<< Back
" มุ่งไกลในรอยทราย วันพุธที่ 11 เมษายน 2533 "
(น.108) รูป83. ฟังบรรยายสรุปก่อนไปดูสุสาน
Listened to briefing before touring the tomb.
(น.109) พุธที่ 11 เมษายน 2533
เช้านี้หมอกลงทึบมาก ตั้ง 7 โมงกว่าแล้วยังไม่หาย ลมพัดดังฟู่ ๆ ข้าพเจ้ารับประทานอาหารแบบจีน มี ข้าวต้ม หม่านโถว ขนมเปี๊ยะ เค้ก ครูกู้เอาแผนที่เมืองซีอานมาให้
วันนี้รองผู้ว่ามารับไปดูกองทหารพระเจ้าฉินซื่อหวงตี้ ข้าพเจ้าบ่นกับเขาเรื่องปัญหาเจ้าหญิงหย่งไท่เป็นอะไรตาย เขาบอกว่ามี 2 ทฤษฎี
เดิมคิดว่าอู่เจ๋อเทียนประหาร แต่นักโบราณคดีคนที่ชอบพระนางเอาไปพิสูจน์ว่าออกลูกตาย ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับนัก
ข้าพเจ้าถามถึงคนที่เคยรู้จักเก่า ๆ ได้ความว่าคุณซุนหมิง วิเทศสัมพันธ์เก่าเข้าปักกิ่งแล้ว
ผู้ว่าราชการมณฑลคนเก่าที่เคยรับรองข้าพเจ้าเมื่อ 9 ปีก่อนย้ายไปเหอหนานเมื่อ 1983 แล้วไปเป็นกรรมการตรวจวินัยแห่งชาติที่ปักกิ่ง
อากาศไม่ค่อยดีเลย ฝนตกนิดหน่อย ฝนที่นี่ไม่เหมือนกับฝนที่อื่นคือ มีฝุ่นละเอียดปนอยู่ ทำให้กระจกรถมัวมองไม่เห็น ต้องหยุดรถครั้งหนึ่ง
รองผู้ว่าฯ บอกว่าตัวเขาเป็นคนตะวันออก มาทำงานส่านซีได้ 30 ปีแล้ว ไม่ค่อยเห็นฝนแบบนี้ จะมีปีละ 2-3 วันเท่านั้น
(น.110) ท่านรองผู้ว่าฯ อธิบายว่ากำแพงเมืองที่เห็นเป็นของราชวงศ์หมิงแต่มีรากฐานราชวงศ์ถัง ผ่านวังซิ่งชิงกงของพระเจ้าถังเสวียนจงหรือหมิงหวงรัชกาลที่ 7 ของราชวงศ์ถัง
ขณะนี้ใช้เป็นสวนสาธารณะ หมิงหวงโปรดกีฬาตีคลี โปรดการดนตรี มีความสามารถหลายอย่าง ยุคนั้นราชวงศ์ถังรุ่งเรืองมาก ภายหลังทรงหลงใหลพระสนมหยางกุ้ยเฟย (ที่กล่าวถังหลายครั้งแล้ว)
พระสนมจึงเป็นคนมีอิทธิพลมากในวงราชการ ใครอยากได้อะไรก็ต้องไปหาเธอ พวกกวีบางคนเป็นพวกมีอุดมคติไม่พอใจ ฉะนั้นจึงไม่ยอมอยู่ในวัง ออกไปเร่ร่อนแต่งบทกวี
ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะไปสู่ความเสื่อมนี้ กวีหลายคนเห็นความขัดแย้งในสังคมว่าในวังมีอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่ในถนนมีคนตาย สังคมซบเซา ก็แต่งบทกวีบรรยายไว้ แต่บทกวีเหล่านี้ก็ไม่ได้เตือนใจจักรพรรดิตอนนั้นเลย ให้ดูบทกวีที่ตู้ฝู่เขียนตอนไปสุสานของพระราชบิดาพระเจ้าหมิงหวง
ข้าพเจ้าเองชอบบทกวีบทยาวของไป๋จู่อี้ เรื่องเพลงแห่งความแค้นอันยาวนาน ฉางเหิ้นเกอเป็นบทที่บรรยายความเจริญรุ่งเรือง ความงามของพระสนมหยาง และพระราชวัง ภายหลังเมื่อเกิดการกบฏขึ้น
