<< Back
" ย่ำแดนมังกร วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2524 "
(น.102) รูป 52 สิงโตวังหลวง
(น.102) พระที่นั่ง เป่าเหอ เป็นที่สำหรับจัดงานฉลองสิ้นปี จักรพรรดิจะพระราชทานเลี้ยงขุนนางและเสนาบดี พวกนี้จะต้องคุกเข่ารับประทานบนพื้นและจะต้องเอาหัวโขกกับพื้นแล้วจึงดื่มถวายพระพรจักรพรรดิ
สำหรับในราชวงศ์ เช็ง ใช้สถานที่นี้สอบ จอหงวน ด้วย ไกด์อธิบายว่า การสอบข้าราชการนี้แบ่งเป็นหลายระดับ มีสอบระดับอำเภอ มณฑล แล้วจะมาสอบทั้งประเทศ ผู้ที่สอบชนะในครั้งสุดท้ายนี้เรียกว่า จิ้นซื่อ
แล้วยังต้องมาสอบต่อพระพักตร์อีกครั้ง คนที่ชนะจึงจะได้เป็น จ้วงหยวน หรือ จอหงวน พิธีสอบนี้เริ่มมีตั้งแต่ราชวงศ์สุย แต่เดิมเอาแต่คนที่มีฐานะ มีชาติตระกูลดีเท่านั้น เมื่อมีสอบจะทำให้คนมีโอกาสทำงานได้เสมอภาคขึ้น
ของที่ใช้ประดับในห้องนี้ส่วนใหญ่เป็นของถมปัดสมัยราชวงศ์ เช็ง ของที่ใช้จะผลัดเปลี่ยนเสมอ
(น.103)รูป 53 ฟังคำอธิบายในวังหลวง
(น.103) เขาเอาตุ๊กตาปั้นดินเผาจาก ซีอาน มา 3 ตัว ตั้งไว้ในพระที่นั่งนี้ด้วย มีรูปปั้นม้า คนเลี้ยงม้าและทหาร
ดูพระที่นั่งสามองค์เสร็จแล้วเราจะเข้าไปฝ่ายใน บันไดก่อนเข้าฝ่ายในตรงกลางเป็นหินอ่อนชิ้นเบ้อเริ่ม ยาว 16 เมตร หนา 2 เมตร หนัก 2 ตัน สลักเป็นลายมังกร 9 ตัว เล่นคลื่น มังกรนี้ขึ้นสวรรค์หรือลงน้ำก็ได้
หินนี้มาจากอำเภอ ฝานซาน การขนหินมาตรงนั้นเขาใช้วิธีเจาะบ่อขังน้ำไว้ พอถึงฤดูหนาวน้ำแข็งตัวก็ผลักหินให้เลื่อนไปตามน้ำแข็งได้ เป็นที่ที่พระราชยานที่ประทับผ่านขึ้นลง (ที่พระราชวังบางปะอินมีชนิดย่อส่วนให้ดู)
(น.104) รูป 54 ครูเอาเด็กอนุบาลมาเล่นในบริเวณวัง
(น.104) ตรงลานกว้างก่อนเข้าฝ่ายในเห็นครูเขาเอาเด็กอนุบาลเล็กๆ มาเล่นมอญซ่อนผ้า คำที่ร้องเวลาเล่นข้าพเจ้าคิดว่าจะถามคุณเฉินทีหลัง แล้วก็ลืมถาม พ่อแม่ของเด็กๆ ต้องทำงาน ก็เอาลูกฝาก day care centre
เอาไว้ ทางศูนย์เลี้ยงเด็กก็พาเด็กไปเที่ยวเล่นให้ได้วิ่งออกกำลังกายได้อากาศโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพงแต่ทำให้เด็กสนุกสนานและรู้สึกอบอุ่นใจได้ มองดูเด็กพวกนี้ก็ตลกดี มีอยู่คนหนึ่งเอาผ้าไล่ตีอีกคน จะตีแรงไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบแม่หนูคนที่ถูกตีหันมาพ่อหนูน้อยคนนั้น เอากันซะร้องไห้ทั้งคู่ ครูก็วิ่งมาห้าม
(น.105) ฝ่ายในมีประตูทางเข้าเหมือนประตูสนามราชกิจ ของจีนประตูทั้งหมดมีชื่อทั้งนั้น (เหมือนประตูที่วังหลวง) บนหลังคาที่ในฝ่ายในก็มีรูปสัตว์ชนิดที่ช่วยดับไฟได้เหมือนข้างนอก แล้วยังมีรูปเซียนขี่หมีด้วย
