<< Back
" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2544 "
(น.124) วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2544
ตื่นขึ้นมารู้สึกว่าคัดจมูก พอลุกขึ้นเดินไปเดินมาก็หาย รับประทานอาหารเช้าแล้วออกเดินทางไปเวลา 08.00 น. ใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ นั่งข้างหน้าต้องรัดเข็มขัด
เสี่ยวต่งตำรวจนั่งข้างหลัง ต้องนั่งรถนาน ฉะนั้นก็ต้องชมวิวไปบ้างคุยกันบ้าง ที่แย่คือข้าพเจ้าไม่ดื่มน้ำและไม่รับประทานอะไรในรถเลย รู้สึกสงสารเสี่ยวต่งที่พลอยไม่กล้ารับประทานไปด้วย
สองข้างทาง (ช่วงแรก) ดูพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมดี มีเรือนพลาสติกสำหรับปลูกพืชผัก รถแล่นไปตามแม่น้ำ
คุยกันเรื่องอาหาร คนขับรถเล่าว่า คนทิเบตชอบกินเหล้าชิงเคอ กินซัมปา (Tsampa) เป็นแป้งข้าวบาเลย์แล้วผสมกับเนยจามรี
ชอบกินเนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อแกะ เนื้อจามรี สมัยก่อนไม่ค่อยกินหมู ตอนนี้กินแล้ว น้ำกินน้ำใช้ส่วนมากใช้น้ำใต้ดิน
(น.125) รถผ่านโรงเรียนประถมศึกษา เขาเล่าว่า แต่ก่อนไม่มีที่จะเรียนหนังสือ เดี๋ยวนี้มีโรงเรียนประถมศึกษาทุกหมู่บ้าน เรียนทั้งภาษาจีนและภาษาทิเบต สมัยก่อนคนที่พอจะได้เรียนหนังสือเรียนแต่ภาษาทิเบต
ในแม่น้ำมีเรือทำด้วยหนังจามรี เรือลำหนึ่งใช้จามรี 4 ตัว ถามถึงคนตายว่าเวลานี้เขาทำอย่างไรกัน เขาเล่าว่า ถ้าเป็นพระลามะหรือพวก Living Buddha
มักใช้วิธีเผาศพ ถ้าเป็นคนธรรมดามักใช้วิธีวางไว้ให้นกอินทรีหรือเหยี่ยวกิน เรียกว่า การทำศพท้องฟ้า (เทียนจ้าง) ส่วนคนที่อยู่ริมแม่น้ำบางทีใช้วิธีโยนลงน้ำให้ปลากิน
ส่วนมากจะทำศพแบบท้องฟ้า ข้าพเจ้าสงสัยว่านกจะกินกระดูกหรือหัวกะโหลกได้อย่างไร เขาว่ากินเข้าไปหมดเพราะจะมีสัปเหร่อ ส่วนมากเป็นพระลามะ แล่เนื้อถอดกระดูก เอากระดูกมาตำใส่กับแป้งหรืออะไรก็ไม่รู้ให้นกกินเข้าไปหมด ฟังดูน่าสยดสยอง ถ้าเป็นพวกชาวจีนจะฝังศพ
(น.126) รถผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำสร้างมาหลายปีแล้ว เริ่มผลิตไฟฟ้าเมื่อ ค.ศ. 1995 ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ คนชอบดูทีวีกัน
(น.127) รถหยุด มี Deputy Commissioner (ภาษาจีนว่า จวนหยวน ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร ใหญ่กว่านายอำเภอ อาจจะเป็นหัวหน้าเขต) ของรื่อคาเจ๋อมา
