Please wait...

<< Back

ลั่วหยาง

จัดหมวดหมู่สารสนเทศ

ลั่วหยาง

ลั่วหยังอยู่ทางตะวันตกของมณฑลเหอหนาน เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ต่างๆ รวม 9 ราชวงศ์ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก มีแหล่งศิลปะโบราณคดีจำนวนมาก ถ้ำหลงเหมินถือว่าเป็นแหล่งหนึ่งใน 3 แห่งที่เป็นคลังเก็บศิลาจารึก วัดม้าขาวเป็นวัดแรกในจีนที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 68 สมัยจักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หลังจากการเผยแพร่พุทธศาสนาเข้ามาในจีนแล้ว (จริงหรือเปล่าประพจน์) เขาถือกันว่าดอกโบตั๋นของลั่วหยังสวยที่สุดในโลก ตั้งแต่ ค.ศ. 1983 นครลั่วหยังจัดงานแฟร์โบตั๋นทุกปี ลั่วหยังมีแร่ธาตุสำคัญหลายอย่าง ส่วนที่เป็นภูเขาก็เป็นแหล่งสัตว์และพืชพรรณนานา[1]

ด้านอุตสาหกรรม

เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว มีโครงการสำคัญๆ มาตั้งที่นี่ เช่น โรงงานทำรถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรต่างๆ โรงงานเหล่านี้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ โครงการชลประทานที่สำคัญที่สุดคือ โครงการเสี่ยวลั่งตี่ มีเงื่อนไขที่ดีในการลงทุน การคมนาคมสะดวก มีโรงแรมทันสมัย รวมทั้งได้สร้างความสัมพันธ์กับเมืองอื่นหลายเมือง[2]

สถานที่สำคัญ/แหล่งท่องเที่ยว

ถ้ำหลงเหมิน

ที่ลั่วหยัง ถือว่าเป็นแหล่งหนึ่งใน 3 แห่งที่เป็นคลังเก็บศิลาจารึก บริเวณถ้ำหลงเหมินนี้มีภูเขาสองด้าน มีแม่น้ำอี๋ไหลผ่านกลาง อีกฝั่งหนึ่งเป็นภูเขาเซียงซาน ซึ่งกล่าวกันว่ามีสมุนไพรหลายชนิด ด้านหลงเหมินซานมีถ้ำที่สลักพระพุทธรูปจำนวนมาก พวกที่เริ่มสลักหินที่ถ้ำที่นี่คือ พวกทั่วป๋าเว่ย หรือที่ภาษาไทยเรียกเคลื่อนมาว่าโทปาเว่ย เป็นคนกลุ่มน้อยที่รับนับถือพุทธศาสนา อาจจะก่อนชาวจีนเสียด้วยซ้ำไป เริ่มสลักใน ค.ศ. 495 ในช่วงนี้พวกเว่ยย้ายศูนย์กลางการปกครองของแคว้นเว่ยเหนือจากเมืองต้าถงมาที่ลั่วหยัง เมื่ออยู่ที่ต้าถงได้แกะสลักพระพุทธรูปที่ถ้ำหยุนกั่ง (ที่ฉันจะได้ไปดูทีหลัง) หินปูนที่หลงเหมินแข็งกว่าที่หยุนกั่ง จึงสลักยากกว่า มีถ้ำ 3 กลุ่ม คือ ถ้ำกู่หยัง ปินหยัง และเหลียนฮวา หลังจากสมัยเว่ยก็สลักถ้ำต่อมาเรื่อยๆ ที่สำคัญที่สุดคือ สมัยราชวงศ์ถังตอนสมัยพระนางบูเช็กเทียน ซึ่งเป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้าในพุทธศาสนา ผู้ที่อุปถัมภ์การสลักถ้ำคือ จักรพรรดิ พระราชวงศ์ ตระกูลที่ร่ำรวย เพื่อหวังทำบุญ นายพลที่ต้องการชัยชนะในสงคราม เขาว่าทั้งหมดมีของสมัยเว่ยราว 30% เท่านั้น เนื่องจากเราไม่ค่อยจะมีเวลา จึงได้ดูไม่หมด เข้าดูเพียงถ้ำปินหยัง (ที่จริงจะว่าเข้าไปดูเต็มที่ก็ไม่ได้ เพราะว่าเขากั้นไว้ไม่ให้เข้า ถามไกด์ก็บอกว่าไม่เคยเข้าเหมือนกัน) ถ้ำกลางเป็นถ้ำที่สลักในยุคต้นจักรพรรดิเซวียนอู่ทำบุญถวายพระราชบิดาและพระราชมารดา จารึกบอกไว้ว่าใช้กรรมกร 8 แสนกว่าคน สลักตั้งแต่ ค.ศ. 500 ถึง ค.ศ. 523 มี 3 ถ้ำ มีร่องรอยว่าสมัยก่อนคงจะระบายสีด้วย ถ้ำอีกสองข้างสร้างเสร็จสมัยราชวงศ์ถัง ขณะนี้กำลังเดินเรื่องขอให้ UNESCO ประกาศถ้ำหลงเหมินเป็นมรดกทางวัฒนธรรม คิดว่าจะสำเร็จ ฉันถามว่าเป็นแล้วดีอย่างไร นายกเทศมนตรีบอกว่า
1. เมื่อเกิดสงครามแล้ว ที่นี่จะอยู่ในเป้าโจมตีไม่ได้
2. รับความช่วยเหลือระหว่างประเทศได้ จะมีผู้ช่วยเหลือด้านการอนุรักษ์
3. เป็นเกียรติ เผยแพร่ชื่อเสียงและวัฒนธรรมของชาติ
พวกที่มาลงทุนมากที่สุดคือ พวกที่มาจากฮ่องกง [3]

