Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2539 "


(น.144) รูป 135 ชมซีหลิงเสียตอนพระอาทิตย์ขึ้น


รูป 136 ชมซีหลิงเสียตอนพระอาทิตย์ขึ้น

(น.145) วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2539
ข้าพเจ้าตื่นตี 4 แต่นอนต่อไปจนตี 5 พอเกือบจะสว่างคนโน้นคนนี้ค่อย ๆ มาที่หัวเรือ คุยกันเรื่องโครงการซานเสีย ไกด์เดินเข้ามาอธิบายซีหลิงเสียซึ่งเป็นโตรกเขาสุดท้ายอยู่ตรงเขตติดต่อระหว่างมณฑลเสฉวนกับมณฑลอันฮุย เขาบอกว่าบริเวณซีหลิงเสียนี้มีดินถล่มมากที่สุด ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงต่อเนื่องกันถึง 82 ปี เริ่มแต่ ค.ศ. 1544 เรือผ่านเกือบไม่ได้เพราะอันตรายมาก มีเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งมี 460 หลังคาเรือน ภายใน 10 นาทีพังทลายหมดหมู่บ้าน เหตุที่ดินถล่มเพราะชาวบ้านขุดถ่านหิน ทำให้ดินกลวงรับน้ำหนักไม่ได้ ที่แปลกคือหมู่บ้านพังพินาศทั้งหมู่บ้าน แต่ไม่มีใครเป็นอันตราย เพราะมีซินแสบอกไว้ล่วงหน้า นี่เป็นเรื่องเล่า ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่าเชื่อได้กี่เปอร์เซ็นต์ ตรงเส้นแบ่งเขตระหว่างมณฑลเป็นโตรกเล็ก ๆ เขาเล่าว่าต้นไม้ของมณฑลไหนจะเอนเข้ามณฑลนั้น ทำให้รู้ว่าจะขีดเส้นแบ่งเขตมณฑลตรงไหน


(น.146) รูป 137 เห็นดินถล่มตลอดทาง เหตุเพราะชาวบ้านขุดถ่านหิน

(น.146) เรื่องที่ไม่ดีอย่างหนึ่งคือเรื่องมลภาวะ ตั้งแต่วันแรกที่ลงเรือก็เห็นกล่องข้าวพลาสติกลอยน้ำเป็นร้อยเป็นพัน นกคงได้กลิ่นอาหารพยายามมาจิก วันนี้มีมลภาวะลอยเป็นแพสีขาว มีคนบอกว่าเป็นมลภาวะมาจากโรงงานทำกระดาษ ที่จริงจีนก็มีกฎหมาย แต่ว่าโรงงานกระดาษโรงนี้เป็นโรงงานของรัฐก็เลยไม่กลัวกฎหมาย ได้ยินว่าอีกหน่อยเขาจะปรับผู้จัดการโรงงาน ถ้าโรงงานของใครปล่อยมลภาวะ ผู้จัดการก็แย่ อีกวิธีหนึ่งคือย้ายโรงงานไปให้ไกลแม่น้ำ (ไม่รู้จะทำได้ไหม โรงงานก็ต้องมีแหล่งน้ำใช้เหมือนกัน) เรื่องโรงงานอาจจะ

(น.147) จัดการได้ แต่การควบคุมเรือท่องเที่ยวนั้นมีเยอะแยะ เห็นจะควบคุมยาก บริเวณนี้ก็มีหินปอดม้าตับวัวเหมือนกัน มีอยู่ที่หนึ่งเคยมีหินที่เรียกว่า ตุ้ยกว่อไหล คือ ตามฉันมา แต่ปัจจุบันนี้น้ำเขื่อนเก่อโจวป้าท่วมไปหมดแล้ว สมัยก่อนเล่ากันว่าถ้าพยายามแล่นเรือเข้าใกล้หินก้อนนี้เรือจะปลอดภัย แต่ถ้าพยายามเลี่ยงก้อนหินนี้จะถูกกระแสน้ำพัดไปชนหินอีกด้าน อันตรายมาก ตรงนี้มีก้อนหินเรียกว่า ประตูผี