ที่จริงบริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่นครลาซา ยังไม่เป็นพื้นที่รื่อคาเจ๋อ ต้องต่อไปอีกเล็กน้อยและข้ามสะพานไป แต่ว่าฝ่ายรื่อคาเจ๋อมาจัดไว้อย่างดี มีเต็นท์ มีน้ำหวาน น้ำชา มีสุขาเคลื่อนที่ 2 หลัง
เมื่อทุกคนเข้ากันเรียบร้อยแล้วก็เดินทางต่อ ตามภูเขาแถบนี้มีนาขั้นบันได มีฝูงแพะ แกะ วัว ถนนไม่ค่อยจะดี มีเรือเฟอรี่ที่ข้ามไปลาซาได้ มีหมู่บ้านเล็กๆ 2-3 แห่ง ดูเป็นระเบียบ
คนขับรถบอกว่า พวกนี้คือพวกที่รัฐบาลย้ายมาจากเขตภูเขา ผ่านสนามบินเล็ก ชื่อสนามบินเหอผิง เป็นสนามบินทหาร มีแบบนี้อีก 4 แห่งในทิเบต
รถแล่นเข้าไปในหมู่บ้าน ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าไปทำไม ที่จริงในกำหนดการเขียนว่ามาพรุ่งนี้
(น.128) บ้านชาวบ้านทิเบตที่เราเยี่ยมวันนี้คือ บ้านของนาย Niman Minjul ในตำบล Bian Xiong เป็นบ้านค่อนข้างใหญ่ ขึ้นไปชั้นบนเห็นคนกำลังนั่งเขย่าถุงหนัง
บอกว่ากำลังทำเนย เจ้าของพาไปห้องรับแขก ห้องนี้สวยมากเป็นไม้สลัก เขียนรูปดอกไม้ ผลไม้ มีพิธีต้อนรับแบบทิเบต แล้วนั่งคุยกับเรา บ้านนี้ค่อนข้างใหญ่
มีคนอยู่ 12 คน อาชีพเกษตรกรรม มีที่นาประมาณ 50 ไร่ ปลูกชิงเคอ ข้าวสาลี ผักน้ำมัน ข้าวสาลีกับชิงเคอทำรายได้มากที่สุด นอกจากนั้นยังเลี้ยงวัว มีโคนม 16 ตัว มีม้า แพะ 72 ตัว รถแทรกเตอร์ 3 คัน รถบรรทุก
(น.128) รูป 112 บ้านของนาย Niman Minjul
Niman Minjul's house.
(น.129) รูป 113 คุณลุง Niman และภริยานั่งอยู่ด้านขวามือของข้าพเจ้า
Niman and his wife (sitting to my right hand.)
(น.129) คันหนึ่ง เครื่องเกี่ยวข้าวคันหนึ่ง ปัจจุบันนี้ทำไร่ทำนาต้องใช้เครื่องจักรช่วยจึงได้ผลดี ทำเนยกินเอง ชาวบ้านแถวนี้ทำเองทั้งนั้น
ไม่มีใครซื้อจากคนอื่น รายได้ 120,000 หยวนต่อปี ตอนนี้คุณลุงอายุ 63 เป็นชาวนาดีเด่นระดับชาติ
ไปรับเกียรติบัตรที่มหาศาลาประชาชนเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1989 ว่าแล้วคุณลุงวิ่งไปเอาเกียรติบัตรและรายชื่อชาวนาดีเด่นมาโชว์ มีรูปหมู่ผู้ที่ได้รับรางวัลติดไว้บนชื่อ
(น.130) รูป 114 ห้องพระ มีตู้เก็บคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร
Worship ROOM with Pra
(น.130) ข้างๆ ห้องรับแขกเป็นห้องพระ มีตู้เก็บคัมภีร์ มีคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร บอกว่าต้องสวดมนต์ทุกวัน
คัมภีร์ที่มีอยู่นั้นอ่านไม่ออก ต้องเชิญลามะมาอ่านปีละครั้ง คัมภีร์นี้ซื้อมาจากลาซาตั้งแต่ ค.ศ. 1980