สุสานกวนอู

ทางเดินเข้าศาลเจ้า มีสิงโตเป็นเสาสะพาน ฉันไม่ได้นับ แต่คนจีนเขานับว่ามีทั้งหมด 104 ตัว พ่อค้าสมัยนั้นบริจาค พ่อค้านับถือกวนอู เพราะถือว่าเป็นเทพแห่งความซื่อสัตย์ ถ้าค้าขายอย่างซื่อสัตย์จึงจะเจริญรุ่งเรือง ข้างในมีรูปกวนอู จักรพรรดิสมัยราชวงศ์หมิงตั้งกวนอูเป็นจักรพรรดิ สองข้างรูปกวนอูเป็นรูปบริวารที่ติดตาม ด้านหนึ่งมีโจวชังและเสี่ยวอั่ว อีกด้านเป็นหวังฝู่และกวนผิง ในศาลมีของขาย แต่ฉันไม่ทันได้ซื้อ ป้าจันดูเหมือนจะซื้อบอกว่าของที่นี่ถูกกว่าที่อื่น เขาให้ง้าวของกวนอู (จำลอง) บอกว่ากันผีได้ ด้านหลังมีอาคารอีกสองสามอาคาร ข้างนอกมีต้นไม้ (ต้นไป๋) ลำต้นบิดๆ คำอธิบายเกี่ยวกับกวนอูตามเคย บอกว่ากวนอูขี่ลมไปปราบผี ลมพัดทำให้ต้นไม้ที่อยู่บริเวณนั้นบิดไปตามกระแสลม ซานเตี้ยน เป็นห้องนอนของกวนอู มีภาพปั้นกวนอูกำลังอ่านหนังสือ ด้านหลังสุดมีที่ฝังหัวกวนอู จักรพรรดิเฉียนหลงเขียนคำสรรเสริญไว้ว่า กวนอูเป็นพระมหาราชาที่มีความซื่อสัตย์ เมตตา และกล้าหาญ ได้รับความคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้าวหาญ เก่งสามารถ ศักดิ์สิทธิ์ ถือว่าเป็นคำยกย่องที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ เขียนเมื่อ ค.ศ. 1765 [4]

