<< Back
" หวงเหออู่อารยธรรม วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2543 "
(น.120)
รูป 85 พิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน
He-nan Provincial Museum.
(น.121)
รูป 86 ห้องโถงที่เข้าไปตอนแรก มีรูปคนแทรกอยู่ระหว่างช้าง 2 ตัว
Statue of a man between two standing elephants in the main hall.
(น.121) เขาให้เจ้าหน้าที่มาบรรยายให้ฉันฟัง เขาเคยบรรยายให้ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินมาแล้ว ระหว่างเดินชมเปิดเพลงไทย เช่น เพลงลาวดำเนินทราย ประกอบด้วย
รูปปั้นที่ห้องโถงกลางเป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ของเหอหนาน มีรูปคนผลักช้างออกด้านข้าง ข้างละตัว แสดงว่าอารยธรรมผลักความป่าเถื่อนออกไปข้างๆ เป็นช้างสองตัว เขาบอกว่าเมื่อ 500,000-600,000 ปีมาแล้วแถวนี้เคยมีช้างแมมมอธ
มีภูเขาซงซาน พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุด หอดูดาวที่ไคเฟิง เจดีย์อายุ 1,500 ปีสมัยเป่ยเว่ย อยู่กลางหุบเขาซงซานใกล้วัดเซ่าหลิน เมืองไคเฟิงเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 ที่พื้นปูกระเบื้องทำเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเต๋า มณฑลซานตงเป็นแหล่งกำเนิดลัทธิขงจื่อ แต่ที่มณฑลเหอหนานนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของลัทธิเต๋า
(น.122)
รูป 87 ภาพแสดงความมีอำนาจของแม่น้ำเหลือง
A carving depicting the powess of the Yellow River.
(น.122) นิทรรศการที่นี่แสดงความรุ่งโรจน์ของวัฒนธรรมเหอหนาน ภาพสลักเป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำหวงเหอ แหล่งกำเนิดวัฒนธรรมจีน ทางเข้ามี 3 ประตู ตรงกลางหมายถึง ที่ราบภาคกลางหรือจงหยวนมีบทบาทเป็นเสาหลักของกระแสประวัติศาสตร์
วัตถุโบราณสมัยดึกดำบรรพ์ ที่นี่ก็พบฟอสซิลของมนุษย์โบราณสมัยเดียวกับมนุษย์ปักกิ่ง ในตู้แสดงเครื่องมือการเกษตรสมัยหิน อายุ 8,000 ปี ใช้ในการกะเทาะเปลือกข้าว รูปจำลองคนสมัยนั้น ผู้หญิงเป็นช่างทำเครื่องปั้นดินเผา
ในสมัยนั้นผู้หญิงมีฐานะสูงกว่าผู้ชาย (ฉันไม่ทราบว่าเขาสันนิษฐานอย่างนั้นได้อย่างไร เห็นมีแต่สิ่งของต่างๆ ที่ไม่น่าจะบอกภาพสังคมได้ละเอียดเช่นนั้น) มีของที่ว่าเป็นชิ้นเอกของประเทศจีนคือ ปี่เล็กๆ ทำด้วยกระดูกปีกนกกระเรียน
มี 7 รู สามารถเล่นเพลงปัจจุบันได้ นักวิชาการดนตรีทดลองบรรเลงและจดโน้ตไว้ เครื่องดนตรีชิ้นนี้พบใน ค.ศ. 1987 เครื่องดนตรีในยุคเดียวกันจะมีแต่เครื่องจังหวะ เช่น กลองเครื่องปั้นดินเผาที่แอฟริกา ลุ่มแม่น้ำไนล์
สมัยเมื่อ 6,000 ปีมาแล้วมีวัฒนธรรมขึ้นอีกอย่างหนึ่งเรียกว่าวัฒนธรรมหยั่งเสา มีความเด่นในเรื่องการผลิตเครื่องปั้นดินเผา
(น.123)
รูป 88 ขลุ่ยโบราณที่สุด
The most ancient flute.
รูป 89 ภาพมังกรเก่าที่สุด
The oldest picture of dragon, made of mollusc shells.
