<< Back
จี้เซี่ยนหลิน
จากหนังสือ
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 196-202
(น.196) รูป 210 ไปบ้านอาจารย์จี้เซี่ยนหลิน
(น.196) เราไปเยี่ยมอาจารย์จี้เซี่ยนหลิน ถึงจะอายุมากแล้ว แต่สุขภาพยังดีอยู่ สมองดี พูดชัดเจน มีเลขานุการคนหนึ่ง ลูกศิษย์คนหนึ่ง ที่ท่านอยู่มีหลายห้อง เป็นห้องเล็กๆ มีหนังสือเต็มไปหมด มีของตั้งประดับอยู่บ้าง ตุ๊กตุ่นตุ๊กตาก็มี ในห้องมีรูปเขียนดอกบัวสีชมพู ดอกบัวชนิดนี้ผู้ที่ผสมพันธุ์ (?) ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ท่านว่า จี้เหอ คือดอกบัวของอาจารย์จี้ ที่คูน้ำหน้าห้องของท่านเป็นต้นบัวที่อาจารย์จี้ปลูกเอง ตอนนี้ยังหนาวบัวจึงไม่มีดอกไม่มีใบ ข้าพเจ้าต้องกลับมาใหม่ตอนฤดูร้อน (คิดว่าจะกลับมาอยู่แล้ว) ถามท่านว่า
(น.197) ทำไมเรียนภาษาสันสกฤต ท่านอธิบายว่าวัฒนธรรมใหญ่ๆ มีวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งสองวัฒนธรรมมีความเกี่ยวข้องกัน จีนรับวัฒนธรรมหลายอย่างจากอินเดียที่เห็นชัดเจนคือพุทธศาสนา ท่านเล่าเรื่องการสอนภาษาสันสกฤตในมหาวิทยาลัยปักกิ่งว่าเรียนกันมา 4 รุ่นแล้ว พูดชื่อคนโน้นคนนี้ข้าพเจ้าไม่รู้จัก สรุปได้ว่าแต่ละรุ่นมีคนเรียนไม่มากนัก รวมๆ กันทั้งหมดมี 18 คน ตอนนี้ก็ยังมีคนเรียนกับท่าน มาเรียนที่บ้าน ข้าพเจ้าบอกว่าตอนที่ข้าพเจ้าเรียนภาษาบาลีก็ไปเรียนที่บ้านอาจารย์แย้ม
ข้าพเจ้าถามว่าท่านสอบเข้าได้ทั้งมหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยซิงหัว ทำไมไม่เรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ไปเรียนที่ซิงหัว (ซึ่งส่วนใหญ่เรียนด้านวิศวะ) อาจารย์จี้ (ซึ่งลูกศิษย์เรียกกันว่า จี้เหล่า หมายถึง อาจารย์ผู้ใหญ่) บอกว่าสมัยนั้นมหาวิทยาลัยซิงหัวมีความสัมพันธ์อันดีกับมหาวิทยาลัยเกอร์ทิงเกนในเยอรมนี ท่านคิดว่าจะมีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ ตอนที่ไป เรียนทั้งภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาพระเวท ภาษาปรากฤต ภาษา Hybrid Sanskrit ซึ่งเป็นภาษาที่ท่านชำนาญ
(น.197) รูป 211 ห้องหนังสือของอาจารย์จี้
(น.198) รูป 212 ห้องคัมภีร์
(น.198) เขียนวิทยานิพนธ์ก็เขียนภาษาเยอรมัน เรื่อง มหาวัสตุ ซึ่งเป็นภาษา Hybrid Sanskrit ท่านแปลรามายณะจนจบ เอามาให้ข้าพเจ้าทั้งหีบ มีหนังสือรวมบทความ หนังสือสอนภาษาสันสกฤต ที่นั่นเรียนกับอาจารย์ Waldschmidt และอาจารย์ Sieg (สอนไวยากรณ์มหาภาษยะ) ท่านบอกว่าเวลานี้มหาวิทยาลัยเกอร์ทิงเกนก็ยังมีความสัมพันธ์กับท่าน ส่งนักศึกษามาเรียน