ฝ่ายในนี้มีที่อยู่ของจักรพรรดิและมเหสี ซึ่งผู้ชายเข้าไม่ได้ถ้าไม่เป็นขันที และมีห้องจักรพรรดิว่าราชการด้วย เขาพาเข้าไปดูห้องว่าราชการอีกห้องซึ่งเขาอธิบายว่าห้องนี้เป็นห้องที่พระนาง ซูสี (ล่ามเขาเรียกพระนาง ชูศรี)
ช่วยจักรพรรดิว่าราชการ ในขณะที่จักรพรรดิ (ซึ่งเป็นลูกพระนาง) ยังทรงพระเยาว์ ยังทรงคิดราชการเองไม่ได้ พระนางต้องนั่งหลังม่านและคอยบอก เวลาเดินเข้าไป ข้าพเจ้าต้องค่อยๆ ระวัง เดินเลี่ยงๆ ไม่ให้เหยียบพรม
เราถามคนที่พาไปดูว่าอย่างนี้จะระวังกันอย่างไร ไม่ให้คนที่มาชมเหยียบพรม เขาบอกว่าตามธรรมดาแล้วจะกั้นเชือกเอาไว้ไม่ให้คนเข้า พวกเราได้เข้าดูเป็นพิเศษ ฉะนั้นจะต้องบอกกันไว้ไม่ให้ไปแตะของอะไรที่ตั้งเอาไว้
ข้าพเจ้าอยากเปิดดูหนังสือ ยังต้องเรียกให้เขามาเปิดให้เลย จากห้องว่าราชการเล็กๆ นั่นแล้วข้างในยังมีห้องนอนอีกห้องหนึ่ง
นอกจากนั้นเราได้ดูห้องจัดพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของพระมเหสีไปดูในตู้มีพระราชลัญจกรชนิดต่างๆ 25 อัน สำหรับใช้ในโอกาสต่างๆ ทำด้วยหยกสีต่างๆ กัน และหิน ชิงเถียน พระราชลัญจกรนี้ข้างหนึ่งเป็นหนังสือจีน
อีกข้างเขียนเป็นภาษาแมนจู ซึ่งเป็นอักษรรูปร่างแปลกๆ (ป้ายที่เขียนติดหน้าตำหนักก็เป็นภาษาจีนกำกับกับภาษาแมนจู) ตรานี้เริ่มสมัยพระเจ้าเฉียนหลง
(น.106) ในห้องนั้นยังมีนาฬิกาสมัยราชวงศ์ เช็ง ซึ่งจีนเป็นคนทำเอง เดี๋ยวนี้ยังเดินตรงดี นอกจากนั้นยังมีนาฬิกาน้ำ ข้างนอกอาคารมีนาฬิกาแดด จากนั้นเขาพาไปนั่งพักผ่อนอีกอาคารหนึ่ง ระหว่างทางเดินผ่านโรงละครของพระนาง ชูศรี ด้วย
ในห้องที่นั่งพักผ่อนให้รับประทานน้ำชา ถ้วยที่เขาเลี้ยงนั้นเป็นถ้วยของโบราณสีเหลือง มีตัวอักษรเขียนว่า โซ่ว แปลว่าอายุยืน เป็นถ้วยที่ปั้นขึ้นในงานเฉลิมพระชนมพรรษาของพระจักรพรรดิกวางสู
ใต้ก้านถ้วยเขียนอักษรจีนว่า ต้าชิงกวางซู่ว์เหนียนจื้อ แปลเป็นภาษาไทยว่า สร้างในรัชสมัยพระเจ้ากวงซู่ว์แห่งราชวงศ์ชิงอันยิ่งใหญ่
ยังไม่ทันดูในห้องอย่างละเอียดก็พอดีถึงเวลาที่จะต้องไปเข้าพบ ฯพณฯ เติ้งเสี่ยวผิง ไปกันเฉพาะขบวนเล็กอย่างเคย ส่วนขบวนใหญ่จะไปพบกันที่ร้านเป็ดปักกิ่ง ซึ่งท่าน ร.ม.ช. หันเนี่ยนหลง จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยง
ฯพณฯ เติ้งเสี่ยวผิง อายุ 76 ปี เป็นคนเสฉวน ขณะนี้เป็นประธานคนที่ 1 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเป็นรองประธานและรักษาการประธานคณะกรรมาธิการกิจการทหารของพรรค ท่านเติ้งเคยมาประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน 2521 ขณะที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี
เมื่อไปถึงมหาศาลาประชาชน พบกับท่านเติ้ง ก่อนอื่นท่านเติ้งพาไปถ่ายรูปหมู่ซึ่งเขาเตรียมที่สำหรับถ่ายรูปไส้เสร็จเรียบร้อย คือมีบันไดสำหรับคนแถวหลังยืน เมื่อถ่ายรูปเสร็จแล้ว ก็พากัน
