<< Back
พิพิธภัณฑ์มณฑลกานซู
จากหนังสือ
มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 129-145
(น.129) พฤหัสบดีที่ 12 เมษายน 2533
เช้านี้อากาศข้องนอกหนาวมาก น้ำที่ขังอยู่บนหลังคา กลายเป็นน้ำแข็งเหมือนอยู่ในตู้เย็น แดดออกยังไม่ยอมละลาย ที่นี่เขาไม่ถามว่าจะรับประทานอาหารเช้าแบบจีนหรือแบบฝรั่งแต่จัดมาเลย รู้สึกว่าจะปนทั้ง 2 อย่างคือ มีไข่ดาว ขนมปังทาเนยทาแยม ข้าวต้มใส่ถั่วเขียว มีเครื่องข้าวต้ม หม่านโถว
เกือบ ๆ จะเก้าโมงเช้าเลขาธิการมณฑล ซึ่งคุณหลิวอธิบายให้ฟังว่าคล้าย ๆ กับปลัด เป็นผู้นั่งรถพาไป เขาเล่าว่าพิพิธภัณฑ์มณฑลที่เราจะไปนี้สร้าง ค.ศ. 1956 อยู่ในเนื้อที่ 18,000 ตารางเมตร พิพิธภัณฑ์ที่นี่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
1. ประวัติศาสตร์
2.ทรัพยากรธรรมชาติ
3. งานการสร้างสรรค์สังคมนิยมกานซู
หลานโจวนครหลวงของมณฑลกานซูมีพลเมืองราวสองล้านสี่แสนคน (ตอนปลดแอกใหม่ ๆ มีแค่สองแสน) ที่อยู่ในตัวเมืองมีล้านสองแสน นอกนั้นอาศัยอยู่ชานเมือง แต่ก่อนนี้มีชื่อเรียกว่าจินเฉิง (เมืองทอง) อุตสาห
(น.130) รูป91. รูปสำริด “ม้าบิน” อันมีชื่อเสียง
กรรมของเมืองนี้มีหลายอย่าง เช่น ปิโตรเคมี เครื่องถักทอ อิเล็กทรอนิกส์ มีน้ำมันที่เมืองยู่วเหมินและฉางชิง แต่ว่าไม่พอป้อนโรงกลั่น ต้องลำเลียงมาจากซินเกียงทางรถไฟ เริ่มมีการวางท่อจากซินเกียงมากานซู โรงกลั่นห่างจากหลานโจวไปประมาณ 20 กิโลเมตร
เมืองหลานโจววางตัวไปตามแม่น้ำหวงเหอ ยาวประมาณ 40 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเขาหัวโล้นสีน้ำตาล
พิพิธภัณฑ์กานซูเป็นที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องของวัตถุโบราณ ที่พิพิธภัณฑ์นี้ติดคำแปลคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้ให้ด้วย (แต่ข้าพเจ้าไม่มีเวลาดู เพราะต้องเดินดูอย่างเร็วที่สุด ฉะนั้นจะพยายามเขียนบรรยายเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์นี้ให้ดีที่สุดเท่าที่คนที่มองผ่านแผล็บเดียวจะทำได้) ได้ทราบ
(น.131) รูป92. นอกจากจดจากป้ายคำอธิบายแล้วยังจดจากคำอธิบายของภัณฑารักษ์
ว่าในห้องเก็บของของพิพิธภัณฑ์มีของเกือบห้าแสนชิ้น แต่นำมาจัดแสดงได้เพียงส่วนหนึ่ง
