<< Back
เหอหนาน
พิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน
(น.120) ไปพิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รูปร่างอาคารดูสมัยใหม่มาก แต่ที่จริงแล้วทำเลียนแบบหอดูดาวโบราณ ผู้อำนวยการมาต้อนรับอธิบายว่าพิพิธภัณฑ์เหอหนานเริ่มก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1927 แต่ก่อนอยู่ที่เมืองไคเฟิง ปลายทศวรรษ 1950 ต่อต้น 1960 ที่ทำการรัฐบาลย้ายมาอยู่นครเจิ้งโจว พิพิธภัณฑ์จึงย้ายมาด้วย สร้างเสร็จ ค.ศ. 1959 มีพื้นที่ใช้สอย 15,000 ตารางเมตร ได้สร้างอาคารใหม่ระหว่าง ค.ศ. 1991-1994 เปิดให้เข้าชมได้ใน ค.ศ. 1998 จัดแสดงวัตถุโบราณในมณฑลเหอหนาน ซึ่งมีประมาณ 13,000,000 ชิ้น พื้นที่จัดแสดงประมาณ 78,000 ตารางเมตร ได้ดูวัตถุโบราณ 3 ห้อง ได้แก่ วัฒนธรรมโบราณเหอหนาน ศิลปะแกะสลักหิน มี 2 ห้อง คือ 1. ศิลปะชาวบ้าน 2. ศิลปะทางพุทธศาสนา
เครื่องหยกโบราณ ส่วนมากค้นพบจากในสุสาน เครื่องทองสำริดของรัฐฉู่ ซึ่งเป็นรัฐที่มิใช่ชนชาติจีน เป็นรัฐใหญ่มากกลางประเทศ อาณาเขตกว้างขวางถึงแถบมณฑลหูเป่ย รัฐฉู่มีภาษาและวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากจีน มีวรรณคดีตกทอดมาจนทุกวันนี้ จิ๋นซีฮ่องเต้มาตีรัฐนี้ จึงรวมประเทศได้
ศิลปกรรมสมัยราชวงศ์หมิงและชิง แสดงงานศิลป์ต่างๆ หลายรูปแบบ
นอกจากนั้นมีการแสดงเรื่องของไดโนเสาร์และไข่ไดโนเสาร์ให้เยาวชนชม แสดงประวัติภาคกลางเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง วัตถุโบราณที่แสดงในส่วนนี้มีประมาณ 3,000 ชิ้น
(น.120) รูป 85 พิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน
(น.121) รูป 86 ห้องโถงที่เข้าไปตอนแรก มีรูปคนแทรกอยู่ระหว่างช้าง 2 ตัว
(น.121) เขาให้เจ้าหน้าที่มาบรรยายให้ฉันฟัง เขาเคยบรรยายให้ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินมาแล้ว ระหว่างเดินชมเปิดเพลงไทย เช่น เพลงลาวดำเนินทราย ประกอบด้วย
รูปปั้นที่ห้องโถงกลางเป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ของเหอหนาน มีรูปคนผลักช้างออกด้านข้าง ข้างละตัว แสดงว่าอารยธรรมผลักความป่าเถื่อนออกไปข้างๆ เป็นช้างสองตัว เขาบอกว่าเมื่อ 500,000-600,000 ปีมาแล้วแถวนี้เคยมีช้างแมมมอธ มีภูเขาซงซาน พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุด หอดูดาวที่ไคเฟิง เจดีย์อายุ 1,500 ปีสมัยเป่ยเว่ย อยู่กลางหุบเขาซงซานใกล้วัดเซ่าหลิน เมืองไคเฟิงเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 ที่พื้นปูกระเบื้องทำเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเต๋า มณฑลซานตงเป็นแหล่งกำเนิดลัทธิขงจื่อ แต่ที่มณฑลเหอหนานนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของลัทธิเต๋า
