<< Back
" คืนถิ่นจีนใหญ่ วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2540 "
(น.30) รูป 22 ในห้องประชุม มหาวิทยาลัยซัวเถา
(น.31)
2. คณะวิทยาศาสตร์ แบ่งเป็น ภาควิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ ภาควิชาเคมี ภาควิชาชีววิทยา
3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ แบ่งเป็น ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมโครงสร้าง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ภาควิชาวิศวกรรมออกแบบ
4.คณะนิติศาสตร์และธุรกิจ แบ่งเป็น ภาควิชากฎหมาย ภาควิชาเศรษฐศาสตร์
5.คณะแพทยศาสตร์ เป็นหลักสูตร 5 ปี
6.คณะการศึกษาผู้ใหญ่
นอกจากนี้ยังมีสถาบัน และศูนย์วิจัยอีก 15 แห่ง
มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตไปแล้วกว่า 6,000 คน และเปิดอบรมบุคคลากรให้รัฐไปกว่า 1,000 คน ขณะนี้มีนักศึกษาประมาณ 5,000 คน และผู้เข้ารับการอบรม 626 คน มีนักเรียนจากต่างประเทศหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย สิงคโปร์ อเมริกา ออสเตรเลีย มาเลเซีย นอกจากนั้นยังมีที่มาจากฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน
การเรียนการสอนเน้นด้านวิทยาศาสตร์ ได้เชิญอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาสอน และส่งอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยไปศึกษาต่อ ฝึกอบรม และดูงานที่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม ออสเตรเลีย และฮ่องกง ให้ไปร่วมประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ ทำวิจัยร่วมกับนักวิชาการต่างประเทศ
ปรัชญาในการศึกษาคือ จะต้องยึดหลักจริยธรรม ส่งเสริม
(น.32) รูป 23 ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
(น.32) ปัญญา ส่งเสริมพลศึกษา ส่งเสริมการศึกษา ที่ประกอบทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ
อาคารสถานที่มีพอเพียง นอกจากอาคารเรียน ยังมีหอพักอาจารย์ หอพักนักศึกษา สระว่ายน้ำ สนามกีฬา หอประชุมใหญ่ ห้องสมุดที่มีหนังสือกว่าแสนเล่ม
ผู้นำประเทศที่มาเยือนมหาวิทยาลัยนี้มีหลายท่าน เช่น ท่านเติ้งเสี่ยวผิง ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน นายกรัฐมนตรีหลี่เผิง
จากนั้นไปดูห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ เริ่มสร้างห้องปฏิบัติการตั้งแต่ ค.ศ. 1993 ย้ายมาอยู่ห้องปัจจุบันเมื่อ ค.ศ. 1995 ใน Lab
นี้มีการศึกษา computer graphic, sonography, mathematic, morphology, internet,
เครื่องอัดสัญญาณ artificial intelligence และ pattern recognition ศึกษาสาขาต่างๆที่เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์อยู่ใน Lab เดียวกันนี้ เช่น ในด้านการแพทย์
ข้าพเจ้านำคอมพิวเตอร์มาด้วย แต่ไม่สามารถต่อ Internet ได้ ลองใช้ Speed ต่างๆ แล้วก็ไม่สำเร็จ ดูเหมือนจะเป็นที่สายโทรศัพท์ของโรงแรม ก็เลยปรึกษาขอให้ส่งคนมาช่วยดูให้ที่โรงแรม
ไปดูห้องสมุด ในห้องสมุดก็มีบริการ Internet ติดต่อกับสถาบันการศึกษาในประเทศอื่นๆ กำลังตั้งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังมีงานวิจัยเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย
(น.33) ห้องสมุดชั้นล่างเป็นที่ยืมหนังสือและคืนหนังสือ ชั้นที่ 2 เป็นที่เก็บ CD Rom ที่ทำการของสำนักงานต่างๆ ที่อ่านหนังสือพิมพ์
ห้องหนังสือวิทยาศาสตร์ ห้องวารสาร มีวารสารถึง 6,000 ชื่อ เป็นภาษาจีน 3,200 ชื่อ วารสารภาษาต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ภาษารัสเซีย และภาษาญี่ปุ่น ชั้นที่ 3
มีห้องหนังสือทางอักษรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสาขาวิชาอื่นๆ ชั้นที่ 4 มีหนังสือภาษาต่างประเทศ และห้องควบคุม