(น.123) ของชิ้นเอกเป็นเครื่องปั้นดินเผาเมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว เมื่อปั้นแล้วต้องใช้หินกรวดขัดเกลาให้ลื่น ออกเป็นแววเหมือนเครื่องสำริด
ภาพมังกรที่เก่าที่สุด อายุ 6,000 ปี วัฒนธรรมหยั่งเสาทำด้วยเปลือกหอย ลักษณะบ้านเรือนคนสมัยนั้นแสดงว่าเริ่มมีการอยู่เป็นครอบครัว
เมื่อเริ่มเข้ายุคสำริด มีของใช้สำริด เช่น ถาดทองแดง และท่อน้ำทิ้ง เรียกว่า วัฒนธรรมหลงซาน
สมัยราชวงศ์เซี่ย ซัง และโจว
สมัยราชวงศ์เซี่ยเป็นสมัยสังคมทาส ราวๆ 4,000 ปีมาแล้ว มีเครื่องทองสำริด ไม่มีลวดลาย
สมัยราชวงศ์ซังมีอักษรเขียนบนกระดองเต่าประมาณ 3,600 ปีมาแล้ว ภายหลังย้ายเมืองมาเจิ้งโจว มีภาพแสดงกำแพงล้อมเมือง
ภาพเมืองอานหยัง มีภาพถ่ายทางอากาศสมัยราชวงศ์ซังตอนปลาย ย้ายมาจากเมืองชวีฝู่
(น.124) อักษรบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์อื่นๆ ใช้เสี่ยงทายเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้ทราบความประสงค์ของเทวดาและบรรพบุรุษ นำกระดองเต่าและกระดูกนี้มาเผาไฟจนเกิดรอยแตก นำมาตีความได้ สมัยนั้นเริ่มมีการใช้ตัวเลขและคำนวณได้
เขียนเลขหมื่นได้ เลขหมื่นเขียนเป็นรูปแมลงชนิดหนึ่งคล้ายแมงป่อง หัวข้อที่เสี่ยงทายมีเรื่องการเกษตร คนเจ็บป่วย การเลี้ยงสัตว์ จับปลา การเกิดสุริยุปราคา และจันทรุปราคา คนป่วยเขียนเป็นคนนอนเตียง
มีรูปตาแปลว่า ตาป่วย หรือตาบอด ซัง แปลว่า เจ็บ หมิง แปลว่า สว่าง สมัยนั้นเขียนหมิงแทนที่จะเอาตัวที่แปลว่าพระอาทิตย์ขึ้นหน้ากลับเอาไว้ข้างหลัง
เครื่องปั้นเก่าที่สุดอายุ 3,500 ปี เครื่องสำริดเป็นภาชนะที่ใช้ในพิธี บริเวณนั้น (เมืองอานหยัง) ขุดพบสุสานพระสนมของกษัตริย์ปลายราชวงศ์ซัง ศตวรรษที่ 16-11 ก่อนคริสต์กาล พระสนมฟู่เห่าท่านนี้เมื่อมีชีวิตอยู่คงต้องเป็นคนที่มีบุญวาสนาสูง จึงมีเครื่องสำริดจำนวนมากฝังในสุสาน
ราชวงศ์โจวตะวันตก ลายที่เห็นบ่อยๆ ในเครื่องสำริดยุคนี้เป็นรูปสัตว์ เช่น มังกรและนก ของอย่างอื่น เช่น กระบี่ สายรัดเอวทองคำบริสุทธิ์ เป็นของพระอนุชากษัตริย์โจวเหวินหวัง
(น.124)
รูป 90 หินสลักภาพแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมโบราณ
Stone carving recording cultures of ancient time.
(น.125) เครื่องใช้ประจำวันของขุนนางผู้ดีเมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน เป็นสำริด แต่ก่อนทำขนาดใหญ่ใช้บูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษ สมัยหลังทำเล็กลงให้พอเหมาะกับขนาดที่คนใช้ได้ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามชีวิตสมัยชุนชิวก็ไม่เหมือนชีวิตสมัยนี้ คือเขาจะรับประทานเนื้อชิ้นใหญ่ๆ ต้องมีอ่างล้างมือให้คนใช้ถือเอาไว้
ผู้นำชมบอกว่าบริเวณที่ปัจจุบันนี้เป็นท่าอากาศยานนานาชาตินั้นเมื่อ ค.ศ. 1997 ขุดพบของเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้ว มีหม้อติ่ง 9 ใบ ภาชนะกุย 8 ใบ โดยหลักแล้วผู้ที่จะมีติ่ง 9 ใบ กุย 8 ใบ จะต้องเป็นจักรพรรดิ แต่เจ้าที่นี่มีศักดิ์ที่จะได้เพียงติ่ง 7 ใบ กุย 6 ใบ เท่านั้น เป็นการทำเกินศักดิ์ตนเอง
ของชิ้นล้ำค่าที่สุด ช่วงยุคกลางถึงปลายชุนชิวเป็นหม้อติ่ง ฝาเป็นรูปนกกระเรียน อาจเป็นเครื่องราชูปโภค ของแบบนี้พบ 2 ชิ้น อีกชิ้นอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณปักกิ่ง วิธีการทำซับซ้อนมาก ต้องติดส่วนที่เป็นลวดลายภายหลัง
ขุดพบเมื่อ ค.ศ. 1923 ผู้ว่าราชการมณฑลสมัยนั้นคือ เฟิ่งอวี้เสียงบอกให้เก็บเอาที่พิพิธภัณฑ์ เพราะมีค่าที่สุด ในสมัยนั้นมีเทคนิคการฝังพลอยในทองสำริด เช่น ภาชนะใส่เหล้าเป็นสำริดฝังเส้นเงินทำให้ดูวิจิตรตระการตามากขึ้น
(น.125)
รูป 91 หม้อติ่งฝาเป็นรูปนกกระเรียน
"Ting" with a crane on its' lid.