(น.107) รูป 55ภัตตาคารปักกิ่ง กำลังดูคุณหลี่เม่า (ล่าม) อ่านกลอน อีกข้างหนึ่งคือ ร.ม.ช. หันเนี่ยนหลง
(น.107) เข้าในห้องสนทนากัน ตอนแรกก็พูดกันถึงเรื่องความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งท่านเติ้งบอกว่าทราบว่ามากว่า 2,000 ปีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ ฉิน ของจีน ข้าพเจ้าก็บอกว่าทราบว่าถึงราชวงศ์ หงวน
เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13 – 14 มีความสัมพันธ์ติดต่อกันอย่างใกล้ชิดและเป็นทางการ ตั้งแต่นั้นมาความสัมพันธ์ก็มีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อคราวท่านเติ้งมาเยือนไทยเข้าร่วมพระราชพิธีทรงผนวชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ถือว่าเป็นการ
(น.108) แสดงความสนิทสนม ท่านเติ้งบอกว่า การเยือนครั้งนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศทั้งสอง ชาวจีนในประเทศไทยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดยิ่งกว่าในประเทศใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยกับจีนไม่เคยมีเรื่องบาดหมางกัน
ฉะนั้นชาวจีนจึงมีความยินดีมากที่ข้าพเจ้ามาเยือนจีนครั้งนี้ จีนเป็นประเทศที่ไม่ร่ำรวยนัก แต่กว้างใหญ่พอที่จะให้ข้าพเจ้าดูงานได้ ข้าพเจ้ากล่าวว่าข้าพเจ้าหวังที่จะได้เห็นชาวจีนพัฒนาประเทศของตน
และมาครั้งนี้คงจะศึกษาจากประสบการณ์ของชาวจีนด้วย ท่านเติ้งบอกว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถศึกษาจากกันและกัน ประเทศไทยมีอะไรหลายอย่างที่จีนจะศึกษาได้ หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะกระชับความสัมพันธ์กันยิ่งขึ้น
หลังจากนั้นท่านเติ้งได้กล่าวต่อเกี่ยวกับเรื่องชลประทาน เมื่อข้าพเจ้ากล่าวถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่นายกจ้าวทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านเติ้งให้ความเห็นว่าในด้านการกำเนิดไฟฟ้าโดยใช้แม่น้ำลำธารเล็กๆ นั้น
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เห็นจะก้าวหน้ากว่าใครอื่น ในตอนสุดท้ายท่านเติ้งได้ขอบคุณข้าพเจ้าอีกครั้งที่มาเยือนประเทศจีน ส่วนข้าพเจ้าก็ขอบคุณรัฐบาลจีนที่เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้ามาเยือน เพราะจะทำให้มีโอกาสเห็นการทำงานของคนอื่น และศึกษาจากประสบการณ์ของตนเองด้วย
หลังจากนั้นข้าพเจ้าลาท่านเติ้ง เพื่อกลับไปบ้านพักก่อนจะไปรับประทานอาหารกลางวัน เมื่อไปถึงคุณพูนเพิ่มเอาของขวัญที่รัฐบาลจีนมอบให้มาให้ เป็นชุดเครื่องเขียนจีน มีหมึก
(น.109) จีนก้อนค่อนข้างใหญ่ มีเป็นรูปวิว พู่กันจีน หินฝนหมึกอย่างสวย ภาชนะใส่ปากกา และหมึก ฯลฯ เป็นลายคราม แถมด้วยสมุดแบบเขียนตัวหนังสือจีนด้วย มีคำอธิบายเรื่องเครื่องเขียนเป็นภาษาจีน
