<< Back
หอดูดาวยูนนาน
จัดหมวดหมู่สารสนเทศ
หอดูดาวยูนนาน
หอดูดาวยูนนาน (Yunnan Observatory) เป็นหอดูดาวขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในบรรดาหอดูดาวขนาดใหญ่หลายแห่งของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน หอดูดาวแห่งนี้ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2515 ภายใต้การดูแลของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Science) ในช่วงแรกมีชื่อเรียกว่า “สถานีคุนหมิง (Kunming Station)” ซึ่งเป็นสาขาแห่งหนึ่งของหอดูดาวเพอร์เพิลมาวน์เทน (Purple Mountain Observatory) นครนานกิง
หอดูดาวยูนนาน ตั้งอยู่บนยอดเขาฟินิกซ์ (Phoenix Hill) ชานเมืองด้านตะวันออกของนครคุนหมิง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 เมตร ณ ความสูงระดับนี้สภาพอากาศจะเอื้ออำนวยให้มีทัศนวิสัยดีเยี่ยม เหมาะแก่การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์
แม้ว่าหอดูดาวยูนนานจะเป็นหอดูดาวที่ค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับหอดูดาวอื่นๆ ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น หอดูดาวปักกิ่ง หอดูดาวเพอร์เพิลมาวน์เทิน เป็นต้น แต่ก็ถือว่าเป็นหอดูดาวที่มีความสำคัญที่ใช้เป็นฐานในการสังเกตการณ์และการวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศจีนทางตอนใต้ และด้วยเครื่องมือทันสมัย ตลอดจนสภาพอากาศที่แจ่มใสเกือบตลอดปี นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวหลายแห่งทั่วโลกได้เดินทางมาที่หอดูดาวแห่งนี้ เพื่อร่วมมือในการสังเกตการณ์และวิจัยทางด้านดาราศาสตร์[1]
บทบาท
งานวิจัยด้านดาราศาสตร์
กิจกรรมการวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ของหอดูดาวยูนนานแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. การวิจัยคุณสมบัติทางกายภาพของดาวฤกษ์ (Stellar Physics) ตลอดจนวัตถุท้องฟ้าชนิดอื่น เช่น เนบิวลา (หรือกลุ่มหมอกเพลิง) กาแลกซี่ (หรือดาราจักร) เป็นต้น คุณสมบัติทางกายภาพของวัตถุท้องฟ้าอาจพิจารณาในรูปของอุณหภูมิ ความสว่าง แรงโน้มถ่วงหรือองค์ประกอบของวัตถุท้องฟ้าเหล่านั้น
2. การวิจัยคุณสมบัติทางกายภาพของดวงอาทิตย์ (Solar Physics) เช่น การศึกษาสนามแม่เหล็ก หรือจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) การศึกษาชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ในยามปกติ หรือในยามเกิดสุริยปราคา เป็นต้น
3. การวิจัยด้านกลศาสตร์ท้องฟ้า (Celestial Mechanics) เช่น การศึกษาวงโคจรระบบดาวคู่ การศึกษาวงโคจรของดางหาง อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงระหว่างวัตถุท้องฟ้า ตลอดจนการศึกษาการเคลื่อนที่ของดาวเทียมที่โคจรรอบโลก เป็นต้น
4. การวิจัยเกี่ยวกับพิกัดทางด้านดาราศาสตร์ (Astrometry) เช่น การกำหนดตำแหน่งของดาวและวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ บนทรงกลมท้องฟ้าอย่างละเอียด การวัดตำแหน่งของดาวเพื่อใช้กำหนดเวลามาตรฐานบนพื้นโลก เป็นต้น
5. การวิจัยทางด้านดาราศาสตร์วิทยุ (Radio Astronomy) เป็นการศึกษาการแผ่พลังงานของวัตถุท้องฟ้าหลายชนิด นอกจากจะแผ่พลังงานแสงออกมาแล้ว ยังสามารถแผ่คลื่นวิทยุออกมาได้พร้อมกันอีกด้วย เช่น บริเวณใจกลางของกาแลกซี่ ซากของดวงดาวที่ระเบิด เป็นต้น[2]
โครงการที่ดำเนินงานวิจัยอยู่ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2538)
ข้าพเจ้าถามถึงโครงการต่างๆ ที่กำลังมีการวิจัยอยู่ที่สถานี มีโครงการดังนี้
