<< Back
" ใต้เมฆที่เมฆใต้ วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม 2538 "
(น.171) รูป 184 ดอก Magnolia หรือมณฑาชนิดหนึ่ง ในสวนสมุนไร สถาบันพฤกษศาสตร์คุนหมิง
(น.171) Trichosanthes kirilowii หน้า 47 เป็นไม้เถานักวิชาการกำลังสกัดตัวยารักษาโรคเอดส์
ต้นไม้ชนิดหนึ่งมีลักษณะแปลกคืออยู่ในน้ำเป็นไม้ยืนต้น มีรากหายใจ ได้ความว่าในจีนมีต้นไม้เพียง 2-3 ชนิดที่ขึ้นในน้ำได้ มีรากหายใจขึ้นมา ชนิดที่เราเห็นเป็นพืชจำพวกสนเขาเรียกว่า Taxodium
ต้นไม้อีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า Helwingia มีอยู่ 3 ชนิด (หน้า 116) คือ Helwingia chinensis, Helwingia himalaica และ Helwingia japonica เขาเล่าว่าออกดอกจากใบแทนที่จะออกจากกิ่งเป็นยาแก้โรคกระดูก แก้ร้อนใน
ต้นปรงเขา ทำยา ดอกแก้ตับอักเสบ
ยังมีอีกหลายอย่างแต่ไม่มีเวลาดู อยากดูหอพรรณไม้ของเขาซึ่งได้ยินว่าใหญ่โตมาก เจ้าหน้าที่เขาไม่ได้เตรียมไว้ พอดีวันนี้วันอาทิตย์ไม่มีคนมาทำงาน
ขากลับมาดามเฉินเล่าว่ายูนนานมีโครงการพัฒนาทางวิชาการที่สำคัญ 4 โครงการ
1. หั่วจู้ (คบเพลิง) เป็นการส่งเสริมเผยแพร่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูงให้กว้างขวางขึ้น
2. ซิงหั่ว เป็นโครงการเทคโนโลยีชนบทเพื่อให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ถูกต้อง ใช้เทคโนโลยีเหมาะสม (Appropriated Technology)
(น.172) รูป 185 ต้นปรงเขา (Cycas pectinata) ซึ่งเป็น living fossil หรือ “พืชหลงยุค” ชนิดหนึ่ง
(น.172)
3. ช่วงเย่ เป็นโครงการบุกเบิกค้นคว้าเกี่ยวกับทรัพยากรที่มีพิเศษในมณฑล
4. เจิ้นซินหนงเย่ เป็นโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรกรรมแผนใหม่ ส่งเสริมเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานให้แก่เกษตรกรรม เมื่อเกษตรกรมีความรู้มากขึ้นก็จะมีรายได้มากขึ้น รัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือ โดยพยายามหาเงินช่วยในการลงทุน
ช่วงบ่ายรับประทานอาหารกลางวันแล้ว ออกไปเยี่ยมสถาบันชนชาติมณฑลยูนนาน (ไม่ทราบว่ามณฑลอื่นมีสถาบันแบบนี้หรือไม่) ในรถข้าพเจ้าหยิบหนังสือบทกวีสำหรับเด็กขึ้นมา ทุกคนในรถท่องบทที่ว่า
(น.173) รูป 186 สถาบันชนชาติยูนนาน
(น.173)
เอ๋อ เอ๋อ เอ๋อ ห่าน ห่าน ห่าน
ซู เซี่ยง เซี่ยง เทียน เกอ โก่งคอสู่สวรรค์ร้องเพลง
ไป๋ เหมา ฝู ลู่ ฉุ่ย ขนขาวลอยในน้ำเขียว
หง จ่าง โป ชิง โป เท้าแดงพุ้ยคลื่นใส
