<< Back
" มุ่งไกลในรอยทราย วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน 2533 "
(น.140) รูป 97. เครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น วัวเทียมเกวียน
Vehicles such as ox-cart.
(น.140) ด้ายถัก ฟางข้าวสาลี หมอนเด็กรูปสัตว์ หมวกเด็ก ถังใส่แป้งข้าวสาลีทำด้วยกระดาษอัด หน้ากากไม้ของชาวทิเบตในกานซู ขนมที่ใช้ในงานแต่งงานของชนเผ่าตงเซียง พวกนี้เป็นชาวมุสลิมเผ่ามองโกเลียใช้ภาษาอัลตาอิก มองโกเลียน
(Altalic Mongolian) ปนกับจีนและเตอร์ก เขียนหนังสืออักษรอาหรับและจีน มีผู้กล่าวว่าพวกนี้เป็นลูกหลานของทหารเจงกิสข่านที่ประจำอยู่ในเหอโจว (หลินเซีย) ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ตอนที่มาโจมตีอาณาจักรเซี่ยตะวันตกในสมัยราชวงศ์หมิง พวกนี้ไม่ได้อพยพกลับแต่ยังอยู่แถวนั้น และ
(น.141) รูป 98. ผ้าปะเป็นรูปต่าง ๆ
Quilts.
(น.141) หันมาทำการเกษตร และทอพรม (ที่เล่าเรื่องอย่างยืดยาวเพราะข้าพเจ้าค้นข้อมูลมา จะไม่เขียนก็เสียดาย)
เกี้ยวเทียมลาในพิธีแต่งงานกานซู
พิมพ์ไม้สำหรับพิมพ์ภาพติดหน้าประตู
เผ่าคาซักเป็นเผ่าที่ปักผ้าได้สวยงาม อยู่ใกล้ ๆ แคว้นคาซักสถาน (Kazakhstan) ของโซเวียต แถวนั้นมีแม่น้ำอีลี่ไหลจากเทียนซาน เล่ากันว่า
(น.142) ในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลมีพวกเยว่จือ ซึ่งถูกพวกฉยุงหนูขับไล่มาทางตะวันตก พยายามจะมาอยู่บริเวณนี้ แต่ถูกพวกอูซุน ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อน พูดภาษาตระกูลภาษาเตอร์กขับไล่ลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้
นักจดหมายเหตุจีนบันทึกไว้ว่าพวกอูซุนมีตาฟ้าหนวดแดง พวกคาซักเป็นลูกหลานของอูซุนนี่เอง ขณะนี้ประชากรมีน้อยกว่าคนจีนชาวฮั่น และชาวเววูเอ๋อร์ ในนิทรรศการนี้นอกจากจะแสดงผ้าปักแล้ว
ยังมีกระเป๋าหนังแพะตุ๊กตาเจ้าสาวขี่ลา ต้องใช้ผ้าแดงคลุมหน้า แสดงรองเท้าชาวเขาทำด้วยผ้า เหมาะสำหรับใส่ปีนเขาในเขตที่มีหินเยอะ ข้าพเจ้าสังเกตว่ารองเท้านี่พวกชาวเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกฮ่อในเมืองไทยที่ข้าพเจ้าเคยเห็นก็ทำรองเท้าแบบนี้ใช้กัน
ผ้าปักฝีมือคนจีน (ฮั่น) แต่แรกข้าพเจ้าดูแล้วคิดว่าเป็นฝีมือชาวเขา เพราะใช้วิธีปักไขว้แบบชาวเขาปัก ลายก็คล้าย ๆ กัน ไปดูใกล้ ๆ ก็รู้สึกว่าคนปักเขามีความอุตสาหะมาก ใช้ผ้าเนื้อละเอียดแล้วตีเส้นเป็นตาตารางเอง
ที่กานซูมีการแกะตัวหนึ่ง ซึ่งของกานซูนี้เหมือนตัวหนังตะลุงของไทยมาก สีสันคล้ายคลึงกัน เขาเล่นหนังตะลุง (จีน) เหมือนกับเล่นงิ้วพื้นเมือง เล่นกันหลายเรื่อง เคยไปแสดงที่อิตาลีได้รับความนิยมมาก ข้าพเจ้าไม่ทันได้ซักถามเขาว่าวิธีเล่นหนังกานซูนั้นทำอย่างไรบ้าง ใช้จออย่างไร และพากษ์อย่างไร
สำหรับหัวหุ่นนั้นเป็นไม้คล้าย ๆ กับหัวหุ่นของชวา ที่เรียกว่าวาหยังโกเล็ก ไม่ได้ถามเขาว่าเล่นอย่างไร
นอกจากนั้นมีงานฝีมือต่าง ๆ เช่นภาพประดับเรื่องฟางข้าว ผ้าปะติดเป็นภาพ แม้แต่ประดิษฐ์กระดาษห่อทอฟฟี่เป็นภาพก็มี
(น.143) รูป 99. ว่าวจีน ข้าพเจ้าชอบว่าวมาก แต่ไปจีนคราวนี้ไม่ได้ซื้อว่าวจีนมา
Chinese kites. I am very fond of kites, but on this trip I did not buy any.