พระอาทิตย์ขึ้นตรงหน้าเราพอดี แสงพระอาทิตย์อ่อน ๆ พระอาทิตย์ดวงกลมโตเหมือนไข่เค็ม สวยงามมาก พวกเราจึงพากันถ่ายรูป
(น.147) รูป 138 มีมลภาวะจากโรงงานลอยมา


(น.148) รูป 139 ขึ้นไปฟังบรรยายสรุปที่สำนักงานโครงการบริษัทซานเสีย

(น.148) รับประทานอาหารเช้า พอดีเรือจอดหน้าสำนักงานบริษัทพัฒนาโครงการซานเสีย มีคุญหลี่หย่งอาน รองประธานกรรมการผู้จัดการต้อนรับ พานั่งรถไปห้องประชุม ในรถคุณหลี่อธิบายว่า เริ่มงานก่อสร้างมา 3 ปีกว่า ใช้เงินไป 6,000 ล้านหยวนแล้ว หัวงานการก่อสร้างก็ต้องกั้นรั้วเพื่อไม่ให้คนนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามา สถานที่กว้างมากต้องอาศัยทหารตำรวจดูแลความปลอดภัย ตัดถนนภายในโดยรอบไปถึงศูนย์ควบคุมการก่อสร้าง ถึงห้องประชุม คุณหลี่กล่าวต้อนรับ บอกว่าเมื่อบรรยายสรุปแล้วจะให้ไปที่สถานที่ก่อสร้าง ระหว่างการบรรยายใช้ไฟฉายส่องชี้ไปที่โต๊ะหุ่นจำลองของโครงการซึ่งอยู่กลางห้อง ในตอนต้นกล่าวถึงลักษณะของเขื่อนเหมือนกับที่คุณถังได้กล่าวแล้ว กล่าวถึงกระแสไฟฟ้าที่จะได้จากโครงการ ประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วมและการพัฒนาการขนส่ง ผู้ที่จะได้รับประโยชน์มี 18 มณฑล ประชากรประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีมวลรวมการผลิตครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ

(น.149) แต่ก่อนนี้ช่วงต้นของปลายแม่น้ำฉางเจียงเกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง การขนส่งทางเรือมีอุปสรรค ค.ศ. 1931 และ 1935 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ คนตาย 140,000 กว่าคน อุทกภัย ค.ศ. 1954 คนตาย 33,000 คน เขื่อนคันดินที่ก่อสร้างไว้ทั้งสองฝั่งของลำน้ำสามารถป้องกันน้ำท่วมที่มีขนาด 10 ปีครั้งได้ น้ำท่วมมากกว่านั้นป้องกันไม่ได้ ถ้าทำเขื่อนซานเสียเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะสามารถป้องกันน้ำท่วมขนาด 100 ปี ครั้งและ 1,000 ปีครั้งหนึ่งได้ ไฟฟ้าพลังน้ำเป็นพลังงานที่บริสุทธิ์ (ไม่ทำให้อากาศเสีย) ไฟฟ้าพลังน้ำที่ผลิตได้จากเขื่อนซานเสียสามารถทดแทนการผลิตโดยการเผ่าถ่านหินได้เฉลี่ยมากกว่า 50 ล้านตันต่อปี การขนส่งระหว่างฉงชิ่งถึงอี๋ชางก็จะทำได้โดยสะดวก เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมมณฑลทางตะวันออกและมณฑลในตอนกลางของประเทศ สอดคล้องกับแผนพัฒนาฉบับที่ 9 ของประเทศ ผู้ริเริ่มโครงการนี้คือ ดร.ซุนยัดเซ็น เมื่อ ค.ศ. 1917 จากนั้นพยายามหาข้อมูล และทดลองวิจัยมาโดยตลอด จนพร้อมที่จะเริ่มต้นการก่อสร้าง โครงการซึ่งกำหนดไว้เป็นเวลา 17 ปี มี 3 ขั้นดังนี้ ค.ศ. 1993-1997 ช่วงนี้ทำมา 3 ปีกว่าแล้ว งานราบรื่นดี การวางแผนการลงทุนครบถ้วนในเดือนพฤศจิกายน การก่อสร้างใช้นโยบายยุทธศาสตร์พัฒนาต่อเนื่อง ระวังเรื่องสิ่งแวดล้อม จัดแหล่งท่องเที่ยว รัฐบาลมอบให้บริษัทซานเสียบุกเบิกพลังงานใหม่ ๆ ที่แม่น้ำฉางเจียง ปัจจุบันมีอีก 2 โครงการ คือ โครงการจินซาเจียงและซีโหลวตู้ (ผลิตไฟฟ้าอยู่มณฑลยูนนาน) เซียงเจียป้าอยู่มณฑลเสฉวน

