<< Back
"คืนถิ่นจีนใหญ่ วันพุธที่ 25 มิถุนายน 2540 "
(น.2) วันพุธที่ 25 มิถุนายน 2540
วันนี้ข้าพเจ้าเดินทางไปโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าที่จังหวัดนครนายกช่วงเช้า ตอนเที่ยงเดินทางไปสนามบิน ขึ้นเครื่อง China Southern Airlines เที่ยวบิน CZ376 ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงเศษ รับประทานอาหารบนเครี่องบิน
(น.3) รูป 1 เครื่องบินเลี้ยงขนมเค้ก
รูป 2 ขนมเค้ก
(น.4) รูป 3 ทักทายมาดามเซี่ย
(น.4) ถึงสนามบินนครซานโถว (ซัวเถา) มีเอกอัครราชทูตนิคม ตันเต็มทรัพย์ และภริยา คือคุณทรรศนีย์ ฝ่ายจีนมีมาดามเซี่ยย่วยเอ้อ ซึ่งเคยมารับรองข้าพเจ้าเมื่อไปมองโกเลียและแวะที่จีนเมื่อ
พ.ศ. 2535 หลังจากนั้นก็ไปเป็นทูตจีนประจำเขมร เพิ่งกลับมาได้เมื่อสองเดือนมานี่เอง ตำรวจประจำคือหลี่หงเอี้ยน คนเดียวกับเมื่อเดินทางไปแม่น้ำฉางเจียง อู๋จุ้น มาเป็นล่ามตามเคย
รองนายกเทศมนตรีกั๋วซื่อคุน ต้อนรับและนั่งมาด้วยในรถจากสนามบินถึงเมืองระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร ไปที่โรงแรมโกลเดนกัลฟ์ มีคนไทยที่มาทำธุรกิจอยู่ที่ซัวเถามาต้อนรับ
ห้องพักที่จัดให้ตกแต่งด้วยต้นไม้ใส่กระถาง ที่ดูแปลกดีคือ เขาเอาลำต้นของต้นไม้ 3 ต้นมาพันกันถักเป็นเปีย
(น.5) เวลาทุ่มหนึ่ง (เวลาที่ซัวเถาเร็วกว่าเวลาในประเทศไทยชั่วโมงหนึ่ง) นายกเทศมนตรีโจวรื่อฟางเลี้ยงที่โรงแรมนั่นเอง
ท่านกล่าวว่าคนซัวเถาติดต่อกับคนไทยเสมอมา ท่านเองก็มีเพื่อนเป็นคนไทยตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนมัธยม
การที่ข้าพเจ้ามาครั้งนี้หวังว่าจะได้ดูงานทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของซัวเถาซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ข้าพเจ้าสงสัยว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ซัวเถาต่างจากเขตเศรษฐกิจที่เสิ่นเจิ้นและจูไห่อย่างไร นายกเทศมนตรีอธิบายว่าเหมือนกัน คือแต่ก่อนเป็นเขตชนบท
เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงแล้วมาพัฒนาขึ้นเป็นเมืองท่าพาณิชย์ ต่อมาใน ค.ศ. 1982 จึงยกระดับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มาพัฒนาอย่างจริงจังคือเมื่อ ค.ศ. 1993 นี่เอง
ระดับการพัฒนาของซัวเถาด้อยกว่าเสิ่นเจิ้นและจูไห่บ้าง เห็นได้จากระดับพนักงานรัฐที่มาปฏิบัติงานมีตำแหน่งต่ำกว่า ท่านนายกเทศมนตรีมีนโยบายสำคัญในการบริหารนครคือ
