<< Back
" เจียงหนานแสนงาม วันอังคารที่ 6 เมษายน 2542 "
(น. 128) รูป 106 มีเจ้าบ่าวเจ้าสาวมาถ่ายรูปในสวนพฤกษศาสตร์
Bride and groom come to have their photographs taken in the Garden.
(น. 129) รูป 107 ดอกไม้ในฤดูชุนเทียน
Spring flowers.
(น. 129) เขาอธิบายว่า ในสวนนี้มีส่วนหนึ่งสำหรับคนตาบอดคือ ให้คนตาบอดเข้ามาสัมผัสต้นไม้ และมีคำอธิบายประกอบว่าเป็นต้นอะไร ดอกอะไร อยากดูเหมือนกัน แต่ไม่มีเวลา
เมื่อเห็นสวนในฤดูชุนเทียน ดอกท้อ ดอกซิ่งสีชมพูอ่อนแก่ ทำให้นึกถึงบทกวีของไป๋จวีอี้ที่ชื่อว่า ชวีเจียงอวี้หยวนจิ่ว หรือ ชวีเจียง คิดถึงหยวนจิ่ว ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า
ฤดูใบไม้ผลิมาถึง ไร้เพื่อน เที่ยวน้อยลง
ความสุขสนุกหายไปสองในสาม
มิต้องกล่าวสวนซิ่งในวันนี้
พบผู้คนมากหลาย แต่มิพบเธอ
บทกวีนี้สื่อให้เห็นถึงความอาทร ความผูกพันที่มีต่อเพื่อน มาเที่ยวสวนในฤดูใบไม้ผลิ พบผู้คนมากมาย แต่ไม่พบเพื่อนรัก ความสุขเลยมลายหายไป เหลือเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่ง ไป๋จวีอี้เขียนร้อยกรองบทนี้ให้หยวนเจิ่น ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท หยวนเจิ่นมีชื่อเล่นที่เรียกกันในหมู่ญาติมิตรว่า หยวนจิ่ว
(น. 130) รูป 108 เซ็นสมุดเยี่ยม
Signing a visitors' book.
(น. 130) หยวนเจิ่น (ค.ศ. 779 – ค.ศ. 831) เป็นกวีเอกและขุนนางสมัยราชวงศ์ถัง เป็นชาวเมืองลั่วหยังในมณฑลเหอหนาน เมื่อเยาว์วัย มีฐานะยากจน
ไป๋จวีอี้เองก็อยู่ในสถานะเช่นนี้เมื่อตอนเด็ก หยวนเจิ่นมีพรสวรรค์ในบทกลอน เริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่เด็กใน ค.ศ. 800 สอบได้จิ้นซื่อ ปีนั้นมีคนสอบได้ 17 คน ไป๋จวีอี้ก็สอบได้เช่นกัน
จิ้นซื่อเป็นการสอบแข่งขันเป็นบัณฑิตระดับประเทศ ผู้ที่สอบจิ้นซื่อได้ที่ 1 เรียกว่า จ้วงหยวน (จอหงวน)
(น. 131) เมื่อหยวนเจิ่นเป็นจิ้นซื่อ ก็ได้เป็นขุนนาง ได้รับราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ชีวิตราชการลุ่มๆ ดอนๆ เนื่องจากเป็นคนตรง
ไม่กลัวผู้ที่มีอำนาจ หยวนเจิ่นเขียนหนังสือได้ดีทั้งบทความและบทกวี มีความเห็นเหมือนไป๋จวีอี้ว่า การเขียนหนังสือที่ดีต้องมีแก่นเรื่องที่ได้สาระ แฝงความคิดเห็นเพื่อบ้านเมือง
ไม่ใช่มุ่งแต่ชมนกชมไม้ หยวนเจิ่นและไป๋จวีอี้เป็นเพื่อนร่วมความคิดร่วมอุดมการณ์ มักเขียนหนังสือโต้ตอบกันหรือแข่งกันอยู่ในที มีอิทธิพลต่อกัน คนรุ่นหลังจึงเรียกขานกวีเอกคู่นี้ว่า หยวน–ไป๋
ส่วนคำว่า ชวีเจียง ในบทกวีนี้ หมายถึง แม่น้ำชวีเจียง (ชวี = คดเคี้ยว เจียง = แม่น้ำ) เป็นช่วงหนึ่งของแม่น้ำฉังเจียง อยู่ทางใต้ของเมืองหยังโจว มณฑลเจียงซู แม่น้ำช่วงนี้คดเคี้ยว จึงเรียกกันว่า ชวีเจียง
พูดถึงบทกวีของไป๋จวีอี้แล้ว ข้าพเจ้าเลยคิดแต่งเองบ้าง เขียนไว้ว่า
ยามวสันต์ฉันออกมาเที่ยวเล่น
เมื่อไม่เห็นเธอมาพาสุขหาย
ในสวนท้อกลับทุกข์ใจไม่สบาย
คนทั้งหลายล้วนเที่ยวเล่นเว้นแต่เธอ
(น. 132) รูป 109 ลูกโลกโบราณ
Celestial globe, an astronomical instrument from the Ching Dynasty.