เมื่อไปถึงผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์นำไปที่หน้าแผนที่ของมณฑลแล้วกล่าวต้อนรับ เล่าสภาพของมณฑลอย่างคร่าว ๆ ว่าเป็นมณฑลที่อยู่ตรงกลางของจีนภาคตะวันตก เป็นมณฑลที่มีคนกลุ่มน้อยอยู่มาก แต่ก็ยังรักษาความสัมพันธ์กับจีนตอนกลาง (จงหยวน-ตงง้วน) ได้
การอธิบายรายละเอียดของวัตถุในพิพิธภัณฑ์จะต้องทำอย่างรวดเร็ว พอดีมีนักวิชาการของพิพิธภัณฑ์ท่านหนึ่ง ชื่อคุณหลี่ฮั้ว อธิบายเป็นภาษาอังกฤษ
วัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์พบที่ต้าตี้วันในตอนกลางของมณฑลเป็นสมัยหินเก่า อายุประมาณ 10,000 ปี มีเครื่องมือหิน ในบริเวณเดียว
(น.132) กันยังได้พบหม้อเขียนสีดำและแดง ตามแบบวัฒนธรรมยางเชา (ยางเชาจริง ๆ พบที่เหอหนาน) อายุประมาณ 6,000 ปีก่อนคริสตกาล แหล่งหม้อเขียนสี (เป็นวัฒนธรรมหินใหม่) ในกานซูมีหลายประเภท ได้แก่
หม่าเจี้ยเหยา อยู่ในอำเภอหลินเตา ตอนใต้ของกานซูมีลายเขียนภายในและภายนอกหม้อ เป็นลายรูปโลกและจักรวาล เครื่องมือหินใหม่ กระดูกสัตว์ ที่สำคัญคือมีดทำด้วยกระดูก แต่เจาะเป็นช่องใส่ใบมีดหินขัดอย่างบาง เข็มทำด้วยกระดูกสัตว์ (อายุประมาณ 5,000 – 4,000 ปีก่อนคริสตกาล) ป้านชาน อายุประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ลายเขียนจะเป็นรูปฟันปลา ยังมีอีกหลายแบบแต่ดูไม่ทัน
เขาได้จำลองหลุมฝังศพที่อู่เว่ยมาให้ดู เข้าใจว่าเป็นวัฒนธรรมฉีเจีย (4,000 -3,000 ปีก่อนคริสตกาล) มีโครงกระดูก 3 โครง เป็นชายโครงหนึ่ง หญิงสองโครง มีเครื่องถ้วยชามและลูกปัดอยู่ด้วย วัฒนธรรมนี้อาจารย์หลี่ฮั้วอธิบายว่าเป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คือกลายเป็นวัฒนธรรมที่ผู้ชายมีความสำคัญ เมื่อครั้งที่ย่ำแดนมังกรคราวที่แล้วข้าพเจ้าได้ไปดูวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่ป้านโพ ซีอาน เขาอธิบายว่าเป็นวัฒนธรรมที่ผู้หญิงมีความสำคัญ เป็นสังคมแบบดั้งเดิม ไม่มีเวลาถามรายละเอียด (อีกแล้ว)
เดินไปอีกห้องผ่านร้านค้าของพิพิธภัณฑ์ (ซึ่งป้าจันอุตส่าห์ซื้อของได้) วัฒนธรรมต่อจากนี้เรียกว่ายุคโลหะหรือสังคมทาส เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์โจว มีของที่ใช้ในพิธีบูชาบรรพบุรุษ ได้ขุดพบหอยเบี้ยที่ใช้แทนเงินอย่างที่เมืองไทยก็มี (อายุ 3,500 ปี ก็น่าจะยังเป็นสมัยหินใหม่?)