การพัฒนาด้านต่างๆ ได้แก่ การคมนาคม การขนส่ง การพลังงาน การสื่อสาร และการศึกษา ท่านนายกเทศมนตรีเองเป็นคนพื้นที่นี้ ศึกษามาทางการเกษตร
แต่ไปรับราชการเป็นนายอำเภอที่หนานไห่ (อยู่ใกล้กวางโจว) อยู่หลายปีเพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อสี่ปีมานี่เอง มาอยู่คนเดียวเพราะภรรยาไป
(น.5) รูป 4 ต้นไม้ถักเปีย
(น.6) รูป 5 นายกเทศมนตรี โจวรื่อฟางเลี้ยงที่โรงแรม
(น.6) อยู่ฮ่องกง ลูกคนหนึ่งไปอยู่มาเลเซีย ดูเหมือนว่าคนหนึ่งจะไปอยู่เมืองไทย แยกย้ายกันไปหมด บางคนพูดภาษาแต้จิ๋วไม่เป็นเสียด้วยซ้ำ
คนแต้จิ๋วจากซัวเถาไปอยู่ต่างประเทศกว่า 10 ล้านคน ส่วนใหญ่ไปอยู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองไทย) และสหรัฐอเมริกา ที่อื่นๆ เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย
ภาษาแต้จิ๋วนี้แปลกคือ ประกอบด้วยอีกหลายสำเนียงย่อยที่ไม่เหมือนกันในแต่ละถิ่น และมีวัฒนธรรมต่างกัน จนต้องมีการรวบรวมพจนานุกรมและสารานุกรมแต้จิ๋ว
(น.7) อาหารคืนนี้มีหลากหลาย มีออเดิร์ฟรสชาติคล้ายๆ หมูตั้งเป๋าฮื้อน้ำมันหอย เป๋าฮื้อที่นำมาประกอบอาหารในวันนี้เป็นเป๋าฮื้อมาจากมณฑลชานตุง
แถวๆ นี้ก็มีเป๋าฮื้อแต่ตัวเล็กกว่าของชานตุงจากนั้นรับประทานตีนห่านกับเห็ดหอม เป็นอาหารที่เขาว่ามีชื่อเสียงอยู่ที่ซัวเถาโดยเฉพาะ
รู้สึกว่าห่านที่นี่ช่างตีนโตจริงๆ รายการอาหารบอกว่าไม่มีกระดูก แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีกระดูกมากกว่าอย่างอื่น จานที่สามมีกุ้งหุ้มเผือกบดทอด
จานที่สี่เป็นซุปผักแบบแต้จิ๋ว รสเหมือนซุปผักขม (spinach แบบป๊อบอายชอบกิน) เขาบอกว่าไม่ใช่ผักขม เป็นผักชนิดเรียกว่าผักรักษาแผ่นดิน
มีประวัติว่าจักรพรรดิเสด็จออกไปนอกพระนครด้วยเหตุทางการเมืองบางประการ ต้องไปอาศัยชาวนา ชาวนาก็ไม่มีอะไรถวายจักรพรรดินอกจากผักพื้นเมืองต้มถวายตามมีตามเกิด
จักรพรรดิคงทรงหิวมากจึงรู้สึกว่าผักนั้นมีรสล้ำเลิศ เมื่อกลับพระราชวังแล้วก็ไม่สามารถหาพระกายาหารใดที่ดีเสมือนผักที่บ้านชาวนา จึงเรียกผักนั้นต่อๆมาว่า ผักรักษาแผ่นดินเพราะได้รักษาพระชนม์ชีพของจักรพรรดิ
อาหารจานที่ 5 เป็นเต้าหู้ทอดแบบโผวเล้ง (อำเภอโผวเล้ง หรือที่ภาษาจีนกลางว่า ผู่หนิง เป็นบ้านเกิดของนายกเทศมนตรีท่านนี้)
จานที่ 6 เป็นปลาอะไรก็ไม่ทราบคล้ายๆ ปลาบู่ ประพจน์บอกว่าได้ความภายหลังว่าเป็นปลาเก๋า ของหวานมีเผือกเชื่อม มันเชื่อม กลอยลอยแก้ว ผลไม้
(น.8) ระหว่างอาหารได้ดื่มชาพิเศษที่ชงแบบแต้จิ๋ว เรียกว่าชากังฮู หมายถึง ชาพันธุ์ไหนก็ได้ แต่ที่นิยมที่สุดคือมาจากฮกเกี้ยน เป็นชาทิกวนอิมหรือชาอูหลง