ไปถึงสถาบัน มีศาสตราจารย์จ้าวเจียเหวิน อธิการบดีสถาบันฯ คณาจารย์ และนักศึกษาคอยรับ ศาสตราจารย์จ้าวเป็นผู้นำนักศึกษาไปแสดงที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตอนที่มีงานดนตรีไทยอุดมศึกษาเมื่อต้นปี 2538
ศาสตราจารย์หวงฮุ่ยคุน รองอธิการบดีบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถาบันพาไปดูห้องสมุด มีเอกสารภาษาของคนกลุ่มน้อยต่างๆ เช่นเอกสารของพวกตงปา (เผ่านาซี) มีเป็นจำนวนมาก อายุ 300 กว่าปี
ทางสถาบันเก็บมาจากตามหมู่บ้าน หนังสือตงปานี้ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครอ่านได้แล้ว ทั่วประเทศจีนมีผู้อ่านได้ไม่ถึง 20 คน อาจารย์ที่สถาบันนี้อ่านได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
(น.174) คัมภีร์ใบลานของสิบสองปันนาก็มีเป็นจำนวนมากเช่นกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ตำรายา นอกจากนั้นมีหนังสือภาษาไทใหญ่จากเต๋อหง มีคนแปลเป็นภาษาจีนแล้ว
เอกสารที่พิมพ์แล้วอยู่ในตู้หนังสือ มีเอกสารโบราณของพวกอี๋ ปัจจุบันนี้พวกอี๋ได้ปรับปรุงตัวอักษรจากภาษาโบราณผสมกับอักษรจีนมาใช้ โทรทัศน์วิทยุก็ออกเป็นภาษาอี๋ เผ่าฮาหนี (อีก้อ)
ใช้อักษรโบราณเขียนหนังสือ นอกจากนั้นยังมีพจนานุกรมภาษาฮั่น (จีน) - จิ่งพอ จีน – ลีซอ จีน – ตู๋หลง อี๋ – ฮั่น คัมภีร์ไบเบิลภาษาเหมียว (แม้ว, ม้ง) คัมภีร์ทิเบต ภาษามองโกล ภาษาหุย (อาหรับ)
ภาษาเววูเอ๋อร์ (อุยกูร์) ภาษาคาซัก ภาษาแมนจู หนังสือเรื่องอักษร 5 ลักษณะในราชวงศ์ชิง มีภาษาหม่าน (แมนจู) ฮั่น (จีน) มองโกล ทิเบต และหุย หนังสือวรรณคดีทิเบตสมัยต่างๆ
อาจารย์หวงฮุ่ยคุนอธิบายเรื่องสถาบันว่าแบ่งเป็นหลายคณะดังนี้
1. คณะภาษาชนชาติกลุ่มน้อย เปิดสอน 8 ภาษา คือ
1) ภาษาไทลื้อสิบสองปันนา
2) ภาษาไทใหญ่ เต๋อหง
3) ภาษาอี๋ เป็นภาษาตระกูลทิเบต – พม่า
4) ภาษาจีน (ฮั่น)
5) ภาษาหว่า (ว้า) ซึ่งเป็นภาษาตระกูลมอญ – เขมร สาขาปะหล่อง – ว้า
6) ภาษาลาฮู (มูเซอร์) แบ่งเป็น มูเซอร์เหลือง ดำ, แดง เป็นภาษาตระกูลทิเบต – พม่า
7) ภาษาฮาหนี (อีก้อ) เป็นภาษาตระกูลทิเบต – พม่า
8) ภาษาจิ่งพอ เป็นภาษาตระกูลทิเบต – พม่า
2. คณะวิชาภาษาตะวันออก มีสอน 4 คณะ
(น.175) รูป 187 ห้องสมุด
(น.175)
1) ไทย
2) พม่า
3) เวียดนาม แปลกที่เขาบอกว่าถือภาษาเวียดนามใต้เป็นหลัก
4) ลาว
3. คณะวิชาภาษาตะวันตก
1) อังกฤษ
2) ญี่ปุ่น ใครๆ ก็เอะอะว่าทำไมถือภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาตะวันตก ถามดูก็ไม่มีคำตอบ ข้าพเจ้าเลยคิดเอาเองว่าการจัดว่าใครเป็นตะวันออกตะวันตกในที่นี้เห็นจะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ เวลานี้เห็นกันว่าญี่ปุ่นเป็นฝ่ายตะวันตก ข้าพเจ้าว่าให้ถือเป็น 1 ใน G 7