(น.143) ขนมที่ใช้บูชาบรรพบุรุษทำด้วยแป้ง
เอี๊ยมเด็กลายต่าง ๆ ว่าวใหญ่เป็นรูปตัวงิ้ว
ตัวหุ่นแสดงเสื้อผ้าของคนกลุ่มน้อยในกานซู เท่าที่จำได้มีพวกถู่ เป็นพวกที่อยู่แถว ๆ ทะเลสาบโกโกนอร์ (ชิงไห่) ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถูกขับไล่มาอยู่แถว ๆ เหอซี กลุ่มพวกทิเบตในกานซูก็มีหลายพวก ข้าพเจ้าไม่เคยทราบเลยว่าทิเบตก็ยังแบ่งเป็นหลายพวก เท่าที่เห็นในวันนี้มี 4 หรือ
(น.144) รูป 100. ตัวหนังซึ่งคล้ายตัวหนังของไทยมาก
The shadow puppets which look so similar to thai.
รูป 101. สิ่งประดิษฐ์พื้นบ้าน ตุ๊กตาแสดงการเล่นพื้นบ้าน
Folk arts and a model of traditional games.
(น.145) รูป 102. ถ้ำตุนหวงจำลอง
A model of Dunhuang caves.
(น.145) 5 อย่าง เช่น พวกจ๋วนหยีอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ พวกที่อยู่ติดกับเสฉวนเป็นเผ่าหยู่กู่ มีแต่ในกานซู พวกเทียนจู่อยู่เหอซี พวกเซี่ยเหอ
ผู้จัดนิทรรศการประดิษฐ์ถ้ำขึ้นมาใหม่เป็นถ้ำตุนหวงผสมกับไหมจี๋ซานซึ่งมีรูปแกะพุทธประวัติ
พอดูนิทรรศการจบก็ต้องลาไปที่โรงงานทอผ้าขนสัตว์ต่อ โรงงานนี้เรียกว่าโรงงานทอผ้าขนสัตว์หมายเลขที่ 1 แห่งหลานโจว พัฒนามาจากโรงงานทอผ้าขนสัตว์หลานโจวที่ตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1940 ภายหลังการปลดแอกรัฐบาลได้เอาใจใส่อุตสาหกรรมนี้
มีนโยบายให้ขยายกิจการเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบันสามารถผลิตทั้งวัตถุดิบ และผลิตผ้าทั้งชนิดเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด อุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องจักรกลที่ผลิตในประเทศจีน มีส่วนหนึ่งที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ เช่น อิตาลี เยอรมันตะวันตก และญี่ปุ่น
เนื่องจากโรงงานนี้เป็นโรงงานเก่า เรื่องการปรับปรุงเครื่องจักรก็มีปัญหาอยู่บ้าง จึงต้องค่อยเป็นค่อยไปในการเปลี่ยนแปลง
(น.146) โรงงานนี้มีแกนปั่นด้ายขนสัตว์ 17,600 แกน ผลิตผ้าได้ 550 ล้านเมตรต่อปี รวมสินค้าผ้าขนสัตว์ทั้งที่เป็นผ้าเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด ผ้าห่มขนสัตว์ เสื้อเสวตเตอร์ขนสัตว์ สินค้าขนสัตว์ถัก หนึ่งในสามของผลผลิตเป็นสินค้าส่งออกไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และอเมริกาเหนือ ที่เหลือใช้เองในประเทศ
โรงงานนี้มีคนงาน 6,400 คน เป็นผู้หญิง 70% มีวิศวกร 30 กว่าคน เจ้าหน้าที่เทคนิค 200 คน ขณะนี้มีการปรับปรุงด้านสวัสดิการ ในด้านที่อยู่อาศัยได้สร้างเพิ่มขยายเป็น 60,000 ตารางเมตร มีความสะดวกสบายต่าง ๆ และกำลังสร้างศูนย์ฝึกอบรม