ลงมาชั้นล่างสุดอีก เขาให้ดูหนังสือจีนเขียนเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทย มีหนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่รัสเซียเขียนและแปลมาเป็นภาษาจีน ไม่ทราบว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
เขาว่าเป็นเรื่องสมัยกรุงธนบุรีมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1768-1917) มีหนังสือประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นภาษาจีน
มานึกขึ้นออกว่ามหาวิทยาลัยนี้มีกล่าวในหนังสือเรื่อง เมฆเหินน้ำไหล ที่ข้าพเจ้าแปล ว่าเป็นมหาวิทยาลัยอยู่ทางใต้ พวกอาจารย์อยากไปสอนเพราะเหมือนกับว่าเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการซึ่งครูอาจารย์ได้รับค่าตอบแทนมากกว่ามหาวิทยาลัยอย่างดั้งเดิม
(น.33) รูป 24 อาจารย์แสดงหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยที่มีในห้องสมุด
(น.34) กลับโรงแรมก่อนรับประทานอาหาร ไปที่ร้านขายหนังสือของโรงแรม มีแต่หนังสือภาษาจีน ซื้อมาหลายเล่ม
ค่ำนั้นคุณธนินท์ เจียรวนนท์เลี้ยงอาหารแบบแต้จิ๋วในโรงแรมมีกุ้ง หูฉลาม ปลา รากบัว ข้าวผัด ขนมต่างๆ แถมด้วยเฉาก๊วยอีกตามเคย
คุณวรวีร์มาเตือนว่ามีการแสดงของนักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์ซัวเถาอีก พอดีรับประทานเสร็จออกไปที่ล็อบบี้โรงแรมที่เขาจัดเป็นที่แสดง มีหลายฉากดังนี้
1. ระบำเงือกน้อยในทะเลจีนใต้ เต้นเหมือนบัลเลต์ แต่ท่าเป็นแบบจีน มาดามเซี่ยบอกว่าเด็กที่แสดงเป็นเด็กที่มาจากฮาร์บิน มาเรียนการแสดงที่นี่ ให้สังเกตว่าคนฮาร์บินรูปร่างใหญ่กว่าคนทางภาคนี้ (ข้าพเจ้าสงสัยว่าอยากเรียนนาฏศิลป์ทำไมต้องมาไกลถึงที่นี่ที่ฮาร์บินเป็นเมืองใหญ่โตน่าจะมีโรงเรียนนาฏศิลป์)
2. การแสดงเดี่ยวชุดนาจาพิชิตสมุทร เป็นเรื่องนิทานพื้นเมือง
3. การแสดงชุดประทีปแห่งมงคล เป็นการฟ้อนรำแบบพวกชนเผ่าไต่
4. การขับร้องเพลงเดี่ยว ผู้ขับร้องคือ นายเหอหย่งเหวย ในกำหนดการว่าเป็นเพลงไทย
ที่จริงเป็นเพลงจีนชื่อ เซียงซือเหอพ่าน (相思河畔) แปลว่า ริมฝั่งถวิลหา เพลงนี้แต่งในไต้หวันเมื่อประมาณ 20 ปีแล้ว เป็นเพลงที่ชาวจีนโพ้นทะเลรู้จักดี ร้องกันมาก
5. การแสดงชุดเจี่ยนหลิงเหยา ประกอบเพลงพื้นเมืองแต้จิ๋ว
(น.35)
6. การแสดงชุดเปลวเทียนแห่งความเสียสละ ตามบทกวีจีนที่ว่าตัวไหมพ่นไหมจนตาย เทียนไขไหม้ดับเมื่อไส้หมด ข้าพเจ้าเข้าใจว่าตรงนี้เขาอ้างบทกวีชื่อ อู๋ถี แปลว่า
ไม่มีชื่อ ของกวีสมัยราชวงศ์ถัง ชื่อ หลี่ชางยิน (ค.ศ. 813-858) เป็นบทกวีที่ข้าพเจ้าชอบมากบทหนึ่ง ของเดิมเขียนไว้ว่าไหมในฤดูชุนเทียน (ฤดูใบไม้ผลิ) พ่นไหม (ชักใย) จนตัวตาย
เทียนเป็นเถ้าถ่านน้ำตาเริ่มเหือดแห้ง ข้าพเจ้าคิดว่าบทกวีเดิมเป็นเรื่องความรักที่ต้องซ่อนเร้น แต่ในที่นี้แปลงเป็นเรื่องอุดมการณ์แห่งการเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อมวลมนุษย์
บ่งบอกถึงคุณธรรมอันดีงามของประชาชนจีน (เปรียบกับเทียนที่ส่องแสงสว่างให้คนอื่น แต่เผาผลาญตนเอง)
7. เพลงแต้จิ๋ว ผู้ขับร้องคือ นางสาวเฉินเฉียว เพลงน้ำชาและพระจันทร์ มีเนื้อความว่ามีชาอย่างดีกาหนึ่ง คืนนี้ดื่มน้ำชาอยู่เป็นเพื่อนพระจันทร์ เป็นเพลงบรรยายถึงประเพณีดื่มน้ำชา
8. การแสดงชุดเริงระบำนาคา แสดงเดี่ยว เป็นลีลาความว่องไวของพญางู
9. ชุดรำวงสาวเย้า ที่จริงดูเหมือนจะเป็นเพลงกวางตุ้ง
เมื่อดูละครแล้วถ่ายรูปหมู่คณะกับนักแสดง แล้วกลับไปที่ห้อง ช่างจากมหาวิทยาลัยซัวเถามาช่วยดูคอมพิวเตอร์ให้ คอมพิวเตอร์ก็ยังดีแต่ที่ใช้ไม่ได้ก็เหมือนกับที่ข้าพเจ้าเข้าใจคือ สายของโรงแรมใช้ไม่ได้เขาเลยเอาสายของมหาวิทยาลัยมาให้ ใช้ได้ดี จด Homepage ของมหาวิทยาลัยซัวเถาได้ด้วย ข้าพเจ้าเปิดดูได้แต่ภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาจีนยังเปิดไม่ได้