(น. 132) หลังจากดูสวนพฤกษศาสตร์แล้ว เราไปที่หอดูดาว Purple Mountain Observatory หอดูดาวตั้งอยู่บนเขาซีจิ๋นในภูเขาจื่อจินซาน (จื่อจิน = สีม่วงอมทอง ซาน = ภูเขา)
ทางตะวันออกของนานกิง สร้างเมื่อ ค.ศ. 1929 แล้วเสร็จใน ค.ศ. 1934 เป็นที่ศึกษาวิชาดาราศาสตร์สาขาต่างๆ มีกล้องส่องดาวของเก่าเขาก็ยังใช้อยู่ แต่งานใหม่ๆ ที่ทำก็ต้องใช้กล้องที่ดีควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์
มีอุปกรณ์ดาราศาสตร์โบราณอยู่หลายชิ้นเช่น ลูกฟ้า (Celestial Globe) เป็นเครื่องมือสำริดสร้างใน ค.ศ. 1905 ปลายสมัยราชวงศ์ชิง แสดงแผนที่ดาว 1,448 ดวง (ขณะนั้นยังไม่มีการใช้กล้องโทรทัศน์ใหญ่ๆ) แสดงตำแหน่งดาว และการเคลื่อนไหวของดาวเหล่านี้
(น. 133) รูป 110 อุปกรณ์ดูดาวที่เรียกว่า Armilla
Armilla used for studying the stars.
(น. 133) อุปกรณ์ที่เรียกว่า Armilla เริ่มใช้ต้นราชวงศ์หยวนในการศึกษาดาวในท้องฟ้า เครื่องมือที่ตั้งแสดงให้ดูนี้สร้างใน ค.ศ. 1437 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลจักรพรรดิเจิ้งถ่ง (ค.ศ. 1436 – ค.ศ. 1449) แห่งราชวงศ์หมิง
เครื่องมือนี้เคยถูกทหารเยอรมันปล้นเอาไปขณะที่ทหารต่างชาติบุกเข้าปักกิ่งเมื่อ ค.ศ. 1900 ใน ค.ศ. 1918 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการประชุมสันติภาพและลงนามในสนธิสัญญา จีนจึงได้เครื่องมือคืนใน ค.ศ. 1920
(น. 134) รูป 111 นาฬิกาแดด
A sundial.
รูป 112 ผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซูเลี้ยง
Dinner hosted by the Governor of Jiangsu.
(น. 135) เครื่องมืออีกชนิดเป็นนาฬิกาแดด ถือว่าเป็นอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในจีน ศึกษาฤดูกาลที่แบ่งเป็น 24 ระยะ เห็นได้จากเงาที่ทอดลงมาบนเสา
เครื่องนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1439 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลจักรพรรดิเจิ้งถ่งแห่งราชวงศ์หมิง การใช้เครื่องสมัยใหม่กับเครื่องชนิดนี้ต่างกันแค่ 29 วินาที
ที่จริงดาราศาสตร์สมัยใหม่เขาก็มีการวิจัยหลายอย่าง แต่เขาไม่ได้ให้เราดู
กลับมาพักผ่อนพักหนึ่ง ตอนค่ำพบกับผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซู ผู้ว่าราชการกล่าวต้อนรับและอธิบายเรื่องเจียงซูว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่ดีที่สุดของเจียงหนาน วันนี้อากาศดี ขอต้อนรับในนามของรัฐบาลมณฑลและประชาชน 72 ล้านคน
เจียงซูเป็นมณฑลที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว มีพื้นที่ 100,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 1 ของประเทศจีน ใน ค.ศ. 1998 มีประชากร 71.8 ล้าน ประมาณร้อยละ 5.8 ของคนทั้งประเทศ GDP 720,000 ล้านหยวน
เป็นร้อยละ 9.8 ของประเทศ ตามสถิติ มีเนื้อที่เพียงร้อยละ 1 ประชากรร้อยละ 6 แต่ GDP ได้ถึงร้อยละ 10 ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 12.7 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2 ปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ก็ยังเติบโตถึงร้อยละ 11 การที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะการดำเนินนโยบาย และการชี้นำของท่านเติ้งเสี่ยวผิงและพรรค รวมทั้งความร่วมมือของประชาชน ปีนี้พยายามให้เจริญราวร้อยละ 10 มากกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3