เพื่อที่จะสนองนโยบายทางเศรษฐกิจทัดเทียมกับประเทศอื่นในโลก ทางโรงงานจึงให้ความสำคัญแก่การปรับปรุงทางเทคนิค การควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน ในรอบ 10 ปีมานี้ผลผลิต 63
ชนิดของโรงงานได้รับประกาศนียบัตรว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมสิ่งทอ และจากมณฑลกานซู สินค้าของโรงงาน 10 ชนิดได้รับเครื่องหมายรับรองสำหรับผ้าขนสัตว์แท้และผ้าขนสัตว์ผสมใยสังเคราะห์จากสำนักงานขนสัตว์ระหว่างประเทศ
โรงงานก็ได้รับเลือกเป็นโรงงานอันดับ 1 ในมณฑล ทำรายได้เป็นกำไรสุทธิปีละ 100 ล้านหยวน ส่งภาษีเข้ารัฐประมาณปีละ 26 ล้านหยวน โรงงานมีอำนาจติดต่อเซ็นสัญญากับต่างประเทศโดยตรง
เมื่อไปถึงผู้อำนวยการโรงงานเชิญนั่งดื่มน้ำชา บรรยายสรุปและเชิญไปชมห้องโชว์สินค้า เขามีแผนที่โลกแสดงถึงแหล่งต่าง ๆ ที่โรงงานส่งสินค้าไปขาย (ไม่มีประเทศ) จากนั้นก็ดูผ้าสารพัดชนิด เขาชี้ให้ดูผ้าขนสัตว์ชนิดที่อาหรับสั่งทำ ผ้าขนสัตว์แท้ ผ้าขนสัตว์ใยสังเคราะห์ ผ้าทำจากขน
(น.147) จามรี (Yak จีนเรียกว่าเหมาหนิว หรือวัวขน) ขนอูฐ ขนแกะ ผ้าขนแพะผสมปอ ผ้าสำหรับทำเสื้อโอเวอร์โค้ต ผ้าขนสัตว์แบบบาง ๆ เขาก็มี ส่วนในด้านการขายนั้นเขาขายทั้งแบบขายส่งและขายปลีก
จากนั้นเขาพาชมกิจการของโรงงาน ข้าพเจ้าถามเขาว่าในเรื่องของวัตถุดิบเขาได้มาอย่างไร ผู้อำนวยการตอบว่า มีทั้งที่รัฐบาลซื้อส่งมาตามแผนการจัดสรรของรัฐ และเมื่อวัตถุดิบไม่พอใช้ก็จะซื้อเพิ่มเติมเอง เขามีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐาน
ของที่ไม่ได้มาตรฐานที่ดีที่สุดก็ลดชั้น คือ จากชั้น 1 มาเป็นชั้น 2 ชั้น 3 ถ้าไม่ดีก็จะนำกลับไปย่อยเป็นเส้นทำใหม่ โรงงานนี้ดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง แบ่งคนงานเป็น 3 กะ กะละ 8 ชั่วโมง ในการขายสินค้าจะทำอย่างไรสุดแล้วแต่การทำสัญญา ส่วนมากลูกค้าจะมารับที่โรงงาน
ขึ้นลิฟท์ไปดูการผลิตผ้าห่ม ทอเป็นผืนยาวและมาตัดเป็นชิ้น ๆ กุ๊นริมด้วยผ้าธรรมดา
ก่อนกลับทางโรงงานให้ของขวัญเป็นผ้าผสมไหม ตอนชมโรงงานฝนตกเล็กน้อย
ขากลับที่พักผ่านสะพานจงชาน เป็นสะพานเหล็ก สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1907 วิศวกรเยอรมันเป็นผู้สร้าง ก่อนสมัยปลดแอกสะพานถูกเผา เมื่อปลดแอกแล้วได้บูรณะขึ้นใหม่ ถือว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำหวงเหอแห่งแรก รถผ่านสวนเด็กเล่น
รองเลขานุการมณฑลอธิบายว่าเมืองหลานโจวนี้ทำสัญญาเป็นเมืองคู่กับเมืองอะคิตะ (Akita) ของญี่ปุ่น (จีนเรียกชิวเถียน)
กลับถึงที่พักรับประทานอาหารกลางวัน มีออร์เดิร์ฟ เอ็นวัว เป็ด ไก่
(น.148) เนื่องจากตอนบ่ายจะต้องพบนักวิชาการ เมื่อรับประทานอาหารแล้วข้าพเจ้าจึงคุยกับอาจารย์สารสินและซุปว่าควรจะสนทนากับนักวิชาการอย่างไรดี พูดได้ยาก เพราะแต่ละตำราที่เราอ่านกันมาก็ไม่ค่อยจะเหมือนกัน
