<< Back
" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันพุธที่ 22 สิงหาคม 2544 "
(น.188) จักรพรรดิเจียชิ่งให้ทายาทสืบทอดวิญญาณของดาไลลามะองค์ที่ 9 ขึ้นครองได้โดยไม่ต้องจับฉลากปีที่ 13 ของรัชกาล ค.ศ. 1808
จักรพรรดิเจียชิ่งตอบจดหมายดาไลลามะองค์ที่ 9 ซึ่งไปเฝ้าที่ปักกิ่ง ตั้งขุนนางสำเร็จราชการ ค.ศ. 1820
พระบรมราชโองการจักรพรรดิเต้ากวง ค.ศ. 1822 ตั้งขุนนางคนเดิมสำเร็จราชการ เมื่อดาไลลามะองค์ที่ 9 มรณภาพ ยังหาองค์ที่ 10 ไม่ได้
สาส์นแสดงความยินดีของจักรพรรดิเต้ากวงตอนฉลองดาไลลามะองค์ที่ 10 ค.ศ. 1823
จักรพรรดิเต้ากวงให้หาเด็กสืบทอดดาไลลามะองค์ที่ 10 ตั้งดาไลลามะองค์ที่ 11
จักรพรรดิเต้ากวงมีลายพระหัตถ์ป้ายชื่อวัดแห่งหนึ่งในซานหนาน
จักรพรรดิเสียนเฟิงออกพระบรมราชโองการตั้งเจ้าเมืองสำเร็จราชการที่ทิเบต เนื่องจากดาไลลามะองค์ที่ 12 ยังเด็ก แต่งตั้งดาไลลามะองค์นี้ใน ค.ศ. 1858 จับสลากแจกแจกันทองตามประเพณีที่เริ่มใช้ใน ค.ศ. 1793
จักรพรรดิถงจื่อเขียนลายพระหัตถ์พู่กันเป็นชื่อวัดจ๋าสือหลุนปู้ เป็น 4 ภาษา
ภาพที่พระนางซูสีเขียนให้ดาไลลามะองค์ที่ 13 ข้อความบนภาพนั้นเสนาบดีชื่อจางจือเว่ยเป็นผู้เขียน
(น.188) รูป 154 ภาพฝีพระหัตถ์พระนางซูสีพระราชทานดาไลลามะองค์ที่ 13
Painting by the Empress Dowager Cixi, a gift to the 13th Dalai Lama.
(น.189) จักรพรรดิกวงสวี่ตั้งดาไลลามะองค์ที่ 13 พอตั้งไม่นานก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลจีนเลยให้การรับรอง
ป้ายที่จักรพรรดิเฉียนหลงเขียนให้วังโปตาลา แต่เขาอวดว่าที่ในหอจดหมายเหตุเป็นของแท้ เขียนเมื่อ ค.ศ. 1760 เป็นปีที่ 25 ในรัชกาล
หนังสือรายงาน (เขียนบนกระดาษ) ว่าทหารเนปาลโจมตีถึงทิเบตแล้ว ให้ทหารจีนไปปราบให้ได้ เอานายพล 2 ท่านจากเสฉวนมาประจำการที่เมืองลาซา และภาคส่วนหลังของทิเบต
บันทึกเสนาบดีทิเบตร่วมกับพระปันฉานลามะรายงานจักรพรรดิเต้ากวง ขอให้ปรับปรุงกฎหมายทิเบต 29 ข้อ
บันทึกประวัติที่อังกฤษเข้ามารุกรานทิเบต ฆ่าคนตายไป 3,000 คน ชิงทรัพย์สินชาวบ้าน ทำลายวัด
สมัยสาธารณรัฐ มีโทรเลขของยวนซีไขถึงดาไลลามะองค์ที่ 13
ลายมือเจียงไคเช็คถึงดาไลลามะองค์ที่ 13 ให้เข้าข้างรัฐบาลกลางของจีน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ดาไลลามะองค์นี้มรณภาพใน ค.ศ. 1933 ในปี ค.ศ. 1940 ตั้งองค์ที่ 14