ที่แต้จิ๋วเองไม่มีชาดี ชาที่ดีต้องปลูกอย่างพิเศษ เก็บอย่างพิเศษและชงอย่างพิเศษ ชาที่เขาเอามาให้ดื่มกลิ่นหอมกว่าชาอื่นๆ ที่เคยดื่มมา
เขาไม่ชงให้ดูแต่เล่าว่าจะต้องลวกกาน้ำชาและถ้วยชาให้ร้อนทั้งข้างในและข้างนอก ต้องใส่ใบชาในกาให้มากหน่อย ชาที่ใช้นั้นผู้ใหญ่เล่าว่าซื้อใบชามาห่อหนึ่งก็ต้องมาเลือกขนาดเป็นเล็ก
กลาง ใหญ่ เอาใบเล็กวางข้างล่าง ใบใหญ่วางข้างบน ชาที่ชงน้ำแรกยังไม่อร่อย จึงเททิ้ง น้ำที่ใช้ชงบางคนที่พิถีพิถันก็ต้องใช้น้ำบริสุทธิ์พิเศษ บางคนต้องมีเตาต้มน้ำเล็กๆโดยเฉพาะ
การชงชากังฮูนี้ถือเป็นศิลปะพิเศษ บางคนเรียกว่าเป็นพิธีชงชาแบบจีน(แต้จิ๋ว) การจิบก็ต้องจิบทีละน้อย ต้องใช้ภาชนะพิเศษ เขาถึงไม่ให้ดื่มมาก นานๆ ก็เอามาให้จิบสักถ้วยตะไล
มีผู้เล่าด้วยว่าโบราณ(ไม่ทราบว่าโบราณแค่ไหน) มีตำราดูใบชาที่เหลืออยู่ในกาเมื่อเทน้ำออกไปแล้วว่าเอียงไปทางไหน และทำนายทายทักโชคชะตาได้
นอกจากดื่มชาแล้วยังดื่มเหมาไถอีกด้วย คืนนี้ดื่มหมดไปถึง 12 แก้ว มีคนเล่าว่ามาดามเซี่ยเป็นคนที่ดื่มเหมาไถเก่งที่สุดในกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อท่านโจวเอินไหลชราแล้ว มาดามเซี่ยเป็นตัวแทนดื่มให้บ่อยๆ
เสร็จงานแล้วท่านทูตนิคมและคุณทรรศนีย์เอาสมุดแสตมป์จีน ค.ศ. 1995 และ ค.ศ. 1996 มาให้
(น.9) เมื่อออกกำลังกายแล้ว ข้าพเจ้ายังอ่านหนังสือศึกษาเรื่องจีนและเรื่องฮ่องกงต่อได้โดยไม่มีผลของเหมาไถ
การอ่านข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาทำให้รู้ความเป็นมาของเมืองแต้จิ๋วที่เกี่ยวพันมาถึงนครซัวเถาและเมืองเจียหยางได้กระจ่างขึ้น เมืองแต้จิ๋วเป็นเมืองเก่าแก่
ตั้งขึ้นเมื่อประมาณศตวรรษที่ 3 เป็นเขตห่างไกลล้าหลัง ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5 ตรงกับปลายราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317-420)
ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งหนึ่งในดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ และมาเจริญรุ่งเรืองมากในราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907)
เมืองแต้จิ๋วได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งป็นมณฑลที่มีสภาพทำเลที่ตั้งที่เปิดกว้างต่อการติดต่อกับต่างประเทศ
(น.9) รูป 6 เรือมังกรที่มณฑลกวางตุ้งเตรียม เป็นของขวัญให้ฮ่องกง