เวลา 14.30 น. ไปที่ห้องประชุม ชั้น 3 ของบ้านรับรอง นักวิชาการต่าง ๆ หลายท่านมารออยู่ คุณหม่าเหวินจื้อรองผู้อำนวยการแผนกวัฒนธรรมกานซูเป็นผู้กล่าวแนะนำและต้อนรับว่า ยินดีที่ข้าพเจ้าสนใจประวัติศาสตร์จีน
โอกาสที่ได้สนทนาแลกเปลี่ยนกันนี้ จะเป็นประโยชน์ทางวิชาการทั้งกับเจ้าหน้าที่จีนและฝ่ายไทย ขอให้อาจารย์ต้วนเหวินเจี๋ยเป็นประธานในการสนทนา อาจารย์ต้วนเป็นนักวิจัยและเป็นประธานของสถาบันวิจัยประวัติศาสตร์ตุนหวง
อาจารย์ต้วนแนะนำอาจารย์ชูชื่อปิน นักวิจัยและหัวหน้าพิพิธภัณฑ์กานซู (ซึ่งต้อนรับเราเมื่อเช้านี้) เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องหนังสือไม้ไผ่ของราชวงศ์ฮั่น
อาจารย์เยว่ปังหู ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโบราณคดีกานซู เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ค้นคว้าในเรื่องถ้ำและการสลักหิน
อาจารย์อู๋เหวินเจียง (อู๋ชูเซียง?) ผู้ช่วยนักวิจัยโบราณคดีกานซู ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวรรณคดี
คุณหม่ากลับมาแนะนำอาจารย์ต้วนเสริมอีกว่าเป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้วิจัยเรื่องถ้ำมาตั้งแต่ ค.ศ. 1946 อายุ
(น.149) 74 ปี เป็นผู้ร่วมงานกับอาจารย์ฉางซูหง (ที่ท่านประธานาธิบดีหยางซ่างคุนกล่าวที่มหาศาลาประชาชน) และทำงานต่อเมื่ออาจารย์ฉางเกษียณแล้ว
การสนทนาวันนี้ไม่ได้มีการเตรียมเอกสารหรือภาพอะไรมาเลย ไม่มีแนวการสนทนา อาจารย์ต้วนว่าจะเริ่มอย่างไรดี ข้าพเจ้าจึงถาม พยายามตั้งคำถามให้เป็นการเล่าประวัติความเป็นมาตั้งแต่ต้น แต่ก็ยังรู้สึกสับสน
คุณหลิวผู้แปลก็ไม่คุ้นเคยกับศัพท์ทางพุทธศาสนาหรือทางศิลปะ ในหนังสือเรื่องนี้จึงจะขอไม่ถ่ายทอดคำพูดคำต่อคำว่าคุยกับนักวิชาการอย่างไร จะสรุปเอาตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ ซึ่งผู้อื่นอาจจะเข้าใจอีกอย่างก็ได้
ตะวันตกและตะวันออกมีการติดต่อกันมานานก่อนที่จะเปิดเส้นทางแพรไหมเป็นทางการ อาจจะเก่าถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล แต่ไม่มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเป็นเครื่องกำหนดเวลาได้แน่นอน ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล ช่วงปี 334 – 323
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช2 แห่งแคว้นมาเซโดเนีย ยาตราทัพเข้ามาในเอเชีย นำทหารมาหลายหมื่นคน รุกรานเอเชียตะวันตก เอเชียกลางแถว ๆ ซีเรีย อิรัก อิหร่าน อัฟกานิสถาน อินเดีย ปากีสถาน ในปัจจุบัน
เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคตไปในระหว่างยกกองทัพมาทำสงคราม กองทหารกรีกไม่ได้กลับประเทศ หากยังคงอยู่ในเอเชีย