ถามท่านว่าภาษาถูหั่วหลัวที่ท่านเรียนเป็นภาษาอะไร ท่านบอกว่าภาษาโทคาริก ซึ่งเป็นภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน อยู่ในซินเจียง มีสองกลุ่ม เรียกกันว่ากลุ่ม A และกลุ่ม B หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับภาษานี้เป็นหนังสือที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกอร์ทิงเกนเป็นผู้พิมพ์ ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามหาวิทยาลัยเกอร์ทิงเกนนี้พิมพ์หนังสือดีๆ เห็นท่าจะต้องลองไป ข้าพเจ้าคิดจะไปเรียนภาษาเยอรมันที่ประเทศเยอรมันสักครั้งหนึ่ง ทางสถาบันเกอเธ่ที่ประเทศไทยแนะนำให้ไปเรียนที่เกอร์ทิงเกน มีคนชวนไปที่อื่นซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าน่าสนใจเหมือนกัน คิดอีกทีไปเกอร์ทิงเกนดีกว่า จะได้มีโอกาสไปเรียนภาษาสันสกฤตบ้าง
(น.199) ท่านมีห้องหนังสือหลายห้อง มีหนังสือโบราณ หนังสือทางพุทธศาสนาก็เยอะแยะ มีพระไตรปิฎก ตอนนี้กำลังค้นคว้าพุทธศาสนานิกายวัชรยาน (แบบทิเบต) ในเมืองคู่เชอ (เมืองนี้ชาวต่างชาติมักเรียกเคลื่อนเป็นเมืองกุฉา-Kucha) ทางตะวันตกของภูมิภาคปกครองตนเองซินเจียง
มีหนังสือของ Pali-Text Society ข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้าก็มี แต่ตัวแมลงกินไปบ้าง อาจารย์ว่าที่เมืองจีนก็มีแมลงต้องระวังเหมือนกัน ข้าพเจ้าหยิบหนังสือมาดูเล่มหนึ่ง เป็นพจนานุกรมภาษาอิหร่านโบราณแปลเป็นภาษาเยอรมัน ภาษาอิหร่านโบราณกับภาษาสันสกฤตมีส่วนใกล้เคียงกันมาก
ห้องกระจกเล็กๆ มองไปเห็นคูน้ำ เป็นห้องที่จี้เหล่าใช้นั่งเขียนพู่กันจีน มีกระดาษเขียนจดหมาย มีตราของจี้เหล่าและมีรูปดอกบัว
(น.199) รูป 213 ห้องนอน
(น.200) รูป 214 อาจารย์จี้ให้หนังสือที่แต่งเอง
(น.200) ข้าพเจ้ามอบหนังสือต่างๆ ที่ข้าพเจ้าแต่งและหนังสือมหาชนก ท่านเห็นเข้าก็บอกว่ามหาชนกท่านก็เคยแปลแล้ว บรรณานุกรมของข้าพเจ้านั้นแจกเล่มภาษาอังกฤษหมดไปแล้วเหลือแต่ภาษาไทย ต้องโทร.ไปบอกกรุงเทพฯให้ส่งมาอีก
ท่านเลี้ยงแมวไว้ 4 ตัว แต่แรกเลขานุการบอกว่าดูไม่ได้เพราะว่าไม่สะอาด แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจให้ดู เป็นแมวสีขาว ขนฟู ตัวโตกว่าแมวทั่วๆ ไปที่เคยเห็น
ข้าพเจ้าลาจี้เหล่าเดินหลับหอพักผ่าน “ป่า” บรรยากาศสวยงามมาก (ถ้าเป็นฤดูร้อน)
(น.201) รูป 215 หนังสือที่อาจารย์จี้แต่ง
(น.202) รูป 216 ถ่ายรูปหน้าบ้านอาจารย์จี้