ทุกสิ่งทุกอย่างเหลือเป็นเพียงฝุ่นธุลี กวีเขียนได้ลึกซึ้งกินใจ แสดงถึงธรรมะของโลกที่ทุกอย่างมีการเกิด เสื่อมสลาย และแตกดับไปเป็นธรรมดา
รถข้ามป้าเหอซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์ถัง ทางราชการจีนก็จะส่งแขกเมืองที่นี่มีการหักกิ่งหลิวมอบให้ไป (บรรยายไว้แล้วในย่ำแดนมังกร) แถวสะพานนี้เขาปลูกต้นหลิวไว้มาก
บทกวีสมัยราชวงศ์ถังที่กล่าวถึงแม่น้ำป้ามีหลายบท ส่วนมากจะเป็นเรื่องของการจากลาทั้งสิ้น แม่น้ำป้าไหลไปลงเว่ยเหอ ท่านรองผู้ว่าฯ กล่าวว่าในสมัยราชวงศ์ถังมีสะพานข้ามแม่น้ำเว่ย 3 สะพาน สะพานที่สำคัญคือ
(น.111) สะพานตะวันตก อยู่แถว ๆ เมืองเสียนหยาง ที่ว่าสำคัญเนื่องจากเป็นทางเชื่อมไปสู่ประเทศตะวันตกตามเส้นทางค้าแพรไหม เรายังค้นสะพานในราชวงศ์ถังไม่พบ พบแต่สะพานสมัยราชวงศ์ฮั่น
สะพานด้านตะวันออก อาจารย์หวางเป็นผู้ขุดพบ อยู่ประมาณ 10 กิโลเมตรจากถนน สร้างอย่างใหญ่โตมโหฬารมาก กว้างถึง 16 เมตร ทำด้วยไม้และเหล็ก เหตุที่ต้องมีการค้นหาสะพาน เนื่องจากแม่น้ำเว่ยเปลี่ยนเส้นทางเดินจึงทับถมสะพาน เป็นการช่วยเก็บรักษาเอาไว้ด้วย
รถผ่านหัวชิง (เคยไปแล้วมีในย่ำแดนมังกร) มองเห็นสุสานฉินซื่อหวงตี้
รองผู้ว่าฯ พูดถึงการพัฒนามณฑลว่า มณฑลนี้บางส่วนเป็นเขตกันดารมาก รัฐบาลมณฑลพยายามขยายในเรื่องการศึกษา อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนจบชั้นประถมปีที่ 6 สำหรับบริเวณตัวมณฑลจะต้องได้จบปีที่ 9 เขาใช้วิธีสร้างโรงเรียนให้มาก ยังทำได้ยากในเขตภูเขา
ไปถึงพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาทหารของฉินซื่อหวงตี้ (สังเกตเห็นว่ามีร้านขายของที่ระลึกเป็นรูปทหารมากมายหลายร้าน แต่ก่อนไม่เห็นมี ตามตลาดมีป้ายภาษาอังกฤษติดไว้ตัวโตว่าขายตุ๊กตาทหาร)
ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ชื่อศาตราจารย์หยวน คอยต้อนรับ ท่านอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ 1974 อาจารย์หยวนพาข้าพเจ้าไปนั่งอยู่ที่ห้องรับแขกตามเคย กล่าวต้อนรับว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 1981 ข้าพเจ้าเคยมาแล้วครั้งหนึ่ง ฉะนั้นยินดีต้อนรับการกลับมาอีกครั้ง
(น.112) รูป 84. ตุ๊กตาทหารในกองทัพพระเจ้าจิ๋นซี
Statues of soldiers in the army of Emperor Qin Shi Huang Di.
