่เทือกเขาปักกิ่ง ตะวันออกมีฉางไป๋ซาน ทางตะวันออกเฉียงใต้มีทะเลหวงไห่และทะเลโป๋ไห่ ภูมิศาสตร์สัมพันธ์กับแหล่งอารยธรรมโบราณตั้งแต่สมัยหินเก่า อยู่แถวแม่น้ำเหลียวเหอและภูเขาจินหนิว บริเวณวังจิ๋นซีฮ่องเต้ บริเวณใกล้โป๋ไห่
(น.25) ขึ้นไปชั้น 2 ห้อง 4 สมัยฉินและสมัยฮั่นที่จริงเขามีคำอธิบายภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีเวลาอ่าน ถึงปลายสมัย จ้านกว๋อ มีการปกครองเป็นมณฑลและเมือง สมัยฮั่นขยายอิทธิพลไปเกาหลี จิ๋นซีฮ่องเต้สร้างกำแพงเมืองจีนกั้นพวกเผ่าอนารยชน รวมประเทศ สร้างมาตราชั่งตวงวัดเป็นระบบเดียวกัน ของที่มีในสมัยนั้นมีเครื่องถ่วงน้ำหนักสำหรับชั่ง หัวคันไถซึ่งใหญ่มาก เศษกระเบื้องเชิงชาย วังของจิ๋นซี แถวๆซานไห่กวานใกล้มณฑลเหลียวหนิงแต่อยู่ในเขตเหอเป่ย เป็นสถานที่เกิดเรื่องเล่าซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเมิ่งเจียงหนู่ซึ่งสามีถูกเกณฑ์มาสร้างกำแพงเมืองจีนแล้วตายไปมาร้องไห้แล้วโดดทะเลกลายเป็นหิน แถบนี้กล่าวกันว่าจิ๋นซีฮ่องเต้เคยเสด็จ พบหมู่บ้านสมัยจ้านกว๋อ พบสุสานสมัยฉิน อายุราว 2,000 ปี มีภาพการล่าสัตว์ เครื่องเซรามิกของพวกเหลียวเหนือ
(น.26) และพวกเหลียวใต้ ตอนเหนือของมณฑลเหลียวหนิงมีพวกฉยุงหนู (ซึ่งเป็นผู้ร้ายใหญ่ในเรื่องเส้นทางสายไหม) ของสมัยฮั่นตะวันตก พบดาบชนิดต่างๆทำด้วยเหล็ก คันฉ่องโลหะซึ่งใช้เป็นเครื่องมือใส่ในหลุมศพ
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 5 ภาคผนวก หน้า 3
(น.3) 6. ราชวงศ์ฉิน ก่อน ค.ศ. 221 – 206
คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 58,60,71
(น.58) เวลา 08.30 น. เดินทางไปพิพิธภัณฑ์สุสานกษัตริย์หนานเยว่
(น.60) คำว่า เยว่ นั้นพจนานุกรมบอกว่าเป็นแคว้นหนึ่งในสมัยโจวตะวันออก (770-256 ก่อนคริสต์กาล) ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง และเจียงซู ตัวอักษรจีนเขียนดังนี้ 越 นั่นเป็นพวกที่หนึ่ง พวกนี้ถูกพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ผนวกดินแดน
พวกที่ 2 คือพวกหนานเยว่(南越) มีข้อน่าสังเกตว่าจีนเรียกประเทศเวียดนามว่า เยว่หนาน(越南) และใช้ตัวอักษรเดียวกันกับพวกหนานเยว่ในกวางโจว ข้าพเจ้าคิดว่าพวกหนานเยว่อาจจะเป็นบรรพบุรุษของคนเวียดนามในปัจจุบัน
น่าสังเกตว่ามีอีกคำที่อ่านว่า เยว่ เหมือนกันแต่ใช้อักษรคนละตัว 粤 หมายถึงมณฑลกวางตุ้งและกวางสี ข้าพเจ้าเคยได้ยินว่าคนจีนเรียกชนเผ่าต่างๆที่อยู่ทางตอนใต้ว่า ไป่เยว่ แปลว่าเยว่ร้อยเผ่า ในร้อยเผ่านี้มีเผ่าไทอยู่ด้วย