โทรเลขประธานกิจการมองโกล ทิเบต หวงมู่ซง
หลังจาก ค.ศ. 1959 มีลายมือประธานเหมาและหลิวเซ่าฉีถึงดาไลลามะ จดหมายหลิวเซ่าฉี จดหมายโจวเอินไหลถึงดาไลลามะ ลายมือเติ้งเสี่ยวผิงและเจียงเจ๋อหมิน
(น.190) ห้องจดหมายเหตุทิเบต แสดงวัสดุและวิธีการบันทึกจดหมายเหตุทิเบต คัมภีร์ใบลาน ทังกา การเขียนบนไม้ ปกคัมภีร์กันจูร์ทำด้วยไม้ แม่พิมพ์ไม้ที่นี่มี 100,000 แผ่น
มีรูปวาดรูปหนึ่งเขียนแบบชาวบ้านเขียนไม่ได้มีศิลปะอะไรมากนัก คนที่หอจดหมายเหตุบอกว่าเรื่องราวที่เขียนน่าสนใจ เขียน ค.ศ. 1941 แต่คาดเหตุการณ์อนาคตได้
ตอนที่ปันฉานลามะองค์ที่ 9 สิ้น ก็ต้องหาเด็กมาเป็นปันฉานลามะองค์ที่ 10 การแสวงหาต้องไปดูที่ทะเลสาบ เมื่อไปดูที่ทะเลสาบ ผิวน้ำสะท้อนเป็นภาพ 13 ภาพ ช่างจึงวาดเอาไว้
ภาพแรกเป็นภาพวัดที่มณฑลชิงไห่ ข้างๆ วัดมีต้นไม้ เด็กควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ วัดที่อยู่ข้างๆ ควรเป็นวัดที่พ่อของเด็กเคยบวช มีเสือตัวหนึ่ง กระต่ายหลายตัว ตีความว่าเด็ก 2 คน
ปีเสือกับปีกระต่าย คนที่ได้รับเลือกควรจะปีเสือ มีรูปผู้หญิงสันนิษฐานว่าเด็กคนนี้จะไปทิเบต รูปเจดีย์ไม่มียอด แสดงว่าจะลาสิกขาแล้วแต่งงาน (แต่งงานช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจริงๆ )
สีดำหมายถึงจะต้องเดินทางไกลและยากลำบาก นกปากแดงหมายถึงสิ่งที่ไม่เป็นสิริมงคลอายุอาจไม่ยืน วัดจ๋าสือหลุนปู้แสดงว่าจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในวัดนี้ มีกลองใหญ่สูงเท่าตึก 2 ชั้น แสดงว่าจะมีชื่อเสียง ตรงกลางเป็นรูปที่แสดงว่ามีการปกครองระหว่างชนชาติ
เอกสารอื่นๆ มีโฉนดที่ดิน เอกสารแสดงอัตราภาษี
(น.191) ดาไลลามะตั้งขุนนางมองโกล จดหมายเหตุเกษตรปศุสัตว์ เรื่องการปลูกต้นไม้ เลี้ยงแกะแพะ บัตรยกย่องเกษตรกรดีเด่น ผู้ที่เลี้ยงแกะได้มาก เงินโบราณต่างๆ แม่พิมพ์เงินธนบัตร แสตมป์ทิเบต รหัสโทรเลข
เอกสารหลักฐานการสร้างถนนและท่าเรือ รายชื่อคนเป็นทหาร รายงานการทำอาวุธ ตำราหมอแมะทิเบต ภาพสรีระ สาเหตุของโรค แผนที่เขตเจียงจือ เขียนเป็นภาพแสดงภูเขาแม่น้ำเหมือนภาพฝาผนัง
เป็นแผนที่สมัยราชวงศ์ชิง มีรายละเอียดสถิติมากมาย เช่น หมู่บ้านมีกี่วัด วัดมีลามะกี่รูป มีประชากรกี่ครัวเรือน มีหมาเฝ้าบ้านกี่ตัว การวัดเส้นทางบอกว่าขี่ม้าไปกี่วัน