(น.150) การบุกเบิกแม่น้ำฉางเจียงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจนี้ต่อไปคงจะได้แสวงหาความร่วมมือกับไทยด้วย การทำโครงการซานเสียเมื่อได้กระแสไฟฟ้า เริ่มต้นส่งไฟที่ภาคกลางไปจดเซี่ยงไฮ้ทางทิศตะวันออก ไปทางทิศตะวันตกถึงเสฉวน ภายหลังเมื่อผลิตได้ครบตามที่โครงการกำหนดแล้ว ก็จะส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าของประเทศ ฉะนั้นการสร้างเขื่อนจึงมิได้เป็นประโยชน์เฉพาะบริเวณนี้ แต่เป็นประโยชน์แก่ประเทศจีนเกือบทั้งประเทศ ท่านทูตถามว่าเคยพบปัญหาอะไรที่ไม่เคยพบไหม เขาบอกว่าตั้งแต่ทำงานมา 3 ปีนี้ ยังไม่เคยพบปัญหาใหญ่เลย ต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไรยังพูดไม่ถูก คุณถังมาแนะนำข้าพเจ้าให้ถามเรื่องเงินทุน (ข้าพเจ้าเคยถามคุณถัง แต่คุณถังยังไม่ทันอธิบายพอดีถึงเวลาต้องลงจากเรือ) คุณหลี่อธิบายว่า เงินทุนส่วนที่มาจากต่างประเทศไม่มีปัญหาอะไร ถึงสหรัฐฯ ขัดขวางไม่ให้จีนกู้เงินจากธนาคารในสหรัฐฯ ก็ไม่เป็นไร เพราะประเทศในยุโรปและเอเชียหลายประเทศตื่นเต้นโครงการนี้ อยากมีส่วนร่วม ให้เงินกู้และมาประมูลงานก่อสร้าง ประมูลขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ข้าพเจ้าถามต่อเรื่องปัญหาตะกอน เขาว่าเรื่องนี้มีประสบการณ์จากเขื่อนเก่อโจวป้า ซึ่งได้ดำเนินการทดลองและออกแบบให้มีประตูระบายไว้แล้ว จึงไม่มีปัญหาทางเทคนิค ส่วนที่ข้าพเจ้าเกรงว่าปุ๋ยในน้ำจะมีน้อยลงนั้น ปัจจุบันนักวิชาการกำลังศึกษาอยู่


(น.151) รูป 140 ดูที่ก่อสร้างเขื่อน

(น.151) นั่งรถไปดูสถานที่ก่อสร้างเขื่อน ผ่านบ้านพักกรรมกรก่อสร้าง เป็นตึกดูสวยงาม ข้าพเจ้าสงสัยว่าการก่อสร้างที่นี่ใช้กรรมกรก่อสร้างจำนวนมาก ตึกหอพักเท่าที่เห็นนี้จะเพียงพอหรือ คุณหลี่บอกว่าการก่อสร้างที่นี่ได้แยกงานรับเหมาเป็นส่วน ๆ บริษัทหนึ่ง ๆ เมื่อรับเหมาก่อสร้างเสร็จไปส่วนหนึ่งแล้วก็ออกไป คนอื่นก็เข้ามา ฉะนั้นจึงเป็นการหมุนเวียนคน กรรมกรที่มารับงานแต่ละคนมาตัวคนเดียว ไม่นำครอบครัวมาอยู่ด้วย