(น.176) รูป 188 ห้องหนังสือโบราณจีน
(น.176) ไปดูห้องอ่านหนังสือ เป็นห้องที่นักศึกษามาหยิบหนังสือเอาเองได้ ถ้าเป็นห้องสมุดต้องบอกให้บรรณารักษ์หยิบ
วิชาการที่นักศึกษาต้องเรียนมีเรื่องประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ภาษา – วรรณคดี รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชนเผ่า และศาสนา นอกจากนั้นต้องเรียนคอมพิวเตอร์ด้วย
ระดับปริญญาโทมี 5 สาขาคือ
1. ประวัติศาสตร์ชนชาติ
2. มานุษยวิทยา
3. มานุษยวิทยาเศรษฐศาสตร์
4.ภาษาชนชาติ
5. วรรณคดีชนชาติ
(น.177) รูป 189 ห้องหนังสือโบราณจีน
(น.177) เมื่อจบชั้นมัธยมปลายแล้ว หากจะเข้าศึกษาต่อที่นี่ต้องมีการสอบคัดเลือกเข้าเรียน การเข้าเรียนระดับอุดมศึกษานั้นมีการสอบเข้าทั่วมณฑล นักศึกษาที่นี่ 95%
เป็นชนกลุ่มน้อย มีทั้ง 25 ชนชาติ ชาวต่างประเทศก็รับเข้าเป็นนักศึกษา มีนักศึกษาปริญญาตรี 4,500 คน แต่ละปีจบ 400 กว่าคน มีนักศึกษาไทยเรียนที่นี่ 7 คน
มาเรียนภาษาจีน ถามเขาดูมีอาจารย์คนหนึ่ง นอกนั้นมาเรียนด้วยเหตุผลต่างๆ กัน คือ ธนาคารจะเปิดสาขาใหม่ส่งพนักงานมาเรียน บิดามารดาส่งมาเรียนเองเพราะค้าขายติดต่อกับจีน
ไปดูห้องเอกสารโบราณจีน ห้องนี้แบ่งหนังสือออกเป็น 5 หมวด
จิง (คัมภีร์) เป็นหนังสือจำพวกปรัชญา เช่น หนังสือของขงจื้อ เม่งจื้อ
ประวัติศาสตร์ เช่น หนังสือสื่อจี้ ของซือหม่าเชียน มีจำนวนมาก (ตู้เรียงกัน 4 แถว)
พวกบทความของนักปราชญ์ เช่น หนังสือเหยียนเที่ยลุ่นสมัยฮั่นตะวันตก เป็นเรื่องวิเคราะห์เศรษฐกิจสมัยนั้น บทความของขงจื้อ ซึ่งอยู่ในสมัยจ้านกว๋อ อธิบายถึงวิธีปกครองแผ่นดินให้มีความสุข (มี 2 แถว)
บทความของนักเขียน นักวิชาการทั่วๆ ไป มีทั้งทางด้านวรรณคดี ประวัติศาสตร์ บทกวี บทความร้อยแก้ว (2 แถว)
หนังสือที่แยกเป็นเรื่องตามหัวข้อ ลักษณะคล้ายสารานุกรม เช่น เรื่องหยกในประเทศจีน เรื่องจังหวะหนักเบาของบทกวี เรื่องดนตรี
(น.178) รูป 190 คัมภีร์แบ่งประเภท
(น.178) นอกจากนั้นในห้องสมุดยังเก็บสำเนาจารึก (Rubbing) จากศิลาจารึกสมัยต่างๆ หนังสือหย่งเล่อต้าเตี่ยนฉบับที่สถาบันฯ มีอยู่
ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1959 (มี 200 กว่าเล่ม) มีตราสีแดงประทับไว้ว่าเป็นหนังสือหายาก หย่งเล่อต้าเตี่ยนเป็นสารานุกรมที่เก่าแก่ที่สุดของจีน ต้นฉบับมีอยู่ 3,519 ม้วน
ชั้นบนมีหนังสือชุดที่ Asia Foundation ให้ มีอยู่ 2,700 กว่าเล่ม มีหลายสาขาวิชา (จำแนกหมวดตามแบบจีน)
พจนานุกรมต่างๆ
Next >>