(น.126) ตู้เย็นโบราณ วิธีการใช้คือ ตอนหน้าหนาว ไปตัดน้ำแข็งมาไว้ห้องใต้ดินที่ความร้อนเข้าไม่ถึง เมื่อถึงหน้าร้อนเอาภาชนะสี่เหลี่ยม ในภาชนะนั้นวางแช่เหล้า กวีชวีหยวนแต่งไว้ว่าบดขนมไว้กินพร้อมเหล้าเย็น
สมัยราชวงศ์ฮั่น เว่ย (ก๊กของโจโฉ) จิ้น ราชวงศ์เหนือใต้ มีรูปอาคารจำลองทำด้วยเครื่องปั้นดินเผาสำหรับฝังลงไปในสุสาน หวังว่าบุคคลผู้ตายจะมีความเป็นอยู่ในปรโลกเหมือนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนั้นยังมีนักดนตรี
นักละคร พวกคนแคระ ซูโม่ อาวุธต่างๆ สันนิษฐานว่าสมัยราชวงศ์ฮั่นและถังนำการแสดงซูโม่ไปที่ญี่ปุ่น จนปัจจุบันคนญี่ปุ่นถือว่าซูโม่เป็นกีฬาสำคัญ
มีภาพฝาผนังสมัยราชวงศ์ฮั่น ขุดพบใน ค.ศ. 1980 บริเวณมณฑลเหอหนานภาคตะวันออก สุสานนี้สวยมาก (เขาว่ากัน)
ขึ้นไปชั้นสอง มีศิลาจารึกราชวงศ์จิ้น เป็นข้อมูลล้ำค่าที่สุด แสดงประวัติการตั้งโรงเรียนหลวง มีรายชื่อครูและนักเรียน นอกจากนั้นมีบันทึกว่าจักรพรรดิเคยเสด็จทอดพระเนตรที่นี่ 3 ครั้ง จารึกลายนก ลายเป็นภาพสุริยุปราคา สมัยราชวงศ์ฮั่น
สมัยราชวงศ์ฮั่น มีรูปยุ้งข้าวสำหรับเอาไว้ในสุสาน พิมพ์ของลูกศร สมัยนั้นเริ่มเป็นสมัยเหล็ก มีการถลุงเหล็กหลายแห่ง
สมัยราชวงศ์สุยและถัง ในเมืองลั่วหยัง สมัยราชวงศ์สุยเมื่อ 1,500 ปีมาแล้วเน้นความสมดุลมีอาคารที่พระนางบูเช็กเทียนเคยประทับและทรงงานว่าราชการ แต่ภายหลังถูกไฟไหม้ ใน ค.ศ. 1980 พบซากรากฐาน
(น.126)
รูป 92 ตุ๊กตานักดนตรี
Figurines of musicians.
(น.127)
รูป 93 พระพุทธรูปลัทธิตันตระ
Tantric Buddha image.
(น.127) อีกอย่างหนึ่งคือ ได้พบแผ่นทองจารึกพระนามของบูเช็กเทียน เรื่องมีอยู่ว่าพระนางประชวรหวัดอย่างรุนแรง จึงนึกขึ้นมาได้ว่าคงจะต้องทำสิ่งเลวร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง
เคราะห์กรรมจึงบันดาลให้เป็นแบบนี้ จึงคิดล้างบาปโดยการนำแผ่นทองจารึกพระนามและให้ขันทีชื่อหูเชานำไปไว้ที่ภูเขาซงซานใน ค.ศ. 700 ใน ค.ศ. 1980 ชาวนาพบเข้านำมาให้พิพิธภัณฑ์ (เราสองคนเห็นจะบาปหนาจึงคัดจมูกกันทั้งปี แต่คงไม่มีเงินมาทำนามบัตรทอง ต้องทาวิกไปพลางๆ ก่อน)
พระพุทธรูปในลัทธิมี่จง (ตันตระ) พระพักตร์งาม อวบอิ่มแบบผู้หญิงสมัยราชวงศ์ถัง มีพักตร์ 11 พระหัตถ์ 6
(น.128)
รูป 94 เครื่องสำริดโต๊ะวางถ้วยเหล้าลายมังกรดั้นเมฆ
Bronze table for drinking cups with dragons sporting in the clouds.
Next >>