(น.133) เครื่องเคลือบในยุคแรกมีในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (1122 – 770 ปีก่อนคริสตกาล) ที่แสดงไว้เป็นหม้อสำหรับเก็บน้ำมัน ภาชนะสำริดซึ่งเป็นของที่ใช้ในพิธี ไม่ได้เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน บางทีมีชื่อคนทำสลักไว้ บางทีก็เป็นชื่อของเจ้าของ ที่สำคัญคือภาชนะที่มี 3 ขา
ของสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 220) มีศิลปะชิ้นเอกที่เป็นสัญลักษณ์ของมณฑลกานซู คือม้าเหยียบนกนางแอ่น พบที่อู่เว่ย เป็นเครื่องแสดงว่าวิ่งได้เร็วมาก ม้าเป็นสิ่งที่แสดงความมีพลัง เป็นเจ้าแห่งความเร็ว สมัยก่อนมีพวกพ่อค้ามาจากประเทศทางตะวันตกมาที่จงหยวน จะต้องคิดเตรียมการว่าพาหนะใดจะใช้ขนของได้มากที่สุด (เห็นจะเป็นอูฐ) และพาหนะใดจะนำคนไปได้ไกลที่สุดคือจะต้องเร็วที่สุด ก็คือ ม้านี่เอง ในสมัยราชวงศ์ฮั่นมีผู้รุกรานมาจากทิศตะวันตก จากที่ราบสูงมองโกเลียบ่อยครั้ง จีนต้องหาทางแก้ไขโดยการหาพาหนะที่รวดเร็ว คล่องตัว เหมาะสำหรับใช้ในการรบ ก็คือม้าอีกนั่นแหละ จึงต้องไปติดต่อขอม้าจากพวกคนกลุ่มน้อยจากเมืองเฟอร์กานา (ปัจจุบันอยู่ในอูซเบกิสถาน สหภาพโซเวียต) ได้ม้า “เหงื่อเลือด” มา
เมื่อเขียนถึงตรงนี้ข้าพเจ้าขอย้อนมาพูดเรื่องม้าอีกสักครั้ง (ต่อไปอาจจะพูดอีกหลายครั้งเมื่อมีข้อมูลเปลี่ยนแปลงคือไปคุยกับใครมาอีก) ข้าพเจ้าอ่านหนังสือกี่เล่ม ๆ ก็ไม่ค่อยตรงกัน ตามความเข้าใจว่าม้าที่ฮั่นอู่ตี้ได้มา เป็นม้าจากเฟอร์กานา เป็นม้าที่มีพลัง และความรวดเร็วเรียกว่า ม้าเหงื่อเลือด
(น.134) รูป93. พิพิธภัณฑ์นี้มีศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ จากหลายสมัย จัดเรียงตามลำดับเวลา
(ฮั่นเสว) ในเรื่องมังกรหยกว่าเป็นม้าที่ก๊วยเจ๋งใช้นั่นแหละ แต่มีนักวิชาการภายหลังตีความว่าที่ม้ามีเหงื่อเป็นเลือดไม่ได้เป็นพันธุ์พิเศษ แต่เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากแบคทีเรีย ตัวอย่างของม้าชนิดนี้คือม้าที่ขุดพบที่อู่เว่ยที่เรากำลังดูอยู่
ม้าชนิดที่ 2 คือม้าอูซุน มาจากทุ่งหญ้าแถบลุ่มแม่น้ำอีลี่ คือ ม้าที่เหยียบฉยุงหนู
ม้าชนิดที่ 3 ม้าเหอชูว ของจิ๋นซีฮ่องเต้ เดิมมาจากทุ่งหญ้าในกานซู ชิงไห่ และเสฉวน
