Please wait...

<< Back

เฉินตวนเซิง

จากหนังสือ

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 273-275

(น.273) ภาคผนวก
เฉินตวนเซิง และถานฉือ ไจ้เซิงหยวน
เฉินตวนเซิงเป็นชาวหังโจว เกิดในตระกูลขุนนาง ปู่เป็นบรรณาธิการใหญ่ในการจัดทำหนังสือ ประมวลประวัติศาสตร์ชุด อุ๋นเซี่ยนทงเข่า ซึ่งเป็นฉบับที่ต่อจากหนังสือประวัติศาสตร์ที่หม่าตวนหลินได้เขียนไว้ เฉินตวนเซิงมีความสามารถทางการประพันธ์ เมื่ออายุราวๆ 18-20 ปีได้แต่งถานฉือ (บทขับ) ชื่อ ไจ้เซิงหยวน แต่ประพันธ์ถึงตอนที่ 16 ก็ทิ้งค้างไว้ จากนั้นแต่งงานกับฟั่นเอี๋ยน ต่อมาสามีต้องคดีทุจริตการสอบไล่ ถูกลงโทษเนรเทศไปอยู่ซินเจียง หลังจากทิ้งถานฉือที่แต่งค้างไว้ 10 กว่าปีได้ประพันธ์ต่ออีก 1 ตอนเป็นตอนที่ 17 แล้วชะงักไปอีก ทั้ง ๆ ที่ยังประพันธ์ไม่จบ ต่อมากวีหญิงชื่อ เหลียงเต๋อเสิง ได้ประพันธ์ต่ออีก 3 ตอน รวมเป็น 20 ตอน แล้วมีกวีหญิงอีกคนหนึ่งชื่อ โหวจือซิว เขียนดัดแปลงให้เป็นนวนิยาย 80 บท

(น.274) เรื่อง ไจ้เซิงหยวน นี้ เฉินตวนเซิงได้สื่อสารความคิดการต้านวัฒนธรรมจีนที่ไม่ยกย่องไม่ยอมรับความสามารถและบทบาทของสตรี ผ่านตัวละครชื่อ เมิ่งลี่จวิน หญิงสาวผู้มีปัญญาเลิศ เชื่อมั่นในตนเอง ทำงานเก่ง มีความคิดล้ำสมัย ไม่ติดอยู่ในขนบประเพณี กล้าทำในเรื่องที่ตนเห็นสมควร นักวิจารณ์วรรณคดีวิเคราะห์ว่าเรื่องนี้มีเนื้อหาสาระน่าสนใจ จินตนาการดี การผูกเรื่องดำเนินเรื่องราบรื่น พรรณนาลักษณะของตัวละครได้ละเอียดแจ่มชัด บรรยายการต่อสู้และอุปนิสัยของพวกกังฉินตงฉินได้สมจริงไม่สุดขั้ว แม้เนื้อเรื่องจะสลับซับซ้อน แต่ผู้อ่านก็ไม่สับสน เพราะนำเสนอดีเป็นลำดับ รวมทั้งมีไคลแม็กซ์เป็นช่วงๆ การที่เนื้อเรื่องไม่ยอมรับขนบประเพณีจีน ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้มีชีวิตชีวามาก ถานฉือ ไจ้เซิงหยวน ที่มีเมิ่งลี่จวินเป็นนางเอกนี้ คนไทยที่เป็นแฟนหนังทีวีจีนรู้จักกันดี เพราะมีหนังทีวีชื่อ เมิ่งลี่จวิน มาเผยแพร่ออกอากาศ ส่วนเนื้อหาที่เฉินตวนเซิงประพันธ์ไว้มีสาระสำคัญว่า ในสมัยราชวงศ์หยวน ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อ เมิ่งซื่อหยวน เมื่อปลดเกษียณแล้วได้กลับมาอยู่บ้านเกิด ขุนนางคนนี้มีลูกสาวชื่อ เมิ่งลี่จวิน เป็นคนสวย ปัญญาดีหมั้นหมายกับหวงฝู่เซ่าหัว บุตรชายของหวงฝู่จิ้งจือ ผู้ว่ามณฑลยูนนาน มีชายหนุ่มอีกคนหนึ่งชื่อ หลิวขุย เป็นลูกของราชบุตรเขย (เป็นหลานของพระจักรพรรดิ) หลงรักเมิ่งลี่จวิน ต้องการแต่งงานกับนาง แต่ไม่สำเร็จเกิดความโกรธแค้น จึงวางแผนให้ร้ายตระกูลเมิ่งและตระกูลหวงฝู่ จนได้รับความเดือดร้อนลำบาก เมิ่งลี่จวินตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ปลอมเป็นผู้ชาย ไปเรียนหนังสือจนสอบได้เป็นจอหงวน เข้ารับราชการเป็นขุนนาง มีผลงานยอดเยี่ยมทำงานถวายสำเร็จหลายเรื่อง จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นอัครเสนาบดีระหว่างที่เมิ่งลี่จวินเป็นใหญ่ ตระกูลหลิว (ตระกูลราชบุตรเขย พ่อของหลิวขุย) ตกต่ำ อำนาจถดถอยลง ส่วนหวงฝู่เซ่าหัวนั้นตำแหน่งหน้าที่ราชการก้าวหน้า จนได้เป็นอ๋องในท้องถิ่น เพราะเมิ่งลี่จวินช่วยส่งเสริม

