Please wait...

<< Back

" ย่ำแดนมังกร วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2524 "


รูป 59 กิเลน

(น.115) สุข เช่น ฟ้ากลมกลืนกับแผ่นดิน อาจารย์ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันนี้ความหมายว่า “และ” ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับความกลมกลืนคือให้ความหมายว่า “ด้วยกัน” วังฤดูร้อนนี้มีอาณาเขต 290 เฮกตาร์ 3 ใน 4 เป็นทะเลสาบใน ค.ศ. 1750 พระเจ้า เฉียนหลง (สมัยก่อนไทยเรียกพระเจ้า เคี่ยนหลง) จักรพรรดิองค์ที่ 4 ได้สร้างเอาไว้ แต่ก็ถูกฝรั่งเผาหมดเมื่อ ค.ศ. 1860 พอถึง ค.ศ. 1888 พระนาง ชูศรี หรือ ฉือสี่ (Cixi) เอาเงินงบประมาณกองทัพเรือจีน 5 ล้านเหรียญเงินซ่อมแซม ค.ศ. 1900 ฝรั่งมาทำความเสียหายให้อีก ค.ศ. 1903 ก็ซ่อมแซมขึ้นใหม่อีก พระนางมาอยู่วังนี้ราวเดือนเมษายนถึงตุลาคม เมื่อไปถึงมองเห็นรูปสัตว์อย่างหนึ่ง ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็นตัวกิเลน มีเขาเหมือนกวาง หัวเป็นมังกร ขาเป็นควาย หางเป็นสิงโต เริ่มต้นด้วยการดูพระที่นั่ง เหวิ่นโซ่ว ซึ่งหมายถึงอายุยืนนาน เป็นที่ซึ่งจักรพรรดิออกว่าราชการ จุดธูปเทียนบูชา ในนั้นมีเตาสำหรับทำความอบอุ่น มีกระจกเขียนตัว “โซ่ว” 226 ตัว ถือว่าเป็นของแปลกมากเพราะคำว่า “โซ่ว” คำเดียว สามารถเขียนได้ถึง 226 แบบ 2 ด้านมีตัวหนังสือเขียนว่า “พระนางชูสีสว่างกว่าดาวในแถบเหนือ ให้ความอบอุ่นแก่ประชาชน” มีห้องสำหรับพักผ่อนก่อนทำงาน ห้องที่พระจักรพรรดิให้เสนาอำมาตย์และทูตเฝ้า มีรูปค้างคาว 100 ตัว ซึ่งเป็นเครื่องหมายของโชคลาภและมีตัว “โซ่ว” ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของพระนาง ชูศรี เขียนตัวใหญ่เบ้อเริ่ม เขาอธิบายว่า เดิมพระนางเขียนตัวเล็กๆ และช่างเป็นคนขยาย (ขยายในราชวงศ์เช็ง)

(น.116) มีกระจกขนาด 2.5 x 4.5 กรอบเป็นไม้แดงสลัก ใช้คนงาน 360 คน เขาบอกว่าถ้าคนหนึ่งทำต้องใช้เวลา 10 ปี กระจกเป็นกระจกจากเบลเยียม (ทำสมัยพระเจ้าเฉียนหลง) ในห้องนั้นยังมีรากต้นหว้า ซึ่งธรรมชาติเป็นรูปสิงโต ออกจาก เหวิ่นโซ่ว เดินผ่านโรงงิ้วของพระนาง ชูศรี โรงงิ้วนี้ชื่อ ควนหรูหยงเป้า หมายถึงสนุกสนานรื่นเริงมาก ดูแล้วทำให้คิดถึง “ศาลาเริง” ที่พระราชวังไกลกังวล ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยว่าทำไมโรงงิ้วจึงต้องใหญ่โตขนาดนั้นและต้องมีถึงสามชั้น ข้าพเจ้าเองไม่เคยดูงิ้วเคยดูแต่ละครชาตรีสังเวยพระภูมิและแก้บน ซึ่งปลูกโรงไว้เฉยๆ ตั้งโต๊ะไว้ตัวหนึ่งก็เป็นทั้งสวรรค์เป็นทั้งโลกมนุษย์ กลางสะดือทะเล ในวัง ในป่า หรือเป็นเรือก็ยังได้ ไกด์เขาก็อธิบายว่า