วัดเซ่าหลิน

ถ่ายรูปหน้าป้ายเซ่าหลิน ว่าเป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิคังซี มีพระที่เป็นปฏิคมมาต้อนรับ บอกว่าเจ้าอาวาสมารับไม่ได้เพราะเป็น ส.ส. ต้องไปประชุมสภา เข้าไปมีพระไมเตรยะ (พระศรีอาริย์) มีเรื่องที่เล่าว่าถ้าคนดีเดินเข้ามาก็จะยิ้มให้ แต่ถ้าเป็นคนไม่ดีจะจับใส่กระสอบ ทั้งคณะของฉันคงจะเป็นคนดี เพราะไม่มีใครหายไปอยู่ในกระสอบ ในเขตลานวัดมีศิลาจารึกมาก จึงเรียกว่า ป่าจารึก เป็นการบันทึกว่ามีจักรพรรดิเสด็จมา มีการซ่อมแซม เรื่องราวในพุทธศาสนาหรือคัมภีร์ เรื่องพระวัดเซ่าหลินช่วยกู้ชาติบ้านเมือง หลังจากที่สร้างหนังเรื่องวัดเซ่าหลินแล้ววัดมีชื่อเสียงขึ้นมา มีคนที่เล่นกังฟูอยู่นอกประเทศมาขอตั้งป้าย มีคนไทยส่งเงินมาให้สร้างป้ายตอนที่ฉลอง 1,500 ปีของวัดใน ค.ศ. 1995 (วัดเซ่าหลินสร้าง ค.ศ. 495) จักรพรรดิถังไท่จง (หลี่ซื่อหมิน) ทรงจารึกไว้ว่าตอนที่ยังเป็นอ๋องถูกจับไป พระเซ่าหลิน 13 รูปช่วยไว้ได้ จึงเขียนขอบคุณท่านทั้ง 13 ไว้ อีกป้ายหนึ่งเขียนเป็นอักษรโบราณ รำลึกถึงพระเซียวซาน (ที่ต่อต้านโจรสลัด) ด้านหลังเป็นรูปกลมๆ มีภาพพระอยู่ด้านใน ในวิหารใหญ่ต้าสยงมีพระพุทธรูป 3 องค์ เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต (พระอมิตาภพุทธเจ้า) พระปัจจุบัน (พระศากยมุนี) และพระในอนาคต (คือพระไมเตรยะ) ที่ลานวัดมีหม้อใบโตสมัยราชวงศ์หมิง สำหรับผัดผักเลี้ยงพระในวัด มีหอคัมภีร์ (หอไตร) กุฏิเจ้าอาวาส มีหอยืนกลางหิมะ (ลี่เสวี่ย Li Xue Pavilion) ซึ่งไกด์เล่าเรื่องยาว เท็จจริงอยู่ที่คนเล่า คนแปล และคนจด (ฉันจดเอง) เรื่องมีอยู่ว่าวัดนี้สร้างใน ค.ศ. 495 สมัยราชวงศ์เหนือใต้ มีพระอินเดียมาแพร่ศาสนา ก่อนหน้านี้พุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในจีนอยู่ก่อนแล้ว จักรพรรดิเลื่อมใสพุทธศาสนา จึงทรงบัญชาให้หาภูเขาทั่วประเทศเพื่อสร้างวัดและนิมนต์ให้พระอินเดียมาจำพรรษา ที่บริเวณนี้พระเซ่าซือตั้งวัดกลางป่า จึงเรียกว่าเซ่าหลิน เนื่องจากมีพุทธศาสนามหายานตั้งอยู่แล้ว พระที่มาใหม่เป็นพระในพุทธศาสนาหินยานจึงไม่พอใจที่จะอยู่ที่นี่ จนถึง ค.ศ. 527 จึงมีพระโพธิธรรมหรือที่จีนเรียกว่า พระต๋าหมอ (ตั๊กม้อ) มาวัดนี้ พระโพธิธรรมจาริกมาจีนทางเรือ มาขึ้นฝั่งที่เมืองก่วงโจว (กวางตุ้ง) เมื่อประมาณ ค.