(น.112) ในการมาครั้งแรกได้เขียนเอาไว้เป็นข้อความฝากความฝันอันสวยงามไว้ให้เราว่าโบราณวัตถุที่ขุดค้นนี้เป็นเครื่องแสดงความก้าวหน้าทางจิตใจ
วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ความสำเร็จในการค้นคว้าวิจัยเป็นผลงานของเจ้าหน้าที่ที่นี่ทุกคน และได้อวยพรไว้ คำอวยพรเป็นกำลังใจแก่พวกเรามาก
ต่อจากนี้จะเล่าถึงความคืบหน้า ตอนที่ข้าพเจ้ามาครั้งแรกมีแต่หลุมที่ 1 ปีหน้าจะขุดหลุมที่ 2 ต่อไป คราวนี้เพิ่มการแสดงรถม้าทองสำริด
(น.113) ค.ศ. 1980 พบรถ 2 คัน บูรณะเสร็จตั้งแสดงได้ใน ค.ศ. 1983 คันหนึ่ง เดือนพฤษภาคม 1988 อีกคันหนึ่ง
ใน 8-9 ปีที่ผ่านมานี้ได้สำรวจบริเวณสุสานเพิ่มขึ้น
รอบสุสานนี้เราพบหลุมตุ๊กตาสัตว์ต่าง ๆ รถม้า เราขุด 400 กว่าแห่ง กระจายไปในเนื้อที่ 2 ตารางกิโลเมตร แสดงว่าใต้ดินมีของล้ำค่าอยู่มากมาย สำหรับสุสานเราใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์
ได้รับผลสอดคล้องกับเอกสารประวัติศาสตร์ที่ซือหม่าเชียนเขียนไว้ว่าใช้ปรอทในสุสาน ข้าพเจ้าถามว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ว่านี้ทำอย่างไร เขาบอกว่าปรอทระเหยได้ จึงนำดินชั้นบนมาตรวจวิเคราะห์ทางเคมี
สามารถคำนวณปริมาณปรอทที่มีอยู่ได้ การสำรวจสุสานถึงจะมีความก้าวหน้าก็ต้องกระทำต่อไป การขุดคันนี้เข้าโครงการของยูเนสโก
ออกไปดูหุ่นจำลองบริเวณที่ขุดใหม่ แล้วไปดูที่หลุม 1 สังเกตว่าจัดเป็นระเบียบกว่าแต่ก่อน ตุ๊กตาหน้าตาไม่เหมือนกัน ตัวหุ่นปั้นด้วยมือแต่ศีรษะซึ่งถอดได้ใช้วิธีหล่อ ครั้งที่แล้วข้าพเจ้าถามเขาว่าใครเป็นผู้ทำหุ่น เขาบอกว่าไม่ทราบ
ตอนนี้ตอบได้แล้ว ในหุ่นบางตัวสลักชื่อคนทำเอาไว้ พบชื่อนายช่าง 85 คน แต่ละคนจะมีลูกศิษย์อีกเป็นจำนวนมาก มีเท่าไรไม่ทราบ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 10 คน นายช่างชื่อกงฉาง กงเต๋อ เสียนหยางอู๋ เป็นต้น สังเกตคร่าว ๆ จากหน้าตาของตุ๊กตาสันนิษฐานว่ามี 3 พวก
1. คนภาคกลางของจีน หน้าใหญ่ สี่เหลี่ยม
2. คนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นคนกลุ่มน้อยที่เลี้ยงสัตว์เร่ร่อน
3. คนป้าสู่มาจากมณฑลเสฉวนเป็นคนตัวเล็ก ๆ
(น.114) ขณะนี้ตัวตุ๊กตามีการแตกร้าวบ้างเพราะอากาศแห้ง เขาซ่อมบางตัวด้วยวิธีการฉีดน้ำยาเข้าไป
พื้นของบริเวณที่ปูด้วยอิฐ เดิมเป็นอุโมงค์มีหลังคาคลุม มีเสา (ยังเห็นหลุมเสา) แต่ถูกไฟไหม้พังลงมา การเรียงตุ๊กตาหลุม 1 นี้ เป็นแบบการจัดกองทัพที่จะออกรบ ด้านหน้า 3 แถว แถวละ 68 คน รวม 204 คน
มีนายทหารควบคุม 2 คน ทั้งหมดนี้เป็นกองหน้า มีทหาร 38 ขบวน รวมแล้ว 6,000 กว่าคน เป็นกองทหารใหญ่มาก แสดงความองอาจผ่าเผย ม้าของทหารเหล่านี้เป็นม้าเหอชูวอยู่ที่กานซู หัวธนูก็พบมาก มีสามหมื่นกว่าชิ้น