ทหารเหล่านี้แต่งงานกับผู้หญิงชาวพื้นเมือง (ไม่ทราบว่าเป็นนโยบายหรือเปล่า) ในกลุ่มชาวกรีกที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่นี้ มีผู้ที่มีความรู้ทางศิลปกรรม และได้นำความรู้มาเผยแพร่ ปรากฏเป็นศิลปะทางพุทธศาสนาที่เรียกว่าคันธาระหรือ
2 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงปี 356 - 323 ก่อนคริสต์กาล ขึ้นครองราชย์ในปี 336 ก่อนคริสต์กาล และได้ยาตราทัพแผ่อำนาจเข้ามาในเอเชีย
(น.150) คันธารราษฎร์ คนกลุ่มน้อยบางพวกในภาคตะวันตกของจีนมีความสัมพันธ์สืบเนื่องมาจากพวกเชื้อสายกรีกเหล่านี้ เป็นอันว่าอารยธรรมตะวันตกได้แพร่มาถึงตะวันออกแล้ว
ถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นคือประมาณอีก 2 ศตวรรษต่อมา 139 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ที่เรากล่าวถึงมาหลายครั้งแล้ว ส่งจางเชียนไปติดต่อกับพวกเยว่จือที่อยู่ที่อัฟกานิสถาน เพื่อสร้างแนวร่วมต่อต้านพวกฉยุงหนูซึ่งเป็นศัตรูร่วม พวกฉยุงหนูนี้แหละจะเป็นผู้ร้ายใหญ่ประจำเส้นทางการค้าแพรไหมเลยทีเดียว
เข้าใจว่าเป็นคนเชื้อสายเตอร์ก แบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกหลายพวก ซึ่งภายหลังพวกหนึ่งได้ไปรุกรานถึงยุโรป ที่ฝรั่งเรียกว่า พวกฮัน (Huns) คือพวกอัตติลาในคริสต์ศตวรรษที่ 5 พวกฉยุงหนูนี้ร้ายกาจมาก ทำกับพวกเยว่จือเจ็บปวดคือตัดหัวหัวหน้าเผ่าแล้วเอาศีรษะทำจอกสุรา
สำหรับพวกเยว่จือเป็นใครนั้น พวกเรา (กลุ่มนักเดินทางที่มากับข้าพเจ้าครั้งนี้) ก็ยังปรึกษากันอยู่ว่าจะให้เป็นเผ่าอะไรดี คำว่าเยว่นั้นแปลว่าพระจันทร์ ส่วนคำว่าจือนั้นเข้าใจว่าแปลว่าตระกูล อาจจะเป็นพวกกุษาณ (พระเจ้ากนิษกะ) ที่อยู่อินเดียและอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นพวกที่รับพุทธศาสนา
และแพร่พุทธศาสนาอุตรนิกายหรือมหายาน (ต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียให้ละเอียดอีกครั้ง) นักวิชาการจีนบอกว่าพวกเยว่จือได้ตั้งราชวงศ์กุ้ยซวง พวกนี้อพยพจากจีนไปอยู่รัสเซีย แล้วอพยพต่อไปตั้งถิ่นฐานที่ภาคเหนือของอัฟกานิสถาน
กลับมาหาจางเชียนพระเอกของเราอีกครั้งหนึ่งดีกว่า.. จางเชียนเดินทางไปพร้อมกับบริวารอีกร้อยกว่าคน แต่ถูกฉยุงหนูจับตัวไว้ถึง 10 ปี
ได้แต่งงานกับผู้หญิงฉยุงหนู มีลูกด้วยกัน แต่ก็หนีไปได้ และเดินทางต่อไปตามเส้นทางสายเหนือถึงเมืองข่าชือหรือกาชการ์ (Kashi, Kashgar) แคว้นต้าหวันหรือเฟอร์กานา แล้วยังต่อไปถึงที่แบกเทรียด้วย แต่พวกเยว่จือซึ่ง
(น.151) รูป 103. พบกับนักวิชาการชาวจีนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเส้นทางสายแพรไหม
Conferring with Chinese experts on the Silk Routes.