ศ. 520 อยู่ที่นี่ 6-7 ปี แล้วค่อยขึ้นเหนือ พระจีนที่วัดนี้มีความยินดีเชื้อเชิญให้อยู่ที่นี่ อยู่มาวันหนึ่งหิมะตกหนัก พระโพธิธรรมเดินอยู่เห็นพระรูปหนึ่งยืนอยู่กลางหิมะ พระโพธิธรรมถามว่าทำไมยืนอยู่กลางหิมะเช่นนั้น พระรูปนั้นตอบว่า อยากศึกษาพุทธธรรมที่แท้จริง ขณะนั้นพระโพธิธรรมกำลังหาทายาททางธรรมอยู่ ไม่ทราบว่าท่านมีความตั้งใจอย่างไรที่พูดว่า ถ้าจะได้ธรรมะแท้จริงต้องเป็นสีแดง พระรูปนั้นชักดาบฟันแขนตนเอง เลือดไหลลงหิมะเป็นสีแดง พระโพธิธรรมจึงเลือกพระฮุ่ยเข่อรูปนี้เป็นทายาท เป็นอาจารย์รุ่นที่สอง ฉันเคยได้ยินเรื่องพระฮุ่ยเข่อตัดแขน หนังสือบางเล่มว่าโจรมาทำร้าย เรื่องนี้ฉันยังงงๆ อยู่เลยว่ามันเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวตรงไหน ข้างในมีรูปปั้นปฐมาจารย์ (จู่ซือ หรือโจ้วซือในภาษาจีนแต้จิ๋ว) นิกายฉานจง มีรูปพระโพธิธรรมอยู่ตรงกลาง ทำให้ดูเป็นคนอินเดีย มีผมมีหนวดเครา พระฮุ่ยเข่อแขนเดียว พระเซิงชั่น พระเต้าซิ่น และพระหงเหริ่น มีอาคารอีกแห่งหนึ่งพื้นมีรู มีเรื่องเล่าว่าพวกพระมาฝึกมวยและกำลังภายในอยู่ในอาคารหลังนี้กระทืบเท้าจนพื้นเป็นรู ฝาผนังเป็นรูปพระอรหันต์ 500 ว่าเป็นฝีมือชาวนาแถวๆ นั้น เขียนได้มีชีวิตชีวาดีแต่ไม่ชัดเจนดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร เจ้าอาวาสก็ไปต่อว่าชาวนาที่เขียน ชาวนาบอกอย่างโกรธว่าอีก 3 วันให้ไปดูใหม่ ปรากฏว่ามีหน้าตาดูชัดเจนดี ผู้บรรยายบอกว่าไม่ทราบว่าสีที่เขียนรูปนี้ทำด้วยอะไร รูปจะเปลี่ยนแปลงทุกๆ 60 ปี ที่ดูไม่ชัดก็จะชัดขึ้นมา ฉะนั้นอีก 60 ปีให้ฉันมาดูอีก ไปที่โรงเรียนสอนมวยเซ่าหลิน ที่จริงแถวๆ นี้ฉันเห็นมีป้ายบอกไว้ว่าเป็นโรงเรียนสอนมวยอยู่หลายแห่ง ที่นี่อาจจะดีที่สุด เข้าไปมีโรงละคร พิธีกรบรรยายว่าจะแสดงท่าต่างๆ ที่เป็นหลักในการฝึกมวยจีน แบบที่เล่นในหนังจีน พื้นก็ปูพรมเฉยๆ ไม่ต้องใช้เบาะแบบเล่นยูโด หน้าห้องที่แสดงมีของขายหลายอย่าง แต่แรกฉันคิดจะซื้อแต่โปสการ์ดไว้ส่ง พอดีมียากระดูกเสือ (แก้ปวด) ตำรับเซ่าหลิน ลองซื้อไป ป้าจันบอกว่าป้าหง่าชอบใช้ยากระดูกเสือ ขืนป้าหง่าทายานี่แล้วเต้นกังฟูได้ ฉันแย่แน่ๆ เลย [5]


อ้างอิง

1. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 150
2. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 150
3. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 150,152,154,161
4. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 157,159
5. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 164,165,167,168,169,171