(น.135) คุยไปคุยมาถึงได้ทราบว่าม้าสวรรค์ที่เรากำลังจ้องอยู่เป็นของปลอม ของจริงนั้นคนอธิบายคนหนึ่งบอกว่า ของจริงอยู่ในห้องเก็บของเอามาโชว์ไม่ได้ ส่วนอีกคนบอกว่า ของจริงเอาไปแสดงต่างประเทศ เท่าที่ทราบเขาเอาไปแสดงต่างประเทศบ่อย ๆ จริง ๆ ก็นับว่าแปลก เพราะทั่วไปเขาจะเก็บเอาของจริงไว้ที่บ้านและเอาของปลอมไปแสดงกัน ข้าพเจ้าเคยได้เห็นของจริงโดยบังเอิญที่ Royal Academy ที่ลอนดอน หลังจากไปราชการงานพระบรมศพพระเจ้ากุสตาฟ อดอล์ฟ แห่งสวีเดน ก่อนกลับแวะค้างลอนดอนคืนหนึ่ง ได้ทราบจากเจ้าหญิงอเล็กซานดร้าว่ามีนิทรรศการศิลปะจีน ข้าพเจ้าอยากดู แต่คิดว่าคงไม่มีโอกาสเพราะต้องกลับแล้ว ท่านอุตส่าห์จัดให้เข้าได้ก่อนเปิดงาน ขณะนั้นถือว่าได้ดูของแปลกเพราะ พ.ศ. 2516 จีนและไทยยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง ของอื่นนอกจากม้าที่ข้าพเจ้าเห็นมีรูปตุ๊กตาแกะสลักไม้ เหรียญเงินพบที่เมืองซีอาน เมืองซีอานนี้ (เราไม่ได้ไป) เป็นเมืองสำคัญของเส้นทางค้าแพรไหมเมืองหนึ่งก่อนถึงตุนหวง เคยเป็นทางแยกของเส้นทางค้าแพรไหมสายที่จะขึ้นไปฮามี ทู่หลู่ฟัน (ใต้เทียนซาน) กับสายคุนลุ้นที่จะไปเหอเถียน แล้วไปบรรจบที่ข่าชือหรือกาชการ์
มีผ้าไหมพิมพ์ลวดลาย เครื่องมือทำนา
ของที่พบในสุสานที่อู่เว่ยมีเครื่องดินเผาเคลือบเป็นรูปบ้าน ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่ามีประโยชน์มาก ทำให้เราทราบว่าบ้านคนจีนสมัยฮั่นมีลักษณะอย่างไร รูปฉางข้าว สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ
สิ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์นี้มีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งคือตัวหนังสือที่เขียนบนติ้วไม้ผูกเข้าด้วยกัน มีเป็นจำนวนมาก เขาอธิบายว่าการผูกติ้วไม้เข้าด้วยกันเป็นต้นกำเนิดของคำว่าเช่อ ซึ่งแปลว่าเล่ม หนังสือไม้เหล่านี้พบมากใน
(น.136) กานซูตะวันตกเฉียงเหนือ บันทึกประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น รวมทั้งกิจการทางทหารด้วย บางส่วนเป็นตำรายา
ของที่แสดงเอาไว้ว่าเป็นของ สมัยราชวงศ์ฮั่น มีอีกหลายอย่าง เช่น กับดักสัตว์ หญ้าแห้งที่ใช้จุดเป็นสัญญาณเตือนภัย
หลังจากสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เป็นสมัยสามก๊ก (ค.ศ. 220 – 265) ได้พบอิฐเขียนสีสมัยราชวงศ์เว่ย (ก๊กของโจโฉ) ตั้งเมืองหลวงอยู่ลั่วหยาง (ค.ศ. 220 – 265) และราชวงศ์จิ้นตะวันตก ค.ศ. 265 – 317 (ซึ่งรวบรวมประเทศไว้ได้ราว 50 ปี) ช่วงนี้พบอิฐเขียนสีจากเจียยู่กวน (ที่แสดงไว้เป็นของทำจำลอง) อิฐพวกนี้แสดงชีวิตประจำวันของคนสมัยนั้น เช่น การล่าสัตว์ ห่อกองฟาง การเลี้ยงสัตว์ ไถนา หาบน้ำ เป็นต้น