(น. 136) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน ค.ศ. 2000 ทั่วมณฑลจะต้องมีอันจะกินและภาคใต้ของมณฑลต้องทันสมัย ถึง ค.ศ. 2010 ต้องพัฒนาให้ทันสมัยทั่วทั้งมณฑล รัฐบาลกล่าวฝากความหวังไว้กับพวกเรา ท่านเติ้งผู้ล่วงลับไปแล้วกล่าวว่า
อัตราความเจริญทางเศรษฐกิจของเจียงซูควรสูงกว่าอัตราทั่วประเทศ ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินกล่าวว่าเจียงซูเดินหน้าก่อนมณฑลอื่นและทำประโยชน์มากกว่า
มียุทธศาสตร์ 4 ประการในการบริหารงานของมณฑลดังนี้
1. สร้างมณฑลให้รุ่งเรืองด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการศึกษา มหาวิทยาลัยนานกิงและมหาวิทยาลัยโหไห่ที่ข้าพเจ้าจะไปเป็นมหาวิทยาลัยเลื่องชื่อ
2. พัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นสากลขยายสู่ภายนอก พร้อมกับส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ
3. พัฒนาพื้นที่ทุกภาคของมณฑลไปพร้อมกันทั้งภาคเหนือและภาคใต้
4. พยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เน้นเรื่องสภาพแวดล้อมทรัพยากร และควบคุมการขยายตัวของประชากรด้วย
การวางแผนพัฒนานั้นจะต้องพบปัญหาอีกมาก แม้ว่าสภาพขณะนี้จะดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีปัญหาค้างคาอีกหลายเรื่อง หวังว่าจะปรับปรุงได้
การติดต่อระหว่างมณฑลกับไทยมีตลอด ผู้นำเยือนไทยหลายครั้ง ทุกวันนี้คนมีฐานะดีขึ้น จึงออกไปเที่ยวต่างประเทศ มีเงิน 6,000 หยวนก็ไปสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยได้ ประชาชนก็ชอบ
(น. 137) ข้าวไทย ข้าวผัดหยังโจวที่มีชื่อใช้ข้าวไทยผัดก็จะยิ่งอร่อย ปีที่แล้วการค้าระหว่างไทยกับเจียงซูมีมูลค่าห้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เจียงซูนำเข้าสี่ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เช่น พลาสติก ยางพารา สิ่งทอ วัตถุดิบ
ส่งออกราวร้อยล้าน มีนักลงทุนไทยมาลงทุนมากกว่า 200 แห่ง ยอดการลงทุน 340 กว่าล้านหยวน มีแนวโน้มว่าจะมีมากขึ้น การลงทุนเหล่านี้ดำเนินไปแล้ว
เสร็จแล้วไปรับประทานอาหาร มีเหล้าขาวของมณฑลเรียกว่า จินซื่อหยวน หรือบุญในชาตินี้ ว่ากินแล้วไม่ปวดหัว
ผู้ว่าราชการอธิบายนโยบายคือ จะต้องขยายอุปสงค์ในประเทศให้ตลาดกว้างขวาง ลงทุนสาธารณูปโภค การคมนาคม โทรคมนาคม การศึกษา สถานะของมณฑลใช้ดรรชนีหลายตัววัด เช่น รายได้ต่อหัว
การศึกษา การคมนาคมและโทรคมนาคม คุณภาพชีวิตประชาชน ปัจจุบันมีอำเภอที่มีรายได้ต่ำกว่ากำหนดไม่ถึง 10 อำเภอ ที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่อยู่ทางเหนือ ทางมณฑลได้ขอให้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาช่วยดูแล
ถ้าจะให้โรงงานเจริญขึ้นในทุกอำเภอทันตาเห็นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าให้ทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ปลูกผักทำได้ อาจจะนำมาขายภาคใต้ หรือเป็นวัตถุดิบในการทำอุตสาหกรรมการเกษตร การเกษตรต้องการแรงงานมาก
ต้องช่วยให้ประชาชนมีปากท้องอิ่มก่อน แล้วจึงร่ำรวยเจริญขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศที่มากที่สุดคือ อเมริกาและยุโรปตะวันตก มีการลงทุนจากไต้หวันและฮ่องกง รวมทั้งมีการติดต่อกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
สุดท้ายพูดกันถึงขนมของเจียงซู ผู้ว่าราชการบอกว่า ถ้าจะศึกษาเกี่ยวกับขนมเจียงซูต้องไปที่
Next >>