สำหรับฉินซื่อหวงตี้นั้น อาจารย์หวางบอกว่าน่าจะเป็นคนอยู่ในตระกูลเลี้ยงม้า อยู่แถบมองโกเลียใน แล้วจึงมาภาคกลาง เป็นไปได้ที่จะเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ก็ไม่ยืนยัน
ข้าพเจ้าถามว่าเมื่อขุดหลุมแรกนั้นเป็นการพบโดยบังเอิญเมื่อชาวบ้านขุดบ่อน้ำ เมื่อตั้งโครงการแล้วก็ต้องกำหนดจุดที่จะขุดอย่างแน่นอน มีวิธีการเลือกบริเวณที่จะขุดอย่างไร
อาจารย์หยวนและอาจารย์หวางอธิบายว่าใช้วิธีขุดเป็นหลุมตัวอย่างเล็ก ๆ ดินตรงไหนไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติก็ไม่มีวัตถุ เวลาปฏิบัติงานจะมีนักวิชาการ 20 กว่าคน ที่ประจำอยู่มี 70 กว่าคน
อิฐดั้งเดิมบางก้อนก็มีชื่อของผู้ทำสลักอยู่ อิฐที่นี่ผสมทรายควอตซ์ เผาด้วยอุณหภูมิ 1,000 ํซ. ตุ๊กตาก็ทำด้วยดินปนทรายแบบนี้
สมัยอื่นใช้ดินออกสีเหลือง ที่เป็นตุ๊กตาตัวเล็กเพราะสุสานสมัยอื่นที่เราเจอตุ๊กตาเป็นสุสานของเสนาบดี ไม่ใช่ของกษัตริย์
(น.115) เข้าไปดูในพิพิธภัณฑ์เขาห้ามถ่ายรูปอย่างแน่นอน ขู่ไว้อย่างน่ากลัว
NO PHOTO, NO FILM, NO VIDEO OR You will be fined.
มีรูปแสดงภาพเดิมที่พบม้าแตกเป็นชิ้น ๆ สถานที่ค้นพบม้านี้อยู่ที่ทางขึ้นสุสาน รถม้าทั้ง 2 คันใส่ไว้ในหีบใหญ่หีบเดียว ทำด้วยทองสำริด มีของประดับเป็นทองคำ และเงินสลับกัน ใช้ทองคำ 3 ก.ก. เงิน 4 ก.ก.
ในรถมีลายดอกไม้ต่าง ๆ แบบรถม้า มีรถเปิดกางร่มสำหรับการรบเรียกอีกอย่างว่าเป็นรถยืน ภาษาจีนว่า ลี่เชอ มีอาวุธหลายอย่าง เทียมม้า 4 ตัว
ส่วนรถอีกชนิดเรียกว่ารถสงบ ภาษาจีนว่าอันเชอ เป็นรถเก๋งสำหรับพวกเจ้าแผ่นดินเสด็จไปตรวจราชการ ขบวนรถที่ใหญ่ที่สุดเล่าว่ามีถึง 81 คัน ขนาดกลางมี 36 คัน ขนาดเล็กมี 9 คัน แต่แรกพอเขาอธิบายว่ารถเก๋งนี้เรียกว่าอันเชอ
แทนที่ข้าพเจ้าจะคิดว่าเป็นคำอาน แปลว่า สงบ กลับไปคิดถึงคำว่าอาน ที่แปลว่าอานม้า ถามอาจารย์สารสิน อาจารย์บอกว่าเป็นคำที่มีรากศัพท์เดียวกัน คือคำว่าอานม้าใช้ตัวอักษรภาษาจีนที่แปลว่าสงบ
อักษรตัวนี้ประกอบด้วยตัวอักษรที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงอยู่ใต้หลังคาบ้าน มารวมกับอักษรที่แปลว่าหนัง สรุปได้ว่า อานคือที่นั่ง (แล้ว) สงบทำด้วยหนัง ออกนอกเรื่องไปเสียแล้ว กลับมาเรื่องรถอีก
รถพระที่นั่งชื่อ จินเกินเชอ แปลว่ารถราก (รากแบบรากต้นไม้) ทอง บริเวณนี้ยังเจอโล่พบอยู่อันเดียว ลายของรถพระที่นั่งมีลวดลายแกะสลักทาสี ยังมีอยู่อีกหลายคันที่ยังไม่ได้ขุดขึ้นมา นั่งรถไปหลุมที่ 3