(น.122) รูป 87 ภาพแสดงความมีอำนาจของแม่น้ำเหลือง
(น.122) นิทรรศการที่นี่แสดงความรุ่งโรจน์ของวัฒนธรรมเหอหนาน ภาพสลักเป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำหวงเหอ แหล่งกำเนิดวัฒนธรรมจีน ทางเข้ามี 3 ประตู ตรงกลางหมายถึง ที่ราบภาคกลางหรือจงหยวนมีบทบาทเป็นเสาหลักของกระแสประวัติศาสตร์
วัตถุโบราณสมัยดึกดำบรรพ์ ที่นี่ก็พบฟอสซิลของมนุษย์โบราณสมัยเดียวกับมนุษย์ปักกิ่ง ในตู้แสดงเครื่องมือการเกษตรสมัยหิน อายุ 8,000 ปี ใช้ในการกะเทาะเปลือกข้าว รูปจำลองคนสมัยนั้น ผู้หญิงเป็นช่างทำเครื่องปั้นดินเผา ในสมัยนั้นผู้หญิงมีฐานะสูงกว่าผู้ชาย (ฉันไม่ทราบว่าเขาสันนิษฐานอย่างนั้นได้อย่างไร เห็นมีแต่สิ่งของต่างๆ ที่ไม่น่าจะบอกภาพสังคมได้ละเอียดเช่นนั้น) มีของที่ว่าเป็นชิ้นเอกของประเทศจีนคือ ปี่เล็กๆ ทำด้วยกระดูกปีกนกกระเรียน มี 7 รู สามารถเล่นเพลงปัจจุบันได้ นักวิชาการดนตรีทดลองบรรเลงและจดโน้ตไว้ เครื่องดนตรีชิ้นนี้พบใน ค.ศ. 1987 เครื่องดนตรีในยุคเดียวกันจะมีแต่เครื่องจังหวะ เช่น กลองเครื่องปั้นดินเผาที่แอฟริกา ลุ่มแม่น้ำไนล์
สมัยเมื่อ 6,000 ปีมาแล้วมีวัฒนธรรมขึ้นอีกอย่างหนึ่งเรียกว่าวัฒนธรรมหยั่งเสา มีความเด่นในเรื่องการผลิตเครื่องปั้นดินเผา
(น.126) ตู้เย็นโบราณ วิธีการใช้คือ ตอนหน้าหนาว ไปตัดน้ำแข็งมาไว้ห้องใต้ดินที่ความร้อนเข้าไม่ถึง เมื่อถึงหน้าร้อนเอาภาชนะสี่เหลี่ยม ในภาชนะนั้นวางแช่เหล้า กวีชวีหยวนแต่งไว้ว่าบดขนมไว้กินพร้อมเหล้าเย็น
สมัยราชวงศ์ฮั่น เว่ย (ก๊กของโจโฉ) จิ้น ราชวงศ์เหนือใต้ มีรูปอาคารจำลองทำด้วยเครื่องปั้นดินเผาสำหรับฝังลงไปในสุสาน หวังว่าบุคคลผู้ตายจะมีความเป็นอยู่ในปรโลกเหมือนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนั้นยังมีนักดนตรี นักละคร พวกคนแคระ ซูโม่ อาวุธต่างๆ สันนิษฐานว่าสมัยราชวงศ์ฮั่นและถังนำการแสดงซูโม่ไปที่ญี่ปุ่น จนปัจจุบันคนญี่ปุ่นถือว่าซูโม่เป็นกีฬาสำคัญ
มีภาพฝาผนังสมัยราชวงศ์ฮั่น ขุดพบใน ค.ศ. 1980 บริเวณมณฑลเหอหนานภาคตะวันออก สุสานนี้สวยมาก (เขาว่ากัน)
ขึ้นไปชั้นสอง มีศิลาจารึกราชวงศ์จิ้น เป็นข้อมูลล้ำค่าที่สุด แสดงประวัติการตั้งโรงเรียนหลวง มีรายชื่อครูและนักเรียน นอกจากนั้นมีบันทึกว่าจักรพรรดิเคยเสด็จทอดพระเนตรที่นี่ 3 ครั้ง จารึกลายนก ลายเป็นภาพสุริยุปราคา สมัยราชวงศ์ฮั่น
สมัยราชวงศ์ฮั่น มีรูปยุ้งข้าวสำหรับเอาไว้ในสุสาน พิมพ์ของลูกศร สมัยนั้นเริ่มเป็นสมัยเหล็ก มีการถลุงเหล็กหลายแห่ง
สมัยราชวงศ์สุยและถัง ในเมืองลั่วหยัง สมัยราชวงศ์สุยเมื่อ 1,500 ปีมาแล้วเน้นความสมดุลมีอาคารที่พระนางบูเช็กเทียนเคยประทับและทรงงานว่า ราชการ แต่ภายหลังถูกไฟไหม้ ใน ค.ศ. 1980 พบซากรากฐาน
(น.126)
รูป 92 ตุ๊กตานักดนตรี
Figurines of musicians.