รายงานแร่ธาตุต่างๆ ชาวอังกฤษเป็นผู้เขียน มีภาพถ่ายประกอบ พบแร่ธาตุมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งทองแดง
แผนที่ทิเบตรูปนางยักษ์
แร่ธาตุที่ขุดพบในซานหนาน
หนังสือเกี่ยวกับลักษณะม้า มีภาพประกอบ
ภาพร่างบนผ้าเป็นภาพแบบจีน
ท่ามือและเท้าของระบำศาสนา (หนังสือเล่มนี้ถูกหนูกัด)
รูปถ่ายเก่าๆ แสดงวิวัฒนาการการแต่งกายสตรีทิเบต
ข้อสอบลามะ
ตำราเขียนภาพ
กฎหมายรวมตั้งแต่สมัยซงจ้านกานปู้ มีบทว่าด้วยการอนุรักษ์สัตว์ป่าด้วย
(น.192) แผนที่เก่าของลาซา
กฎหมายห้ามการพนันและกฎหมายปราบยาเสพติด
ผังการก่อสร้างวังโปตาลา
จดหมายเหตุ อุทกภัย แผ่นดินไหว
หนังสือภาษาต่างๆ บทวิจัย
เอกสารทิเบตเขียนบนกระดาษยาวที่สุด 366.6 เมตร เขาถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในโลกอย่างหนึ่ง
แสดงวิธีเก็บจดหมายเหตุบนกระดาษเรียงตามลำดับอักษรทิเบต แล้วใช้ผ้าทอ
จดหมายเหตุขนาดเล็กที่สุด เขียนว่าทาสสังกัดไหน จดหมายเหตุภาษาต่างๆ
กว่าจะดูเสร็จบ่ายโมงกว่า ดูในเอกสารแผ่นพับที่หอจดหมายเหตุนี้ยังมีที่ถ่ายไมโครฟิล์มและการซ่อมเอกสาร แต่ไม่ขอเข้าไปดูแล้ว เพราะว่าชักหิว มาดามเซริงบอกว่าของเหล่านี้แต่ก่อนอยู่ที่วังโปตาลา
กลับโรงแรมรับประทานอาหารกลางวัน
ตอนบ่ายไปวัดเสรา (Sera) ภาษาจีนว่า วัดเซอร่าอู่เจอซาน
วัดนี้เป็นวัดที่ใหญ่หนึ่งใน 3 แห่ง ของนิกายเกลุกปะ อยู่เชิงเขา Tatipu วัดเสรา แปลว่า สวนกุหลาบป่า เพราะแถวๆ นั้นเคยมีต้นกุหลาบป่าขึ้น มีเรื่องเล่าว่าอาจารย์จงคาปากับลูกศิษย์ได้ยินเสียงม้าร้องเดินเข้าไปพบหัยครีพ อาจารย์จงคาปาจึงสร้างวัดเพื่อหัยครีพ
(น.193) ตามประวัติว่า ค.ศ. 1414 จัมเชน เชอเจ (Jamchen Chojey) ลูกศิษย์คนหนึ่งของพระอาจารย์จงคาปาไปเฝ้าจักรพรรดิหย่งเล่อ ได้รับพระสูตรและรูปพระอรหันต์ ทำด้วยไม้จันทน์ พระอาจารย์แนะให้ลูกศิษย์ท่านนี้สร้างวัดเพื่อบรรจุสิ่งเหล่านี้ จึงสร้างวัดใน ค.ศ. 1419
เมื่อเข้าไปมีพระลามะมาต้อนรับ พระองค์ที่มาอธิบายพูดภาษาอังกฤษได้
พระท่านเล่าว่าวัดนี้มีวิทยาลัย 3 แห่ง น่าจะหมายถึงว่าสอน 3 สาขาวิชา แต่เราไม่ได้ดู เข้าไปที่วิหารกลาง ภาพเขียนฝาผนังเป็นเรื่องราวตามความเชื่อของนิกายเกลุกปะ มีพระพุทธรูปพระไมเตรยะ พระกัสปะ พระกวนอิม 11 เศียร 8 กร
(น.193) รูป 155 ภาพเขียนฝาผนังในวัดเสรา
Mural painting at Sera Lamasery.