1.Astrophysics วิจัยโครงสร้างของดาว Galaxy-Stellar Evolution
2.Solar physics วิจัยบรรยากาศของดวงอาทิตย์
3. กลศาสตร์ท้องฟ้า (Celestial mechanics) ติดตามดาวเทียมของจีนและต่างประเทศทั้งดาวเทียมทรัพยากร ดาวเทียมคมนาคม และดาวเทียมทางการทหาร
4. วิชาการดาราศาสตร์ วัดตำแหน่งดาว ดูแลเวลามาตรฐานของโลก
มีกลุ่มพัฒนาอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ เช่น ทำกล้องดูดาวโรงงานใหญ่อยู่นานกิง ทำได้ทั้ง Photometer และ CCD มีโครงการตั้งกล้อง 4 เมตร แต่ยังเป็นโครงการในแผ่นกระดาษ แต่ก็หาพื้นที่ตั้งกล้องเอาไว้แล้วที่ภาคตะวันตกยูนนาน จังหวัดลี่เจียง เป็นพื้นที่สูง 3,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง วันนี้เองผู้อำนวยการของหอดูดาวในประเทศชิลีที่มาร่วมวิจัยที่นี่เพิ่งไปดูที่ลี่เจียง[3]
โครงการวิจัยร่วมกับหอดูดาวปักกิ่งและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หอดูดาวยูนนานมีโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านดาราศาสตร์กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณในการแลกเปลี่ยนนักวิชาการจากรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ งานวิจัยที่ร่วมดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ การศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของดาวคู่อุปราคา (Eclipsing Binary) ชนิดต่างๆ[4]
โครงการศึกษาดาวคู่
ไปดูโครงการที่หอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำวิจัยร่วมกับหอดูดาวปักกิ่งและยูนนาน คือโครงการศึกษาดาวคู่ ศึกษาความแตกต่างในด้านความสว่างในเวลาต่างๆ กัน โดยมีดาวมาตรฐาน (comparison star) ดวงหนึ่ง ส่ง diskette ให้กันได้[5]
ดาวคู่ (Binary Star) เป็นระบบดาวที่มีดาว 2 ดวงโคจรรอบกัน โดยมีแรงดึงดูดระหว่างกัน การศึกษาดาวคู่มีความสำคัญมากทางด้านดาราศาสตร์ เนื่องจากดาวฤกษ์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าในยามค่ำคืนนั้น เป็นระบบดาวคู่อยู่เป็นจำนวนถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ การศึกษาระบบดาวคู่ ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพของดาวฤกษ์ เช่น มวล ขนาด ความสว่าง อุณหภูมิ เป็นต้น รวมทั้งวงโคจรและการเคลื่อนที่ของดาวด้วย
เมื่อมองระบบดาวคู่ผ่านกล้องดูดาว บางครั้งอาจเห็นเป็นดาว 2 ดวงแยกกันได้อย่างชัดเจน เรียกดาวคู่ประเภทนี้ว่า “ดาวคู่มองเห็นได้ (Visual Binary)” ดาวประเภทนี้มีระยะห่างกันมากพอที่อำนาจการขยายภาพของกล้องดูดาวสามารถแยกให้เห็นเป็น 2 ดวงได้
อย่างไรก็ตาม มีระบบดาวคู่อีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ว่าจะมองผ่านกล้องดูดาวขนาดใหญ่เท่าใดก็ตาม ก็ไม่อาจแยกให้เห็นเป็น 2 ดวงได้เลย ทั้งนี้เนื่องจากดาวทั้ง 2 ดวงอยู่ใกล้กันมาก นักดาราศาสตร์ทราบว่าเป็นดาวคู่เนื่องจากเมื่อดาวทั้ง 2 ดวงเคลื่อนที่ในวงโคจร บางขณะจะปรากฏบังกัน แต่ในบางขณะดาวจะไม่บังกันเมื่อมองจากโลก ทำให้แสงดาวมีการเปลี่ยนแปลงได้ จึงเรียกดาวคู่ประเภทนี้ว่า “ดาวคู่อุปราคา”
นักดาราศาสตร์ใช้เครื่องโฟโตอิเล็กตริก โฟโตมิเตอร์ ต่อเข้ากับกล้องดูดาวก็สามารถวัดการแปรแสงของระบบดาวคู่อุปราคานี้ได้ จากข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์โดยใช้ซอฟต์แวร์ทางด้านดาราศาสตร์ก็จะสามารถวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและวงโคจรของระบบดาวคู่อุปราคาได้[6]
อุปกรณ์ที่ใช้ในการค้นคว้าวิจัยในหอดูดาวยูนนาน
อุปกรณ์หลัก