ข้าพเจ้าจึงจัดการแพคของลงกระเป๋า กระเป๋าใบนี้ยักยอกจากท่านผู้หญิงสุประภาดา เดิมสำหรับใส่ของที่ระลึกต่างๆ ที่เรามอบฝ่ายจีน ตอนนี้มอบจนหมดแล้วจึงเอากระเป๋ามาใส่ของเราที่มีเพิ่มขึ้น
ข้าพเจ้าจึงร่างจดหมายตอบขอบคุณไปที่ท่านนายกจ้าว ถึงตอนนี้กระดาษที่ข้าพเจ้าร่างจดหมายหาไม่พบแล้ว จำได้ว่ามีเนื้อความขอบคุณที่ได้ให้ของขวัญ ข้าพเจ้าจะเก็บของขวัญนี้ไว้เป็นที่ระลึกถึงการเยือนครั้งนี้
และจะได้ศึกษาเกี่ยวกับการเขียนตัวหนังสือจีน เพื่อความสัมพันธ์ของประเทศเราทั้งสอง แล้วฝากให้สถานทูตพิมพ์ ถึงเวลาเที่ยงครึ่ง ท่านหันเนี่ยนหลงมารับไปรับประทานอาหารที่ทำด้วยเป็ด ร้านเป็ดปักกิ่งนี้เป็นของรัฐ
นอกจากจะมีหนังเป็ดเหมือนร้านธรรมดาแล้ว ยังมีอาหารอื่นๆ เช่น หัวสมองเป็ด ปากเป็ด ตีนเป็ด เนื้อเป็ด กระเพาะเป็ด ลิ้นเป็ด ฯลฯ แม้แต่ขนมก็เอาแป้งมาทำเป็นรูปเป็ด วันนั้นไม่ได้จดการสนทนาเพราะสมุดจดอยู่ในกระเป๋าซึ่งคุณ
ฟ่าน คว้าเอาไปถือให้อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ที่นี่เป็ดปักกิ่ง เขาเอาออกมาให้ดูเป็นตัวที่อบแล้ว และเอาเป็ดมาโชว์ตามโต๊ะต่างๆ ให้ดูโดยทั่วกัน
เราต้องตบมือให้เป็ดเสียก่อน เขาจึงจะนำเอาเป็ดไปหั่นมาแจกพวกเรา ท่าน หวังโย่วผิง คุยถูกคอกับท่านทูตโกศล ซึ่งก่อนมาปักกิ่งเคยเป็นอัครราชทูตที่เวียดนามมาก่อน ส่วนท่านหันนั้นเคยเป็นผู้ไปเจรจาปัญหาเรื่อง
(น.110) เวียดนาม ฉะนั้นจะมีความรู้อยู่ในแนวเดียวกัน นอกจากนั้นท่านยังเคยเป็นทูตจีนที่ปากีสถาน และสวีเดน คุณหลี่เม่าเอาบทกลอนที่ข้าพเจ้าแต่งเป็นภาษาฝรั่งเศสและเขาแปลเป็นภาษาจีนลงในน.ส.พ. เหรินเหมินรื่อเป้า มาอ่านให้ฟัง ข้าพเจ้าบอกว่ายังมีอีกหลายบท แล้วจะฝากทางสถานทูตให้คุณหลี่เม่า
เสร็จแล้วเรากลับมาที่บ้านพักเตี้ยวหยูว์ไถอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเตรียมตัวไปพระราชวังฤดูร้อน
ผู้ที่พาข้าพเจ้าไปพระราชวังฤดูร้อนวันนี้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษชื่อครู ฟางปี้ฮุย คุณครูคนนี้ได้รับคัดเลือกเป็นครูดีเด่นของจีนพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก ปรากฏว่าวันนี้คุณเฉินหมดอาชีพไปเลย
คุณครูบอกว่าระบบการศึกษาจีนก็ปรับเปลี่ยนไปมาเพื่อความเหมาะสมมีหลักสูตร 10 ปี และ 12 ปี สำหรับวิชาภาษาอังกฤษนั้นรัฐบาลพยายามให้สอนในระดับประถมศึกษา แต่ไม่สามารถทำได้ดังเป้าหมาย เนื่องจากขาดครูที่มีความรู้ด้านนี้พอ ขณะนี้ก็มีการส่งเสริม เช่น มีการฝึกอบรม บางทีก็มีการส่งไปเรียนต่างประเทศ