หลังจากนั้นเป็น สมัยราชวงศ์ใต้และเหนือ (ค.ศ. 317 – 589) คือ สมัยแตกแยกทางการเมือง มีราชวงศ์ต่าง ๆ ทั้งทางภาคเหนือและภาคใต้หลายราชวงศ์ และมีแคว้นต่าง ๆ ของอนารยชน 5 เผ่าอีกถึง 16 แคว้น ประวัติศาสตร์ตอนนี้ยุ่งมาก ข้าพเจ้าจะขอไม่กล่าวในตอนนี้ ขอกล่าวเพียงว่าของต่าง ๆ ที่พิพิธภัณฑ์แสดงไว้เป็นพุทธศิลป์ที่มีในช่วงเวลานี้ เช่นของที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์เว่ยภาคเหนือ (ค.ศ. 386 – 534) ราชวงศ์โจวภาคเหนือ (ค.ศ. 557 – 581) เป็นต้น เขาทำแผนที่แสดงที่ตั้งของถ้ำต่าง ๆ ที่มีภาพเขียนหรือภาพสลักในพุทธศาสนา
ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618) ซึ่งยึดอำนาจจากราชวงศ์โจวภาคเหนือ และราชวงศ์ฉินในภาคใต้ได้ ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) แสดงหีบใส่พระธาตุซึ่งมี 3 ชั้น พระพุทธรูปสมัยสุยและสมัยถังหน้าตาเหมือนคนจีน (แบบอ้วน ๆ ) ส่วนพระพุทธรูปสมัยราชวงศ์ฮั่นยังหน้าตามีเค้าอินเดีย
(น.137) รูป94. หนังสือเดินทาง
รูป95. เสื้อเกราะสมัยราชวงศ์ถัง
เครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์ถังเป็นเคลือบ 3 สี รูปทวารบาลเป็นสัตว์ประหลาดสำหรับป้องกันภูตผีปิศาจ
สมัยราชวงศ์ซ่ง ค.ศ. 960 – 1297 แสดงเครื่องเคลือบต่าง ๆ
สมัยราชวงศ์เซี่ยตะวันตก (ค.ศ. 1038 – 1227 เป็นเผ่าทังกุต) เป็นราชวงศ์อยู่ทางเหนือของจีน ร่วมสมัยกับราชวงศ์ซ่ง
(น.138) ราชวงศ์จิน (เผ่า Jurchen เป็นบรรพบุรุษของพวกแมนจู ค.ศ. 1115 – 1234) คนที่ดูมังกรหยก (อีกแล้ว) ควรจะรู้จักพวกนี้ ที่เราเรียกว่าพวกกิมก๊ก แต่งชุดแดง ๆ ที่เป็นคนตีราชวงศ์ซ่ง ได้ครองดินแดนภาคเหนือทั้งหมด ใน ค.ศ. 1126 แต่ตอนหลังก็ถูกพวกราชวงศ์หยวน (มองโกล) โจมตียึดดินแดนไป
สมัยราชวงศ์หยวน (หงวน) ตั้งอาณาจักรใน ค.ศ. 1206 ตั้งนามราชวงศ์ว่าหยวนในค.ศ. 1271 พิพิธภัณฑ์ตั้งเครื่องถ้วยที่พบในกานซู เคลือบสีแดง เครื่องเคลือบทำเป็นบ้านไม้ในสมัยราชวงศ์หยวน แสดงสถาปัตยกรรมสมัยนั้น ที่ประตูมีคนรับใช้ยืนอยู่ เจ้าของบ้านเป็นหญิงชรานั่งอยู่ที่หน้าต่าง
สมัยราชวงศ์หมิง (เหม็ง) ค.ศ. 1368 – 1644 มีเสื้อเกราะเหล็กที่หน้าอกมีรอยทะลุ เป็นอันว่าเจ้าของถูกยิงตายแน่ ๆ ปืนใหญ่ ดาบ แผ่นกระดาษซึ่งครูกู้อธิบายว่าเป็นหนังสือเดินทางสมัยก่อน
สมัยราชวงศ์ชิง (เช็ง) ค.ศ. 1644 (ปีที่เข้าปักกิ่งทางด่านซ่านไห่กวน) – 1911 แสดงแผนที่เมืองหลานโจวเมื่อ 200 ปีมาแล้ว สมัยนั้นเรียกชื่อว่าเมืองจินเฉิง
มีศิลาจารึกที่กำแพงเมือง และแสดงภาพวาดของศิลปินท้องถิ่นในสมัยราชวงศ์ชิง
ข้าพเจ้าถามว่าปัจจุบันมีการขุดค้นทางโบราณคดีบ้างไหม เขาตอบว่ารัฐบาลไม่สนับสนุน เพราะเทคนิคการรักษาของยังไม่ดีพอ
จากแผนกโบราณคดี เราดูต่อที่แผนกศิลปะพื้นบ้าน คนอธิบายเขาเอาบทความภาษาจีนยาวเหยียดส่งมาให้ข้าพเจ้า อวดว่านิทรรศการนี้เคย