หลุมที่ 3 มีขนาดเล็กกว่าหลุมแรก คือ 520 ตารางเมตร มีทางเข้า ข้างหน้าเป็นประตูไม้ยาว 28.8 เมตร กว้าง 24.57 เมตร ลึก 3.2-5.4
(น.116) รูป 85. บริเวณที่พบตุ๊กตาทหารพระเจ้าจิ๋นซี ส่วนที่ขุดขึ้นมาศึกษาใหม่ (ที่มาย่ำแดนมังกร คราวก่อนยังไม่ได้ขุด)
An area, newly excavated, which, when I visited last time, had not yet been excavated.
(น.116) เมตร มีรถศึกคันหนึ่ง มีตุ๊กตาคนและม้า 72 ชิ้น รถม้าเทียมด้วยม้า 4 ตัว ในรถมีทหาร 4 คน ข้างหน้าเป็นนายทหาร ข้างหลังเป็นคนขับรถ
หลุม 3 นี้ทหารหันหน้าเข้าหากันในลักษณะเป็นกองรักษาการณ์มากกว่าเป็นการออกรบ ยังซ่อมไม่เสร็จ ตุ๊กตาพวกนี้มีลายสีแดง เขียว น้ำเงิน ม่วง เหลือง ขาว ดำ งานขุดค้นทางโบราณคดีและงานซ่อมบูรณะเป็นงาน
(น.117) ที่ละเอียดมาก เจ้าหน้าที่จะต้องค่อย ๆ เอาแปรงปัดดิน มีอีกคนคอยนั่งวาดรูปทุกชิ้นส่วนที่แตกไป แล้วก็ต้องเอามาต่อกันให้ถูกต้องเหมือนเล่นรูปต่อ ในหลุมมีรูปกวางด้วย เขาอธิบายว่าเป็นของที่ใช้ในการบูชาบรรพบุรุษก่อนออกรบ
(น.118) ก่อนจะกลับเขาให้ข้าพเจ้าเซ็นชื่อ ข้าพเจ้าเขียนอวยพรให้เขาทำงานสำเร็จอีก อาจารย์หยวนให้หนังสือรายงานการขุดค้น 2 เล่ม หนังสือภาพเกี่ยวกับรถม้าเล่มหนึ่ง
ขากลับท่านรองฯ ไม่ได้มานั่งด้วยข้าพเจ้าเลยคุยกับหนูดอกบ๊วยตลอดทาง โดยซ้อมทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เขาเล่าว่าเรียนภาษาอังกฤษเมื่ออยู่ชั้นมัธยมเลยยังไม่ดีนัก เมื่อจบมัธยมแล้วก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยตำรวจ
ทั้งรุ่นมีผู้หญิงอยู่แค่ 3 คน การเรียนหนักมาก เปียนเหมย (ดอกบ๊วย) ชอบกวีสมัยราชวงศ์ถังมาก ถามว่าข้าพเจ้าท่องได้ไหม แต่ก่อนข้าพเจ้าท่องได้หลายบทเดี๋ยวนี้ก็จำได้อยู่บทเดียวของหลี่ไป๋
หน้าเตียงแสงจันทร์กระจ่าง
ประดุจว่าน้ำค้างแข็งบนพื้นดิน
เงยหน้ามองดูจันทร์สว่าง
ก้มหน้านึกถึงบ้านเกิด
ความจริงเพิ่งมาไม่กี่วัน ยังต้องอยู่เมืองจีนอีกนาน ยังคิดถึงบ้านเกิดไม่ได้
กลับมารับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรม ตอนบ่ายสองโมงคุณหันมารับไปเจดีย์ห่านฟ้าเล็ก จีนเรียกว่า เสี่ยวเยี่ยนถ่า วันนี้ลมแรงมาก มีไก๊ด์มาอธิบายว่าในปี ค.ศ. 1961 รัฐบาลจีนตั้งเป็นโบราณสถานรุ่นแรกที่จะต้องอนุรักษ์
เมื่อคราวที่มาซีอาน 9 ปีก่อนข้าพเจ้าได้ขึ้นไปชั้นบนสุดของเจดีย์ห่านฟ้าใหญ่มาแล้ว คราวนี้ก็อยากพิชิตเจดีย์ห่านฟ้าเล็กบ้าง ไก๊ด์เขาบอกว่าขึ้นได้ แต่แรกทางก็กว้างดีอยู่ แต่ขึ้นไปสูง ๆ แล้วทางแคบลง บนยอด (ชั้น 15) มองเห็นวิวได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจดีย์ห่านฟ้าใหญ่
(น.119) รูป 86. เจดีย์ห่านฟ้าเล็ก
The Lesser Wild Goose Pagoda.