สุสานที่เราดูเป็นของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 ของหนานเยว่ท่านสืบเชื้อสายมาจากทหารของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งกรีฑาทัพมาผนวกดินแดนที่หลิ่งหนาน (ปัจจุบันคือ มณฑลกวางตุ้งและกวางสี) ในปี 214 ก่อนคริสต์กาล ปลายสมัยราชวงศ์ฉิน (221-206 ก่อนค.ศ.) บ้านเมืองวุ่นวาย ท่านนายพลเจ้าถัวถือโอกาสสถาปนาอาณาจักรหนานเยว่ สืบราชสมบัติกันมา 5 รัชกาลก็สิ้นวงศ์ รวมเวลา 93 ปี เป็นสมัยเดียวกับอาณาจักรฮั่นตะวันตก
(น.71) รูป 66 รูปซากอู่ต่อเรือโบราณในจงซาน
(น.71) มีรูปซากอู่ต่อเรือในจงซาน คนนำอธิบายว่า พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ หรือที่จีนเรียกว่า ฉินซื่อหวาง ส่งทหารมาประจำที่กวางโจว เมื่อ 214 ปีก่อนคริสต์กาล ถือเป็นเมืองค้าขายที่มีประวัติยาวนานที่สุดในโลก เป็นศูนย์กลางการค้า มีท่าเรือใหญ่ที่สุดตั้งแต่สมัยหมิง สมัยชิง จนถึงปัจจุบัน ติดต่อกับต่างประเทศมากที่สุด
มีรูปอู่ต่อเรือสมัยราชวงศ์ฉิน กล่าวว่าต่อเรือที่ขนสินค้าได้ 25-30 ตัน รูปซากเรือสมัยราชวงศ์ฮั่น เห็นเป็นเศษไม้ทาสี
เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 73-74
(น. 73)
6. เครื่องปั้นดินเผาสมัยจั้นกั๋ว (เลียดก๊ก) สิ่งของต่างๆ ที่จัดแสดงมีอาทิ เงินตราโบราณสมัยชุนชิวและจั้นกั๋วเป็นสมัยที่จีนแบ่งเป็นก๊กหรือแคว้นต่างๆ แต่ละก๊กมีเงินตราของตนเอง มีลักษณะต่างๆ เงินตราของบางก๊กมีลักษณะคล้ายดาบ บางก๊กมีลักษณะคล้ายจอบ บางก๊กเป็นรูปกลม ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฉิน (ก่อน ค.ศ. 221 – ก่อน ค.ศ. 206) เมื่อฉินสื่อหวงตี้หรือจิ๋นซีฮ่องเต้รวมประเทศได้แล้ว ให้ใช้รูปกลมอย่างเดียว
ของสมัยนี้มีกระเบื้องเชิงชาย คันฉ่อง หัวหอกซึ่งผ่านมา 2,000 ปีก็ยังคม เครื่องสำริดที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ
(น. 74)
7. การขุดค้นสุสานที่เทียนหม่าชวน (Tian Ma Chuan 771 B.C. – 11 B.C.) ในแคว้นฉินหรือจิ๋น พบสุสานโบราณ 10 กว่าแห่ง มีข้าวของฝังไว้มาก ทั้งเครื่องประดับหยก เกราะหยกสำหรับคนตาย เครื่องสำริดเป็นภาชนะใส่เหล้า
เจียงหนานแสนงาม หน้า 268,271-272
(น. 268) ไปวัดซีหยวน ผ่านแหล่งอุตสาหกรรม วัดนี้ตามประวัติว่าเป็นวัดโบราณ แต่ที่เห็นในปัจจุบันเป็นวัดใหม่ที่สร้างและบูรณะในสมัยจักรพรรดิกวงสู (ค.ศ. 1875 – 1908) แห่งราชวงศ์ชิง ในวิหารเทวราช มีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาล ตรงกลางของวิหารมีรูปปั้นพระเมตไตรย ส่วนในมหาวิหาร มีรูปแกะสลักจากไม้ เป็นรูปพระศากยมุนีพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง ด้านหนึ่งเป็นรูปพระอมิตพุทธ