(น.139) รูป96. ส่วนที่ 2 ของพิพิธภัณฑ์ แสดงศิลปะพื้นบ้านของชนเผ่าต่าง ๆ ในกานซู
ร่วมงานศิลปหัตถกรรมแห่งชาติ ตราของงานเป็นลายกระต่าย 3 ตัวที่มีในตุนหวง เขาเทียบกับศิลปะโบราณ หัตถกรรม ประเพณีนิยม และทำขึ้นใหม่ เช่น การตัดกระดาษ การปักลาย เครื่องปั้นดินเผา เทียบกับศิลปะที่เมืองเทียนสุ่ย ที่เมืองต้าตี้วัน
ส่วนที่ 2 เป็นประเพณีของชาวบ้าน มีกระดาษตัด สำหรับปิดตามประตูสำหรับงานตรุษจีน ตะเกียง พวกของต่าง ๆ สำหรับแขวนทำด้วย
(น.140) รูป97. เครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น วัวเทียมเกวียน
ด้ายถัก ฟางข้าวสาลี หมอนเด็กรูปสัตว์ หมวกเด็ก ถังใส่แป้งข้าวสาลีทำด้วยกระดาษอัด หน้ากากไม้ของชาวทิเบตในกานซู ขนมที่ใช้ในงานแต่งงานของชนเผ่าตงเซียง พวกนี้เป็นชาวมุสลิมเผ่ามองโกเลียใช้ภาษาอัลตาอิก มองโกเลียน (Altalic Mongolian) ปนกับจีนและเตอร์ก เขียนหนังสืออักษรอาหรับและจีน มีผู้กล่าวว่าพวกนี้เป็นลูกหลานของทหารเจงกิสข่านที่ประจำอยู่ในเหอโจว (หลินเซีย) ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ตอนที่มาโจมตีอาณาจักรเซี่ยตะวันตกในสมัยราชวงศ์หมิง พวกนี้ไม่ได้อพยพกลับแต่ยังอยู่แถวนั้น และ
(น.141) รูป98. ผ้าปะเป็นรูปต่าง ๆ
หันมาทำการเกษตร และทอพรม (ที่เล่าเรื่องอย่างยืดยาวเพราะข้าพเจ้าค้นข้อมูลมา จะไม่เขียนก็เสียดาย)
เกี้ยวเทียมลาในพิธีแต่งงานกานซู
พิมพ์ไม้สำหรับพิมพ์ภาพติดหน้าประตู
เผ่าคาซักเป็นเผ่าที่ปักผ้าได้สวยงาม อยู่ใกล้ ๆ แคว้นคาซักสถาน (Kazakhstan) ของโซเวียต แถวนั้นมีแม่น้ำอีลี่ไหลจากเทียนซาน เล่ากันว่า
(น.142) ในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลมีพวกเยว่จือ ซึ่งถูกพวกฉยุงหนูขับไล่มาทางตะวันตก พยายามจะมาอยู่บริเวณนี้ แต่ถูกพวกอูซุน ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อน พูดภาษาตระกูลภาษาเตอร์กขับไล่ลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ นักจดหมายเหตุจีนบันทึกไว้ว่าพวกอูซุนมีตาฟ้าหนวดแดง พวกคาซักเป็นลูกหลานของอูซุนนี่เอง ขณะนี้ประชากรมีน้อยกว่าคนจีนชาวฮั่น และชาวเววูเอ๋อร์ ในนิทรรศการนี้นอกจากจะแสดงผ้าปักแล้ว ยังมีกระเป๋าหนังแพะตุ๊กตาเจ้าสาวขี่ลา ต้องใช้ผ้าแดงคลุมหน้า แสดงรองเท้าชาวเขาทำด้วยผ้า เหมาะสำหรับใส่ปีนเขาในเขตที่มีหินเยอะ ข้าพเจ้าสังเกตว่ารองเท้านี่พวกชาวเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกฮ่อในเมืองไทยที่ข้าพเจ้าเคยเห็นก็ทำรองเท้าแบบนี้ใช้กัน
ผ้าปักฝีมือคนจีน (ฮั่น) แต่แรกข้าพเจ้าดูแล้วคิดว่าเป็นฝีมือชาวเขา เพราะใช้วิธีปักไขว้แบบชาวเขาปัก ลายก็คล้าย ๆ กัน ไปดูใกล้ ๆ ก็รู้สึกว่าคนปักเขามีความอุตสาหะมาก ใช้ผ้าเนื้อละเอียดแล้วตีเส้นเป็นตาตารางเอง