(น.275) แม้ว่าเหตุการณ์ได้พลิกกลับมาในทางดีแล้ว แต่เมิ่งลี่จวินก็ยังไม่ยอมเผยตนว่าเป็นหญิง พ่อแม่มาหาก็ไม่ยอมรับ หวงฝู่เซ่าหัวของแต่งงานก็ไม่ตกลงปลงใจด้วย ต่อมาเมื่อจักรพรรดิทรงรู้ว่าเมิ่งลี่จวินเป็นผู้หญิง ก็มีรับสั่งให้เป็นสนม นางจึงเดือดร้อนมากจนกระอักเลือด เฉินตวนเซิงแต่งเรื่องค้างไว้เพียงแค่นี้ เพราะจบไม่ลง ส่วนกวีหญิงที่มาประพันธ์ต่อนั้น เขียนแบบทั่วๆ ไป ไม่มีอะไรพิเศษ จบด้วยความสุข (Happy Ending) เหตุที่จบไม่ลงนั้น นักวิจารณ์วรรณคดีเห็นว่า การผูกเรื่องนั้นหากดูผิวเผินก็เหมือนเรื่องทั่วๆ ไป มีเรื่องธรรมะ-อธรรม ความรัก ปัญหาการสมรส แต่ถ้าพิเคราะห์ให้ลึกซึ้งจะพบว่า เฉินตวนเซิงได้อาศัยเมิ่งลี่จวิน ตัวละครเอกในเรื่องสะท้อนความรู้ ความสามารถ ความเชื่อมั่น ความคิด และอุดมการณ์ของตนเอง การเขียนให้เมิ่งลี่จวินไม่ยอมรับพ่อแม่ ทั้งๆ ที่ตามขนมของจีน พ่อแม่เป็นใหญ่ พ่อแม่ของคู่หมั้นมากราบไหว้ก็ยอมให้ทำ ทั้งๆ ที่ตนเองอยู่ในฐานะกึ่งสะใภ้แล้ว คู่หมั้นมาขอแต่งงานก็ไม่ตกลง แสดงให้เห็นถึงการต่อต้านขนมประเพณีจีนตามลัทธิขงจื้อที่ผู้หญิงถูกจำกัดสิทธิ ไม่ได้รับการยกย่อง ด้วยเหตุนี้ เมื่อเขียนถึงตอนที่เมิ่งลี่จวินถูกจับได้ว่าเป็นผู้หญิง จึงประพันธ์ต่อไม่ได้ เพราะไม่ต้องการให้นางต้องไปอยู่ในขนบประเพณีเดิมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงต้องทำตามทุกอย่าง จึงไม่รู้ว่าจะเขียนต่ออย่างไรดี ทิ้งค้างไว้จบไม่ได้