(น.131) มีห้องเก็บของ แขวนเนื้อแพะตากแห้ง มีผักชีป่าสำหรับใส่เวลาตุ๋น มันเทศ ถามคุณลุงว่าชอบกินอะไรบ้าง
บอกว่ากินเนื้อแพะ เนื้อวัว หมูก็กินได้ จามรี พืชที่กินมีมันเทศ หัวไชเท้า ผักกาดขาว เป็นต้น ที่นอนก็เก็บไว้ในห้องเดียวกันนั้น (เป็นที่นอนยัดขนแกะ) ในห้องนอนก็มีของเช่นเดียวกัน
ใต้ถุนบ้านมีวัวสำหรับไถนา ใครมีวัวไถนานับว่าเป็นคนรวย บ้านนี้มีหลายตัว เห็นเลี้ยงไก่ด้วย ถามว่ากินไก่หรือเปล่า เขาบอกว่ากิน แต่น้อย ไข่ไก่กินกับบะหมี่
มีห้องอีกห้อง มีเครื่องปั่นขนแกะเป็นเส้น ชาวบ้านทำเสื้อใส่เองเป็นขนแกะ 100% ย้อมสีแดง เหลือง ดำ ฟ้า ชมว่าบ้านคุณลุงสวย บอกว่าช่างที่สร้างเป็นช่างในหมู่บ้านนี่เอง แต่ว่าช่างเขียนลายจ้างมาจากภายนอก
ถามว่าคนที่นี้เจ็บไข้ได้ป่วยทำอย่างไร เขาบอกว่า ถ้าเจ็บไม่มากก็ไปสถานีอนามัยในตำบลนี้ แต่ถ้าป่วยหนักก็ต้องไปโรงพยาบาลในเมือง
(น.131) รูป 115 ผักตากแห้ง เพื่อเก็บไว้รับประทาน
Air-dried vegetable.
(น.132) รูป 116 ถ่ายภาพร่วมกับสมาชิกในครอบครัวคุณลุง Niman Minjul
With Niman Minjul's family.
(น.132) เด็กๆ เรียนชั้นประถมและมัธยมต้นในตำบล หลานคุณลุงจบชั้นประถมแล้วไปเรียนชั้นมัธยมได้ปีหนึ่ง สอบตกเลยเลิกเรียนกลับมาอยู่บ้าน
บ้านนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ (แต่เห็นมีไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน) ไม่มีทีวี มีแต่วิทยุ ในหมู่บ้านนี้มีโทรทัศน์เครื่องเดียว ใครจะดูก็ดูเครื่องนี้
ถามว่าทำครัวใช้อะไรเป็นเชื้อเพลิง ยังแปลกใจที่เขาบอกว่าใช้ไม้ อธิบายว่าแถวนี้มีโครงการปลูกป่าดี อีกอย่างหนึ่งคือใช้มูลจามรี
ปีหนึ่งนิมนต์ลามะมาที่บ้านครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นถ้าจะทำบุญมักไปทำบุญที่วัดจ๋าสือหลุนปู้ รูปหนึ่งถวายเงิน 15 หยวน ถวานอาหาร ชิงเคอ เนื้อแกะ ต้องถวายอาหารที่ดีที่สุด
(น.133) ใต้ถุนมีห้องเก็บชิงเคอ เก็บได้ 2 ปี แต่พวกที่เก็บไว้เป็นปีที่ 2 แล้วต้องรีบขายไปหรือให้คนอื่นไป
ถามว่าเวลาพักผ่อนมีการบันเทิงอะไรบ้าง บอกว่าชอบแข่งม้า และเต้นรำ
คุณลุงและภรรยาเป็นคนเกิดที่นี่ เติบโตที่นี่ ไม่ได้มาจากที่อื่น
เดินทางต่อไปตามถนนเดิมไปเมืองรื่อคาเจ๋อ หรือ ชิกาเซ่ (Shigatse, Xigaze) เป็นเมืองใหญ่ที่ 2 ของทิเบต
ข้ามแม่น้ำหนีหยัง ถึงโรงแรมชื่อเดียวกับเมือง มีพิธีต้อนรับ แล้วขึ้นห้องอยู่ชั้นที่ 2 ห้องที่พักอาศัยไกลบันไดมากที่สุด เดินแล้วรู้สึกเหนื่อยกว่าที่ลาซา