ที่กานซูมีการแกะตัวหนึ่ง ซึ่งของกานซูนี้เหมือนตัวหนังตะลุงของไทยมาก สีสันคล้ายคลึงกัน เขาเล่นหนังตะลุง (จีน) เหมือนกับเล่นงิ้วพื้นเมือง เล่นกันหลายเรื่อง เคยไปแสดงที่อิตาลีได้รับความนิยมมาก ข้าพเจ้าไม่ทันได้ซักถามเขาว่าวิธีเล่นหนังกานซูนั้นทำอย่างไรบ้าง ใช้จออย่างไร และพากษ์อย่างไร
สำหรับหัวหุ่นนั้นเป็นไม้คล้าย ๆ กับหัวหุ่นของชวา ที่เรียกว่าวาหยังโกเล็ก ไม่ได้ถามเขาว่าเล่นอย่างไร
นอกจากนั้นมีงานฝีมือต่าง ๆ เช่นภาพประดับเรื่องฟางข้าว ผ้าปะติดเป็นภาพ แม้แต่ประดิษฐ์กระดาษห่อทอฟฟี่เป็นภาพก็มี
(น.143) รูป99. ว่าวจีน ข้าพเจ้าชอบว่าวมาก แต่ไปจีนคราวนี้ไม่ได้ซื้อว่าวจีนมา
ขนมที่ใช้บูชาบรรพบุรุษทำด้วยแป้ง
เอี๊ยมเด็กลายต่าง ๆ ว่าวใหญ่เป็นรูปตัวงิ้ว
ตัวหุ่นแสดงเสื้อผ้าของคนกลุ่มน้อยในกานซู เท่าที่จำได้มีพวกถู่ เป็นพวกที่อยู่แถว ๆ ทะเลสาบโกโกนอร์ (ชิงไห่) ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถูกขับไล่มาอยู่แถว ๆ เหอซี กลุ่มพวกทิเบตในกานซูก็มีหลายพวก ข้าพเจ้าไม่เคยทราบเลยว่าทิเบตก็ยังแบ่งเป็นหลายพวก เท่าที่เห็นในวันนี้มี 4 หรือ
(น.144) รูป100. ตัวหนังซึ่งคล้ายตัวหนังของไทยมาก
รูป101. สิ่งประดิษฐ์พื้นบ้าน ตุ๊กตาแสดงการเล่นพื้นบ้าน
(น.145) รูป102. ถ้ำตุนหวงจำลอง
5 อย่าง เช่น พวกจ๋วนหยีอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ พวกที่อยู่ติดกับเสฉวนเป็นเผ่าหยู่กู่ มีแต่ในกานซู พวกเทียนจู่อยู่เหอซี พวกเซี่ยเหอ
ผู้จัดนิทรรศการประดิษฐ์ถ้ำขึ้นมาใหม่เป็นถ้ำตุนหวงผสมกับไหมจี๋ซานซึ่งมีรูปแกะพุทธประวัติ
พอดูนิทรรศการจบก็ต้องลาไปที่โรงงานทอผ้าขนสัตว์ต่อ โรงงานนี้เรียกว่าโรงงานทอผ้าขนสัตว์หมายเลขที่ 1 แห่งหลานโจว พัฒนามาจากโรงงานทอผ้าขนสัตว์หลานโจวที่ตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1940 ภายหลังการปลดแอกรัฐบาลได้เอาใจใส่อุตสาหกรรมนี้ มีนโยบายให้ขยายกิจการเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบันสามารถผลิตทั้งวัตถุดิบ และผลิตผ้าทั้งชนิดเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด อุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องจักรกลที่ผลิตในประเทศจีน มีส่วนหนึ่งที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ เช่น อิตาลี เยอรมันตะวันตก และญี่ปุ่น เนื่องจากโรงงานนี้เป็นโรงงานเก่า เรื่องการปรับปรุงเครื่องจักรก็มีปัญหาอยู่บ้าง จึงต้องค่อยเป็นค่อยไปในการเปลี่ยนแปลง