(น. 271) ส่วนบ่อน้ำก็มีเรื่องเล่ากันว่า น้ำในบ่อนี้คนตาบอดดื่มแล้วตาสว่าง แต่ว่าจะกลายเป็นคนโง่ สระกระบี่ ก็มีเรื่องเล่าที่น่าตื่นเต้นว่า พระเจ้าเหอหลีว์ชมชอบกระบี่ ได้ให้ช่างตีกระบี่ไว้มากหลายพันด้าม เป็นกระบี่ไร้เทียมทาน และเก็บสะสมไว้ที่เนินเสือ
(น. 272) ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้ ก่อน ค.ศ. 221 – ก่อน ค.ศ. 210) ได้ยินเรื่องเล่าขานนี้ จึงมาสืบเสาะหากระบี่ของพระเจ้าเหอหลีว์ด้วยพระองค์เอง เมื่อมาถึงเนินเสือ พบเสือโคร่งหมอบบนสุสานจึงกระชากกระบี่ออกแทงเสือ แต่แทงไม่ถูก เสือเลยวิ่งหนีหายสาบสูญไปตั้งแต่นั้น ฉินสื่อหวงตี้ค้นหากระบี่ไม่พบ แต่สถานที่ที่ฝังกระบี่นั้นดินได้ถล่มลงมากลายเป็นสระน้ำ จึงได้ชื่อว่า สระกระบี่ น้ำในสระนี้ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์ ใครใช้ล้างหน้าจะสวยไม่สร่าง หนุ่มสาวขึ้น 18 ปี
ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 209-210
(น.209)เขตการปกครองต่างๆ ของจีนทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น ผู้เขียนพยายามหาคำศัพท์ภาษาไทยที่มีความหมายใกล้เคียงสอดคล้องกับคำในภาษาจีน ในขณะเดียวกันก็หาศัพท์ที่คนไทยคุ้นเคย เพื่อสื่อความหมายให้ใกล้เคียงที่สุด และให้คนไทยเข้าใจได้ด้วย คำแปลเหล่านี้จึงเป็นเพียงการเสนอแนะของผู้เขียน เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าทางด้านจีนวิทยาได้ช่วยกันอภิปรายพิจารณากันต่อไป
1. เขตการปกครองของจีนในอดีต
1.1 เสี้ยน (县) ตามหลักฐาน การจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “เสี้ยน” มีขึ้นครั้งแรก เมื่อประมาณ 688 หรือ 687 ปีก่อน ค.ศ. ดังที่ปรากฏคำนี้ในแคว้นฉิน แคว้นจิ้น และแคว้นฉู่ “เสี้ยน”
(น.210)ได้พัฒนาต่อมาจนลงตัวดีในสมัยการปฏิรูปของซางหยางแห่งแคว้นฉินระหว่าง 359-350 ปีก่อน ค.ศ. เขตการปกครอง “เสี้ยน” จะประกอบด้วยเมืองที่มีกำแพงเมืองล้อมรอบกับบริเวณรอบนอกตัวเมือง “เสี้ยน” ในความหมายดั้งเดิมจึงหมายถึงเขตการปกครองระดับ “เมือง” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Perfecture” ในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618) “เสี้ยน” ถูกลดระดับให้เล็กลงจากเดิม ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Subprefecture” ถึงสมัยราชวงศ์ถัง “เสี้ยน” หมายถึง เขตการปกครองระดับ “อำเภอ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “County” บ้าง หรือ “District” บ้าง คำว่า “เสี้ยน” ที่หมายถึงเขตการปกครองระดับอำเภอได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 63-64