รับประทานอาหารแล้วคิดว่าจะไปดูวัดเวลา 15.30 น. กำหนดเดิมเวลา 15.15 น. แต่เรามาช้าไปชั่วโมงหนึ่ง ทางเจ้าหน้าที่ท้องที่ก็เลยให้ออกเวลา 16.00 น. เสียเลย
ตอนเดินไปรับประทานอาหารกลางวันเจอคณะทัวร์ฝรั่งเศส เข้าไปในร้านของที่ระลึกเจอคณะทัวร์อิตาเลียน
วัดจ๋าสือหลุนปู้ (ต้าชี่ลุนโป Tashi Lhunpo Monastery) วัดนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1477
โดยดาไลลามะองค์ที่ 1 ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์จงคาปา ใน ค.ศ. 1600 ปันฉานลามะองค์ที่ 4 เริ่มขยายวัดให้กว้างขึ้น จากนั้นก็สร้างต่อไปเรื่อยๆ ใน ค.ศ. 1713 ปันฉานลามะองค์ที่ 5 ได้รับตำแหน่งจากจักรพรรดิจีน วัดนี้จึงเป็นวัดประจำของปันฉานลามะ
(น.134) รูป 117 เจ้าอาวาสวัดจ๋าสือหลุนปู้มอบผ้าฮาดาเพื่อคล้องคอในพิธีต้อนรับ
The abbot of Tashi Lhunpo Monastery presenting the Hada in the welcome ceremony.
(น.134) เจ้าอาวาสบรรยายว่าวัดนี้เป็นวัดใหญ่หนึ่งใน 6 ของนิกายเกลุกปะที่อยู่ในรายชื่อของวัดที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม วัดนี้มีอาคารมากมาย แต่ว่ามีเวลาน้อย
จึงเลือกนำชมเฉพาะสถานที่สำคัญๆ เท่าที่เวลาจะอำนวย เราจะได้พบพระที่ศึกษาคัมภีร์อย่างจริงจัง เป็นผู้มีความรู้แตกฉาน ทั้งวัดมีพระอยู่ 800 กว่ารูป ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นสนับสนุนช่วยเหลือวัดเป็นอย่างดี
นอกจากผ้าฮาดา (Hada) หรือผ้าคาตักแล้ว เจ้าอาวาสยังเอาผ้าสีแดง ผูกคอให้ บอกว่าผ้านี้ปันฉานลามะเสกเอาไว้ ผ้าคาตักเป็นผ้าไหมยาวสีขาว มีลายเป็นรูปอัษฏมงคล
(น.135) นั่งรถไปที่วิหารพระไมเตรยะ เป็นวิหารที่สูงที่สุดในบริเวณนี้คือ สูงประมาณ 30 เมตร พระปันฉานลามะองค์ที่ 9 สร้างใน ค.ศ. 1914
พระประธานของพระวิหารเป็นพระไมเตรยะทองสำริด สูง 26.2 เมตร ประทับอยู่บนฐานของชุกชีสูง 3.8 เมตร ใช้ทองหนัก 280 กิโลกรัม สำริด 115 ตัน มีอัญมณีต่างๆ ประดับประมาณ 1,400 เม็ด มีรูปพระปันฉานลามะองค์ที่ 9, 10 และ 11 องค์ที่ 11 ยังเด็ก ภาพฝาผนังเขียนเป็นเรื่องราวในลัทธิวัชรยาน
(น.135) รูป 118 ภาพฝาผนังรูปศรีเทวี (ปัลเดน ลาโม) ธรรมบาลที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งของพุทธวัชรยาน
Sri Devi, one of the important Dharmapala of Vajrayana Buddhism.
Next >>