(น.151) อยู่สุขสบายดีแล้วในที่มั่นใหม่ ไม่สนใจที่จะเป็นพันธมิตรกับจีนในการต่อต้านฉยุงหนู แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทางการเมืองที่ได้กำหนดไว้ คือการร่วมมือกับเยว่จือทางการทหาร แต่จางเชียนก็ได้โอกาสศึกษาแนวทางยุทธศาสตร์
และขนบประเพณีของฉยุงหนู รวมทั้งได้รับความสนับสนุนจากพวกเยว่จือ จนมีเสบียงพอที่จะเดินทางต่อไป (เป็นของสำคัญมาก)
(น.152) จางเชียนเดินทางกลับจีน หลังจากจากไปถึง 13 ปี ขากลับนี้เขาเปลี่ยนเส้นทางจากเส้นทางเหนือซึ่งเป็นทีตั้งของพวกฉยุงหนู (เรียกได้ว่าเป็น “รัง” ของฉยุงหนู) เขาเปลี่ยนมาใช้ทางใต้ แต่ก็หนีไม่พ้นมือพวกชนเผ่าที่เป็นพันธมิตรของฉยุงหนู
ถูกจับไว้ปีหนึ่ง พอดีหัวหน้าฉยุงหนูตาย พวกเผ่าต่าง ๆ ก็เลยระส่ำระสาย เป็นโอกาสให้จางเชียนหนีได้ เดิมมีลูกน้องไปเป็นร้อย ตอนนี้เหลืออยู่คนเดียว เขาทำรายงานเสนอจักรพรรดิอย่างละเอียดในเรื่องภูมิศาสตร์ ขนบประเพณี
เศรษฐกิจของแคว้นทางตะวันตก 36 แคว้น ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนจีน ในปี 119 ก่อนคริสตกาล จางเชียนได้ไปอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไปติดต่อกับพวกอูซุน และไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาเหมือนดังเช่นครั้งแรก
นักเดินทางที่มีชื่ออีกคนคือปันเชา ออกไปสู้พวกฉยุงหนู ไปภาคตะวันตก ไปยึดเมืองโหลวหลาน เหอเถียน และกาชการ์ ตั้งผู้นำที่เป็นพวกพ้องจีน เขาอยู่เอเชียกลางเป็นเวลาถึง 31 ปี ปราบกบฏ สร้างความสัมพันธ์กับแคว้นต่าง ๆ ในภาคตะวันตก
จนถึงเปอร์เชีย บาบิโลเนีย ซีเรีย เขาส่งกานอิงไปถึงอ่าวเปอร์เซียใน ค.ศ. 97 ตั้งใจจะไปให้ถึงอาณาจักรโรมันแต่ไปไม่ถึง เพราะมีพ่อค้าคนกลางแถวนั้นหลอกว่าไปไม่ได้ มีอันตราย
ที่เล่ามายาวนี้จะสรุปว่าสมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นช่วงที่บุกเบิกการติดต่อค้าขายกับตะวันตก ก็มีเส้นทางที่จะเรียกว่าเส้นทางแพรไหม เส้นทางสมัยฮั่นต่างจากยุคหลัง คือ มี 3 เส้น ดังนี้
1. เส้นที่จะเรียกว่าเป็นเส้นทุ่งหญ้า เดินทางจากฉางอาน (ซีอาน) ข้ามแม่น้ำหวงเหอ ผ่านมองโกเลียใน มองโกเลียนอก เข้าไซบีเรีย รัสเซีย ไปยุโรป
2. เส้นทางทะเลทราย มี 2 เส้น เส้นเหนือ และ เส้นใต้
Next >>