(น.63) สำหรับหลุมที่พบกองทหารม้าของจิ๋นซีฮ่องเต้มี 3 หลุม เปิดใหม่ 2 หลุม จะได้ไปดูรถม้าสมัยนั้น หลุมที่ 1 ที่เป็นหลุมที่ถูกไฟไหม้ถูกทำลายไปบ้างแล้ว หลุม 3 มีสภาพดีกว่า เราขุดมาบางส่วน ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ใต้ดิน เทคนิคการเก็บรักษานั้นยากมาก การขุดค้นต้องทำอย่างช้า ๆ เราเองก็ไม่ค่อยได้ขุดขึ้นมาโดยตั้งใจ ที่พบมักเป็นการพบโดยบังเอิญ เช่นขุดเพื่อก่อสร้างอะไร ๆ แต่ที่คิดว่าน่าจะขุดค้นต่อไป คือสุสานพระเจ้าจิ๋นซี ที่เคยได้ยินมาว่าสุสานถูกฌ้อปาอ๋องปล้นหมดจริงหรือเปล่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกไว้อย่างนั้น เมื่อไปสำรวจจริง ๆ ไม่พบร่องรอยว่ากำแพงถูกทำลายหรือว่ามีการขโมย ปรอทที่มีในหลุมก็ยังอยู่
(น.64) เรื่องของถูกขโมยหรือไม่เป็นข้อโต้แย้งสำคัญ ขโมยสมัยก่อนจะขโมยเฉพาะอาวุธเหล็ก ซึ่งเขาคิดว่าเป็นของมีค่าเอาไปใช้ได้ แต่พวกตุ๊กตาหุ่นซึ่งเป็นของสำคัญจริง ๆ ไม่ได้โดนขโมย วังโบราณที่เรียกว่าอาฝังกงกว้างใหญ่มาก ส่วนสำคัญอยู่ทางตะวันตกของซีอาน ห่างประมาณ 10 กิโลเมตร แต่เราไม่ทราบเรื่องอะไรมาก เนื่องจากสมัยราชวงศ์ฉินสั้นมาก และการรักษาโบราณวัตถุที่แล้วมาทำได้ดีมาก
ความหวังอยู่ที่การขุดสุสานฉินซื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) มากกว่าการขุดพระราชวัง เนื่องจากตามธรรมเนียมเวลามีชีวิตอยู่ใช้ของอะไรเขาก็จะเอาของอย่างนั้นใส่ไว้ในสุสานเหมือนกัน ฉินซื่อหวงตี้อยู่ที่เสียนหยางนานที่สุด ที่เมืองเสียนหยางซึ่งก็ถูกทำลายไปมาก ถ้าดูในสุสานคงได้เห็นภาพฝาผนัง มีเอกสารประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าใต้สุสานมีสระน้ำ มีรูปสัตว์ทำด้วยทองคำ ถ้าขโมยจะขโมยก็คงเอาไปได้แต่ของทองคำ เอาภาพฝาผนังไปไม่ได้
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 369
(น.369) รายพระนามพระจักรพรรดิที่กล่าวถึงใน “มุ่งไกลในรอยทราย” และปีที่ครองราชย์
ราชวงศ์ฉิน ฉินซื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) เจ้าผู้ครองแคว้นฉิน ก่อน ค.ศ. 246 - 221 จักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฉินก่อน ค.ศ. 221 – 210
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 96
