<< Back
มุ่งไกลในรอยทราย คำนำ
การอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติบางครั้งก็ยากยิ่ง ธรรมชาติมักจะก่อความพิศวงขึ้นในจิตใจมนุษย์ ช่วยสร้างจินตนาการ อารมณ์ ความรู้สึกแปลก ๆ
เมื่อได้ไปยืนอยู่บนพื้นทะเลทราย ความรู้สึกหลายอย่างได้เกิดขึ้นในห้วงคิด อย่างหนึ่งคือความกว้างขวาง ความโดดเดี่ยว อิสรเสรี
ซึ่งงดงามและมีความหมายท้าทายต่อชีวิตที่มุ่งก้าวไปข้างหน้าไกลแสนไกล อีกอย่างหนึ่งคือ
ความประทับใจต่อบุคคลที่ไปมาอยู่ในพื้นที่แถบนี้ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน อยากศึกษาว่าเขาอยู่กันอย่างไร ทำอย่างไรจึงต่อสู้ความยากลำบากนานาประการในทะเลทรายได้
การเรียนรู้จักบุคคลต่าง ๆ สรรพวิทยาที่ได้พบ ให้เวลาเป็นพันเป็นหมื่นปีก็ยังไม่พอจะเรียนรู้ได้ทัน ชีวิตเราคงไม่ถึงร้อยปี ทุก ๆ
วันที่ผ่านมาก็มีความตื่นตาตื่นใจ ที่อยากไขว่คว้าแสวงหา ข้าพเจ้าจึงพยายามทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้พบเห็น
ได้ยินคำบอกเล่า อ่านจากหนังสือด้วยความจำกัดของสติปัญญาและเวลาจึงไม่สามารถค้นคว้าเพื่อสนองความอยากรู้
และเพื่อถ่ายทอดมาเป็นอักษรได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่เริ่มต้นตอนนี้ก็หมดโอกาสที่จะคุยกับท่านผู้อ่าน
ดังนั้นถ้าข้าพเจ้าบกพร่องผิดพลาดก็ขอได้อภัย และโปรดได้แนะนำเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมาโดยตลอด
ขอขอบคุณทุก ๆ ท่าน มิตรชาวจีนและไทยทั้งเก่าและใหม่ที่อำนวยโอกาสอันดีในการที่ข้าพเจ้า "มุ่งไกลในรอยทราย" ครั้งนี้
ข้าพเจ้าเตรียมการที่จะเดินทางตามเส้นทางแพรไหมมาปีเศษแล้ว เหตุที่่ตัดสินใจเดินทางมาจีนอีกครั้งหนึ่งนั้นสืบเนื่องมาจากการที่ได้คุยกับท่านทูตเสิ่นผิง
(ในหนังสือย่ำแดนมังกร เป็นอธิบดีกรมเอเชีย) ถึงเรื่องทะเลทรายโกบี ว่าเป็นสถานที่แปลกน่าสนใจ ท่านเคยไปปฏิบัติงานที่นั่นในสมัยปฏิวัติ
เมื่อท่านเสิ่นผิงมาเป็นเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ และก่อนจะกลับจีนเมื่อครบวาระท่านก็ได้ชวนอีก น่าเสียดายที่ท่านล่วงลับไปเสียก่อน มาคราวนี้จึงไม่ได้พบกัน
ใคร ๆ อาจจะคิดว่าข้าพเจ้าเคยไปประเทศจีนแล้วครั้งหนึ่ง ได้ไปอีกก็คงจะไม่ตื่นเต้น แท้ที่จริงข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นกว่าเดิมเสียอีกที่จะได้พบคนรู้จักเก่า ๆ
การเยือนจีนครั้งก่อนของข้าพเจ้าก็เป็นเวลาถึง 9 ปีเต็มแล้ว ประเทศจีนคงจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปมาก
เมื่อตอนที่ไปบรรยายหนังสือย่ำแดนมังกรให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ฟัง ข้าพเจ้าก็ได้กล่าวถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาของหนังสือเล่มนี้ไว้บ้าง
โดยพูดเกี่ยวกับประวัติความสัมพันธ์ไทย-จีน สถานการณ์ในจีนและไทยเมื่อ พ.ศ. 2524 และปัจจุบันว่าแตกต่างกันทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าจะพยายามหาข้อมูลต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟังให้มากที่สุดเท่าที่เวลาจะอำนวย โดยอาศัยความรู้ที่ได้จากผู้รู้ชาวจีน-ไทย หลาย ๆ ท่าน
ผู้ที่มาด้วยในคณะได้แก่ ดร.สารสิน วีระผล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมนิลา ซึ่งเคยช่วยเป็นล่ามให้ข้าพเจ้าเมื่อมา "ย่ำแดนมังกร" ครั้งก่อน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะผู้สนใจประวัติศาสตร์จีน