(น.116) รูป 60 รากต้นไม้เป็นรูปสัตว์

(น.117) พระนางชอบงิ้วที่มีเซียนและมีผี ฉะนั้นเซียนซึ่งควรจะเหาะได้ก็ต้องลงมาจากชั้น 3 ส่วนผีจะต้องมาจากนรกก็ต้องขึ้นจากชั้นที่ 1 มาเจอกันตรงกลาง ส่วนการชักรอกขึ้นลงนั้นจะทำกันอย่างไรก็เหลือที่จะเดา ข้าพเจ้าเลยบอกว่างั้นก็เหมือนกำลังภายในนะซิ ตอนนี้ข้าพเจ้าไม่ค่อยมีเวลาจะดูหนังดูทีวี เแต่เมื่อเด็กๆ เคยดูหนหนึ่ง เพราะมีเพื่อนที่คุณพ่อทำงานงานเกี่ยวกับหนังจีน แล้วเขาขอมาฉายดูกันที่โรงเรียน เห็นมีพระเอกและผู้ร้ายกระโดดหวือขึ้นไปบนต้นไม้ (เข้าใจว่าคงจะกระโดดลงแล้วฉายหนังถอยหลัง) กำลังภายในนี่จีนเรียกว่า ชี่กง (กำลังเบา) หลังจากนั้นเราก็เดินไปตำหนักของพระนาง ชูศรี (ตามที่คุณเฉินเรียก) เรียกว่าตำหนัก เล่อโซ่ว หมายถึง ความสุขยั่งยืน ในนั้นมีที่นั่งและจานใส่ผลไม้วางสองด้าน เขาบอกว่า ตามธรรมเนียมผลไม้นี้รับประทานไม่ได้ ได้แต่มองและดมกลิ่นเฉยๆ มีเตาอบทำขนม ทำเป็นรูปลูกท้อ อีกห้องเล็กๆ เป็นที่เสวยอาหารเช้าของพระนาง ชูศรี อาหารที่พระนางเสวยมื้อๆ หนึ่งมีถึง 180 อย่าง มีผู้ประกอบอาหาร 80 กว่าคน มีคนรับใช้ 84 คน ต้องเปลี่ยนโต๊ะอาหารเรื่อยๆ เพราะอาหารมีมากเหลือเกิน สิ่งที่น่าสนใจในตำหนักนี้ยังมีอีก คือผ้าปักขนาดใหญ่ ปักด้วยไหมอย่างละเอียด และปักได้เรียบมาก รูปที่ปักเป็นรูปนกร้อยตัวมาเฝ้าหงส์ (หมายถึงพระนาง)