อุปกรณ์หลักของหอดูดาวยูนนาน ได้แก่ กล้องดูดาวแบบสะท้อนแสง ซึ่งมีกระจกสะท้อนแสงผิวโค้งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร เป็นกล้องดูดาวขนาดใหญ่ มีระบบรวมแสงที่เรียกว่า “ระบบคาสซิเกรน (Cassegrain Focus)” กล่าวคือ แสงดาวที่ผ่านเข้ามาในกล้องดูดาวจะสะท้อนกระจก 2 ครั้ง แล้วภาพดาวจะมาปรากฏบริเวณด้านท้ายของกล้องดูดาว กล้องดูดาวดังกล่าวสร้างโดยบริษัท Carl Zeiss Gena ของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน
นอกจากกล้องดูดาวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตรแล้ว หอดูดาวยูนนานยังมีกล้องดูดาวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตรอีกกล้องหนึ่ง ซึ่งมีระบบการรวมแสงแบบคาสซิเกรนเช่นกัน[7]
อุปกรณ์อื่นๆที่ต่อพ่วงเข้าระบบการใช้งาน
ในการวิจัยทางดาราศาสตร์โดยกล้องดูดาวดังกล่าว นักดาราศาสตร์จะนำเครื่องบันทึกสัญญาณ (Detector) ชนิดต่างๆ มาต่อเข้ากับกล้องดูดาว เมื่อแสงผ่านกล้องดูดาวเข้ามายังเครื่องบันทึกสัญญาณแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนความเข้มของแสงดาวให้เป็นสัญญาณในลักษณะอื่นได้ เช่น สัญญาณไฟฟ้า เส้นสเปกตรัม สัญญาณภาพดิจิตอล เป็นต้น เครื่องบันทึกสัญญาณหลักที่ใช้กับกล้องดูดาวยูนนานได้แก่
1. เครื่องไฟโตอิเล็กตริก โฟโตมิเตอร์ (Photoelectric Photometer) สามารถเปลี่ยนความเข้มของแสงดาวที่ตกกระทบไปเป็นสัญญาณไฟฟ้า แล้วเปลี่ยนเป็นตัวเลขเก็บไว้ในแฟ้มข้อมูลของคอมพิวเตอร์ได้ เครื่องไฟโตอิเล็กตริก โฟโตมิเตอร์ สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์สภาวะทางกายภาพของดวงดาว การวิเคราะห์ความสว่างของดาวแปรแสง และการวิเคราะห์วงโคจรของระบบดาวคู่ได้
2. เครื่องสเปกโตรกราฟ (Spectrograph) หรือเครื่องแยกแสง สามารถเปลี่ยนความเข้มของแสงดาวที่ตกกระทบไปเป็นเส้นสเปกตรัมสีต่างๆ เส้นสเปกตรัมที่ได้จะสามารถบอกให้ทราบถึงปริมาณของธาตุต่างๆ ที่ประกอบเป็นบรรยากาศของดาวฤกษ์ การเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ตลอดจนการขยายตัวของเอกภพ
3. เครื่องถ่ายภาพ ซี ซี ดี (CCD Camera) หรือเครื่องคู่ควบประจุ (Charge-Coupled Device) เป็นอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้บันทึกภาพเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง คุณสมบัติพิเศษของเครื่องถ่ายภาพ ซี ซี ดี อีกประการหนึ่งคือ มีความไวแสงมาก (เทียบได้กับฟิลม์ถ่ายภาพที่มีค่า ISO ประมาณ 100,000) ดังนั้น เครื่องถ่ายภาพ ซี ซี ดี จึงเหมาะแก่การบันทึกภาพของวัตถุท้องฟ้าที่มีแสงจากมากๆ เช่น เนบิวลา กาแลกซี่ เป็นต้น
เครื่องถ่ายภาพ ซี ซี ดี ประกอบด้วยหัววัดสัญญาณแสงขนาดเล็ก ที่เรียกว่า “โฟโตไดโอด (Photodiode)” เรียงกันเป็นจำนวนหลายแสนตัว อยู่บนชิป (Chip) ขนาดเล็ก ระบบ ซี ซี ดี ที่หอดูดาวยูนนานเป็นหัววัดสัญญาณขนาด 512 x 512 พิกเซล (Pixel) กล่าวคือ ประกอบด้วยโฟโตไดโอดเป็นจำนวน 262,144 ตัว ในอนาคตจะพัฒนาเป็นหัววัดสัญญาณขนาด 1024 x 1024 พิกเซล ซึ่งจะประกอบด้วยโฟโตไดโอดเป็นจำนวนถึง 1,048,576 ตัว จะทำให้ภาพที่บันทึกได้มีความละเอียดสูงมาก และได้ข้อมูลในการวิจัยที่มีคุณภาพสูงด้วยการประมวลผลจากภาพ (Image Processing) อาศัยซอฟต์แวร์ที่พัฒนาบนเครื่อง Sun Workstation[8]
อุปกรณ์สำหรับการวิจัยดวงอาทิตย์
สำหรับการวิจัยด้านดวงอาทิตย์ กลุ่มนักดาราศาสตร์ของหอดูดาวยูนนานได้ร่วมมือกันดำเนินการวิจัยในหลายด้าน โดยมีอุปกรณ์การวิจัยดังนี้