(น.120) รูป 87. ขึ้นไปถึงยอดเจดีย์ห่านฟ้าเล็ก
On the top of the pagoda.
(น.120) ไก๊ด์อธิบายว่าวัดที่นี่สร้างขึ้นในค.ศ. 684 เพื่อเป็นที่ทำพิธี 100 วัน พระบรมศพพระจักรพรรดิถังเกาจง ชื่อว่าวัดเซี่ยนฟู่ หมายถึงวัดสำหรับทำพิธีบูชาเพื่อให้ความสุข
ตอนนั้นพระจักรพรรดิถังจงจงยังครองราชย์อยู่ครองได้ไม่นานจักรพรรดิอู่เจ๋อเทียนพระมารดาก็ขึ้นครองแทน และให้วัดนี้เป็นวัดหลวง
สำหรับเจดีย์ห่านฟ้าเล็กเป็นของหลวงจีนอี้จิงซึ่งไปจาริกแสวงบุญและไปสืบหาพระคัมภีร์ที่อินเดีย ในตอนนั้นพระถังซำจั๋งกลับมาแล้ว หลวงจีน
(น.121) อี้จิงไปลงเรือที่กวางตุ้ง ใน ค.ศ. 671 เดินทางผ่านมะละกาไปอินเดีย เรียนอยู่ทีอินเดียเป็นเวลาถึง 25 ปี แสดงให้เห็นว่าสมัยราชวงศ์ถังน่าจะมีเส้นทางแพรไหมทั้งทางบกและทางทะเล
บุคคลสำคัญคนหนึ่งที่เดินทางตามเส้นทางแพรไหมทางบกได้แก่ พระถังซำจั๋ง ส่วนผู้ที่เดินทางเรือที่สำคัญคือ หลวงจีนอี้จิง เมื่อท่านกลับมาถึงประเทศจีนใน ค.ศ. 695 ท่านได้เดินทางไปที่ลั่วหยาง
ขณะนั้นพระจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียนประทับอยู่ลั่วหยาง ไปรับพระอี้จิงด้วยพระองค์เอง พระอี้จิงได้ตามเสด็จกลับมาเมืองฉางอานเพื่อแปลคัมภีร์ในวัดนี้ เมื่อ ค.ศ. 705 จักรพรรดิอู่เจ๋อเทียนสวรรคต
จักรพรรดิจงจงได้ขึ้นครองราชย์อีกครั้ง หลวงจีนอี้จิงแปลคัมภีร์ไปได้ 56 ม้วน 230 เล่ม ถึง ค.ศ. 707 จึงได้สร้างเจดีย์ ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี
การก่อสร้างเจดีย์ห่านฟ้าเล็กใช้วัสดุคล้ายคลึงกับเจดีย์ห่านฟ้าใหญ่ของพระถังซำจั๋ง แต่รูปแบบต่างกัน และการก่อสร้างเจดีย์ห่านฟ้าเล็กทำอย่างประณีตกว่า
เจดีย์ห่านฟ้าเล็กชำรุด เพราะมีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง
1. สมัยราชวงศ์หมิง ค.ศ. 1487 แผ่นดินไหว ระดับ 6 (ทราบได้อย่างไร) แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้เกิดรอยร้าวตรงกลาง
2. ค.ศ. 1521 แผ่นดินไหวอีกครั้ง รอยร้าวที่มีอยู่เลยปิดสนิทไปเองโดยธรรมชาติ ทำให้มีการเล่าลือกันในหมู่ประชาชนว่าเทวดามาช่วยปิด