(น.118) รูป 61 นก 100 ตัว เข้าเฝ้านางพญาหงส์


รูป 62 พระแท่นบรรทมพระนางซูสี หมอนที่ใช้เป็นหมอนปัก ในตู้มีหรูอี้แสดงความมีอำนาจ

(น.119) นอกจากนั้นมีห้องเปลี่ยนเสื้อ ของที่แต่งห้องนั้นมีเครื่องลายครามหลายชิ้น มีแจกันญี่ปุ่นใบเบ้อเริ่มเป็นของถวายจากญี่ปุ่น อีกห้องที่ไปดูเป็นห้องนอนของพระนาง (ต่อไปนี้ขอเรียกว่าพระนางเฉยๆ ไม่เขียนชื่อเพราะเรื่องต่อไปมีอยู่พระนางเดียว) เป็นห้องเล็กนิดเดียว เตียงก็เล็ก คิดว่าพระนางนี่คงตัวไม่โตนัก มีหมอนปัก ลักษณะการปักเป็นแบบนูน (คงจะใส่ไม้หรืออะไรไว้ข้างในแบบเดียวกับที่เราทำ) ในห้องนอนยังอุตส่าห์มี หรูอี้ แสดงถึงอำนาจ ก่อนออกประตูไป ข้าพเจ้าได้เห็นของสวยงามอีกอย่างหนึ่งคือตู้ปลาของพระนาง จะเรียกว่าตู้ปลาก็ไม่ถูก ควรเรียกว่าโต๊ะปลามากกว่า ข้างในทำเป็นรูปวิวทะเลสาบ มีเก๋งจีน มีต้นไม้ ทำด้วยไม้สลักและงา เขาอธิบายว่าตรงนี้เป็นที่ซึ่งพระนางเสวยเครื่องว่าง การมองปลาว่ายไปมาทำให้รู้สึกเจริญอาหารดี หลังจากนั้นเราเดินทางไกลกันอีกครั้งหนึ่งกล่าวคือ เราจะต้องเดินไปตาม ฉางหลาง (Long Corridor) ซึ่งมีความยาวถึง 728 เมตร ข้าพเจ้าเคยเห็นรูปฉางหลางนี้แล้วในหนังสือ China Pictorial เป็นทางเดินยาว (มีหลังคา) สวยงามมาก ด้านซ้ายมือมองเห็นทะเลสาบคุนหมิง ระหว่างเดินเห็นคนกรรเชียงเรือในทะเลสาบ บนทางเดินมีคนพลุกพล่าน บางคนก็เดิน บางคนก็นั่งอยู่ข้างๆ รับประทานขนมปังหริอขนมเค้กไม่มีหน้า ตามทางเดินมีภาพเขียนประมาณ 8,000 ภาพ ด้านในบนขื่อเขียนรูปวิวเมือง หังโจว ภาพทะเลสาบ ชีหู (ชี = ตะวันตก, หู = ทะเลสาบ) ด้านนอกเขียนนิทานพื้นเมืองต่างๆ เพิ่งซ่อมแซมใหม่เมื่อ 2 – 3 ปีนี้เอง


(น.120) รูป 63 ดูอะไรก็ไม่รู้

(น.121) ทางซ้ายมือจะเห็นเนินเขา เรียกชื่อว่าเนินเขา ว่านโซ่ว (Wan Shou) ข้างบนมีหอสำหรับบูชาเทวรูป ได้ทราบว่าเนินนี้มิใช่เนินธรรมชาติ แต่เป็นพูนดินที่มาจากการขุดทะเลสาบคุนหมิง ไกด์บอกว่าแถวๆ นี้พระจักรพรรดิชอบมาสร้างสวนตั้งแต่เมื่อ 400 – 500 ปีมาแล้ว แต่สวนราชวงศ์ เช็ง โตที่สุด ข้าพเจ้าสังเกตดูจักรพรรดิว่าท่านเข้าใจเลือกสถานที่ปลูกสร้างอะไรต่อมิอะไร รู้เบาะแสดีมากว่าสร้างตรงไหนแล้วจะสวยงาม ยกตัวอย่างเช่น สุสานหรือฮวงซุ้ย เมื่อคราวไปสุสานติ้งหลิงนั้น ข้าพเจ้าได้ถามผู้ที่นำชมว่า ข้าพเจ้าเคยได้ยินจากคนจีนในเมืองไทยว่า การสร้างฮวงซุ้ยของจีนสถานที่อันเหมาะสมควรจะมีภูเขาและน้ำนั้น สมัยก่อนถือเช่นนี้หรือไม่ เขาบอกว่าเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างสุสานหลวง พระจักรพรรดิจะส่งคนไปสำรวจหาที่อันเหมาะสมและไปปลูกสร้างฮวงซุ้ย พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ ที่เรายังเห็นอยู่แม้ทุกวันนี้ เมื่อเดินสุดทาง เราไปยืนกันที่ชาลาริมทะเลสาบคุนหมิง และได้ถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน มองไปอีกด้านของทะเลสาบ จะเห็นภูเขาซึ่งเขียนออกเสียงเป็นภาษาไทยยากที่สุด คงจะเป็นทำนอง “ยู่ว์ เฉวียน” (Yú Chúan) (ยู่ว์ = หยก, เฉวียน = ลำธาร) ข้างบนเขาชื่อเรียกยากนี้มีเจดีย์ อี้ฟ่ง บริเวณเชิงเขาปลูกต้นหลิวทำให้มองไกลๆ จะลวงตาว่าเจดีย์อยู่ในบริเวณสวน อี้เหอหยวน ซึ่งแท้ที่จริงอยู่ไกล