1. เครื่องสะท้อนภาพดวงอาทิตย์ (Heliostat) ซึ่งประกอบด้วยกระจกโค้งฉาบบนผิวหน้าเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร สะท้อนภาพดวงอาทิตย์เข้าสู่ห้องปฏิบัติการ แล้วต่อไปยังเครื่องแยกแสง (Spectrograph) สามารถวิเคราะห์โครงสร้างอย่างละเอียดของดวงอาทิตย์ได้
2. กล้องสำรวจดวงอาทิตย์ (Solar Patrol Telescope) ซึ่งประกอบด้วยเลนส์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เซนติเมตร ใช้ศึกษาบรรยากาศชั้นโฟโตสเฟียร์ (Photospheres) และโครโมสเฟียร์ (Chromospheres) ของดวงอาทิตย์
3.กล้องดูดวงอาทิตย์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12.7 เซนติเมตร ใช้ศึกษาจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspots) และสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์
สำหรับการวิจัยทางด้านดาราศาสตร์วิทยุ หอดูดาวยูนนานมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุ (Radio Telescope) ขนาดใหญ่ มีจานรับสัญญาณขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร เพื่อใช้รับสัญญาณวิทยุที่ส่งมาจากวัตถุท้องฟ้าต่างๆ เช่น กาแลกซี่ กลุ่มก๊าซไฮโดรเจนในอากาศ หรือ ซากดาวระเบิด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร ใช้ศึกษาคลื่นวิทยุที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ ในช่วงที่ดวงอาทิตย์มีการแผ่คลื่นวิทยุอย่างรุนแรง (Solar Radio Burst[9]
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเทียบเวลา
ระบบการบริการเวลา (Time Service System) หอดูดาวยูนนานมีนาฬิกาควอทซ์ (Quartz) และรูบีเดียม (Rubidium) เพื่อใช้บอกเวลา สำหรับการเทียบเวลามาตรฐานนั้นวัดจากดวงดาวโดยตรง โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ทรานซิท (Transit Telescope) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร
หอดูดาวยูนนาน ยังมีกล้องดาราศาสตร์จีออเดซี่แบบอัตโนมัติ (Astronomical Geodesy Automatic) ซึ่งเป็นกล้องถ่ายภาพทางดาราศาสตร์แบบชมิดท์ (Schmidt Astronomical Camera) มีระบบการวัดระยะทางโดยใช้แสงเลเซอร์ (Laser Ranging System) ติดอยู่ด้วย กล้องดังกล่าวนี้สามารถใช้ติดตามดาวเทียม (Satellite Tracking) ได้ นอกจากนี้ยังเคยใช้กล้องนี้ถ่ายภาพดาวหาง West )(1975) ที่ผ่านเข้ามาใกล้โลกในปี .ศ. 2518 และดาวหาง Kohoutek (1973) ที่ผ่านมาใกล้โลกในปี พ.ศ.2516 อีกด้วย[10]
อุปกรณ์สำหรับให้บริการวิชาการด้านดาราศาสตร์สำหรับประชาชนทั่วไป
สำหรับการบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ชุมชน หอดูดาวยูนนานมีกล้องดูดาวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 เซนติเมตร ซึ่งเป็นกล้องดูดาวแบบสะท้อนแสง ใช้ในการส่องดูวัตถุท้องฟ้าชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวเคราะห์ที่สว่าง เช่น ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวอังคาร เป็นต้น หรือเนบิวลาสว่าง เช่น เนบิวลาใหญ่ในกลุ่มดาวนายพราน (Great Nebula in Orion) เป็นต้น ตลอดปีจะมีนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมหอดูดาวยูนนานและศึกษาความรู้ทั่วไปทางด้านดาราศาสตร์[11]
กล้องโทรทรรศน์
ที่หอดูดาว มีศาสตราจารย์ถานฮุยซง ศาสตราจารย์หลิวชิงหยาวและศาสตราจารย์หยางยู่หลาน ต้อนรับ พาขึ้นไปดูกล้องโทรทรรศน์ เครื่องที่กระจกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร โปรเฟสเซอร์ให้ภาพที่เขาถ่ายรูปดาวพฤหัสไว้ หอดูดาวแห่งนี้ไม่ได้ถ่ายภาพตอนที่ดาวหางชนดาวดวงนี้