(น.10) เมืองแต้จิ๋วมีอำเภอสำคัญชื่อ อำเภอเฉิงไห่ หรือเท่งไฮ้ในภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า “เฉิงไห่” แปลว่า ทะเลใส อำเภอนี้ตั้งอยู่ริมทะเลจีนใต้ มีอ่าวใหญ่น้ำลึกที่กำบังคลื่นลมได้ดี
เรือสำเภาขนาดใหญ่สามารถจอดเทียบท่าได้ ชัยภูมิดังกล่าวทำให้อำเภอเฉิงไห่เป็นชุมทางสำคัญของการติดต่อค้าขายระหว่างมณฑลกวางตุ้งกับมณฑลฮกเกี้ยน
และระหว่างดินแดนทางภาคใต้ของจีนกับประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงประมาณทศวรรษ 1860 ท่าเรือสำคัญในอำเภอเฉิงไห่ที่ใช้ติดต่อกับต่างประเทศคือ
จางหลิน หรือจึงลิ้ม ใน ค.ศ. 1861 จีนเปิดท่าเรือซัวเถาตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาเทียนสิน ค.ศ. 1858 ซัวเถาอยู่ห่างจากจางหลินประมาณ 30 กิโลเมตร และได้พัฒนาอย่างรวดเร็วจนเป็นเมืองท่าสำคัญแทนที่จางหลิน
เมืองแต้จิ๋วเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวจีนอพยพแต้จิ๋วที่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอีกหลายประเทศชาวจีนแต้จิ๋วเดินทางสู่โพ้นทะเลด้วยเรือสำเภาหัวแดงผ่านจางหลินหรือซัวเถา ขึ้นอยู่กับว่าอพยพออกมาในช่วงเวลาใด
ในสมัยสาธารณรัฐ ซัวเถาได้รับยกฐานะเป็นเมือง อำเภอต่างๆในเมืองแต้จิ๋วได้เปลี่ยนมาขึ้นกับเมืองซัวเถา ตัวเมืองแต้จิ๋วเดิมปรับเปลี่ยนมาเป็นอำเภอเฉาอัน ขึ้นกับเมืองซัวเถาเช่นกัน ปัจจุบันได้เปลี่ยนเขตการปกครองใหม่อีก
พื้นที่อันกว้างขวางของเมืองแต้จิ๋วสมัยก่อนและพื้นที่ใกล้เคียงได้จัดเขตการปกครองเป็นเมืองแต้จิ๋ว (Chaozhou 朝州) เมืองเจียหยาง (Jieyang 揭阳) และนครซัวเถา (Shantou 汕头)
อำเภอต่างๆที่เคยเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวจีนอพยพแต้จิ๋วกระจายอยู่ใน 3 เมืองนี้ที่มีประวัติเกี่ยวพันกัน และผู้คนมีวิถีชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมแต้จิ๋ว
นอกจากเมืองทั้งสามนี้แล้ว ยังมีชาวจีนแต้จิ๋วอาศัยอยู่ที่อำเภอไห่เฟิงและอำเภอลู่เฟิง ซึ่งมักเรียกรวมๆ กันว่า ไห่ลู่เฟิง อำเภอไห่เฟิงและอำเภอลู่เฟิงเดิมขึ้นอยู่กับเมืองฮุ่ยโจว
เมืองนี้ชาวจีนแคะและชาวจีนแต้จิ๋วอยู่ร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน ชาวจีนแคะเป็นชนส่วนใหญ่ ปัจจุบันมีการจัดเขตการปกครองใหม่ อำเภอไห่เฟิงและอำเภอลู่เฟิงเปลี่ยนมาขึ้นกับเมืองซ่านเหว่ย (Shanwei 汕尾)
พื้นที่เมืองเฉาโจวและนครซัวเถาที่มีชาวจีนแต้จิ๋วอาศัยอยู่มากนั้น เรียกรวมๆ กันว่า เฉาซาน ใน ค.ศ. 1986 รัฐบาลจีนได้ประกาศให้เมืองเฉาโจวเป็นเมืองประวัติศาสตร์