Please wait...

<< Back

" เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2544 "


(น.72) รูป 75 บ้านเหล่าเซ่อ
At Lao she's house.


รูป 76 ลูกสาวเหล่าเซ่อพาชมบ้าน
The tour of the house guided by Lao She's daughter.

(น.73) วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2544
วิ่งตอน 6 โมงครึ่งเช่นเคย วันนี้จี้กับอาจารย์นิออนมาเร็วกว่าครูฟั่นเสียด้วยซ้ำ วันนี้อู๋จวิ้นจากกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้จัดรายการ ที่หมายแรกเป็นบ้านเก่าของนักประพันธ์เหล่าเซ่อ (3 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1899 - 24 สิงหาคม ค.ศ.1966) ที่จัดเป็นอนุสรณ์สถาน ลูกสาวคนที่สามของเหล่าเซ่อมาเป็นไกด์ ที่จริงพี่สาวคนใหญ่เป็นคนดูแลพิพิธภัณฑ์นี้ แต่ว่ามาไม่ได้เพราะขาหัก ส่วนคุณแม่ (ภรรยาท่านเหล่าเซ่อ) ซึ่งเป็นจิตรกรก็มาไม่ไหวอายุ 96 แล้ว บ้านนี้มีลักษณะแบบบ้านคนจีนคือ เป็นอาคารชั้นเดียวสี่ด้าน มีลานสี่เหลี่ยมอยู่ตรงกลางใช้ปลูกต้นไม้ นั่งเล่น เขียนรูป เขียนพู่กันจีน เขามีที่ตั้งรูปปั้นเหล่าเซ่อ มีต้นไม้ในกระถางปลูกไว้เมื่อไรก็ไม่รู้ คงเป็นสมัยหลังไม่ใช่สมัยที่เหล่าเซ่อมีชีวิตอยู่ มีชุดรับแขก ชุดน้ำชาแบบตะวันตก ข้างฝาผนังมีภาพแขวนไว้ เป็นภาพคนขี่ควายฝีมือฉีไป๋สือจิตรกรมีชื่อ คุณแม่เป็นลูกศิษย์ฉีไป๋สือ ภาพนี้เป็นของคุณแม่ แต่ว่าคุณพ่อเป็นคนแขวน คุณพ่อกับคุณแม่มีรูปเขียนมาก ก็เลยผลัดเอาออกมาแขวน ข้าพเจ้านึกออกว่าเห็นจะต้องทำแบบนี้บ้าง มีตู้โชว์ของ ของที่ตั้งเป็นของที่หาซื้อได้สมัยนั้น คุณพ่อไม่ได้สนใจว่าของมีราคาค่างวดเท่าไรเห็นเข้าชอบใจก็ซื้อมา เข้าไปดูห้องคุณแม่มีเตียง โต๊ะเขียนหนังสือ ที่ฝาแขวนรูปดอกเบญจมาศที่คุณแม่เขียนเอง


(น.74) รูป 77 รูปเหล่าเซ่อ
Lao She's picture.


รูป 78 โต๊ะเขียนรูปของแม่ (ภรรยาเหล่าเซ่อ)
The desk used for painting of Lao She's wife.


(น.75) รูป 79 ห้องรับแขก
The guestroom.


รูป 80 รูปที่แม่เขียน
A painting by her mother.


(น.76) รูป 81 โต๊ะเขียนหนังสือเหล่าเซ่อ
Lao She's desk.

(น.76) อีกด้านเป็นห้องคุณพ่อ มีโซฟา เตียงไม้ประกอบหินอ่อนจากชิงเต่า คุณพ่อดูเหมือนจะเป็นโรคปวดหลังเลยต้องนอนเตียงแข็ง บนเตียงวางไพ่ไว้ บอกว่าเวลาเขียนหนังสือจนมึนก็มาถอดไพ่เล่น โต๊ะเขียนหนังสือก็เป็นโต๊ะเล็กๆ มีวิทยุแบบโบราณวางอยู่ มีโคมไฟ (แต่ไม่มีโคม) แว่นตาที่ใช้ ปากกาหมึกซึม ขวดหมึก ที่เขี่ยบุหรี่ มีปฏิทินเปิดเอาไว้วันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1966 ซึ่งเป็นวันที่ตาย มีถ้วยชาหรือกาแฟแบบฝรั่ง อาจารย์นิออนถามว่าเวลาอยู่ทำความอบอุ่นอย่างไร ลูกสาวเล่าว่าแต่ก่อนมี heater แต่ว่าเอาออกไปเพื่อความปลอดภัย


(น.77) รูป 82 เตียงเหล่าเซ่อ
His bedroom.

(น.77) ในห้องมีพัดลมตั้งโต๊ะ Westinghouse แบบโบราณ ตู้อย่างโบราณ เสาแขวนเสื้อ overcoat หีบใส่เสื้อผ้า ตู้ใส่ของเป็นตู้ติดข้างฝา แต่ก่อนดูเหมือนจะไว้หนังสือ ห้องที่เราดูพวกนี้เขาติดกระจกกันไว้คนธรรมดาไม่ได้ให้เข้าไป ตรงลานกลางบ้านเรียกว่า “ลานพลับแดง” มีต้นพลับอยู่ 2 ต้น ปัจจุบันยังออกลูก คุณแม่ (หูเจียฉิง) เป็นคนตั้งชื่อ ห้องรับประทานอาหารจัดเป็นห้องนิทรรศการแสดงประวัติของเหล่าเซ่อ ท่านเป็นลูกคนแมนจูที่มีฐานะค่อนข้างยากจน อยู่ในกองธงสีแดง (ในแปดกองธงหรือปาฉี) ชื่อเดิมว่า ซูชิ่งชุน มีอีกชื่อว่า เซ่อหยู เกิด ค.ศ.1899 ที่เสี่ยวหยังเชวียนหูถง ทางตะวันตกของปักกิ่ง ปัจจุบันเรียกว่า เสี่ยวหยังเจียหูถง คำว่า หูถง เป็นคำทับศัพท์จากภาษามองโกลว่า เซี่ยงทง แปลว่า ตรอก ซอย ออกเสียงเพี้ยนไปเป็น หูถง ในสมัยราชวงศ์หยวนซึ่งตั้งเมืองหลวงที่ปักกิ่งและได้พัฒนาเมืองนี้มาก ทั้งเมืองมีหูถงเพียง 29 สาย เมืองปักกิ่งในสมัยราชวงศ์หยวนเรียกว่า ต้าตู มาถึงราชวงศ์หมิง ในเขตกำแพงเมืองมีหูถง 900 กว่าสาย และนอกกำแพงเมืองมี 300 กว่าสาย สมัยราชวงศ์ชิง ในกำแพงเมืองมี 1,200 กว่าสาย นอกกำแพงเมือง 600 กว่าสาย การสำรวจใน ค.ศ.1946 ได้ข้อมูลว่าทั้งหมดมี 3,065 สาย ปัจจุบันคงเหลือน้อยลง เพราะรื้อทิ้งสร้างตึกสูง


(น.77) รูป 83 หนังสือที่เหล่าเซ่อแต่ง
Books written by Lao She.

Next >>