น.130) รูป 97 งาช้างแกะเป็นรูปหัวผักกาดมีแมลงเกาะ สมัยราชวงศ์ชิง
(น.130) ติ่ง 7 ใบ มีกระดูกอยู่ข้างใน ลวดลายเป็นเฉินโซ่ว สัตว์ในนิยาย ฝังเพชรพลอย หนวดถอดออกมาได้
งาช้างแกะเป็นรูปหัวผักกาด แล้วระบายสีเหมือนของจริงมาก ผักมีจิ้งหรีด แมลงเต่าทองเกาะ ทางพิพิธภัณฑ์ซื้อมา
พิพิธภัณฑ์นี้ของสวยงามจริงๆ การจัดแสดงก็ดี เพราะเป็นอาคารใหม่ คนอธิบายก็ดี [4]
เมืองอานหยาง
พิพิธภัณฑ์อินซวี (Yin Xu)
พิพิธภัณฑ์นี้ทำเป็นรูปเหมือนกับสุสาน ของที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ดูเหมือนจะไม่ใช่ของจริง แต่ทำขึ้นเพื่อให้คนที่มาชมเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมราชวงศ์ซัง หรืออิน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่กว่า 3,000 ปี ฉันก็ไม่แน่ใจว่าที่นี่เป็นสถานที่สุสานจริงหรือสมมติเอาเองเป็นสุสานของฟู่เห่า มเหสีของกษัตริย์อู๋ติ่ง ราชวงศ์ซัง ซึ่งตามเรื่องเล่าว่าเป็นสตรีที่มีความสามารถยิ่งท่านหนึ่ง ของจริงขุดพบใน ค.ศ. 1975 มีเครื่องสำริดที่มีค่าเกือบ 500 ชิ้น บริเวณนี้มีอายุเก่าแก่ ขุดพบเมืองโบราณ (ราว 1766-1122 ก่อนคริสต์กาล)
ที่สำคัญที่สุดคือ ในสมัยนี้มีการเขียนตัวอักษรเป็นครั้งแรก เป็นจารึกบนกระดองเต่าและกระดูกวัว ส่วนมากจะเป็นเรื่องการทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าหรือการทำนายทายทัก (devination) จึงเรียกกระดูกเหล่านี้ว่ากระดูกเสี่ยงทาย (oracle bones
เมื่อนักโบราณคดีขุดค้นขึ้นมาแล้วต้องนำมาศึกษาก่อนแล้วจึงส่งให้พิพิธภัณฑ์ ในสำนักงานมีแผนที่แสดงบริเวณแถบนี้ เห็นได้ว่ามีส่วนที่เป็นเมืองโบราณอยู่ริมแม่น้ำอานหยังและมีการขุดคูทดน้ำเข้ามาใช้และทำคูเมือง สุสานต่างๆ อยู่รอบนอกออกไป บริเวณรอบเมืองมีส่วนที่ทำหัตถกรรม เช่น ทำเครื่องปั้นดินเผา นักโบราณคดีที่สำนักงานอธิบายว่าสมัยนั้นเขาเสี่ยงทายอย่างเป็นระบบ เมื่อเสี่ยงทายแล้วจะมีการวิเคราะห์ด้วยว่าถูกต้องสักเท่าไร ที่ดีก็เก็บไว้ ที่ไม่ดีก็ทิ้งไป ที่เก็บไว้หลุมหนึ่งเป็นหมื่นชิ้นก็มี ของที่เขาขุดขึ้นมาได้นอกจากจะเป็นกระดูกเสี่ยงทายแล้วยังมีอาวุธประจำตัว เครื่องใช้ประจำวัน เช่น หม้อหุงข้าว ภาชนะใส่อาหาร เนื้อหมูที่ขุดขึ้นมายังไม่เน่า ปิ่นปักผม ท่อน้ำทิ้ง ส่วนของกำแพง ที่สำนักงานมีภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณนี้ติดข้างฝาไว้ด้วย
ชั้นบน มีแม่พิมพ์ทองสำริด เตาหลอมทองสำริดรูปหน้าคนซึ่งเขาสันนิษฐานว่าเป็นคนมองโกเลีย เครื่องมือกระดูก กระดูกสัตว์ต่างๆ เช่น วัว ม้า สุนัข หมู กวาง เสือ หนู หมาจิ้งจอก ลิง สมเสร็จ ช้าง (เขาว่าสมัยก่อนอากาศอบอุ่นกว่าตอนนี้)
มีโมเดลจำลองรูปหลุมศพ มีหลุมที่พบรถม้า มีศพม้า 2 ตัว ศพคนขับรถ
[5]
เรือนจำโบราณโหยวหลี่เฉิง
มีอายุกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ความสำคัญที่นี้มีเรื่องเล่าว่ากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซังคืออินโจ้วเป็นคนเหลวไหล เอาแต่ความสำราญ การปกครองยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบ ซีป๋อจีชังหรือโจวเหวินหวังหัวหน้าเผ่าโจว ซึ่งมาจากตะวันตก อาศัยความรู้ ความสามารถพัฒนาการเกษตร ทำให้มีดินแดนใหญ่ขึ้นทุกที อินโจ้วหวัง กษัตริย์ซังไม่พอพระทัยซีป๋อจีชัง หลอกมากักขังถึง 7 ปี ระหว่างที่ถูกกักขัง ได้พยายามศึกษาอี้จิง หรือที่เรียกว่า Book of Changes และเอาสัญลักษณ์ 8 อย่างที่เรียกว่า ปากั้ว (ซึ่งกล่าวกันว่าหัวหน้าเผ่าโบราณชื่อ ฝูซี จำแบบมาจากกระดองเต่า) มาเขียนเพิ่มเติม (88 = 64)