กล้องที่ตั้งไว้ให้ดูคือกลุ่มดาว Orion ซึ่งจะมองเห็นเนบิวลาใหญ่และดาว 4 ดวง (เป็นดาวที่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรา) กล้องที่ใช้เป็นของบริษัท Carl Zeiss Gena ติดตั้งที่นี่เมื่อปี ค.ศ. 1979 ในระหว่างปี ค.ศ. 1979 – 1989 เป็นกล้องที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน กล้องแบบนี้มีขั้วขนานกับแนวขั้วของโลก ชี้ไปที่ขั้วเหนือของท้องฟ้า การดูดาวกล้องจะปรับตัวให้หมุนสอดคล้องกับการหมุนรอบตัวเองของโลกและให้ตามกลุ่มดาวได้ แสงของดาวสะท้อนกระจกเข้าเครื่องต่อ CCD (Charge – Coupled Device) แล้วมีกล้องขนาดเล็กกว่าติดอยู่กับกล้องใหญ่ ทำหน้าที่ตามภาพเป็น view finder ติดตาม (track) ดาวตลอด นักวิทยาศาสตร์นักวิจัยของสถาบันที่ทำงานที่หอดูดาวแห่งนี้ แต่ละปีสามารถเขียนบทความทางวิชาการดาราศาสตร์ลงวารสารวิชาการทั้งในและนอกประเทศ วารสารต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ Astrophysical Jounal ของสหรัฐอเมริกา และ Astronomy and Astrophysics Journal ของประเทศในยุโรป มีนักดาราศาสตร์ชาวต่างประเทศ เช่น ชาวอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น มาทำงานวิจัยที่สถานดูดาวแห่งนี้ปีละหลายคน มีกล้องโทรทรรศน์ 27 กล้อง ทั้งแบบใช้แสงและ radio telescope ศึกษาดาวฤกษ์ จักรวาล Galaxy บรรยากาศของดาว (stellar atmosphere) อุณหภูมิ และสภาพทางเคมีของดาว ศึกษาได้ตั้งแต่ที่ช่วงคลื่นแสงสีน้ำเงิน ไปจนถึงแสง Infrared
ไปดูภาพที่จอ CCD (512 x 512 pixels) ใช้ exposure time 3 วินาที ซึ่งสั้น เกิดแสงดาวแรงกว่ากลุ่มเนบิวลา จึงทำให้มองไม่เห็นเนบิวลา การถ่ายรูปใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุม CCD ชุดนี้ค่อนข้างเก่าคือได้รับช่วงต่อจากสถานีของสหรัฐฯ ที่ Arizona เป็นของตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 ข้าพเจ้าเคยไปดู CCD ที่หอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บนดอยสุเทพ ถ่ายภาพได้ ASA ประมาณ 100,000
ปีนี้จะต่อ Sun Workstation ที่นี่ (ใช้ด้าน image processing ได้ดี)
กลับขึ้นไปที่กล้องดูดาว ดูดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่เห็นได้ชัดบนท้องฟ้าขณะนี้ เห็น polar cap เป็นรอยมืด เห็นดาวบริวารดวงที่ 1 ชื่อ Phobus ถ่าย 15 วินาที ดาวอังคารสว่างกว่าดาวบริวารมาก ในที่นี้เขาพยายามปรับกล้องให้มองเห็นดาวบริวารด้วยรายละเอียดที่ดาวอังคารจึงไม่ค่อยชัดเจน
นักดาราศาสตร์ของสถานี 5 คนจะไปสังเกตการณ์สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปีนี้ที่เมืองไทย เดินไปดูหอดูดาวอีกแห่งหนึ่ง ในบริเวณนั้น ไม่ไกลนัก เป็นกล้อง 24 นิ้ว มีกระจกสะท้อนเป็นแบบ Cassegrain telescope ตั้งกล้องชี้ไปทางดาวเหนือ[12]
อ้างอิง
1. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 242
2. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 243
3. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 105,106
4. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 247
5. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 106
6. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 247,248
7. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 244
8. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 244,245
9. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 246
10. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 246,247
11. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 247
12. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 101,103,104,105