(น.122) รูป 64 พระนางซูสี

(น.122) ออกไป บนภูเขามีแหล่งน้ำซึ่งต่อน้ำลงมาใช้ได้ มองอีกทางเราจะเห็นสะพานสิบเจ็ดช่อง หลังจากนั้นเราไปดู ผายยวินเตี้ยน (Pai Yun Dian = ท้องพระโรงกำจัดเมฆ) ณ ที่นี้ พระนางจะฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา จะเห็นรูปเซียนดั้นเมฆทางขวามือมีรูปพระนางเป็นรูปใหญ่ ผู้วาดรูปนี้เป็นจิตกรชาวอเมริกันเป็นภาพพระนางกำลังนั่งอยู่บนบัลลังก์มีมังกร (ฝรั่งวาดมังกรดูแล้วเหมือนตุ๊กแก) ตัวเล็กๆอยู่ที่พื้นสองตัว ไกด์บอกว่าภาพนี้แม้เขียนขึ้นเมื่อพระนางอายุมากแล้ว แต่ก็วาดได้สาวและสวยกว่าตัวจริงทำให้พระนางพอพระทัยมาก ของในหอนี้ยังมีรูปแปดเซียนข้ามทะเล มีรูปเซียนตัวโตเป็นถมปัด (จิ่งไท่หลาน) ภุชชงค์ตื่นเต้นมากบอกว่าเป็นของหาดูได้ยาก เพราะมีอยู่น้อยแม้ในราชวงศ์ เช็ง เอง เซียนนี้ถือสมุนไพรอย่างหนึ่ง เรียกว่า หลินจือ กินแล้วจะมีอายุยืนหมื่นปี เราเดินผ่านห้องที่มีกระจกเงา มองดูไปในห้องแล้วเหมือนกับมีประตูเปิดเข้าไปเรื่อยๆ ไม่ทราบว่าจบสิ้นที่ไหน กระจกนี้มีตั้งแต่สมัยก่อน แสดงว่ามีคุณภาพดีมากไม่มัวเลย เข้าใจว่าเป็นของขวัญจากใคร เพราะของที่ไว้ในห้องนี้ส่วนมากจะเป็นของขวัญจากทั้งใน

(น.123) และนอกประเทศจีน คิดคำนวนดูแล้วจีนสมัยก่อนคงจะมีสมบัติมากมายกว่านี้หลายเท่า ขนาดที่ของถูกทำลาย ถูกปล้นไปมากต่อมากก็ยังเหลืออยู่จนเที่ยวชมไม่ไหว ไกด์บอกว่าเวลาพระนางทำพิธีอยู่ ไม่มีใครจะเข้าได้แม้แต่จักรพรรดิ (จักรพรรดิ กวางสู ขณะนั้นยังเด็กมาก) พระนางเป็นคนที่ชอบงิ้วมาก ธรรมเนียมแต่เดิมนั้นคณะงิ้วข้างนอกเข้าวังไม่ได้ แต่พระนางก็เอาเข้ามา เลือกเอาคนเก่งๆ เวลาดูงิ้วเขาไม่ได้ดูกันประเดี๋ยวประด๋าว เขาดูกัน 9 วัน 10 วัน ติดกัน กินอยู่กันหน้าโรงงิ้วนั่นแหละ พ่อของพระนางเล่นงิ้วเป็น ฉะนั้นพระนางคงจะมีพื้นฐานเรื่องงิ้วอยู่บ้าง ยิ่งพอดูหนักๆ เข้าก็สามารถร้องงิ้วเอง เปลี่ยนบทงิ้วแต่งเองก็ได้ มีเรื่องเล่ากันว่า พระนางรู้กฏเกณฑ์และหลักวิชาการงิ้ว จนกระทั้งครั้งหนึ่งมีนักแสดงรำผิดท่า พระนางโกรธมากให้เอาไม้ตี 40 ครั้ง ข้าพเจ้าถามว่าพระนางก็เป็นคนมีอำนาจวาสนา ทำไมไม่เอาเด็กในวังมาหัดเอาเอง ไม่ต้องไปเอาคนข้างนอก เขาบอกว่าก็ทำเหมือนกัน ในวังก็มีคณะงิ้ว แต่ก็สู้งิ้วอาชีพข้างนอกไม่ได้ ในวังเป็นสมัครเล่น ผิดกับของไทยที่ถือว่าละครในวังดีที่สุด (อาจจะไม่สนุกที่สุด) พระนางเล่นเองบ้าง จักพรรดิจีนหลายองค์เล่นงิ้วเป็น ทรงเล่นเป็นการภายใน เช่น เล่นในงานเฉลิมพระชนมพรรษาของพระราชชนนี