ในบริเวณโหยวหลี่เฉิงเป็นสถานที่ที่เขาทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนทุกๆ ที่ คือมีอาคารต่างๆ ให้ดู เข้าไปถึงมีโรงคลุมกองดิน เข้าไปดูเขาบอกว่าเป็นซากกำแพงโบราณ ว่าบริเวณนี้ขุดพบวัตถุโบราณ กระดูกสัตว์ เครื่องใช้วัฒนธรรมหลงซานเพิ่งพบ จึงยังไม่ได้นำมาจัดให้ประชาชนชม
มีศิลาจารึกสรรเสริญกษัตริย์อวี่ซึ่งเป็นกษัตริย์โบราณที่ต่อสู้อุทกภัยโดยการทำเขื่อน ตัวอักษรในจารึกมีลักษณะแปลกประหลาด จารึกหลักนี้เป็นของจำลอง ของจริงอยู่ที่เหิงซาน มณฑลหูหนาน นายอำเภอเอามาตั้งที่นี่
ข้างในอาคารมีรูปสลักหิน (ดูไม่ค่อยจะเก่าเท่าไร) เป็นรูปหัวหน้าเผ่า (ฝูซี) ที่คิดปากั้วด้วยการศึกษาจากน้ำ (แม่น้ำเหลือง?) ตามตำรากล่าวว่า ม้ามังกรผุดขึ้นจากแม่น้ำเหลือง แบกลายที่เรียกว่า เหอถู ขึ้นมา นอกจากนั้นยังมีเต่าวิเศษผุดขึ้นจากแม่น้ำลั่วสุ่ย แบกลายที่เรียกว่า ลั่วซู ลายเหล่านี้ต้องศึกษาร่วมกับดาราศาสตร์ เรื่องนี้เขาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องกษัตริย์อวี่ดูลายกระดองเต่าและคำนวณเลข 15 ได้ด้วยวิธีการต่างๆ ภายหลังขงเบ้งเอาวิธีการเช่นนี้มาคำนวณแผนการรบของทหาร
มีอาคาร 4 หลัง มีรูปขงจื่อ เหลาจื่อ ฝูซี และเจียงไท่กง ขงจื่อได้ศึกษาอี้จิงแล้วสนใจ จึงนำมารวบรวมเป็นตำรา เหลาจื่อเขียนเต้าเต๋อจิง ได้ความคิดจากปากั้ว ฝูซีเป็นผู้คิดปากั้วดั้งเดิม เจียงไท่กง เป็นกุนซือของโจวเหวินหวังที่ช่วยให้โค่นราชวงศ์ซังได้
มีรูปหล่อทองแดงรูปโจวเหวินหวังและมีคนเอาเสื้อมาใส่ยังกับธรรมเนียมไทยห่มผ้าพระ โจวเหวินหวังครองราชย์ 52 ปี ดูเหมือนจะนับตอนที่เป็นเจ้าเผ่าโจวตะวันตกด้วย เสียชีวิตอายุ 97 ปี ตอนถูกขังอายุ 82 ปีแล้ว ระหว่าง 7 ปีที่ถูกขัง ถึงจะลำบากก็มีความมุ่งมั่นไม่เปลี่ยนแปลง มุมานะบากบั่นจนเขียนหนังสือสำเร็จ ประธานเหมาเคยใช้คำพูดของซือหม่าเชียนสรรเสริญว่า การถูกคุมขังสร้างโจวขึ้นได้
เหตุที่ได้อิสรภาพนั้นมีเรื่องเล่าว่าจีฟา ลูกชายคนที่ 2 และสมัครพรรคพวกของซีป๋อจีชังมาช่วยโดยการหาสาวงาม ม้าดี และสิ่งของมีค่ามาล่อกษัตริย์อินโจ้ว หว่านล้อมจนยอมปล่อยซีป๋อจีชัง ซึ่งชรามากแล้ว เมื่อออกมาก็ยังนำทัพโค่นกษัตริย์อินโจ้วได้ เมื่อปกครองจนเสียชีวิต จีฟาได้ครองราชสมบัติต่อ มีพระนามว่าโจวอู่หวัง (ครองราชย์ก่อน ค.ศ. 1027-1025) เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์โจว และเฉลิมพระนามพระราชบิดาว่าโจวเหวินหวัง [6]
อ้างอิง
1. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 130,131
2. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 131,132
3. หวงเหออู่อารยธรม หน้า 115
4. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 120,121,122,126,130
5. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 138,140,141
6. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 142,143,144,146,148