(น.96) เมืองโบราณของกษัตริย์หมิ่นเยว่ หมิ่นเยว่เป็นอาณาจักรแรกของมณฑลฮกเกี้ยน พวกหมิ่นเยว่เป็นกลุ่มคนที่มาอาศัยอยู่นานแล้ว ที่มาตั้งเป็นอาณาจักรได้ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เพราะผู้นำของพวกหมิ่นเยว่ช่วยฮั่นเกาจู่รบกับจักรพรรดิราชวงศ์ฉิน จึงได้รับสถาปนาเป็นอ๋อง (อ๋อง เป็นภาษาถิ่นฮกเกี้ยน ภาษาจีนกลางว่า หวัง อักษรจีน) ครองแคว้นหมิ่น สร้างเมือง สร้างวัง นับอายุได้ 2,200 ปีมาแล้ว
หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 79
(น.79) ในต้าหมิงหูมีเกาะ 6 เกาะ มีอยู่เกาะหนึ่งมีศาลากลางทะเลสาบ (หูซินถิง) ที่เกาะฉวินฟังเซียงเต่า มีสวนบุปผชาติ มีวัดทางศาสนาเต๋า และศาลาแปดเหลี่ยมชื่อ ลี่เซี่ย ซึ่งมีประวัติว่าสร้างมา 1,400 กว่าปีแล้ว แต่ที่เห็นในปัจจุบันคือ ศาลาที่สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิคังซี ปีที่ 32 มีประวัติ 300 กว่าปีเท่านั้น ป้ายหน้าศาลาเป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลง ข้างในจัดให้มีรูปคนดังเมืองจี่หนานทุกยุคทุกสมัย 15 ท่าน คือ
1. โจวเหยียน สมัยจั้นกว๋อ ก่อน ค.ศ. 355-265 ปี เป็นนักปรัชญา
2. ฝูเซิง สมัยราชวงศ์ฮั่น ในยุคที่ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) สั่งเผาคัมภีร์ขงจื่อจนหมด แต่ท่านผู้นี้จำไว้ได้ ภายหลังท่องให้ผู้อื่นเขียน
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 120
(น.120) ไปพิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รูปร่างอาคารดูสมัยใหม่มาก แต่ที่จริงแล้วทำเลียนแบบหอดูดาวโบราณ ผู้อำนวยการมาต้อนรับอธิบายว่าพิพิธภัณฑ์เหอหนานเริ่มก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1927 แต่ก่อนอยู่ที่เมืองไคเฟิง ปลายทศวรรษ 1950 ต่อต้น 1960 ที่ทำการรัฐบาลย้ายมาอยู่นครเจิ้งโจว พิพิธภัณฑ์จึงย้ายมาด้วย สร้างเสร็จ ค.ศ. 1959 มีพื้นที่ใช้สอย 15,000 ตารางเมตร ได้สร้างอาคารใหม่ระหว่าง ค.ศ. 1991-1994 เปิดให้เข้าชมได้ใน ค.ศ. 1998 จัดแสดงวัตถุโบราณในมณฑลเหอหนาน ซึ่งมีประมาณ 13,000,000 ชิ้น พื้นที่จัดแสดงประมาณ 78,000 ตารางเมตร ได้ดูวัตถุโบราณ 3 ห้อง ได้แก่ วัฒนธรรมโบราณเหอหนาน ศิลปะแกะสลักหิน มี 2 ห้อง คือ 1. ศิลปะชาวบ้าน 2. ศิลปะทางพุทธศาสนา
เครื่องหยกโบราณ ส่วนมากค้นพบจากในสุสาน เครื่องทองสำริดของรัฐฉู่ ซึ่งเป็นรัฐที่มิใช่ชนชาติจีน เป็นรัฐใหญ่มากกลางประเทศ อาณาเขตกว้างขวางถึงแถบมณฑลหูเป่ย รัฐฉู่มีภาษาและวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากจีน มีวรรณคดีตกทอดมาจนทุกวันนี้ จิ๋นซีฮ่องเต้มาตีรัฐนี้ จึงรวมประเทศได้