(น.152) ไปถึงที่ก่อสร้าง คุณเผิงฉีโหย่ว ผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างบรรยาย โดยให้ดูภูมิประเทศจริงและแผนที่ทำด้วยผ้าไนลอน อธิบายว่าเราอยู่ที่ระดับ 185 เมตร เขาขุดคลองผันน้ำและบริเวณตัวเขื่อน โรงไฟฟ้าและคลองเดินเรือเป็นปริมาณดินและหินทั้งสิ้นมากกว่า 40 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับคลองเดินเรือนั้นมีทั้งที่ติดตั้งบานประตูน้ำไว้และที่มีปั้นจั่น ซึ่งเมื่อเรือมา ใช้ปั้นจั่นยกเรือได้ ถึงตรงนี้ข้าพเจ้าไม่เข้าใจและนึกภาพไม่ออกว่ายกได้อย่างไร คิดว่าน่าจะเข้าใจผิดโดยในระยะแรกเขามีช่องสำหรับให้เรือผ่านชั่วคราวระหว่างการก่อสร้างซึ่งได้ติดตั้งเครื่องปั้นจั่นไว้ มีโรงไฟฟ้าทางด้านฝั่งขวาซึ่งติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 14 เครื่อง มีกำลังผลิตเครื่องละ 700 เม็กกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าทางฝั่งซ้ายซึ่งมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 12 เครื่อง มีกำลังผลิตเครื่องละ 700 เม็กกะวัตต์เช่นกัน รวมกำลังผลิตทั้งหมด 18,200 เม็กกะวัตต์ และให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 84,700 กิกะวัตต์ชั่วโมง เขื่อนยาว 2,309 เมตร ในด้านการชลประทานเมื่อสร้างเสร็จแล้วกักน้ำได้ 39,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ผู้ที่ออกแบบเขื่อนคือ คณะกรรมการชลประทานแห่งชาติ ผู้ที่รับเหมาก่อสร้างล้วนแต่เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์การก่อสร้าง ส่วนมากก็เคยสร้างเขื่อนเก่อโจวป้ามาแล้วหรือไม่ก็สร้างเขื่อนย่อย ๆ อีกหลายแห่งในบริเวณนี้ การทำงานต้องขุดดินมากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้คอนกรีตมากกว่า 27 ล้านลูกบาศก์เมตร เหล็ก 635,000 ตัน


(น.153) รูป 141 ถ่ายกับคณะวิศวกรที่สร้างเขื่อน

(น.153) ขึ้นรถจากแหล่งก่อสร้างไปดูสะพาน ผ่านโรงโม่หินสำหรับใช้ในการก่อสร้าง หินนี้ขุดได้จากการขุดคลองให้เรือผ่าน เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างครึ่งหนึ่งเป็นเครื่องจักรจีน ครึ่งหนึ่งเป็นเครื่องจักรญี่ปุ่น คลองสำหรับเรือผ่านนั้นมี 2 คลอง คือ คลองใหญ่เป็นแบบสองช่องทาง มีประตูเรือ (ship lock) 5 ขั้น ขนาด 280 x 34 x 5 เมตร และคลองเล็กเป็นแบบปั้นจั่นยก (ship lift) ขั้นเดียว ขนาด 120 x 18 x 3.5 เมตร


(น.154) รูป 142 สะพานซีหลิง

(น.154) ไปถึงสะพานซีหลิง เป็นสะพานแขวนข้ามฝั่งซ้ายไปฝั่งขวา สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมนี่เอง แม้แต่เมื่อน้ำสูงขึ้นเวลาสร้างเขื่อนเสร็จแล้ว เรือก็ยังลอดสะพานได้ สะพานนี้ถือว่าเป็นสะพานแขวนใหญ่ที่สุดในประเทศ ระดับสะพานสูงกว่าระดับน้ำทะเล 187.5 เมตร สูงกว่าระดับสันเขื่อน 2.5 เมตร ทางรถวิ่งกว้าง 18.5 เมตร รถวิ่งได้เรียงกันพร้อมกัน 4 คัน รถ 2,000 ตันผ่านได้ ใช้คอนกรีต 75,000 ตัน เริ่มสร้างตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1994 เสร็จ 10 สิงหาคมปีนี้ ใช้เวลา 31 เดือน บริษัทโครงการซานเสียก่อสร้างเอง การสร้างสะพานนี้ช่วยให้การรับส่งคนงานและวัสดุก่อสร้างทำได้สะดวกขึ้น ปูนซีเมนต์ที่ใช้ในโครงการนี้ขนส่งทางเรือมาจากโรงงานปูนซีเมนต์ที่จิงเหมิน ใช้ทั้งหมดประมาณ 9 ล้านตัน

Next >>