เขาก็ถามข้าพเจ้าว่า การศึกษาของเมืองไทยเป็นลักษณะใด ข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้าจะตอบย่อๆ เท่าที่ทราบว่าเราจัดการศึกษาเป็น 12 ปี ขณะนี้ชั้นประถมศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ 6 ปี ชั้นมัธยมศึกษา 6 ปี สมัยก่อนนี้จัดเป็นประถมศึกษา 4 ปี สมัยต่อมาเราเห็นว่าน้อยไป จึงปรับเป็น 7 ปี (สมัยที่ข้าพเจ้าเรียน)
(น.111) รูป 56 วังฤดูร้อนหรืออี้เหอหยวน
(น.112) รูป 57 วังฤดูร้อนเหมือนกัน
(น.112) มาภายหลังลดลงเสีย 1 ปี สาเหตุที่ลดลงอาจจะเป็นเพราะเรื่องงบประมาณก็ได้ เนื่องจากในการศึกษาภาคบังคับนี้ในทางทฤษฎีรัฐจะต้องสนับสนุนทุกอย่าง เช่น ค่าเล่าเรียน เสื้อผ้า หนังสือ สมุด อุปกรณ์การศึกษา
การรักษาพยาบาล ในทางปฏิบัติแล้วมีการขาดแคลนไม่ทั่วถึง เราก็พยายามอย่างที่สุดแล้ว ผลของการศึกษาของไทยก็ไม่เลวนัก คือสถิติการอ่านออกเขียนได้นับว่าสูงพอสมควร นอกจากนั้นเรากำลังส่งเสริมการศึกษาด้านอาชีพศึกษา การสอนด้วยวิธีพิเศษ เช่นสอนด้วยวิทยุโทรทัศ์ การศึกษาที่จะทำให้มีการ
(น.113) พัฒนาในงานอาชีพ คุณครูบอกว่า ก็คล้ายๆ กับในประเทศจีนเหมือนกัน แต่ของจีนมิได้มีเครื่องแบบพิเศษซึ่งจะทำให้สิ้นเปลืองไปเปล่าๆ
ข้าพเจ้าว่าความจริงคนจีนก็เหมือนแต่งเครื่องแบบอยู่แล้ว คือ มักจะใส่เสิ้อ กางเกง และมีเสื้อคลุม (แม้ว่าจะร้อน) ส่วนมากเป็นสีน้ำเงิน อย่างเมืองไทยมีใส่กันหลายอย่าง ถ้าไม่มีเครื่องแบบใส่เหมือนกันทุกวันก็มักโดนว่า
ฉะนั้นมีเครื่องแบบทุ่นกว่า ตอนอยู่ในโรงเรียนข้าพเจ้าก็มีอยู่ไม่กี่ชุด รองเท้า 1 คู่ ก็ใส่ได้ตั้งแต่ ม.ศ. 1 – ม.ศ. 5 อยู่จุฬาฯ ก็มีเสื้อผ้า 3 – 4 ชุด ใส่ตั้งแต่เข้าจนจบ นอกจากว่ามันจะอ้วนขึ้นๆ ขณะนี้ข้าพเจ้าทำงานก็มีเครื่องแบบ 2 – 3
ชุดก็พอ คุณครูเล่าถึงสามีของครูซึ่งเป็นนักวิชาการศึกษา ขณะนี้ไปเลคเชอร์พิเศษเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนอยู่ที่สหรัฐฯ งานประจำที่ทำอยู่คือได้แต่งตำราเรียนภาษาจีนหลายเล่ม ซึ่งจะนำมาให้ข้าพเจ้าที่สถานทูตไทยในงานเลี้ยงตอนกลางคืน
วังฤดูร้อนหรือที่ภาษาจีนเรียกว่า อี้เหอหยวน (Yi He Yuan) สร้างในสมัยราชวงศ์เช็ง เมื่อพูดถึงชื่อทำให้ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า คำว่า “เหอ” ซึ่งแปลว่า “และ” นี้ ทำไมอยู่ในชื่อของพระที่นั่งและวังของจีน
เช่น อี้เหอหยวน พระที่นั่ง ไท่เหอ จงเหอ ฯลฯ ยังไม่ทันได้ถามใครเมื่ออยู่ประเทศจีน มาเมื่อวานได้พบอาจารย์สารสิน เลยถาม อาจารย์อธิบายว่าในสมัยก่อนคำว่า “เหอ” นี้แปลว่า ความกลมกลืน (Harmony) อันเป็นความคิดในลัทธิเต๋าว่า ธรรมชาติจะต้องมีความกลมกลืนกันทำให้เกิดความ
(น.114) รูป 58 คำว่า “โซ่ว” ลายมือพระนางซูสี ด้านหลังเป็นภาพค้างคาว 100 ตัว
Next >>