3. ค.ศ. 1556 แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ระดับ 8 ยอดเจดีย์พังลงมา เจดีย์นี้จึงไม่มียอด ไม่ได้บูรณะมา 400 ปีแล้ว น้ำฝนไหลมาตามช่อง ช่องจึงโตขึ้นจนเกือบเหมือนช่องหน้าต่าง
สมัยนี้ได้มีการสำรวจดู ปรากฏว่าเจดีย์นี้ไม่มีการเอียงข้าง ยังตรงดี ๆ อยู่ ตามที่นักโบราณคดีสำรวจอิฐ บอกว่า 99% เป็นของสมัยราชวงศ์
(น.122) ถัง ในรอยต่อใช้สอด้วยดินเหลืองอย่างละเอียด ไม่ได้ผสมอย่างอื่น แสดงว่าคนโบราณวางโครงการอย่างละเอียด ทำให้เจดีย์นี้อยู่ได้พันกว่าปี
ต้น 1965 รัฐบาลให้งบประมาณพิเศษซ่อมแซม ใช้เหล็กเสริมไปในชั้นที่ 2,5,7,9 และ 14 ได้สร้างบันไดทางขึ้นให้สะดวก เพราะของเดิมนั้นพังไปแล้ว
ในการบูรณะครั้งนี้ รัฐบาลจะรักษาสภาพเก่าไม่ให้มีการเพิ่มเติมโบราณสถาน เราไม่ได้มีรูปเขียนไว้ว่าแต่ก่อนเป็นอย่างไรจึงไม่สามารถซ่อมได้ ต้องทิ้งไว้อย่างนี้เพื่อรักษาความสมดุลรอบ ๆ เจดีย์
ฉะนั้นจึงไม่ได้ซ่อมให้ตัวเจดีย์เป็นของใหม่ เพราะถ้าซ่อมก็จะเหมือนกับคนใส่เสื้อใหม่แต่ใส่หมวกเก่า (เข้าใจเปรียบเทียบดี!)
อาคารข้าง ๆ เขาใช้เป็นที่เก็บภาพของจิตรกรส่านซีที่มีชื่อ และการเขียนลายมือ เมืองนี้มีวัฒนธรรม มีกวีนิพนธ์ การเขียนภาพ ปัจจุบันยังรักษาประเพณีไว้
เดินดูอาคารต่าง ๆ รอบ ๆ บริเวณมีต้นไหว (Chinese scholar tree) อายุประมาณ 1,000 ปี เป็นต้นไม้ที่เทศบาลเมืองซีอานขึ้นทะเบียนไว้ วัดนี้ไม่มีพระพุทธรูป
ถูกทำลายไปหมดแล้วระหว่างการสู้รบ (ปี 1924 มีสงครามกลางเมือง ซีอานเป็นที่ขุนศึกต่าง ๆ มาสู้รบกัน)
หอระฆังเป็นโบราณสถานมีชื่อ สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์ซ่ง เกือบ 800 ปีมาแล้ว ระฆังใบนี้มีน้ำหนัก 10 ตัน ตอนนี้แตกแล้ว แต่ตอนที่ยังดีอยู่ตีได้ยินไปไกล 10 กว่าลี้ ข้างบนทำเป็นรูปมังกร
พระจะตีระฆังนี้ทุกวัน ตอนเช้าชาวบ้านได้ยินเสียงระฆังก็รีบออกมาทำนา สำหรับกวีบอกว่าเสียงระฆังทำให้มีบรรยากาศในการเขียนบทกวีดีขึ้น
Next >>