(น.194) วิหารที่สำคัญคือวิหารธรรมบาล เป็นพวกรูปน่ากลัวองค์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือ หัยครีพองค์เดิม ตรงฐานชุกชี มีช่องเป็นรู ให้คนเอาหัวแหย่ลงไป
อีกห้องมีรูปพระไมเตรยะ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร มีคัมภีร์เก็บไว้มากมาย เป็นคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาทิเบต (ที่วัดซังเย) รูป 16 พระอรหันต์
เดินต่อไปอีกวิหาร มีรูปพระอาจารย์จงคาปา รูปธรรมบาลต่างๆ พวกพระที่มีชื่อเสียงที่เรียนจบจากวัดนี้เป็นพระที่เขียนตำราเกี่ยวกับการโต้วาที
วิหารสุดท้าย มีพระมัญชุศรีเป็นประธาน พระไภษัชยคุรุ นางตารา เก็บคัมภีร์เข้าใจว่าพิมพ์ที่โปตาลา
เดินผ่านห้องเรียน เป็นที่พระทั้งวัดมาพบกันได้ประมาณ 400 องค์
ด้านหลังวัดมีลานกว้างๆ ได้ยินเสียงดังลั่นออกมาเหมือนรบกัน เข้าไปดูกลายเป็นโต้วาทีธรรมทางวิชาการ มีหลายระดับ คนถามตบมือใส่หน้าคนตอบ
(น.194) รูป 156 ลานโต้วาทีธรรมของพระ
Debating Plaze.
(น.195) คำถามที่เขายกตัวอย่างให้ฟังเหมือนที่เด็กๆ ชอบทายปัญหาเชาวน์กัน เช่น ม้าเป็นสีขาวใช่ไหม คำตอบว่าใช่ ก็เท่ากับตอบผิด เพราะว่าม้าไม่ได้เป็นสี ม้าเป็นสัตว์
ก่อนกลับพระเชิญซื้อของ คนขายก็เป็นพระ มีหนังสือและของที่ระลึกต่างๆ
กลับโรงแรม
เวลา 17.30 น. ไปที่ที่ทำการราชการของทิเบต พบประธานสภาของทิเบตชื่อ รื่อตี้ เขาบอกว่าได้เดินทางพร้อมกับคณะสภาของทิเบตไปเยือนประเทศไทยเมื่อ 2 ปีมาแล้ว รู้สึกประทับใจ
ขณะนี้ทุกครั้งที่ทราบว่ามีคณะคนไทยมาก็จะต้อนรับด้วยตนเอง ผู้ที่มาร่วมต้อนรับข้าพเจ้ายังมีรองประธานสภา เป็น Living Buddha หญิงรองประธานที่ปรึกษา (หญิง)
เป็นนักร้องเสียงสูงที่มีชื่อของจีน อีกคนเป็นชาวหุยเป็นรองอธิบดีกรมกิจการพลเรือนทิเบต อธิบดีกรมวัฒนธรรม ล้วนเป็นผู้หญิงเท่านั้น
ประธานสภารื่อตี้เป็นห่วงว่าเมืองต่างๆ ที่ข้าพเจ้าไปชมมาแล้ว ถนนหนทางไม่สะดวกเลย แต่เดิมทางดีกว่านี้ แต่เกิดอุทกภัยถนนเสียหาย ประธานสภาเล่าต่อไปว่าบ้านเดิมอยู่ที่เขตปศุสัตว์ทางเหนือ
อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 4,500 เมตร อยู่ห่างลาซา 400 กิโลเมตร เป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีสัตว์ต่างๆ จำนวนมาก เช่น ม้าป่า แพะป่า วัวป่า พื้นที่ประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร มีทะเลสาบทั้งทะเลสาบน้ำเค็มและทะเลสาบน้ำจืด
(น.196) รูป 157 เข้าพบประธานสภาของทิเบต
An audience with the Chairman of Tibetan Council.