(น.124) สำหรับพระนาง ซูสี พระนางเป็นศิลปินจริงๆ เล่นงิ้วก็ได้เขียนภาพก็ได้ ลายมือสวย แต่งกลอนได้ หลังจากนั้นเราไปลงเรือในทะเลสาบกัน ตอนแรกข้าพเจ้าเข้าใจว่าเขาจะให้ไปชมเรือหิน หรือ สือฝาง เสียก่อน แต่ก็ไม่ได้เข้าไปดูใกล้ๆ ชะรอยพระนางจะเห็นว่าการที่เอาเงินกองทัพเรือจีนมาสร้างวังฤดูร้อนแห่งนี้ ก็ควรที่จะมีอนุสรณ์อะไรที่เกี่ยวกับเรือจึงสร้างเรือเป็นหิน เรือหินนี้หน้าตาไม่เหมือนกับเรือรบเลย เป็นเรือโดยสารแบบมีล้อหมุนๆ แบบไตเติ้ลหนังการ์ตูนเรื่องฮักฟินน์ที่ฉายในทีวีเมื่อหลายปีมาแล้ว หรือแบบ Mississippi Queen ทะเลสาบคุนหมิงนี้มีการเลี้ยงปลา เฉาฮื้อ หลีฮื้อ สำหรับเลี้ยงในภัตตาคารที่เป็นของรัฐ ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นเอง อาจารย์สารสินบอกว่า เวลาหน้าหนาวเล่นสเกตน้ำแข็งได้เลยตรงขอบๆ เขาให้เราลงเรือทัศนาจรลำโต 2 ลำ มหาดเล็กหญฺงพลัดกันไปอยู่เรืออีกลำ แกมองดูเรือลำเราอย่างเสียใจว่าเที่ยวนี้ไม่ได้บริการในเรือ เขาเตรียมของรับประทานไว้ให้มีแอปเปิ้ลตามเคย ทั้งยังมีขนม ซึ่งพวกเราเรียกว่า “ถัง” คำว่า “ถัง” นี้ภาษาจีนแปลว่าน้ำตาล หรือหมายถึงขนมหวานพวกทอฟฟี่ก็ได้ นึกถึงคำว่า “ถัง” แล้วยังขำไม่หาย สมัยเมื่อหลายปีมาแล้วพระองค์หญิงวิภาวดีรังสิตพาข้าพเจ้าไปชมพิพิธภัณฑ์ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเครื่องลายครามจีนสัมัยต่างๆ ท่านหญิง (สมัยนั้นยังทรงเป็น ม.จ. หญิงวิภาวดี) ทรงร้องขึ้นอย่างตื่นเต้นว่า “ทูลหม่อม มาทอดพระเนตรเสียให้รู้จักนี่ถัง” (สมัยราชวงศ์ถัง) คุณออมทรัพย์ซึ่งไปดูด้วยค่อยๆ กล่าวเนิบๆ ตามแบบฉบับของคุณออมเองว่า “นี่ไม่ใช่ ถัง นี่มัน แจกัน ต่างหาก”


(น.125) รูป 65 เรือหินซึ่งเราดูเฉยๆ ไม่ได้เข้าไป

เรื่องนี้ต้องฟังเสียงเองถึงจะตลก แต่อย่างไรก็ตามก็แสดงว่าคำว่า ถัง มีหลายความหมาย มีเสียงพ้องกันทั้งในภาษาไทยและภาษาจีน จากเรือเรามองเห็นทิวทัศน์ที่งดงามมาก มีหลายมุมที่ถ่ายรูปไว้ คิดว่าถ้าว่างๆ จะลองวาดรูป มองไปไกลๆ จะเห็นเทือกเขา ซีซาน หรือภูเขาตะวันตกอันมีความสำคัญสำหรับจีนแม้ในปัจจุบันนี้

Next >>