(น.196) พูดถึงนโยบายการพัฒนาภาคตะวันตกของรัฐบาลกลาง ที่นี่มีโครงการที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างทางรถไฟชิงไห่-ลาซา ความยาว 1,000 กว่ากิโลเมตร ใช้เงินทุน 26,000 ล้านหยวน
คาดว่าจะสร้างสำเร็จใน 6 ปี เวลานี้ทิเบตยังไม่มีทางรถไฟ ผู้นำจีนทุกสมัยสนใจเรื่องการสร้างทางรถไฟตั้งแต่รุ่นประธานเหมาเจ๋อตุง ท่านเติ่งเสี่ยวผิง และประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน แต่เป็นโครงการที่ทำให้สำเร็จได้ยาก ค่าใช้จ่ายสูง จึงเพิ่งเริ่มได้ในยุคนี้ เมื่อทางรถไฟเสร็จ จะพัฒนาท้องถิ่นได้ดีขึ้น การท่องเที่ยวจะดีขึ้นด้วย
ทิเบตมีเอกลักษณ์คือ ไม่มีวิสาหกิจใหญ่และกลาง ภายหลังการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อ ค.ศ. 1978 รัฐบาลกลางจัดสัมมนาพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ครั้ง ในการประชุมครั้งที่
(น.197) 4 ใช้นโยบายพิเศษในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคม การสื่อสาร พลังงาน งานพวกนี้ต้องใช้เทคนิคสูง ทิเบตยังมีปัญหาเรื่องทรัพยากรมนุษย์
แต่เมื่อเทียบกับสมัยก่อนนับว่าพัฒนาไปมากแล้ว แต่ก่อนไม่มีโรงเรียน เดี๋ยวนี้มีโรงเรียนทุกระดับ มีคำขวัญว่า ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีพัฒนาประเทศ รัฐบาลกลางมีนโยบายพัฒนาการศึกษา
ฉะนั้นเด็กในเขตปศุสัตว์จึงได้เรียนและกินอยู่ฟรี ได้เสื้อผ้าฟรี มณฑลอื่นๆ มาช่วยสร้างโรงเรียนมัธยมทิเบต ทุกตำบลต้องมีโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอต้องมีโรงเรียนมัธยม
ต้องให้คนทิเบตมีโอกาสเข้าโรงเรียนอย่างน้อย 80% นอกจากนั้นยังมีการร่วมมือกับโครงการความหวัง เพื่อเชิญชวนเอกชนให้ช่วยเด็กให้ได้เรียนหนังสือ มีโครงการเร่งอบรมครูทิเบต
เน้นการอบรมครูประถมและมัธยม เวลาปิดเทอมทั้งหน้าร้อนและหน้าหนาวจะเรียกครูมาอบรมหลักสูตรพิเศษ เชิญอาจารย์เก่งๆ จากมณฑลอื่นๆ มาสอน ส่งครูทิเบตไปฝึกอบรมในโรงเรียนดีๆ
ที่มณฑลอื่น อย่างไรก็ตามถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จนักในการจัดการศึกษาในเขตปศุสัตว์ ยังต้องช่วยเหลือในลักษณะมีโควตาพิเศษให้นักเรียน ถึงจะคะแนนไม่สูงเท่าคนอื่นก็ให้โอกาสได้เรียน
ประธานสภารื่อตี้ให้ของขวัญเป็นหนังสือชุดหนึ่ง 5 เล่ม เกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทิเบต ถ้าอ่านแล้วจะเข้าใจเรื่องทิเบตได้ดีขึ้น เล่มแรกเป็นเรื่องตั้งแต่ 50,000 ปีก่อน จนถึงสมัยราชวงศ์ถู่โป๋ เป็นพวกทิเบต กลางคริสต์ศตวรรษที่ 7 เล่มที่ 2 เริ่มตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 9 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 เล่มที่ 3 สมัย
(น.198) ราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง ค.ศ. 1206-1644 เล่มที่ 4 เป็นเรื่องราชวงศ์ชิง เล่มที่ 5 สมัยก๊กมินตั๋งจนถึงสมัยจีนใหม่
จากนั้นนั่งรถไปที่ประชุมรัฐสภา มาดามเซริงชี้ให้ดูที่ทำการกาชาดทิเบต มีโครงการที่กาชาดสวิตเซอร์แลนด์และกาชาดฮอลแลนด์มาช่วยด้วย ฝ่ายโครงการเตรียมเผชิญภัยและบรรเทาทุกข์ (Disaster Preparedness and Relief)
ที่ทำการรัฐสภามีห้องกินเลี้ยงใหญ่ มีเวทีการแสดง 2 ข้าง เวทีมีทีวีฉายวิดีโอเกี่ยวกับทิเบต ข้าพเจ้าถามถึงวัฒนธรรมทิเบตว่าปัจจุบันนี้มีนโยบายเปิดสู่ตะวันตก วัฒนธรรมแบบสมัยใหม่เข้ามาสู่ทิเบต
แล้วทิเบตรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างไร ประธานรื่อตี้บอกว่าตอนนี้ที่ยังเห็นได้ชัดคือ เวลามีเทศกาลตามประเพณี คนไปร่วมงานกันมาก เวลามีแขกมา คนทิเบตใช้ฮาดาต้อนรับ ผ้าฮาดา
(ผ้าแพร หรือผ้าไหมยาวสีขาวที่เจ้าภาพคล้องคอให้แขก) นี้ยิ่งขาวยิ่งดี การร้องเพลงเชิญแขกดื่มเหล้าก็เป็นประเพณีทิเบต การแต่งกายของคนทิเบตในพื้นที่ต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน เช่น คนรื่อคาเจ๋อ กับคนลาซาแต่งกายต่างกัน
เด็กรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาด้านวัฒนธรรม โรงเรียนสอนทั้งภาษาทิเบตและภาษาจีน รวมทั้งวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมดั้งเดิมของทิเบต เด็กที่ส่งไปเรียนปักกิ่งต้องเข้าใจวัฒนธรรมทิเบตดีก่อน
เด็กสมัยใหม่นอกจากเรียนภาษาทิเบต ภาษาจีนแล้วยังต้องเรียนภาษาอังกฤษด้วย
(น.199) วันนี้อาหารที่เลี้ยงเป็นอาหารพื้นเมืองทิเบตจานพิเศษมีโสมคน โสมชนิดนี้ขึ้นตามธรรมชาติในที่สูง 4,000 เมตรขึ้นไป มีสารที่มีประโยชน์ 17 ชนิด (ไม่ทราบว่าชนิดไหนบ้าง) บำรุงสุขภาพ
เนื้อที่ใช้ปรุงอาหาร เช่น เนื้อวัว แพะ แกะ ก็พิเศษ ไม่ใช่สัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์ม เลี้ยงในที่สูง 3,500 เมตรขึ้นไปทั้งนั้น โสมคนนั้นอร่อยมากคล้ายๆ ถั่วลิสงต้ม แต่จำพวกเนื้อเหนียวและแข็ง มีเห็ดชนิดหนึ่งได้ฉายาว่าเป็นเนื้อทอง มีเฉพาะฤดูนี้ ขึ้นในที่สูง 3,000-4,000 เมตร ปลูกก็ไม่ได้ อีกไม่กี่วันก็หมดแล้ว เป็นเห็ดธรรมชาติปลูกไม่ได้
มีการแสดงหลายอย่าง เช่น งิ้วทิเบต ระบำหนังหม่า นักร้องเสียงสูงร้องเพลง “นี่คือที่ราบสูงของมาตุภูมิ” นักสีซอเอ้อร์หู มีเพลงแต่งเอง นักพิณ 6 สายดีดร้องและเต้น นักร้องชายร้องเดี่ยวเพลง “ต้อนรับสู่ที่ราบสูง” ระบำของเขตอาหลี่ รายการแถมพิเศษคือ มาดามจังหม่า นักร้องมีชื่อเสียงระดับชาติร้องเพลง
การดื่มเหล้าที่นี่มีธรรมเนียมร้องเพลงให้แล้วแขกต้องจิบ 3 ครั้ง ครั้งที่ 4 ดื่มหมด
ข้าพเจ้าพูดกับประธานสภาและมาดามเซริงว่าจะขออุปการะเด็กนักเรียนทิเบตสักคน ทั้งสองท่านเห็นดีว่าจะจัดการให้